Garage Gravity มอเตอร์ไซค์ D.I.Y ไทยทำที่ฝันถึงสตาร์ทอัพมอเตอร์ไซค์อีวี
ทำความรู้จัก Garage Gravity ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์แบบไทยประดิษฐ์ที่มีผลงานน่าสนใจ ทั้งยังสะท้อนถึงความเคลื่อนไหวและความสนใจของคนไทยที่มีต่อการมาของรถพลังงานไฟฟ้า
รถพลังงานไฟฟ้า หรือ “รถอีวี” Electric vehicle (EV) คือพระเอกในงานมอเตอร์โชว์ 2022 ที่เพิ่งจบไปไม่นาน สะท้อนผ่านยอดการจอง ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3,000 คัน คิดเป็น 10% ของการจองรถในงานทั้งหมด ในขณะที่ภาครัฐเองก็มีแนวโน้มจะสนับสนุนมาตรการเพิ่มเติม
รถพลังงานไฟฟ้าคืออนาคตอันใกล้แบบไม่ต้องสงสัย และในอีกด้านหนึ่งสังคมของผู้สนใจรถอีวีในประเทศไทยก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นการมีชุมชนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเครื่องยนต์ไฟฟ้าอย่าง ชมรมรถไฟฟ้าไทยทำเอง การมีหลักสูตรออกแบบและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ รวมถึงมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตรถต้นแบบเพื่อจำหน่ายเฉพาะกลุ่ม
“กลุ่มคนไทยมีความชื่นชอบและสนใจวิชาช่าง การดัดแปลงเครื่องยนต์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในครัวเรือน ในภาคเกษตรกรรม เช่น เรามักได้ยินข่าวการดัดแปลงรถเพื่อใช้ในการเก็บผลผลิตทางการเกษตรซึ่งช่วยประหยัดน้ำมัน หรือข่าวการดัดแปลงรถซาเล้งที่ใช้ประโยชน์ในครอบครัว ซึ่งที่ยกตัวอย่างมาอธิบายได้ว่ามีคนไทยสนใจวิชาช่าง สนใจการประดิษฐ์ ดัดแปลงมาตลอด ซึ่งคนกลุ่มนี้ถ้าได้รับการส่งเสริมที่ดี เขาก็จะสามาถคิดค้นนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของชุมชน สังคมได้” ปวิณ รุจิเกียรติกำจร อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร และหนึ่งในอาจารย์หลักสูตรการออกแบบยานยนต์ไฟฟ้า ให้ความเห็น
รถมอเตอร์ไซค์ D.I.Y ไทยประดิษฐ์
ในบรรดาผู้ประกอบการรายย่อยที่ว่านี้ มีผลงานของ Garage Gravity ที่ใครหลายคนติดตาม นั่นเพราะไม่ว่าเขาผลิตรถต้นแบบออกมาเท่าไร ก็มักมีผู้จองซื้อไม่ขาดสาย
ไล่ตั้งแต่รุ่น Bug scooter 2 ล้อ Monster Bug 4 ล้อ Bug kart 4 ล้อ BUG-E (ไฟฟ้า) Neo 50’s (ไฟฟ้า)และเมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งทะเบียนชื่อแบรนด์ PLATONIC ที่กำลังพัฒนาต้นแบบ และจดสิทธิบัตรการออกแบบ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเต็มตัวเพื่อระดมทุนสู่การเป็นสตาร์ทอัพ
ตัวอย่างผลงานของ Garage Gravity ที่ได้รับความสนใจในกลุ่ม
โสภณ โพธิ์ขาว ผู้ก่อตั้ง Garage Gravity กล่าวว่า ชอบเครื่องยนต์ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งความชอบเช่นนี้ทำให้เขาสนใจที่จะศึกษาถึงการเป็นผู้ผลิตเอง โดยเริ่มจากผลิตและเผยแพร่ในกลุ่มเล็กๆ เพื่อเป็นของสะสมของคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน
“จุดเริ่มต้นคือผมสนใจเรื่องเครื่องยนต์ทั้งในแบบรถไฟฟ้าและเครื่องยนต์สันดาป ผมเรียนด้านวิศวกรรม และปัจจุบันก็เป็นวิศวกรฝ่ายบริการของบริษัทรถยนต์รายหนึ่ง พอสนใจก็เริ่มศึกษา และอยากทำมอเตอร์ไซค์ในแบบที่สามารถเป็นของสะสมได้ ราคาไม่ตก มีความคลาสสิค ซึ่งในช่วงโควิด-19 ซึ่งมีเวลาได้อยู่กับบ้านมากขึ้น จึงทำให้เกิดผลงานขึ้นมาจริงๆ เป็นที่มาของโมเดลแรกที่ใช้ชิ้นส่วนพลาสติกจากเครื่องขึ้นรูปพลาสติกที่ DIY ขึ้นเองมาเป็นชิ้นส่วนของบอดี้รถ มาผนวกเข้ากับเครื่องยนต์เอนกประสงค์” โสภณ โพธิ์ขาว ผู้ก่อตั้ง Garage Gravity เล่าถึงจุดเริ่มต้น
