ป้ายบิ๊กป้อม ขันทักษิณ ปฏิทินยิ่งลักษณ์ ย้อน"ของที่ระลึก"การเมืองในเทศกาล
เมื่อของที่ระลึกทำให้นึกถึงคนที่ให้ ย้อนรอยสิ่งของที่ระลึกจากนักการเมืองที่มอบให้คนไทยในช่วงวันหยุดเทศกาล ป้ายบิ๊กป้อม-ขันทักษิณ- ปฏิทินยิ่งลักษณ์ และความสัมพันธ์แบบไทยๆ ที่ยังไม่มีอะไรแทนได้
ถ้าใครเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงสงกรานต์ ไม่ยากนักที่คุณจะเห็น “ป้ายบิ๊กป้อม” ป้ายภาพของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมข้อความอวยพร “สวัสดีปีใหม่ไทย 2565 ขอให้คนไทย มีสุขภาพดี มีความสุข อยู่ดีกินดีตลอดไป”
ถ้าจะมองเป็นเรื่องธรรมดามันก็จะเป็นแค่เพียงป้ายธรรมดา ซึ่งจะเป็นใครสักคนก็ได้ที่อยากส่งสารอวยพรตามธรรมเนียมปีใหม่ไทย แต่ถ้ามองเป็นเรื่องการเมือง นี่ก็คือธรรมเนียมแบบนักการเมือง ซึ่งมักมีของที่ระลึกแทนใจเรียกความนิยม สร้างการจดจำไม่ให้ลืมกันในช่วงเวลาพิเศษ
“ฉันอยู่กับเธอตรงนี้เสมอ ไม่ได้หายไปไหน” บรรดาป้ายเล็กใหญ่ที่ยืนท้าลม ตากแดด ในช่วงเทศกาลสำคัญบอกกับเราแบบนั้น
ป้าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565
“ป้าย” ที่เป็นมากกว่าป้าย
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นกับ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ว่า การส่งสารจากบรรดานักการเมือง ผ่านป้าย ผ่านของที่ระลึก ในช่วงเทศกาลสำคัญเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรจาก การ Remind (ย้ำเตือน) ถึงแบรนด์ตัวเอง กับประชาชน
“มันเหมือนกับเวลามีงานสำคัญ เช่น งานบวช งานศพ ถ้านักการเมืองในพื้นที่รู้และพอจะเชื่อมโยงกันได้บ้าง พวกเขาก็มักจะส่งของที่ระลึกไป ถ้างานศพก็เป็นพวงหรีด งานแต่งก็จะไปปรากฎตัวหรือร่วมใส่ซอง ซึ่งมูลค่าของที่ระลึกเหล่านั้นมันไม่ได้มาก หรือมีนัยยะสำคัญอะไร แต่โอเคว่าต้องไปปรากฏตัว เพื่อย้ำกับชาวบ้านว่านักการเมืองคนนี้ยังอยู่ในพื้นที่ตลอด”
งานวิจัยเรื่อง “การซื้อเสียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : กรณีศึกษาจังหวัดมหาสารคาม” สาขารัฐศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อธิบายตอนหนึ่งว่า คุณสมบัติของผู้สมัครที่ทําให้เกิดการตัดสินใจเลือกหรือลงคะแนนเลือกตั้งมีปัจจัยด้านความผูกพันกับชุมชนพื้นที่เป็นระยะเวลานานจริงๆ โดยอยู่ในระดับร้อยละ 73.9 ซึ่งเป็นปัจจัยลำดับที่ 4 จาก 7 ลำดับปัจจัยที่ได้ทำการศึกษา รองจากปัจจัยด้านความซื่อสัตย์ สุจริต ร้อยละ 86.3, ปัจจัยด้านนโยบายร้อยละ 84.2ปัจจัยด้านการเข้าถึงง่าย 82.6
ขณะที่ปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น ปัจจัยด้านสังกัดพรรคที่ชอบ, ด้านภาพลักษณ์, การให้เงินรางวัลช่วยเหลือในด้านต่างๆ เป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักน้อยกว่า โดยอยู่ที่ ร้อยละ 68.7, 63.4, 46.6 ตามลำดับ
ความผูกพันที่ว่านี้คือการเชื่อมต่อ เข้าถึง และความเป็น “คนในพื้นที่” และมีความหมายซึ่งมีมิติมากกว่า “การซื้อเสียง” และจนถึงขณะนี้ก็มีผลการศึกษาจำนวนไม่น้อย ที่อธิบายว่า เงิน ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ให้ผู้มีสิทธิ์ให้คะแนนกับผู้สมัคร นั่นเพราะการตัดสินใจเลือกผู้สมัครคนใด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยเวลา ทำความรู้จัก และสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก่อน
ย้อนรอยของที่ระลึกการเมือง
เมื่อถึงช่วงเทศกาลสำคัญ อย่างสงกรานต์ ปีใหม่ เข้าพรรษา ออกพรรษา เรามักได้ยินเรื่องทำนองการแจกของที่ระลึก จากนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นอยู่เสมอ
