"คนจนเมือง" คือใคร? ทำไมเกี่ยวข้องกับทุกนโยบายของ "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม."

"คนจนเมือง" คือใคร? ทำไมเกี่ยวข้องกับทุกนโยบายของ "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม."

คนจนเมืองคือใคร? เปิดนิยามว่าด้วยความเป็น "คนจนเมือง" กลุ่มคนอ่อนไหวในเมืองใหญ่ ผู้ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของเมือง และเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของนโยบายหาเสียงที่บรรดาผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ต้องพูดถึง

การหาเสียง เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กำลังเข้มข้นขึ้น ทั้งการเปิดตัวทีมงานขับเคลื่อนนโยบายของผู้สมัคร การปรับรูปแบบป้ายหาเสียง รวมถึงการสร้างกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ เป็นสีสันในบรรยากาศเตรียมใช้สิทธิ์ของคนกรุงเทพในรอบ 9 ปี

ท่ามกลางสารพัดแนวคิดในการแก้ปัญหาเมืองหลวง คำหนึ่งที่เรามักได้ยินอยู่เสมอจากปากทุกผู้สมัครคือคำว่า “คนจนเมือง” นั่นเพราะเกือบนโยบายต่างๆ ที่ถูกนำเสนอออกมาล้วนมี คนจนเมือง เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลัก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสาธารณสุข ขนส่งสาธารณะ คุณภาพชีวิต การศึกษา ฯลฯ

\"คนจนเมือง\" คือใคร? ทำไมเกี่ยวข้องกับทุกนโยบายของ \"เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.\" สภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มชุมชนริมคลองแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สะท้อนความเป็นคนจนเมืองที่เราเห็นกันจนชินตา (จากแฟ้มภาพ Nation Photo) 

นิยามคนจนเมือง

ชื่อของ “คนจนเมืองชัดเจนว่าหมายถึง คนจนที่อยู่ในเมือง ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นปัญหาความยากจนรูปแบบใหม่ที่ต่างจากความยากจนแบบดั้งเดิมที่คนมักอยู่ในภาคเกษตรและชนบท ทั้งยังเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกว่าการพัฒนาเมืองกำลังมีปัญหาความไม่เป็นธรรมและยั่งยืนจนเกิด "คนจนเมือง" ขึ้น

  • โครงการวิจัยชุดความเหลื่อมล้ำและคนจนเมือง พ.ศ.2560

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จำแนก คนจนเมืองออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งฉายภาพคนจนเมืองให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่า คนจนเมือง ที่จริงแล้ว ยังมีแยกย่อยลงไปอีก ได้แก่

1. กลุ่มคนจนเชิงรายได้ ซึ่งถือเป็นกําลังสําคัญในภาคเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการของเมือง มีรายได้ต่ำ และมักถูกละเลยสิทธิที่จะอยู่ในเมือง (Right to the City)

2. กลุ่มชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่คือ กลุ่มชุมชนผู้อยู่อาศัยเดิม กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพต่างๆ และชุมชนทางวัฒนธรรม ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการพัฒนาของภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนทั้งในทางตรงและทางอ้อม

3. กลุ่มแรงงานที่ย้ายเข้ามาในพื้นที่ แรงงานในระบบและนอกระบบที่ย้ายเข้าสู่เมือง ทั้งที่เป็นคนไทยจากชนบท และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มักขาดการรองรับด้านพื้นที่ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย สวัสดิการทางสังคม โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน และการศึกษาที่มีคุณภาพ

4. กลุ่มคนชายขอบ คือกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ โอกาส และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมตามสิทธิที่พึงมีจากภาครัฐและสังคม ซึ่งส่งผลต่อความยากจนทางรายได้และด้านอื่นๆ โดยงานวิจัยแบ่งคนจนกลุ่มนี้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ คนชายขอบทางสภาพร่างกาย และคนชายขอบทางสถานะทางสังคม

“ชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ  ทำงานรับจ้างอยู่ในเมือง เช่น เป็นแม่บ้านทำความสะอาด เป็น รปภ.  ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือขายอาหารเล็กๆ น้อยๆ  เมื่อการรถไฟฯ จะเอาที่ดินคืน  พวกเราก็ไม่ได้ต่อต้าน  แต่มีข้อเสนอคือ  ขอเช่าที่ดินรถไฟฯ อย่างถูกต้อง  เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ให้เป็นระเบียบ ไม่เป็นชุมชนแออัดเหมือนทุกวันนี้” เชาว์  เกิดอารีย์  ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) กล่าวตอนหนึ่งเมื่อครั้งตัวแทน เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีส่วนต่อการเวนคืนที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ในวันที่อยู่อาศัยโลก เมื่อปี 2564

