"แก๊งคอลเซ็นเตอร์"ป่วนเมือง กลโกง"มิจฉาชีพ"หลอกเหยื่ออย่างไรให้หลงเชื่อ
"แก๊งคอลเซ็นเตอร์"กับเบอร์แปลกๆ พูดจาวกวน หลอกให้ตกใจ โยงเรื่องให้เวียนหัว แล้วยื่นมือมาช่วย มิจฉาชีพเหล่านี้ มีขั้นตอนหลอกคนให้หลงเชื่อ
ถ้าได้รับโทรศัพท์ แล้วเห็นเบอร์แปลกๆ ...087066844786 ,087018674684 ,0655731098235 ฯลฯ พร้อมกับเรื่องที่ไม่ค่อยคุ้นเคยในชีวิต ประมาณว่า
“คุณมีพัสดุตกค้างที่ไปรษณีย์...”
“คุณสั่งซื้อน้ำหอมจากช้อปปี้ 10 ขวด..."
“คุณมีใบสั่งค่าปรับรถยนต์ ยังไม่ชำระให้โทรกลับ...”
ฯลฯ
ถ้าโทรมาแล้วพูดไม่ค่อยเข้าใจ ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า มิจฉาชีพกำลังจะหลอกคุณ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่กำลังระบาดไปทั่วเมือง มีคนมากมายหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ และตำรวจก็ตามจับไม่ได้
กลลวงมิจฉาชีพ
"ล่าสุดมิจฉาชีพได้นำเรื่องเกี่ยวกับการมีพัสดุตกค้าง และการเข้าไปมีส่วนในคดีฟอกเงินมารวมกัน อ้างว่าตนได้ส่งพัสดุไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน" สว่าง ศรีสม ผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เล่า
นอกจากนี้สว่าง ยังยอมรับว่า ตอนที่ยังไม่รู้ความจริง รู้สึกกลัวและกังวลอย่างมาก เพราะด้วยลักษณะงานจะต้องให้สำเนาบัตรไปกับบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก และบางครั้งก็ไม่ได้ทำการลงนามกำกับพร้อมระบุวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรมนั้น ๆ ไว้ซึ่งเสี่ยงต่อการนำไปปลอมแปลงได้ง่าย
"ทำให้หลงเชื่อ จากนั้นพวกมันก็โอนสายให้คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ(ปลอม) เพื่อดำเนินการแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ ให้แอดไลน์คุย โดยหน้าโปรไฟล์จะเห็นเป็นหน่วยงานตำรวจชัดเจน
นอกจากนี้ยังได้คุยกับเจ้าหน้าที่ ปปง. เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลว่า ตนไม่ได้เกี่ยวพันกับการฟอกเงิน โดยที่ไม่ได้เฉลียวใจเลย
ทำให้เปิดเผยข้อมูลทางการเงินให้แก่แก๊งมิจฉาชีพไปด้วยความหลงเชื่อรวม 2 บัญชี แต่พอถึงบัญชีที่ 3 ปรากฏว่าสายโทรศัพท์ตัดไป ซึ่งถือว่าโชคดี และเมื่อทบทวนจึงตัดสินใจโทรกลับไปยังเบอร์มิจฉาชีพที่โทรมา ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ตนจึงมั่นใจว่าน่าจะเป็นการโทรจากแก๊งมิจฉาชีพ"
อย่างไรก็ตาม เมื่อสว่างโทรไปอายัดบัญชี แต่เจ้าหน้าที่ธนาคาร บอกว่า ต้องแจ้งความก่อนและต้องมีเอกสารต้นฉบับจากทางตำรวจเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้
"ใช้เวลานาน ล่าช้าในการได้รับความช่วยเหลือ และเมื่อนำเอกสารแจ้งความไปติดต่อทางธนาคารก็ได้รับข้อมูลว่า จะตรวจสอบเส้นทางการเงินให้และแจ้งกลับตำรวจภายใน 15 วัน ใช้เวลานานมาก คงจะไม่สามารถตามเงินคืนมาได้"
ถูกหลอกลวงไปแล้วกว่าพันล้านบาท
จากการตรวจสอบสภาองค์กรของผู้บริโภคพบว่า มูลค่าทางการเงินที่เกิดจากการหลอกลวง ผ่านะช่องทางโทรศัพท์และช่องทางเอสเอ็มเอส (อีกกรณีที่ถูกหลอก) รวมๆ แล้วมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของเหยื่อ บางรายถึงขั้นล้มละลาย หรือฆ่าตัวตาย และมีข้อสังเกตว่า หน่วยงานกำกับดูแลหลัก ยังล้าหลังไม่สามารถเท่าทันกลลวง
