ทรีตเมนต์ “ตังค์” หลัง “สงกรานต์” ภารกิจกู้ชีพกระเป๋าฟีบให้กลับมาฟื้น
การเฉลิมฉลองเกินความพอดีมักจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ชวนปวดหัว ยิ่ง "สงกรานต์" เป็นเทศกาลใหญ่มีปีละหน อาการมือเติบจึงแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง และทำให้ "ตังค์" กลับมาไม่พอใช้
“เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงพิเศษ ที่คนจะใช้เงินเป็นก้อน และใช้เพลินๆ อีกอย่างคนมักจะมีข้ออ้างว่าก็ทำงานมาหนัก ก็ต้องเที่ยว ก็ต้องให้รางวัลตัวเอง หลังๆ จะมีคำพูดประมาณว่า “ชีวิตเรา...ใช้ซะ” ซึ่งนั่นคือการมองระยะสั้น ถ้ามองระยะยาวเขาอาจจะไม่คิดแบบนี้ เพราะชีวิตคนไม่ได้อยู่แค่เทศกาล ความสุขจริงๆ มีได้ทุกวัน โดยที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ หรือถ้าจะเที่ยวก็วางแผนล่วงหน้า จะไม่กระทบกระเทือนมาก” ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน กล่าว
ด้วยความเป็นไทยๆ บวกกับชัยภูมิของบ้านเราที่อุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ คนไทยจึงไม่ต้องคิดอะไรมากเรื่องปากท้อง สำนวนที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" สะท้อนภาพอดีตที่พอหิวก็ไปเด็ดผัก จับปลา ตำน้ำพริก เรียกว่าเป็นวิถีสโลว์ไลฟ์ (slow life) ขนานแท้
เมื่อไม่ต้องคิดมากก็ไม่ค่อยวางแผน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินบอกว่าทุกวันนี้บ้านเราไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ต้องคิดมากขึ้นและวางแผนมากขึ้น
มีอินโฟกราฟิก (infographic) ภาพหนึ่งที่ ดร.อัจฉรา นำมาใช้ประกอบการบรรยายบ่อยครั้ง เป็นภาพต้นเดือน, กลางเดือน, ปลายเดือน และสิ้นเดือน ตอนต้นเดือนคือภาพกินอาหารญี่ปุ่นเกาหลี กลางเดือนเป็นข้าวราดแกง ปลายเดือนเป็นไข่เจียวปลากับกระป๋อง สิ้นเดือนคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เหมือนเป็นภาพสะท้อนความจริงแบบขำๆ แต่จริงๆ ไม่ขำ เพราะคนมักเชื่อว่านี่คือการจัดสรรเงินว่ามีเยอะใช้เยอะ มีน้อยใช้น้อย แต่อันที่จริงการวางแผนการเงินคือต้องสบายวันนี้และสบายวันหน้าด้วยสมดุลทางการเงิน
“ปัญหาคือคนไทยไม่วางแผนการเงิน แม้แต่จะไปเที่ยวก็จะวางแค่คร่าวๆ สมมติอยากไปต่างประเทศใกล้ๆ ใช้เงินก้อนเท่านี้ หรือจะกลับบ้านสงกรานต์ต้องเตรียมเงินก้อนเท่านี้ และคนไทยส่วนมากจะนำเงินที่มีกลับไปใช้ตอนกลับบ้าน เพราะสงกรานต์เป็นเทศกาลใหญ่ จึงต้องใช้เงินเยอะมาก” ดร.อัจฉรา สะท้อนต้นตอของปัญหาอย่างคร่าวๆ ซึ่งคำสำคัญน่าจะอยู่ที่ การวางแผนการเงิน
