รู้จัก “Salt alternatives” “เกลือทางเลือก” เพื่อสุขภาพ ป้องกัน "โรค NCDs"
“เกลือทางเลือก” ไม่ใช่ “เกลือ” หากเป็นเครื่องเทศ สมุนไพร ผักและผลไม้ ใช้แทนเกลือเพื่อดูแลหัวใจ ลดความดันและคอเลสเตอรอล ช่วยสร้างสรรค์เมนูใหม่ รสชาติใหม่ แล้วทำไมจะไม่เลือกล่ะ...
คนตั้งชื่อ เกลือทางเลือก หรือ Salt alternatives เพราะสามารถใช้ปรุงอาหารแทนเกลือ หรือ โซเดียม ที่กินมากเกินจะส่งผลต่อความดันโลหิตและคอเลสเตอรอล เป็นอันตรายต่อโรคหัวใจ-หลอดเลือด และโรคไต ที่อันตรายยิ่งกว่าคืออายุที่สั้นลง
เกลือ (Credit: freepik.com)
ก่อนหน้านี้มี Salt institutes หรือเกลือโซเดียมต่ำ คือ โพแทสเซียม คลอไรด์ มีรสชาติเหมือนเกลือ พัฒนาโดยชาวญี่ปุ่นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะอยากให้คนลดการบริโภคโซเดียม
ไม่นานนักคำว่า Salt alternatives จึงเกิดขึ้น ด้วยอยากรณรงค์ให้คนกินโซเดียมลดลง หันไปใช้ เกลือทางเลือก ซึ่งมีหลากหลาย ทั้งชนิดสดและแห้ง ชนิดเกล็ดและบดเป็นผง
ประโยชน์และโทษของเกลือ : ช่วยควบคุมความสมดุลของกรดด่างและน้ำในร่างกาย รักษาระบบหมุนเวียนเลือด ร่างกายสร้างโซเดียมเองไม่ได้จึงต้องรับจากอาหาร
(Credit: healthline.com)
แต่ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนัก เพราะไตทำหน้าที่ขับโซเดียม ทำให้เกิดความคั่งของเกลือ ส่งผลให้ความดันสูง เป็นโรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด ยังพบว่ามีความสัมพันธ์กับอีกสารพัดโรค เช่น อ้วนลงพุง เบาหวาน นิ่วในไต ภาวะดื้ออินซูลิน มะเร็งกระเพาะอาหาร โรคหลอดเลือดสมอง โรคกระดูกพรุน ฯลฯ
กินเกลือแค่ไหนดี : WHO แนะนำว่าในผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม ต่อวัน แต่ถ้าเป็นโรคความดันและผู้สูงอายุ ไม่ควรเกิน 1,500 มิลลิกรัม
ปรุงปลาที่ใช้เกลือทางเลือก (Credit: Agto Nugroho on Unsplash)
USDA ในอเมริการะบุว่า วัยผู้ใหญ่กินโซเดียมได้ไม่ควรเกิน 2,300 มิลลิกรัม หรือเท่ากับ 1 ช้อนโต๊ะ ในขณะที่สมาคมโรคหัวใจอเมริกา แนะนำว่าไม่ควรกินเกินวันละ 1,500 มิลลิกรัม
ปัจจุบันคนอเมริกันบริโภคโซเดียมวันละ 3,400 มิลลิกรัม ส่งผลให้เกิด โรค NCDs อย่างไรก็ดียังมีข้อโต้เถียงถึงปริมาณของโซเดียมเพราะถ้าบริโภคลดลงมากเกินไปก็ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ
(Credit: pixabay.com)
กรมอนามัย ประเทศไทย รายงานว่า คนไทยก็เป็นแชมป์ “กินเค็ม” โดยบริโภคโซเดียมประมาณ 4,352 มิลลิกรัม ต่อคนต่อวัน ส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ โรคNCDs (Non-Communicable Diseases) เป้าหมายคือให้ประชาชนลด “กินเค็ม” ลง 30% ภายในปี พ.ศ.2568
(Credit: buzzfeed.com)
จะทำได้แค่ไหน เพราะในอุตสาหกรรมอาหารล้วนมีโซเดียม เครื่องปรุงรส ของกินเล่น ขนมที่ใส่ผงฟู ผงชูรส น้ำปลา เต้าเจี้ยว ปลาร้า ซีอิ๊ว กะปิ ซุปก้อน ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก อาหารหมักดอง อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ
จึงเกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการอาหารก็พยายามลดโซเดียม หรือใช้เกลือโซเดียมต่ำ ดังนั้นเมื่อจะซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ เข้าบ้าน ควร “อ่านฉลาก” ก่อนซื้อ
เกลือทางเลือก (Credit: herbone.com)
เกลือทางเลือก (Salt alternatives) คือเครื่องเทศ สมุนไพร ผัก ผลไม้ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ในอาหารของชนทุกชาติ ใช้แทนเกลือเพื่อปรุงรสและกลิ่น ช่วยให้อาหารเค็มน้อยลง ในขณะเดียวก็ได้กลิ่นและรสของพืชสมุนไพรนั้นแทน อร่อยไปอีกแบบ...
