“เบียร์” เครื่องดื่มที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ดื่มเบียร์แล้วลงพุง จริงหรือ..
อากาศร้อนใกล้แตะ 40 องศาแบบนี้ นักดื่มมักคิดถึง “เบียร์” เย็นฉ่ำ...เมรัยอมตะที่เก่าแก่และคลาสสิก หนึ่งในอารยธรรมแห่งการต้มกรองยุคแรกของโลก
เบียร์ เป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน คาดกันว่าเกิดขึ้นเมื่อ 9,500 ปีก่อน ขณะที่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า การต้มเบียร์ เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รู้จักขัดเกลาเครื่องมือหิน ประมาณยุค Neolithic เนื่องจากยุคนั้นมนุษย์รู้จักเก็บเกี่ยวธัญญาหารไว้บริโภคในระยะยาว
และรู้จักทำครัว รู้วิธีต้มข้าวเปลือกแล้วหมักในน้ำ จึงค้นพบกรรมวิธีผลิตเครื่องดื่มที่แก้กระหาย เก็บไว้ได้นาน และรสชาติอร่อย เรียกว่า ชิคารุ หรือ ขนมปังเหลว ซึ่งชาวสุเมเรียน แห่งลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติส บอกว่าเป็น..เครื่องดื่มจากสรวงสวรรค์
ภาพการทำเบียร์ เก็บอยู่ใน Israel Beer Breweries Museum เมือง Ashkelon
วิลเลียม ฟอล์คเนอร์ (William Faulkner : 1897 - 1962) นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1949 กล่าวไว้ว่า อารยธรรม...เริ่มต้นจากการต้มกรอง ซึ่งหมายถึง เบียร์
ขณะที่บางตำราบอกว่า การหมักเบียร์ในช่วงดังกล่าว ชาวสุเมเรียนใช้วิธีทำให้ข้าวสาลีแห้งเป็นผง จากนั้นนำไปอบเป็นขนมปัง แล้วจึงบดขนมปัง เติมน้ำ และหมักตามธรรมชาติ ทั้งนี้จากการค้นพบหลักฐานภาพการทำเบียร์จารึกอยู่บนอักษรคูนิฟอร์ม
การทำเบียร์สมัยอียิปต์
ทางฝั่งอียิปต์ระบุว่าเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล มีการทำเบียร์จากข้าวโดยนำเมล็ดข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จากริมฝั่งแม่น้ำไนล์มาอบแห้ง แล้วบดให้ละเอียดใส่ในถังผสมกับดอกฮ็อปส์ (Hops) ที่ช่วยให้เบียร์มีรสขม และเก็บได้นานขึ้น จากนั้นเติมน้ำลงไปผสมหมักกับยีสต์เกิดแอลกอฮอล์ พอมีตะกอนแล้ว “กรอง” เอาแต่น้ำมาดื่ม
การแจกจ่ายเบียร์ให้คนงานก่อสร้างพีรามิด
อียิปต์ยุครุ่งเรืองนั้นเบียร์เป็นเครื่องดื่มประจำชาติ ใช้ดื่มคู่กับอาหารทุกวัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเบียร์มีส่วนสำคัญในการก่อตัวของอารยธรรมอียิปต์ เช่นราว 4,500 ปีก่อนคริสตกาล คนงานในเมืองอูรุก ได้รับเบียร์เป็นค่าจ้าง และในการก่อสร้างมหาพีรามิดในกิซา คนงานได้รับปันส่วนเป็นเบียร์วัละ 4-5 ลิตร ซึ่งชาวอียิปต์เชื่อว่ามีส่วนช่วยทั้งเรื่องโภชนาการและทำให้สดชื่น มีเรี่ยวแรงในการทำงาน
ในยุคกลางการต้มเบียร์มักทำกันตามวัดหรือโบสถ์ในท้องถิ่น ที่สำคัญศาสตร์และศิลป์ของการปรุงเบียร์ถือเป็นความลับสุดยอด ไม่ถ่ายทอดให้กับใครง่าย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนนอกตระกูล สมัยก่อนในแคว้นบาวาเรีย แหล่งผลิตไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ใครจะหัดต้มเบียร์ต้องผ่านการฝึกงานก่อนอย่างน้อย 3 ปี
เอกสารเก่าเล่าเรื่องการทำเบียร์ในเยอรมนี
ที่เยอรมนีนี่เองประวัติศาสตร์เบียร์ยุคใหม่ได้เริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 15 เพราะชาวเยอรมันเป็นผู้คิดค้นทำเบียร์ขึ้นในแคว้นบาวาเรีย เชื่อว่าเบียร์มีความบริสุทธิ์สะอาดกว่าน้ำเปล่าจึงดื่มเบียร์กันแทนน้ำ และเบียร์ของพวกเขาทำจาก "มอลต์" เรียกว่า Peor หรือ Bior ที่เพี้ยนมาเป็นคำว่า Beer