หากเงินที่ถูกนำมาใช้เพื่อฉลองเป็นเงินเหลือๆ ก็คงไม่เป็นไร แต่หลายคนเงินของพวกเขาตอนนี้คงเปรียบได้กับผิวที่ไหม้แดด หรือปราศจากความชุ่มชื้น คำถามคือจะมีทางใดที่จะช่วยฟื้นบำรุงได้
สิ่งที่ต้องทำเมื่อกลับมา คือ
1. ต้องลิสต์ (list) ว่าใช้อะไรไปเท่าไรอย่างละเอียด อย่าดูแค่คร่าวๆ
2. ต่อด้วยไตร่ตรองว่าเงินที่ใช้ไปก้อนนี้จะสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองหรือไม่ จะกระทบแผนการในอนาคตหรือไม่
ซึ่งในทางทฤษฎี สินทรัพย์ของคนต้องมี 3 ส่วน คือ สินทรัพย์เพื่อสภาพคล่องประมาณหนึ่ง, สินทรัพย์เพื่อความสะดวกสบายประมาณหนึ่ง และสินทรัพย์เพื่ออนาคตประมาณหนึ่ง แต่คนไทยส่วนมากนิยมใช้สินทรัพย์ไปกับความสะดวกสบายในปัจจุบัน ผลคือ กลับจาก สงกรานต์ หรือท่องเที่ยว คนกลุ่มหนึ่งจะกระเทือนเรื่องสภาพคล่อง จะช็อตไปในระยะสั้นๆ ยิ่งถ้ารายได้ไม่มากพอก็จะกระทบในระยะยาว
เมื่อรู้จำนวนเงินและผลที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องมาคิดแล้วว่าจะทำอย่างไร?
“ต้องคิดแล้วว่ารายได้เราจริงๆ เท่าไร มีค่าใช้จ่ายปกติเท่าไร ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเท่าไร เราต้องจัดการกับตัวเองเพื่อลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากเทศกาล แล้วพอปีหน้ามีเทศกาลหรือท่องเที่ยวอะไรอีก ควรจะต้องวางแผนล่วงหน้านานและชัดเจน”
ดร.อัจฉรา แนะนำว่าเมื่อทำครบทั้งสามข้อแล้วให้มองไปถึงเทศกาลครั้งต่อไปว่าต้องวางแผนล่วงหน้าให้ชัด 100 เปอร์เซ็นต์ยิ่งกว่าระบบ 4K แล้วเที่ยวให้อยู่ในงบให้ได้ นอกจากจะช่วยให้ไม่เดือดร้อนภายหลัง ยังสร้างสีสันของการเที่ยวอีกด้วย ท้าทายมากว่ามีเท่านี้จะเที่ยวอย่างไรให้ไม่เกินงบนี้ ดีกว่าเที่ยวไปเรื่อย ใช้ไปเรื่อย แล้วกลับมาโอดครวญทีหลัง เพราะ “เที่ยวต้องสนุก แต่กลับมาต้องไม่ทุกข์สาหัส”
รู้วิธีห้ามเลือดกันแล้ว ต่อไปคือ วิธีสมานแผล เราต่างรู้กันดีว่าเทศกาลจะวนมาอีกทีเมื่อไร และแนวโน้มคราวหน้าจะมีค่าใช้จ่ายอะไร เมื่อมีแผนก็ต้องมีเผื่อ วิธีการสำรองเงินไว้ล่วงหน้าจะช่วยได้ ส่วนตอนนี้คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง
“ตอนนี้ต้องคิดกันว่าอีกครึ่งเดือนจะอยู่กันอย่างไร มีเงินอีกเท่าไร แต่คนที่กลับต่างจังหวัดมักจะมีเสบียงกลับมาด้วย ก็ต้องอยู่ให้ได้ด้วยเสบียงเหล่านี้ คนไทยถนัดเรื่อง crisis management (การจัดการความเสี่ยง) เมื่อพลาดไปแล้วก็ต้องลงโทษตัวเองที่ไม่รู้จักวางแผนให้ดี จนเงินหมด ก็ต้องรับสภาพ ผ่านมันไปให้ได้ คราวหน้าอย่าทำอีก”