'อากาศร้อน' ต้องกินดับร้อนด้วย 3 เมนู 'อาหารหน้าร้อน' แก้ร้อนด้วยสมุนไพร
รู้จักเมนูโบราณ "ข้าวแช่" ส้มฉุน ปลาแห้งแตงโม ที่คนไทยนิยมกินในช่วง "อากาศร้อน" พร้อมเปิดสรรพคุณจากสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบในเมนูเหล่านี้ ที่ช่วยแก้ร้อนจากภายในร่างกายได้อีกทางหนึ่ง
"อากาศร้อน" กลับมาทักทายคนไทยในช่วงสิ้นสุดเทศกาล "สงกรานต์ 2566" พอดิบพอดี นอกจากต้องเฝ้าระวัง "พายุฤดูร้อน" ที่กำลังจะพัดเข้าไทยในช่วงเดือนนี้แล้ว ก็ต้องดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยจากสภาพอากาศร้อนจัดด้วย หนึ่งในวิธีคลายร้อนแบบไทยๆ คงหนีไม่พ้นการกินอาหารที่มี "สมุนไพร" ช่วยดับร้อนภายในร่างกาย
สำหรับ อาหารโบราณคลายร้อน ที่คนไทยนิยมรับประทานกันในช่วงหน้าร้อนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น "ข้าวแช่" "ปลาแห้งแตงโม" และ "ส้มฉุน" ซึ่งแต่ละเมนูล้วนมีสมุนไพรที่ช่วยแก้ร้อนใน ดับกระหาย และช่วยบรรเทาอาการเพลียแดดในหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 'อากาศร้อน' vs ร้อนชื้น คนเราทน 'ร้อน' ได้ที่อุณหภูมิกี่องศาฯ
- วิธีคลายร้อนง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมตามศาสตร์ "แพทย์แผนไทย"
- ‘ร้อนตับแตก’ คืออะไร? พร้อมส่อง 5 ประเทศอุณหภูมิเฉลี่ย ‘ร้อน’ ที่สุดในโลก
- ค่าดัชนีความร้อน 18-19 เม.ย.66 บางนา กรุงเทพฯ 52.3 องศาฯ เฝ้าระวัง 'ฮีทสโตรก'
กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมประวัติและที่มาของอาหารไทยโบราณทั้ง 3 เมนู และพาไปเจาะลึกสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละอย่างที่มีในเมนูเหล่านี้ว่าช่วยแก้ร้อนในร่างกายได้อย่างไรบ้าง?
- "ข้าวแช่" มีดอกมะลิ/กระชาย/หอมแดง สดชื่นคลายร้อน
ข้าวแช่ คือ อาหารไทยโบราณที่มีทั้งตำรับชาววังและตำรับชาวบ้าน แต่เดินอาหารพื้นเมืองของชาวมอญ เรียกว่า "เปิงซังกราน" แปลว่า "ข้าวสงกรานต์" มีความเชื่อว่าเป็นเมนูที่ทำถวายเทวดาและพระสงฆ์ช่วงตรุษสงกรานต์
เมนูนี้เป็นที่รู้จักในไทยมาตั้งแต่ครั้ง "เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น" เจ้าจอมเชื้อสายมอญในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ที่ได้ร่วมเสด็จไปราชการที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี และได้ถ่ายทอดวิธีทำข้าวแช่ให้กับบ่าวไพร่จนแพร่หลาย เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 4 เมนูนี้ก็เผยแพร่ไปนอกวังและมีการปรับปรุงสูตรเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เมนูข้าวแช่ทำมาจากข้าวสุกแช่น้ำเย็นลอยดอกมะลิ ส่วนใหญ่มักเป็นน้ำสะอาดลอยดอกมะลิ กินกับเครื่องเคียงต่างๆ โดยจะมี 6 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ลูกกะปิ, หอมแดงยัดไส้, พริกหยวกสอดไส้, หมูฝอยหรือเนื้อฝอย, ไชโป๊ผัดไข่, ผักสด เช่น แตงกวา กระชาย มะม่วงเปรี้ยว
โดยการปรุงเครื่องเคียงต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยคลายร้อนหรือดับร้อนภายในร่างกายได้ดี ได้แก่
1. มะลิ (น้ำลอยดอกมะลิ) : ดอกมะลิช่วยแก้อาการปวดหัว แก้เพลียแดด บำรุงหัวใจ กินแล้วชื่นใจ ช่วยแก้อาการหงุดหงิด
2. กระชายขาว : สมานแผลในปาก ขับลม ช่วยย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ แก้ไอ แก้คลื่นไส้วิงเวียนจากอากาศร้อน แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ลดความดันโลหิต (กินในปริมาณที่เหมาะสม เพราะมีฤทธิ์ร้อน)
3. หอมแดง : แก้หวัด ลดความร้อนในร่างกาย แก้ไข้จากร้อนใน ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ แก้ไอ