เว็บไซต์สุขภาพ healthline.com แนะนำ เกลือทางเลือก 18 อย่าง ให้เริ่มเก็บใส่กระปุกหรือมีไว้ติดตู้เย็น เมื่อนึกจะเหยาะเกลือก็ใช้ เกลือทางเลือก แทน มีอาทิ
กระเทียม ควรมีติดครัว (Credit: greencleansimple.com)
กระเทียม : ครัวเอเชียใช้กระเทียมสด ทุกบ้านต้องมี ฝรั่งบางทีใช้กระเทียมผง เพื่อปรุงอาหารง่ายขึ้น ใส่ในซุป เมนูผัด กระเทียมช่วยลดความดัน ลอคอเลสเตอรอล เสริมสุขภาพสมอง
น้ำมะนาว / ผิวมะนาว : รวมถึงส้มและผิวส้ม ช่วยแต่งกลิ่นอาหาร สร้างความรู้สึกสดชื่น เหมาะกับจานสลัด เนื้อ ปลา ต้องมีติดตู้เย็น เจมี่ โอลิเวอร์ ชอบบีบมะนาวเหลืองในอาหารก่อนเสิร์ฟเสมอ
พริกไทยดำป่น / พริกไทยขาวป่น / พริกฮาลาปิโน / พริกป่น / พริกคาเยน : ปรุงอาหารได้ทุกชนิด เช่น ซุป สลัด จานอบ พาสต้า เมนูผัด ช่วยลดอัตราเสี่ยงโรคหัวใจ มะเร็ง เพิ่มช่วยชูรส เพิ่มความเผ็ดร้อน
ผักชีลาว (Dill) : แทนเกลือได้และสร้างกลิ่นหอมในจานปลา มันฝรั่ง แตงกวา แซลมอน สลัดมันฝรั่ง ปลาอบเสริมด้วยน้ำมะนาวและใบดิลล์
พริกไทยเป็นหนึ่งในเกลือทางเลือก (Credit: goodnet.org)
หอมใหญ่ : ชนิดสดและผง รสชาติคล้ายกระเทียม เหมาะกับจานปลา เมนูผัด ซุป สตูว์ สลัด ให้กลิ่นฉุนนิด ๆ ปนหวานหน่อย ๆ กลิ่นสไตล์เครื่องเทศ
ยีสต์ธรรมชาติ : กำลังดัง แบบผงและเกล็ด ปรุงกับป๊อปคอร์น พาสต้า เมนูที่มีธัญพืช ให้รสคล้ายเนยแต่ไม่มีส่วนผสมของนม มีเบต้ากลูแคนไฟเบอร์ ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดอัตราเสี่ยงโรคหัวใจ มีโพรไบโอติกเสริมภูมิต้านทาน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินบี และไฟเบอร์
ยีสต์ธรรมชาติทำขนมปังและปรุงแทนเกลือ (Credit: blissmark.com)
ปาปริก้า : เหมาะกับทาโก้ สตูว์ อาหารที่เรียกร้องความเผ็ด ทำเป็นซัลซากินกับนาโช เป็นเครื่องเทศที่ดีต่อสุขภาพ มีสาร Capsaicin ช่วยลดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
(Credit: substitutecooking.com)
ทรัฟเฟิลออยล์ : ใช้เพียงเล็กน้อยก็ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั้งครัว ใส่ในพิซซ่า สลัด ทำซุป เมนูไข่คน มันฝรั่งอบ สลัด พิซซ่า ผักย่าง
ขิง : รสเผ็ดแต่หวานหอม ชนิดสดและแห้งใช้ดีหมด เหมาะกับอาหารจีน เช่น จานผัด ซุป และเครื่องดื่ม
ไก่อบกับโรสแมรี่ (Credit: mrfood.com)
โรสแมรี่ : ปลูกไว้ริมรั้วช่วยได้เยอะ ทำอาหารได้หลากหลาย กลิ่นหอม เหมาะกับจานเนื้อ แกะ ไก่ สตูว์ ทำเครื่องดื่มก็อร่อย
แอปเปิ้ลไซเดอร์ : มีไว้ติดตู้เย็นทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น น้ำสลัด จานผัก พอร์คชอป ช่วยลดคอเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
อบเชย : ใช้แทนเกลือดี ให้กลิ่นหอม รสเย็นและหวาน ทำซุป ซอสมะเขือเทศ ต้มทำแกง
อบเชย (Credit: healthline.com)
เสจ (Sage) : กลิ่นคล้ายส้มผสมยูคาลิปตัส ให้ความสดชื่น ใช้ทำบราวน์ซอส หรือซอสแนวครีมมี่ที่มีส่วนผสมของเนยและครีม ทำเมนูผักอบจำพวกน้ำเต้า ฟักทอง มันฝรั่งบด ริซอตโต้
ทาร์รากอน (Tarragon) : คล้ายชะเอมเทศ ใช้ทั้งชนิดสดและแห้ง เป็นเครื่องเทศที่ให้รสชัดเจน เหมาะกับเมนูไข่คน หรือออมเล็ตต์ สลัดไก่ เมนูที่ปรุงกับเนยและครีม จานไก่ ปลา และผัก
ขิง สมุนไพรที่ทุกบ้านควรมี (Credit: blendofbites.com)
ผักชีและลูกผักชี : แบบสดใช้ได้ทั้งรากและใบ ลูกหรือเมล็ดผักชีทำซุปหรือแกง ให้กลิ่นหอม มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและบำรุงสมอง
ยังมี ยี่หร่า, ขมิ้น, ออริกาโน, ผงจันทน์เทศ (Nutmeg), ใบไธม์, เมล็ดมัสตาร์ด, ตะไคร้, แซฟฟรอน, หอมแดง, มิ้นท์, พาร์สลีย์ ฯลฯ เลือกชนิดที่ชอบและใช้ปรุงอาหารที่เราถนัด
ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าจะลองปรุงอาหารด้วย เกลือทางเลือก และจะพบว่าทำให้อาหารมีสีสัน คนทำก็สนุกและกินอร่อยได้...โดยไม่เค็ม