รู้จัก "จรจัดสรร" ไอเดียที่พักพิง “สุนัขจรจัด” ในเขตเมือง

รู้จัก "จรจัดสรร" ไอเดียที่พักพิง “สุนัขจรจัด” ในเขตเมือง

ทำความรู้จัก โครงการ “จรจัดสรร” โปรเจคที่ใช้สถาปัตยกรรมขนาดเล็กยกระดับสวัสดิภาพ "สุนัขจรจัด" ในบริบทชุมชนเมือง และยังชวนสังคมตั้งคำถามถึงความเป็นอยู่ของหมาจรจัด

ฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวซึ่งสำรวจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อปี 2562 ระบุว่า ประเทศไทยมีสุนัขที่ไม่มีเจ้าของอยู่ 109,123 ตัว

ไม่มีมาตรฐานใดที่จะบอกว่าจำนวนเพียงเท่านี้มากหรือน้อยหากแต่ปัญหา “สุนัขเร่รอน” หรือ “สุนัขจรจัด” ไม่มีเจ้าของเป็นปัญหาที่คู่กับสังคมเมืองมายาวนาน

ในมุมหนึ่ง “สุนัขจรจัด” ที่ว่านี้ส่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตของมนุษย์  อาทิ การคุ้ยขยะสร้างความสกปรก, วิ่งตัดหน้ารถจนเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงอาจเป็นพาหะทำให้เกิดโรคระบาด โดยเฉพาะพิษสุนัขบ้า แต่ถึงเช่นนั้นในอีกด้านที่สุนัขจรจัดเร่ร่อนในบางแห่งก็ถูกอุ้มชูจนเป็น “สุนัขชุมชน” โดยมีกลุ่มคนใจดีคอยให้อาหาร จับทำหมัน ฉีดวัคซีน ฯลฯ

เราไม่ได้บอกว่าอะไรถูกผิด แต่กับกลุ่ม “สุนัขชุมชน” นี่เอง ซึ่งขณะนี้ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพของโปรเจค “จรจัดสรร

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยในระดับดุษฎีบัณฑิต ของอาจารย์ ยศพร จันทองจีน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนในสังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาหมาจรจัดที่เกิดขึ้น 

โปรเจคนี้โครงการสุนัขชุมชนเมืองทองธานี ในการติดตั้งที่พักพิงเพื่อหมาจรในชุมชน ด้วยสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก สามารถกันแดด กันฝน ให้กับหมาจรจัดในบริบทชุมชนเมืองเพื่อสังคมน่าอยู่ เพื่อยกระดับสวัสดิภาพให้ดีขึ้นของทั้งคนและสุนัข

 

รู้จัก \"จรจัดสรร\" ไอเดียที่พักพิง “สุนัขจรจัด” ในเขตเมือง “ถ้าเข้าไปติดตั้งได้ เนื่องจากการที่มีโครงการสุนัขชุมชน แสดงว่ามีกลุ่มจิตอาสาที่คอยทำหมัน ฉีดวัคซีน ให้ข้าว และทำความความสะอาด ดังนั้นเรื่องความสกปรก หรือ โรคพิษสุนัขบ้า จะไม่มี แต่เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการบูรณาในการจัดการ เลยทำให้เกิดผลกระทบในหลายๆด้าน ดังนั้น ปัญหาหมาจรจัด ถึงเราจะไม่อยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เราก็ได้รับผลกระทบอยู่ดีค่ะ ทางออกคือการบูรณาและสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหา ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ และหาแนวทางร่วมกัน” เพจโครงการ “จรจัดสรร” อธิบายส่วนหนึ่ง

ปัจจุบันโปรเจคนี้ได้ริเริ่มทำในพื้นที่ต้นแบบของโครงการนี้ตั้งอยู่บริเวณ ‘วัดนางนอง’ และ ‘เมืองทองธานี’ โดยมีจิตอาสาพื้นที่คอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อยของโครงการ และผู้ที่มีพื้นที่กำแพงบ้านที่ไม่รบกวนทางเดินส่วนรวม ก็สมารถติดต่อเพื่อขอรับติดตั้งที่พักสำหรับน้องหมาที่สามารถจัดเก็บได้

รู้จัก \"จรจัดสรร\" ไอเดียที่พักพิง “สุนัขจรจัด” ในเขตเมือง

ส่วนใครอยู่พื้นที่อื่นหรือต่างจังหวัด และอยากนำโครงการสร้างสรรค์เช่นนี้ไปจัดทำในชุมชนของตัวเอง สามารถติดต่อกลุ่มจรจัดสรรเพื่อขอแบบไปทำเองได้เลย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อมีการแชร์ภาพในเพจ “จรจัดสรร” ออกไป ได้มีผู้ที่ชื่นชอบไอเดียนี้ ขณะเดียวกันก็มีผู้เห็นต่างซึ่งมองว่าวิธีการนี้เป็นการเพิ่มพื้นที่พักพิงให้กับหมาจรจัด และจะสร้างอันตรายให้กับการดำเนินชีวิตของผู้คน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการถกเถียงหาทางออกว่า เราควรมีวิธีจัดการสุนัขจรจัดในเขตเมืองอย่างไร

ยศพร จันทองจีน อาจารย์สาขาวิชาออกแบบภายใน ภาควิชาออกแบบ วิทยาลัยเพาะช่างให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ว่า โปรเจคนี้เน้นไปที่การทำงานร่วมกับอาสาสมัครชุมชน ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้จะดูแลสุนัขจรจัดทั้งการฉีดวัคซีน การดูแลความสะอาด รวมถึงการหาพื้นที่ซึ่งไม่เป็นภาระของคนในชุมชนอื่นๆเพราะเข้าใจว่าประเด็นเรื่องสุนัขจรจัดในชุมชนมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่าง และแต่ละคนมีประสบการณ์ที่หลากหลาย

"เราไม่ได้ตัดสินว่าสิ่งใดถูกผิด หรือมีหน้าที่ว่าสุนัขจรจัดในชุมชนจะมีทางออกอย่างไร แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง เป็นปัญหาของสังคมเมือง และถึงจะมีการจับและนำไปไว้ในสถานรับเลี้ยง ก็จะมีสุนัขกลุ่มใหม่มาอีก เพราะคนในเมืองนำสุนัขมาเลี้ยง และขณะเดียวกันก็มีเหตุขัดข้องที่ทำให้ดูแลพวกเขาไม่ได้"

"จรจัดสรร พยายามจัดระเบียบ และยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งคนในชุมชนและสุนัข เพื่อให้สุนัขจรจัดในชุมชน ที่มีอาสาสมัครดูแลนั้นมีที่หลบแดด หลบฝน ขณะเดียวกันก็อยู่ให้เป็นที่เป็นทาง ไม่เกะกะถนน เหล่านี้เป็นข้อสังเกตที่ทำงานร่วมกับโครงการนำร่อง ส่วนการจัดการสุนัขจรจัดในเขตเมือง จะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณา และเป็นปัญหาที่คนเมืองต้องหาทางออกร่วมกัน"

ติดตามความเคลื่อนไหวและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการออกไอเดียได้ที่ กลุ่ม Facebook: จรจัดสรร

ภาพถ่ายโดย Yodsa Gap และกลุ่มจรจัดสรร