ในสมัยโบราณการทำเมนู "ข้าวแช่" นิยมใช้น้ำฝนลอยดอกมะลิ ใส่ไว้ในหม้อดินเผาเพื่อรักษาความเย็นของน้ำ เมื่อถึงเวลากินก็จะนำ "เกล็ดพิมเสน" โรยไปในน้ำเพื่อให้เย็นขึ้น ต่างจากปัจจุบันที่หันมาใช้น้ำแช่ตู้เย็นหรือใช้น้ำแข็งแทน
- "ปลาแห้งแตงโม" ช่วยดับกระหาย แก้ร้อนใน
ปลาแห้งแตงโม เป็นเมนูอาหารชาววังที่มีมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 4 คนโบราณนิยมรับประทานเป็นอาหารว่างยามบ่ายในช่วงหน้าร้อน ทำมาจากปลาแห้งเคล้าน้ำตาลทรายแดง หอมเจียว และแตงโม
โดยนำปลาแห้งไปแช่น้ำให้นิ่มแล้วย่างไฟอ่อนให้หอม จากนั้นแกะเอาแต่เนื้อปลา แล้วโขลกเนื้อปลาจนละเอียด พักไว้ ถัดมาเจียวหอมแดงซอยให้สุกเหลือง ตักขึ้นพักไว้
ถัดมานำเนื้อปลาแห้งที่โขลกไว้ลงผัดในน้ำมันด้วยไฟอ่อนๆ จนเนื้อปลาเหลืองกรอบ คลุกด้วยน้ำตาลทรายและหอมเจียว แล้วนำมาโรยบนแตงโมหั่นชิ้นพอดีคำ
สำหรับสมุนไพรช่วยคลายร้อนของเมนูนี้ ได้แก่
1. แตงโม : แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้อ่อนเพลีย ขับปัสสาวะ ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร ลดอาการขาดน้ำในร่างกาย อีกทั้งมีงานวิจัยพบว่า "น้ำแตงโม" มีสาร citrulline ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดจำเป็นต่อร่างกาย ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งโกรทฮอร์โมน (growth hormone) ซึ่งกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ในร่างกายได้อย่างเต็มที่
2. หอมแดง : ลดความร้อนในร่างกาย แก้ไข้จากร้อนใน ขับเสมหะ แก้หวัด ขับปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ แก้ไอ ขับประจำเดือน แก้โรคปากคอ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี ช่วยให้เจริญอาหาร ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด แก้อาการอักเสบต่างๆ
- "ส้มฉุน" ของหวานลอยแก้วโบราณ ดับร้อนชื่นใจ
ส้มฉุน เป็นผลไม้ลอยแก้วตำรับชาววัง ทำจากเนื้อผลไม้รสเปรี้ยวลอยในนํ้าเชื่อม (น้ำลอยดอกมะลิ) โรยเกลือเล็กน้อย แล้วใส่ผลไม้ เช่น ลิ้นจี่ และผลไม้ตามฤดูกาลอื่นๆ อีก 2-3 ชนิด แช่ไว้ในน้ำเชื่อม ก่อนรับประทานจะต้องบีบน้ำส้มซ่าลงไป แล้วโรยด้วยถั่วลิสงคั่ว หอมเจียว และขิงอ่อนซอย
อีกหนึ่งข้อสันนิษฐานระบุว่า คนในวังอาจเรียก "ลิ้นจี่" ว่า "ส้มฉุน" ดังที่ปรากฏในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานในรัชกาลที่ 2 ที่ว่า “ลิ้นจี่มีครุ่นครุ่น เรียกส้มฉุนใช้นามกร หวลถวิลลิ้นลมงอน ชะอ้อนถ้อยร้อยกระบวนฯ”
โดยคำว่า ส้ม หมายถึงผลไม้ที่ให้รสเปรี้ยว ส่วน ฉุน อาจหมายถึงกลิ่นส่าคล้ายเหล้าของลิ้นจี่ดอง ที่เมื่อจะกินต้องนำส้มซ่ามาดับกลิ่นส่าเหล้าในลิ้นจี่ (สมัยก่อนลิ้นจี่เป็นผลไม้นำเข้าจากเมืองจีนในรูปแบบดองทั้งผล) ส่วนสมุนไพรช่วยดับร้อนที่ใส่ในเมนูนี้ ได้แก่
1. ส้มซ่า : แก้เพลียแดด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับเสมหะ แก้ไอ เปลือกจะมีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย แก้หน้ามืดวิงเวียน แก้เหนื่อยหอบ
2. มะลิ (น้ำลอยดอกมะลิ) : ดอกมะลิช่วยแก้อาการปวดหัว แก้เพลียแดด บำรุงหัวใจ กินแล้วชื่นใจ ช่วยแก้อาการหงุดหงิด
3. หอมแดง : ลดความร้อนในร่างกาย แก้ไข้จากร้อนใน ขับเสมหะ แก้หวัด ขับปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ แก้ไอ ขับประจำเดือน แก้โรคปากคอ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี ช่วยให้เจริญอาหาร ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด แก้อาการอักเสบต่างๆ
-------------------------------------
อ้างอิง : pharmacy.mahidol, คลังสมุนไพร, krua, thaiquote, thaicrudedrug, pueasukkapab, pharmacy.su, ม.ราชภัฏสวนสุนันทา