\"คนจนเมือง\" คือใคร? ทำไมเกี่ยวข้องกับทุกนโยบายของ \"เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.\" ภาพการเรียกร้องเรื่องที่อยู่อาศัยของกลุ่มสลัม 4 ภาค ภาพจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

  • คนจนเมืองกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่

แม้นิยามของ “คนจนเมือง” จะตีความได้หลายความหมาย และมีความทับซ้อนในมิติของ รายได้ การขาดโอกาส การขาดสิทธิและอํานาจ แต่คอนเซปต์ที่เห็นได้ชัดของความเป็นคนจนเมืองคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ทางสังคมที่พวกเขาได้รับจากการพัฒนาและสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไป

ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้น ที่เป็นตัวอย่างของการมีชุมชนเมือง ผลการศึกษาชุดโครงการวิจัย ‘คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ ยังเคยรายงานถึงความยากลำบากของคนจนเมืองในจังหวัดอื่นๆ อาทิ  

คนจนเมืองใน จ. เชียงใหม่ ซึ่งไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง มีต้นทุนการมีชีวิตที่สูง

คนจนเมือง จ. ขอนแก่น ซึ่งคนจนเมืองมีความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาพื้นที่ และขาดสิทธิในการมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในโครงการพัฒนาเมือง

คนจนเมือง จ.ชลบุรี ซึ่งจำนวนแรงงานต่างถิ่นและประชากรแฝงเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาความยากจนของคนชายขอบ และถูกจำกัดการเข้าถึงสิทธิในนโยบายทางการเมือง

คนจนเมือง จ. สงขลา ซึ่งกลุ่มคนจนเมืองมีการโยกย้ายที่อยู่อาศัยเนื่องจากขาดความมั่นคงในด้านพื้นที่ ทั้งยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการแห่งรัฐและสิทธิพื้นฐานอันจำเป็น

ความเป็นคนจนเมือง จึงไม่ได้จำกัดแค่เรื่องรายได้ที่ทำให้เขาต้องเป็นคนจน หากแต่เมื่อเมืองเปลี่ยน คนเหล่านี้ถูกขับออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนา ขาดการเข้าถึงสิทธิในการออกแบบนโยบายอันมีผลกระทบต่อชีวิตของตนเอง ทำให้สถานะของคนจนในเมืองใหญ่ไม่ต่างอะไรกับคนที่ต้องใช้ชีวิตให้อยู่รอดเป็นวันๆ

ทั้งนี้แม้จะมีการสำรวจว่าปัจจุบันคนจนเมืองบางส่วนได้ถูกยกระดับ สามารถเก็บสะสมเงินออมและยกสถานะทางเศรษฐกิจของตนเอง มีการเติบโตทางอาชีพ เช่น จากแผงลอยค้าขายเป็นร้านค้า จากแรงงานรับจ้างเป็นผู้รับเหมาขับรถกระบะ แต่กลุ่มคนเหล่านี้หากเกิดวิกฤติและสิ่งที่ไม่ได้เตรียมการล่วงหน้าขึ้นมาเมื่อใด สภาพความเป็นอยู่ของคนจนเมือง ก็จะพบกับความไม่แน่นอน และมีความอ่อนไหวโดยทันที

 อาทิ ผลสำรวจผลกระทบโควิด-19 ต่อชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้านและคนจนเมือง ในสถานการณ์โควิด-19 โดยคณะวิจัยโครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ซึ่งระบุตอนหนึ่งว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก (ร้อยละ 85.4) ไม่สามารถหารายได้เท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ต้องเอาเงินออมออกมาใช้ ไม่มีเงินส่งหนี้สิน นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อหารายได้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ยังทำได้น้อยเนื่องจากการขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี

คนจนเมืองจึงอ่อนไหว เปราะบาง และมีชีวิตบนความไม่แน่นอนแม้จะอยู่ในเมืองใหญ่ซึ่งมีความทันสมัย มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ

  • คนจนเมืองกับนโยบายผู้ว่าฯ กทม.

เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เป็นเป้าหมายที่ 11 ของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ซึ่งระบุว่า เมืองที่ดีต้องทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน

นโยบายของบรรดา ผู้ว่าฯ กทม. ทุกยุคทุกสมัย จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อสนองเป้าหมายของการให้กรุงเทพเป็นเมืองที่พัฒนาให้ผู้คนมีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีตามความหมายของ SDGs โดยที่ต้องไม่ลืมคีย์เวิร์ดเรื่อง “ความเท่าเทียม” ทั้งนี้เพื่อให้นโยบายเข้าถึงคนทุกกลุ่ม ไม่เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ราคาค่ารถโดยสารสาธารณะซึ่งต้องเป็นราคาที่คนทุกกลุ่มรับได้ 

ความเท่าเทียมและเข้าถึงที่ว่านี้ ยิ่งเฉพาะกับกลุ่ม คนจนเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่สุด อาทิ เป็นผู้ที่ต้องใช้ขนส่งมวลชน นั่งรถเมล์  (เพราะไม่มีรถยนต์ส่วนตัว, บ้านไม่มีที่จอด) ต้องใช้พื้นที่สีเขียวสาธารณะ (เพราะที่อยู่อาศัยไม่มีส่วนกลางที่ออกแบบอย่างสวยงาม) ต้องส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครใกล้บ้าน (เพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีรายได้พอส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนเอกชน)

กลุ่มคนจนเมืองจึงหลีกหนีไม่ได้ ที่ต้องเป็นผู้แบกรับทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จในการพัฒนาเมือง ต่างจากกลุ่มคนที่มีรายได้สูง หรือชนชั้นกลาง ที่อาจเข้าถึง ระบบประกันสุขภาพ มีทางเลือกในการเดินทาง มีสวัสดิการทั้งจากรัฐและบริษัทเอกชน

\"คนจนเมือง\" คือใคร? ทำไมเกี่ยวข้องกับทุกนโยบายของ \"เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.\"

เมื่อถึงคราวต้องเลือกตั้งพ่อเมืองกรุงเทพฯ คีย์หลักของนโยบายจากบรรดาผู้สมัครจึงสื่อสารกับคนจนเมืองโดยตรง เช่น  การสร้างเมืองที่คนเท่ากัน (วิโรจน์ ลักขณาอดิศร), กรุงเทพต้องดีกว่านี้ (สกลธี ภัททิยกุล), เปลี่ยนกรุงเทพ (ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์) , สร้างเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) และนี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมเราถึงได้ยินคำว่า คนจนเมืองซ้ำๆ ในการหาเสียงของผู้สมัครแต่ละท่าน เพราะคนจนเมืองนี่เองที่ได้รับผลกระทบทั้งจากทางบวกและทางลบมากที่สุด ในแนวทางพัฒนาเมือง

\"คนจนเมือง\" คือใคร? ทำไมเกี่ยวข้องกับทุกนโยบายของ \"เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.\" \"คนจนเมือง\" คือใคร? ทำไมเกี่ยวข้องกับทุกนโยบายของ \"เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.\"

\"คนจนเมือง\" คือใคร? ทำไมเกี่ยวข้องกับทุกนโยบายของ \"เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.\" บรรดาสื่อหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่สะท้อนถึงการใส่ใจกับกลุ่มคนจนเมือง

ท่ามกลางการแข่งขันด้านไอเดีย วิสัยทัศน์เราจึงได้ยินคำว่า คนจนเมือง อยู่ตลอด และถ้ามีใครฝันถึงชีวิตที่ดีขึ้นในเมืองใหญ่ กลุ่มคนจนเมือง ก็น่าจะเฝ้าฝันถึงการมีพรุ่งนี้ที่ดีกว่ามากกว่ากลุ่มคนไหน 

ส่วนในปฏิบัติจะเป็นอย่างไร และกลุ่ม คนจนเมือง จะเป็นผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือไม่ ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

\"คนจนเมือง\" คือใคร? ทำไมเกี่ยวข้องกับทุกนโยบายของ \"เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.\" \"คนจนเมือง\" คือใคร? ทำไมเกี่ยวข้องกับทุกนโยบายของ \"เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.\" \"คนจนเมือง\" คือใคร? ทำไมเกี่ยวข้องกับทุกนโยบายของ \"เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.\"