กลับบ้าน “สงกรานต์ 2565” อย่าชะล่าใจ “โควิด-19” แนะตรวจสภาพรถ “ลด PM 2.5”
วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำเอาคนมีบ้าน อยากกลับบ้าน แต่ไม่ได้กลับ ช่วงหยุดยาว สงกรานต์ 2565 นี้ จึงอาจเป็นปีแรกในรอบกว่าสองปีของใครหลายคน ที่มีเป้าหมายจะกลับบ้านกันอย่างคึกคัก
สงกรานต์ 2565 นี้ เป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ในการรับมือกับโควิด-19 เมื่อภาครัฐกำลังเตรียมประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความกังวลเรื่องโควิด -19 ในประชาชนอาจซาลงไปบ้าง แต่หากพิจารณาสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อเอง เราอาจต้องยอมรับว่า “ไม่อาจไว้ใจ” สถานการณ์ได้อย่าง 100%
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเสวนา “เสียงจากชุมชนและคนงาน ก่อนสงกรานต์และโควิดเป็นโรคประจำถิ่น” ที่จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และ สสส.ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างเตรียมประกาศ และปรับมาตรการโควิด-19 จากการเป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาเป็นสถานะ "โรคประจำถิ่น" (Endemic) หรือโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง คาดการณ์ว่าจะเริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 โดยจะต้องดูตามสถานการณ์
“สสส. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ เมื่อโควิด-19 เป็น โรคประจำถิ่น ครั้งนี้ด้วย”
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ในช่วงสงกรานต์ ปี 2565 คาดการณ์ว่า ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา และอาจมีกิจกรรม ตั้งวงดื่มเหล้า หลังเริ่มมีการผ่อนผันมาตรการ ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 สสส. และภาคีเครือข่าย จึงรณรงค์ให้เกิดการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่กับรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ” เพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนถนน เดินหน้าส่งเสริมความเข้าใจเรื่องวัคซีนกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ระบบบริการสุขภาพมีปัญหาขั้นวิกฤต เพราะวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค และภาวะ “ลองโควิด” ที่อาจทำให้สมรรถนะร่างการเปลี่ยนไปได้
“สสส. ยืนยันว่า จะเดินหน้าสร้างความเข้าใจเรื่องการดูแลและป้องกันตนเอง สู่วิถีชีวิต New Normal บนความปกติใหม่ และทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน สวมหน้ากากอนามัย และจะเน้นย้ำเรื่องการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มไม่ขับ และฝากถึงทุกคนไม่ให้เดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เพื่อความปลอดภัยของครอบครัว ชุมชน สังคมจะได้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้และมีสุขภาวะดีไปด้วยกัน” ดร.สุปรีดา กล่าว
ขณะเดียวกันอีกปัญหาสุขภาพที่เราคนไทยต้องเผชิญมาก่อนหน้าอย่าง ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เองก็ยังไม่คลี่คลาย แม้โควิด-19 นั้นเราไม่อาจแก้ไขได้ด้วยตัวเองทั้งหมด แต่สำหรับปัญหาฝุ่นจิ๋วนั้นกลับเป็นเรื่องที่เราทุกคนมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันได้
ล่าสุด ก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา สสส. และภาคี 10 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน อาทิ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด จึงร่วมกันจัดงาน “ที ลีสซิ่ง เปื้อนยิ้ม เพิ่มห่วงใย ตรวจสภาพรถจักรยานยนตร์ ฟรี! ปี 3” ปลุกคนไทยตื่นตัวลดฝุ่น PM2.5 ด้วยการหมั่นตรวจเช็คควันดำและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ก่อนเดินทาง โดยยังมีการให้บริการตรวจสภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์ให้แก่ประชาชนก่อนเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
มงคล เพียรพิทักษ์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้รถได้เดินทางอย่างปลอดภัยตลอดเส้นทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในปีนี้ ได้ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากเห็นความสำคัญของการขับขี่อย่างปลอดภัย พร้อมใส่ใจสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้ถึงพิษภัยของการปล่อยมลพิษทางอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ขับขี่และคนรอบข้าง
ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการอากาศสะอาดเขตปทุมวัน ถือเป็นการนำแนวคิดของเขตควบคุมมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ที่มีต้นแบบจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพ โดยสร้างความร่วมมือในการตรวจสอบสภาพรถที่อาจปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมการใช้รถสาธารณะพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
“สสส. ขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กรุงเทพฯ มีค่าความเข้มข้นของมลพิษจากฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มลดลงจาก 20.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2561 เหลือ 20.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2564 หรือลดลงร้อยละ 5 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การฟื้นฟูอากาศและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะของประชาชนที่ดีขึ้นได้จริง” ชาติวุฒิ กล่าว