ที่ชัดและเป็นข่าวมากที่สุดคือกรณี “ขันแดง” ของ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2559 ซึ่งมีข้อความที่อยู่ใต้ภาพว่า “ สวัสดีวันสงกรานต์ปีใหม่ไทย 2559 สงกรานต์ปีนี้ผมรู้สึกคิดถึงพี่น้องเป็นพิเศษ อยากมาช่วยท่านแก้ปัญหา แต่วันนี้ขอส่งกำลังใจมาก่อน รักและคิดถึง” ขณะที่บนขันน้ำก็มีข้อความเขียนว่า “แม้สถานการณ์จะร้อน ขอให้พี่น้องได้ความความเย็นจากน้ำผ่านขันใบนี้ด้วยครับ”
ขันแดงที่เคยเป็นข่าวเมื่อ สงกรานต์ พ.ศ. 2559
ส่วนในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2562 ก็เคยมีข่าวการแจกปฏิทินปีใหม่ ที่มีรูปสองอดีตนายกฯพี่น้องตระกูลชินวัตร อย่าง “ทักษิณ” และ “ยิ่งลักษณ์” พร้อมคำอวยพรอยู่ด้านหน้า
ปฏิทินขึ้นปีใหม่ 2562
ในปี 2564 ยังได้มีการแจก พลาสติกสีเขียว น้ำเงิน ม่วง เขียนข้อความ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ “สุขสันต์วันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย”
ขันน้ำเงินที่ถูกแจกเมื่อสงกรานต์ 2564
ทั้งนี้ แม้การให้ของ-แจกของ จะเชื่อมโยงกับ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 65 ซึ่งระบุว่า แม้พ้นช่วงเลือกตั้งแล้ว แต่ถ้าพรรค ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค สมาชิกพรรค หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด ให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคล ให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย
แต่นั่นก็เป็นข้อสังเกตที่บรรดานักการเมืองต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพียงเท่านั้น หากพฤติกรรมลักษณะนี้ก็ยังมีอยู่เสมอ ทั้งที่ปรากฎเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว
“ทุกวันนี้มันมีโซเชียลมีเดีย ถ่ายรูปปุ๊บ ถูกคนเอาไปแชร์ต่อก็กลายเป็นประเด็น แต่สำหรับของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆ แก้วน้ำ ปฏิทิน ปากกา สมุดโน้ต ฯลฯ ตามโอกาสสำคัญมีมานานแล้ว ตอนนี้ก็ยังมีอยู่ หรือเวลาชาวบ้านมีงานแล้วเขาขอยืมกระติกน้ำแข็ง เตนท์ ซึ่งมีชื่อทีมงานนักการเมือง นั่นก็เพื่อให้คนในพื้นที่จดจำชื่อได้เหมือนกัน” ทีมงาน ส.ก. คนหนึ่ง ให้มุมมอง
ความสัมพันธ์ที่อยู่นอกเหนือหลักการ
จะเป็นป้าย ขัน แก้วน้ำ การปรากฏตัวร่วมงานสำคัญ ฯลฯ ของนักการเมือง ล้วนมีความเชื่อมโยงกันคือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับประชาชน
“ฉันอยู่ตรงนี้กับเธอเสมอ ไม่ได้หายไปไหน” ไม่ใช่แค่ป้ายที่พยายามส่งเสียง แต่ ขันน้ำ ปฏิทิน การเข้าไปพ่นฉีดยาป้องกันยุงลายในชุมชน ก็พยายามสื่อสารถ้อยคำเช่นนี้ไม่ต่างกัน
ในเมืองที่ต่างคนต่างใช้ชีวิต มีเงินทุน มีเทคโนโลยี วิธีการสร้างความเป็นพรรคพวกแบบไทยๆ อาจถูกมองเป็นเรื่องล้าหลัง หากแต่ในชานเมือง ชนบท การรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันยังมีความสำคัญ ยิ่งเมื่อเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ ที่มีการกลับภูมิลำเนา จึงเป็นโอกาสดีที่ ส.ส. หรือผู้แทนฯ ของชุมชนและท้องถิ่นนั้นๆ จะสอดแทรกตัวเองเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
อย่าลืมว่า การเข้าถึงชาวบ้านของนักการเมืองนั้นแตกต่างจากราชการ เพราะพวกเขาไม่มีวันหยุด ไม่มีพิธีรีตอง อีกทั้งกิจกรรมในวิถีชีวิตธรรมดาๆ เช่น งานศพ งานแต่ง งานบวช เป็นสิ่งที่ข้าราชการไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม
นักการเมืองจึงกลายเป็นแกนหลักของสังคมวัฒนธรรมในวัฒนธรรมแบบไทยๆ และสำหรับบางครอบครัวการปรากฏตัวของนักการเมืองยังถือเป็นการให้เกียรติกับเจ้าภาพงานด้วยซ้ำ
ของที่ระลึกและความสัมพันธ์จากนักการเมืองที่ส่งให้กันในโอกาสพิเศษ จึงไม่ต่างอะไรกับความสัมพันธ์ที่อยู่นอกหลักการ เป็นการส่งสัญญาณกับพี่น้องประชาชนที่จะมองเป็นเรื่องธรรมดาหรือไม่ก็ได้
ป้าย ขันน้ำ ปฏิทิน จึงมีความหมายแบบที่ว่า สวัสดีปีใหม่ อย่าลืมกันนะ