"สงกรานต์ 2565"ไหว้พระ 9 วัดในกรุงเทพฯ เสริมสิริมงคล
เทศกาล"สงกรานต์ 2565" ชวนไปทำบุญ ไหว้พระ 9 วัด พร้อมวิธีสรงน้ำพระสงฆ์หรือพระพุทธรูป แต่ละวัด ควรไปสักการะพระพุทธรูปองค์ไหน
สงกรานต์ 2565 สาดน้ำ ปะแป้ง ก็ไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเข้าวัด ทำบุญ ไหว้พระ สรงน้ำพระพุทธรูปหรือสรงน้ำพระสงฆ์ (แบบระยะห่าง ป้องกันโควิด)
เพื่อเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่ไทย และในช่วงสงกรานต์ กรุงเทพฯ ปลอดโปร่งจากรถติด การเข้าวัดทำบุญจึงเป็นเรื่องไม่ยาก
1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น พร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 เพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองไทย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา สร้างแล้วเสร็จในปี 2327 ภายในพระอุโบสถของวัด และระเบียงรอบวัด มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์สวยงามมาก
ไฮไลท์วัดนี้ : ควรไปสักการะพระแก้วมรกต ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
สถานที่ : ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เปิดทุกวัน เวลา 8:30 – 15:30 น.
2. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารหรือวัดสามจีน เป็นวัดเก่าแก่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวจีนสามคนร่วมกันสร้างพระอาราม เพื่อเป็นวิหารทานการบุญ
วัดพระแก้ว
สิ่งสำคัญของวัด คือพระสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุด และได้รับการบันทึกในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์
พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีหน้าตั้งกว้าง 3.01 เมตร สูง 3.91 เมตร องค์พระสามารถถอดได้ 9 องค์ จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ 40% พระพักตร์มีเนื้อทอง 80% ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์ 99.99%
สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เข้าใจว่า เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุจังหวัดสุโขทัย
ไฮไลท์วัดนี้ : ต้องไปสักการะขอพร พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ชั้น 4 พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปทองคำแท้ทั้งองค์ หนักถึง 5.5 ตัน เฉพาะมูลค่าทองคำตามที่บันทึกในกินเนสบุ๊คนั้น อยู่ที่ประมาณ 28.5 ล้านปอนด์
สถานที่ : เลขที่ 661 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
พระนอนปางไสยาสน์ วัดโพธิ์
3. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ วัดประจำรัชกาลที่ 1 เคยเป็นเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง ทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551และปี 2554 ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ
วัดแห่งนี้ หลายคนอาจไม่รู้ว่า มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย 99 องค์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระนอนปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุด
ไฮไลท์วัดนี้ ต้องไปสักการะขอพรพระนอนปางไสยาสน์
สถานที่ : เลขที่ 2 ถนนสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดทุกวัน เวลา 08.30-17.30 น.
4. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
ต้นสกุลกัลยาณมิตร ว่าที่สมุหนายก ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียง ซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีภิกษุจีนพำนักอยู่ และเรียกกันต่อมาว่า “หมู่บ้านกุฎีจีน”โดยสร้างวัดขึ้นเมื่อปี 2368 และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร”
และทรงสร้างพระวิหารหลวงและพระประธานพระราชทาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อพระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต ด้วยมีพระประสงค์จะให้เหมือนกรุงเก่า คือมีพระโตอยู่นอกกำแพงเมือง อย่างเช่นวัดพนัญเชิง
ไฮไลท์วัดนี้ : ต้องไปสักการะพระพุทธไตรรัตนนายก พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ
สถานที่ : เลขที่ 371 ซอย อรุณอมรินทร์ 6 เเขวง วัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เปิดทุกวัน เวลา 10.00-20.00 น.
5. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดอรุณ)
บางคนเรียก “วัดอรุณ” หรือ “วัดแจ้ง” ส่วนสาเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีในปี 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง
แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่า ชื่อวัดแจ้ง ตั้งแต่เวลานั้นแล้ว
ไฮไลท์วัดนี้ ต้องไปสักการะ พระปรางค์
สถานที่ : 158 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานครเปิดทุกวัน เวลา 8.00-18.00 น.
6. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (วัดระฆัง)
สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ วัดแห่งนี้มีหอพระไตรปิฎก สถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของรัชกาลที่ 1 ขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงาม เพื่อเป็นหอพระไตรปิฎก
นอกจากนี้เคยมีการขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางหว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”
ไฮไลท์วัดนี้ ต้องไปสักการะหลวงพ่อโต
สถานที่ : 250 ถนน อรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เปิดทุกวัน เวลา 8.00-17.00 น.
7. วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร (วัดบวร)
วัดบวร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 และ 9 เคยเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งแรกในไทยวัดบวรนิเวศวิหารมีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน
ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์เป็นพระประธาน คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต)และพระพุทธชินสีห์พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเคยผนวช ณ วัดแห่งนี้
ไฮไลท์วัดนี้ : ต้องไปสักการะ พระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) และพระพุทธชินสีห์
สถานที่ : เลขที่ 248 ถนน พระสุเมรุ แขวง วัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เวลาเปิด-ปิด : 09.00 – 16.00 น.
วัดภูเขาทอง
8. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)
เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก เปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระเกศ สมัยรัชกาลที่ 1 ส่วนเจดีย์ภูเขาทอง เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีความสูง 77 เมตร บนยอดด้านบนบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบ ณ เมืองกบิลพัสดุ์
ไฮไลท์วัดนี้ ต้องไปสักการะ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จำลองสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
สถานที่ : เลขที่ 344 ถนนจักรพรรดิพงษ์ แขวง บ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เปิดทุกวัน เวลา 07.00- 19.00 น.
9. วัดชนะสงคราม
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร วัดโบราณเก่าแก่ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยต่างพากันมาสักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคลขอพร เพื่อชัยชนะทุกสิ่ง และสำเร็จดังหวังทุกประการ เพราะมีความเชื่อว่ าจะได้รับชัยชนะเหนืออุปสรรคทั้งปวงเหมือนกับชื่อของวัดชนะสงคราม
ไฮไลท์วัดนี้ :ต้องไปสักการะ พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น แล้วบุด้วยดีบุกลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย
สถานที่ : ถนนจักรพงษ์ แขวง ชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
.............
การสรงน้ำพระ มี 2 แบบ คือ
1) การสรงน้ำพระพุทธรูป
การสรงน้ำพระพุทธรูป อาจจะจัดเป็นขบวนแห่ หรืออัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานในที่อันเหมาะสม การสรงน้ำจะใช้น้ำอบ น้ำหอม หรือน้ำที่ผสมด้วยน้ำอบ น้ำหอมประพรมที่องค์พระ
2) การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร
การสรงน้ำพระภิกษุสามเณรจะใช้แบบเดียวกับอาบน้ำ คือ การใช้ขันตักรดที่ตัวท่าน หรือที่ฝ่ามือก็ได้ แล้วแต่ความนิยม หากเป็นการสรงน้ำแบบอาบน้ำพระ จะมีการถวายผ้าสบงหรือถวายผ้าไตรตามแต่ศรัทธาด้วย