โสภณ โพธิ์ขาว วิศวกรผู้ก่อตั้ง Garage Gravity
ไอเดียเล็กสู่ความฝันใหญ่
โสภณ อธิบายว่า จุดเริ่มของการโพสต์รถต้นแบบของตัวเองนั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี Bug Scooter คันแรกมีการแชร์ต่อไปถึง 18.6K shares และขายได้หลังจากโพสต์ไม่ถึง 1 ชั่วโมง จากนั้นมียอดจองผลิตอีก 4 คัน และทำให้เป็นเงินทุนในการผลิตรถต้นแบบต่อไป จากนั้นเขาค่อยๆขยับและลองออกแบบรถ 4 ล้อแบบ Monster Tuck ซึ่งนำชิ้นส่วนที่เป็นเอกลักษณ์แบบกระดองเต่าของรถโฟล์คสวาเกน มาใช้กับช่วงล่างแบบ Off-road และแน่นอนว่าต้นแบบในรุ่น 4 ล้อก็สามารถขายได้หลังจากโพสต์ไม่ทันข้ามวัน พร้อมๆกับที่ต้นแบบของรถถูกแชร์ลงไปในโซเชียล และชื่อของ Garage Gravity ก็เป็นที่รู้จักในนามของผู้ผลิตรถแบบ D.I.Y ซึ่งผสมผสานระหว่างงานออกแบบ การประยุกต์เครื่องยนต์ที่ถูกใจคนเล่นรถ และต้องการหารถสะสมที่แปลกตา ใช้งานได้จริง และมีศักยภาพ ทำให้รถต้นแบบในรุ่นถัดๆมา ขายได้ รวมกว่า 20 คัน
“พอขายได้เราก็ดีใจ และรู้ว่าในตลาดมีคนชอบอะไรที่เหมือนๆเรา ชอบความคลาสสิคของรถรุ่นเก่า ขณะเดียวกับที่เราต้องทำให้เครื่องยนต์สามารถใช้งานได้จริง ซึ่งสามารถนำต้นแบบพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้”
“ถึงตรงนี้ผมคิดว่าเราทำได้นะ เรามีแนวทางการออกแบบที่คนชื่นชอบ และผู้ที่ซื้อไปใช้ก็ไม่ผิดหวัง สเต็ปต่อไปเราอยากเขยิบขึ้นมาอีกเป็นในระดับกึ่งอุตสาหกรรม ซึ่งขณะที่อยู่ระหว่างการทำต้นแบบ โดยการร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบังในการออกแบบ รุ่น Space Samurai มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก Bigbike ยุค 80 น่าจะเรียกว่า Retro futuristic และได้กลิ่นอายแบบ cyberpunk”
ต้นแบบ Space Samurai ที่เตรียมผลักดันสู่การเป็นมอเตอร์ไซค์อีวี
“ผมคิดว่าคนไทยเรามีความสามารถนะ ความรู้เครื่องยนต์ ความชอบเรื่องรถเราไม่เป็นรองใครแน่นอน แต่สำคัญคือคงต้องมองหาโอกาสเพื่อให้สิ่งที่เราผลิต และสิ่งที่เรามั่นใจว่าจะทำให้สังคมหรือสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เป็นจริงให้ได้” โสภณ กล่าว
รถ Motocompo EV อีกหนึ่งผลงาน
ปัจจุบันนี้ Garage Gravity ได้จดทะเบียนแบรนด์ PLATONIC ซึ่งเตรียมพัฒนาสู่รถมอเตอร์ไซค์อีวีเพื่อการค้า และไอเดียของเขาก็พร้อมที่จะไปประกวดเวทีต่างๆ เพื่อนำเงินทุนมาผสมผสานกับไอเดียก่อให้เกิดเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าในนามของคนไทย
เมื่อไม่นานมานี้ “จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ” นำเสนอ “เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ "สรณัญช์ ชูฉัตร" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ รถอีวี คนไทย” ซึ่งเป็นเรื่องราวของแบรนด์ ETRAN สตาร์ตอัพรถมอเตอร์ไซค์อีวี กลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่กำลังทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง
เช่นเดียวกับ Garage Gravity ซึ่งเป็นหนึ่งในไอเดียและผู้ผลิตที่เคยทำจริง เจ็บจริง ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง บ่มเพาะเพื่อรอวันเติบโตเป็นผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางความต้องการรถพลังงานไฟฟ้าที่เป็นอนาคตอันใกล้ที่จะถึงนี้