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ปัญหามิจฉาชีพยุคดิจิทัลและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลเข้าขั้นวิกฤติ โดยมีข้อมูลของลูกค้าองค์กรระดับชาติและระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนหลุดออกมา
รวมถึงการที่หลายองค์กรนำข้อมูลของลูกค้าออกมาขาย ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมทางโลกไซเบอร์ให้เห็นทุกวัน
“กลโกงที่ถูกพัฒนาขึ้น ก็มักก้าวนำการรู้เท่าทันของผู้บริโภคอยู่เสมอ และที่ผ่านมาได้นำเสนอปัญหาไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
อีกประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ มิจฉาชีพยุค 5G ใช้ความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีเพื่อหลอกเอารหัส OTP ไปใช้ทำธุรกรรมด้านการเงิน จนทำให้กระทบถึงข้อมูลเครคิตบูโร ซึ่งกระทบต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
"มิจฉาชีพปัจจุบันได้ดำเนินการในรูปแบบองค์กร และมีศูนย์คอลเซ็นเตอร์อยู่ในต่างประเทศทำให้ยากที่จะติดตาม
ซึ่งพบว่าเงินที่ถูกหลอกให้โอนไปที่บัญชีม้านั้น จะถูกโอนต่อไปยังบัญชีอื่นภายใน 15 วินาทีและจะถูกโอนไปอีกหลายชั้น เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ บางรายไปจบที่การนำเงินเหล่านั้นไปใช้ซื้อบิทคอยน์ ทำให้โอกาสที่จะได้รับเงินคืนนั้นเป็นเรื่องยาก" สาลี กล่าว
คำแนะนำไม่ให้ถูกหลอก
สว่าง ศรีสม ผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ อยากให้ธนาคารขึ้นข้อความเตือนก่อนการโอนเงินเพื่อเตือนสติเบื้องต้น และปรับปรุงขั้นตอนการอายัดบัญชีให้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งการตรวจสอบข้อมูล เพื่อมาตรวจบัญชี
"กรณีของตนพบว่า บัญชีม้าที่ใช้หลอกลวง ถูกระบุให้เป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีดำอยู่แล้ว แต่ทำไมธนาคารจึงยังอนุญาตให้เปิดบัญชีได้ อยากร้องขอให้ธนาคารคิดกลไกช่วยตรวจสอบอย่างน้อยก็เป็นต้นทางที่จะช่วยลดปัญหา"
ส่วน สาลี แนะนำว่า ก่อนทำการโอนเงิน ผู้บริโภคควรตรวจสอบบัญชีปลายทาง ได้ที่เว็บไซต์ Blacklistseller ศูนย์กลางการตรวจสอบการฉ้อโกงออนไลน์ เช็คชื่อและเลขบัญชีก่อนซื้อขายเพื่อป้องกันการโดนโกง
"หากผู้บริโภคถูกหลอกจากกลุ่มมิจฉาชีพ ก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือจะเลือกดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็สามารถทำได้เช่นกัน
โดยผู้เสียหายต้องรีบดำเนินการภายใน 3 ชั่วโมงเพื่อเพิ่มโอกาสในการอายัดบัญชีลดความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพย์"
ที่มา : ข้อมูลบางส่วนจากการเสวนาออนไลน์ “นักคิดดิจิทัล ร่วมหาทางออกแก้ปัญหามิจฉาชีพยุค 5G” จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค และภาคีโคแฟค ประเทศไทย
..............................
5 ขั้นตอนกลโกงหลอกเหยื่อให้หลงเชื่อ
มิจฉาชีพจะใช้กลลวงหลอกเหยื่อ 5 ขั้นตอน ดังนี้
1.มิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากศาลติดต่อไปยังเหยื่อผ่านทางโทรศัพท์
2.อ้างว่าเหยื่อได้รับหมายศาล ทำให้เหยื่อตกใจ
3.หลอกให้เหยื่อติดต่อกลับไปยังมิจฉาชีพ เพื่อขอรับความช่วยเหลือ
4.มิจฉาชีพจะเสนอตัวเข้าไปช่วยเหลือ โดยการขอข้อมูลส่วนบุคคล
5.เหยื่อจะถูกหลอกให้ทำธุรกรรมผ่านทาง ATM โดยการโอนเงินเข้าบัญชี
(ที่มาข้อมูล : ตำรวจสอบสวนกลาง)