ปี 1516 เยอรมันตรากฎหมายเรื่อง “ความบริสุทธิ์ของเบียร์” ใจความสำคัญว่า “ห้ามใช้สิ่งอื่นใดนอกจากส่วนผสม 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ ฮ็อปส์ และน้ำ ซึ่งว่ากันว่าเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการกำหนดลักษณะของเบียร์ จนเป็นมาตรฐานในเวลาต่อมา
เบียร์ไทยในอดีต
ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตเบียร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้งบริษัทผลิตเบียร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2473 หลังจากเดินทางไปศึกษาเรื่องเบียร์ที่เวียดนามและเยอรมนี ส่วนตัวโรงงานถูกสร้างขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2476 ในย่านบางกระบือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ชื่อบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด
มีความเชื่อว่าพีรามิดสร้างเสร็จเพราะเบียร์
และผลิตเบียร์ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้ยี่ห้อ ตราหมี ตราสิงห์แดง ตราสิงห์ขาว ตราแหม่ม ตราพระปรางค์ทอง ตราว่าวปักเป้า ตรากุญแจ ตรารถไฟ และที่ยังคงอยู่จนปัจจุบันคือ ตราสิงห์
ในปี พ.ศ.2504 โรงเบียร์แห่งที่ 2 จึงเกิดขึ้นคือ บริษัท บางกอกเบียร์ ผลิตเบียร์ ตราหนุมาน ตราแผนที่ และตรากระทิง แต่ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ดื่มจึงเลิกกิจการไป กระทั่งปี พ.ศ. 2509 จึงเปลี่ยนเจ้าของพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ผลิตเบียร์อมฤตเป็นหลัก ในปีพ.ศ. 2521 ได้ซื้อลิขสิทธิ์เบียร์คลอสเตอร์ มาผลิต
รูปปั้นผู้หญิงหมักเบียร์ยุคอียิปต์โบราณ
เบียร์คลอสเตอร์ โด่งดังที่สุดและคนที่วัยเลข 5-6 นำหน้า น่าจะเคยใช้บริการมาแล้วคือ “คลอสเตอร์ เบียร์ การ์เดนส์” จัดทุก ๆ หน้าหนาวราวเดือนพฤศจิกายน บริเวณที่จอดรถของศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ซึ่งปัจจุบันคือสยามดิสคัฟเวอรี
อารยธรรมเบียร์ยุคเมโสโปเตเมีย
หลังจากนั้นรัฐบาลก็ไม่ได้อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานอีก เพราะเห็นว่าเบียร์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และตั้งกำแพงภาษีเพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ผลิตในประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ภาครัฐมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า โดยการเปลี่ยนเงื่อนไขของผู้ผลิตเบียร์ จากที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเป็นมีสัญชาติไทย เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ทำให้ปัจจุบันมีกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเบียร์ในประเทศไทยประมาณ 6-7 กลุ่ม ผลิตเบียร์ออกมาหลากหลายยี่ห้อ ทั้งตลาดล่าง ตลาดกลาง และตลาดบน
อารยธรรมเบียร์ในยุคอียิปต์
อย่างไรก็ตามในช่วง 9-10 ปีที่ผ่านมา ตลาดเบียร์ระดับบนกลับพุ่งเป้าไปที่เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะผู้บริโภคเริ่มรับข่าวสารรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังทรัพย์
ขณะที่ผู้หญิงรุ่นใหม่ดื่มเบียร์กันมากขึ้น สาเหตุหลัก ๆ คือรสชาติดี แอลกอฮอล์ไม่สูง สามารถดื่มกับอาหารได้ดี และดูดีกว่าดื่มโลคัล แบรนด์ เป็นต้น
เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ จากเดิมที่มีเพียงเยอรมันเป็นหลัก ซึ่งครองตลาดมาเป็นสิบ ๆ ปี ก็มีให้เลือกมากขึ้น เช่น เบลเยี่ยม ฮอลแลนด์ อังกฤษ ไอร์แลนด์ สาธารณรัฐเชก สเปน สหรัฐ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย แม้แต่บางชาติที่ไม่เคยมีในตลาดบ้านเรา เช่น รัสเซีย ตุรกี จีน ไต้หวัน ศรีลังกา รวมทั้งชาติเพื่อนบ้านอย่าง ลาว เมียนมา กัมพูชา เป็นต้น ทุกวันนี้เหลือไม่กี่ชาติ อันเนื่องจากการขึ้นภาษี
คราฟต์เบียร์ไทย
ขณะเดียวกันในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา คราฟต์เบียร์ (Craft Beer) ก็พุ่งขึ้นมาแทนและทำท่าว่าจะเติบโต แต่ก็ต้องถูกสกัดกั้นด้วยข้อกฎหมาย จึงต้องเลี่ยงด้วยการไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยุโรป และออสเตรเลีย แล้วส่งกลับมาขายในประเทศไทยทำให้ราคาค่อนข้างสูง ปัจจุบันเบียร์พวกนี้ก็ยังอยู่ในตลาดหลากหลายแบรนด์
จากการวิจัยของมหาวิทยาลัย Emory กล่าวว่า ผู้หญิงและผู้ชายสูงอายุ 2,200 คน ที่ดื่มเบียร์วันละ 1.5 แก้วต่อวัน จะมีอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลวลดลง 50%
ออกโทเบอร์เฟสต์ เทศกาลดื่มเบียร์ของชาวเยอรมัน
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ในบอสตัน พบว่า เบียร์ยังดีต่อสมอง โดยผู้ที่ดื่มเบียร์ตั้งแต่ 1- 6 แก้วต่อสัปดาห์ จนถึงผู้ที่ดื่ม 7-14 แก้วต่อสัปดาห์ จะเกิดอาการชักได้น้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มเลย
แต่ถ้าผู้ที่ดื่มเกินกว่านี้ก็จะมีอาการชักได้มากที่สุด เพราะเบียร์ช่วยลดขนาดเม็ดเลือดและไม่ทำให้เลือดไปคั่งที่สมองได้ นอกจากนี้เบียร์ยังช่วยในการลดความเครียด ลดความกังวล และความประหม่าได้ รวมทั้งยังทำให้อารมณ์ดี แถมยังมีสารอาหารอย่าง โปรตีน วิตามิน B ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม เซเลเนียม และธาตุเหล็ก
เบียร์กับอาหารยุคโบราณ
นักวิจัยจากอังกฤษและสาธารณรัฐเชก เกิดนึกสงสัยว่า “ดื่มเบียร์แล้วอ้วน” จริงหรือ จึงได้ทำสำรวจชาวเชกเกือบ 2,000 คน ในฐานะนักดื่มเบียร์ตัวยง พบว่า การมีพุงกับการดื่มเบียร์ปริมาณมาก ๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการบอกว่าคนเราจะอ้วนเพราะดื่มเบียร์จึงเป็นการไม่ถูกต้อง
ไหหมักเบียร์อายุราว 5,000 ปี
ขณะที่ ดร.มาร์ติน โบบัค แห่ง University College London และคณะวิจัยจาก Institute of Clinical and Experimental Medicine ในกรุงปรากได้ให้ผู้หญิง 1,098 คน และชาย 891 คน อายุระหว่าง 25 - 64 ปี ทำแบบสอบถาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา โดยไม่มีการกล่าวถึงเครื่องดื่มอื่น
ข้าวบาร์เลย์ ใช้ผลิตเบียร์
พบว่าชายชาวเชกดื่มเบียร์โดยเฉลี่ย 3.1 ลิตรต่อสัปดาห์ ผู้หญิง 0.3 ลิตรต่อสัปดาห์ ในจำนวนนี้มีชาย 3 คน ที่ดื่มอย่างหนักราว 14 ลิตรต่อสัปดาห์ และหญิง 5 คน ดื่มถึง 7 ลิตรต่อสัปดาห์ โดยก่อนและหลังการดื่มเบียร์ คณะวิจัยจะให้แพทย์วัดขนาดของเอว และสะโพก ชั่งน้ำหนัก และบันทึกดัชนีมวลรวมของอาสาสมัครไว้ตรวจสอบด้วย
พบว่าการมีพุงไม่เกี่ยวข้องกับการดื่มเบียร์เลย การกล่าวอ้างว่าคนอ้วนหรือมีพุงเพราะการดื่มเบียร์มากเกินไปจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก
ฮ็อปส์ ใช้ผลิตเบียร์
ไนเจล เดนบี แห่งสมาคมโภชนาการแห่งอังกฤษเคยกล่าวไว้ว่า ผู้ที่อ่านรายงานวิจัยดังกล่าว ไม่ควรโร่เข้าผับเข้าบาร์ เพราะไม่ว่าจะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดก็ตามที่มีแอลกอฮอล์ก็สามารถอ้วนได้ หากรับประทานมากเกินไป แต่ถ้าหากต้องการดื่มจริง ๆ ก็ควร...ดื่มแต่พอดี !
ไม่ว่าอะไรก็ตามท้ายที่สุดความสำคัญคือ...ดื่มแต่พอดี ๆ