นางสงกรานต์ปี 65 “นางกิริณีเทวี” คำทำนายจากโหรพราหมณ์
เปิดตำนานนางสงกรานต์ ความหมายคำทำนายประกาศสงกรานต์ประจำปี 2565 จากโหรพราหมณ์ กิจกรรมทำบุญ รดน้ำ ขอขมา ควรเตรียมอะไรบ้าง
ล่วงเข้าเดือนเมษายน เดือนที่มี “เทศกาลสงกรานต์” หรือ “วันขึ้นปีใหม่ไทย” วันแรกของเทศกาลคือ วันที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียก “วันมหาสงกรานต์”
- เทศกาลสงกรานต์
สงกรานต์ เป็นประเพณีของประเทศไทย, ลาว, กัมพูชา, พม่า, ชาวไตแถบเวียดนามและมนฑลยูนานของจีน, ศรีลังกา,ประเทศแถบตะวันออกของประเทศอินเดีย ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลี(สาดสี)ในอินเดีย ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4
สงกรานต์ เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง การเคลื่อนย้ายประทับจักรราศีเข้าสู่ปีใหม่ คู่กับตรุษ เรียกว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เดิมมีการคำนวณทางดาราศาสตร์ ปัจจุบันกำหนดให้เป็นวันที่ 13-15 เมษายน
พิธีสงกรานต์ เดิมจัดภายในครอบครัวหรือชุมชนใกล้เคียง แต่ปัจจุบันขยายสู่สังคมวงกว้างเป็นเทศกาล ใช้ น้ำ เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ
ใช้น้ำรดให้กันเพื่อความชุ่มชื่น ขอพรจากผู้ใหญ่ รำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ มีการ สรงน้ำพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้เริ่มต้นปีใหม่ที่ดีมีความสุข
- คำประกาศสงกรานต์ ของโหรพราหมณ์
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้เผยแพร่ประกาศสงกรานต์ของฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง พร้อมจัดทำภาพวาด นางสงกรานต์ ประจำปี 2565 ดังนี้
ปีขาล (ผีเสื้อผู้หญิง ธาตุไม้) จัตวาศก จุลศักราช 1384 ทางจันทรคติ เป็นปกติมาสวาร ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน
วันที่ 14 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 เวลา 09 นาฬิกา 45 นาที 46 วินาที
นางสงกรานต์ ทรงนามว่า “กิริณีเทวี” ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอ พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จยืนมาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ
วันที่ 16 เมษายน เวลา 13 นาฬิกา 49 นาที 48 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1384 ปีนี้ วันพุธ เป็นธงชัย, วันอังคาร เป็นอธิบดี, วันอังคาร เป็นอุบาทว์, วันพฤหัสบดี เป็นโลกาวินาศ
เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้วันอาทิตย์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่าตกในเขาจักรวาล 160 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า
เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีธนู ชื่อ เตโช(ธาตุไฟ) น้ำน้อย อากาศยังร้อน
เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้ นาคราชให้น้ำ 4 ตัว ทำนายว่า ฝนดีตลอดปี
เกณฑ์ธัญญาหาร ชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในไร่นา จะเกิดกิมิชาติ คือ มีด้วงแมลงรบกวน ข้าวกล้า จะได้ผล 1 ส่วน เสีย 5
ส่วนบ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม จะฆ่าฟันกัน จะนิราชจากกัน จะฉิบหายเป็นอันมากแลฯ
Cr. โอม รัชเวทย์
- ตำนานนางสงกรานต์
ตามตำนานเล่าว่า นางสงกรานต์ทั้ง 7 เป็นธิดาของ ท้าวกบิลพรหม ท้าวมหาสงกรานต์ เป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ 1 จากทั้งหมด 6 ชั้น) เมื่อท้าวกบิลพรหมแพ้พนัน ธรรมบาลกุมาร ก็ต้องตัดเศียรออกบูชาตามสัญญา
แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใด จะเป็นอันตรายต่อที่นั้น ไม่ว่าบนอากาศ บนดิน หรือในน้ำ (ท้าวกบิลพรหม โดยนัยก็คือ พระอาทิตย์)
เทพธิดาทั้ง 7 จึงมีหน้าที่อัญเชิญ พระเศียร ของพระบิดา ท้าวกบิลพรหมเวียนรอบเขาพระสุเมรุ และอัญเชิญไปประดิษฐานถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ
เมื่อครบ 1 ปี เวียนมาถึง วันมหาสงกรานต์ ธิดาทั้ง 7 ก็ผลัดกันมาอัญเชิญพระเศียรผู้เป็นบิดาออกแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี
โดยมีเกณฑ์ว่า วันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้ นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ ได้แก่
- นางสงกรานต์ทุงษะเทวี
ทุงษะเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ
- นางสงกรานต์โคราคะเทวี
โคราคะเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับภักษาหาร คือ เตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)
- นางสงกรานต์รากษสเทวี
รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ โลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)
- นางสงกรานต์มณฑาเทวี
มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ นมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)
- นางสงกรานต์กิริณีเทวี
กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา(ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ ถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)
- นางสงกรานต์กิมิทาเทวี
กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ กล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)
- นางสงกรานต์มโหทรเทวี
มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)
Cr. โอม รัชเวทย์
- กิจกรรมวันสงกรานต์
1.ทำบุญตักบาตร คือการสร้างบุญสร้างกุศลให้กับตนเอง อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หลังทำบุญเสร็จจะมีการก่อเจดีย์ทราย
2.การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้แก่กันและกัน มักเป็นน้ำหอมเจือน้ำธรรมดา รดลงไปที่มือ
แสดงความเคารพต่อผู้ที่อาวุโสกว่า ขอขมา ขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในคือ อาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อย เทียน และดอกไม้
3.การสรงน้ำพระ รดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด ในบางที่มีสรงน้ำพระสงฆ์ด้วย
4.การบังสุกุลอัฐิ นำเถ้ากระดูกของญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถ้าเก็บในเจดีย์จะนิมนต์พระไปบังสุกุล
5.การปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการล้างบาปที่ได้ทำไว้ สะเดาะเคราะห์ร้ายให้กลายเป็นดี มีแต่ความสุข ในวันขึ้นปีใหม่
6.การขนทรายเข้าวัด มีความเชื่อว่า ตลอดทั้งปีที่คนได้มาเข้าวัดมักมีทรายในวัดติดเท้าออกไปอยู่เสมอ ๆ จึงเป็นอุบายขนทรายเข้าวัด ก่อเป็นเจดีย์ทราย เพื่อไม่ให้บาป