งานคืออนุสาวรีย์ของเรา "เปีย-ธีระวัฒน์ รุจินธรรม"
ผู้กำกับภาพ เจ้าของรางวัลตุ๊กตาทอง ด้านกำกับภาพ จากภาพยนตร์เรื่อง "14 ตุลา สงครามประชาชน" (2543) และ ผู้กำกับ MV "ประเทศกูมี" (2561) ผู้รักงานเป็นชีวิตจิตใจ เผยมุมมองความคิดให้ฟัง
เปีย-ธีระวัฒน์ รุจินธรรม สร้างสรรค์ผลงานขับคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีอย่างที่ควรจะเป็นหลาย ๆ ชิ้น ด้วยความเข้าใจ ใช้ความสามารถประกอบกับประสบการณ์การทำงานเบื้องหลังในวงการบันเทิงไทยมาหลายสิบปี
แม้จะป่วยเป็นมะเร็งระยะที่สอง หลังจากให้คีโมเสร็จ เขาก็ยังไปทำงานต่อ
- รู้ตัวตอนไหนว่าเป็นมะเร็ง
“ส่วนมากมักจะได้งานเหนื่อย ๆ เช่น ชั่วฟ้าดินสลาย (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) October Sonata (สมเกียรติ วิทุรานิช), นาคปรก, ต้มยำกุ้ง2 (3D)
ช่วงพีคสุดถ่ายหนังปีละ 2-3 เรื่อง ถ่าย "ชั่วฟ้าดินสลาย" อยู่เชียงราย ก็ต้องนั่งรถไปถ่าย "บุญชูจะอยู่ในใจเสมอ 2010" ต่อ
เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว มีโปรดิวเซอร์ชาวจีนติดต่อมาให้ไปถ่ายหนังผี หนึ่งปีอยู่เมืองจีน 6-7 เดือน แล้วก็มีงานถ่ายโฆษณาที่เขมร, มาเลย์ ทำหนังไทยแต่ละเรื่องฉายได้แค่ 15 วันมันไม่ไหว
ตอนไปดูโลเกชั่น ชอบมากเลย เพราะตอนเรียนจบเราก็ทำงานเลยไม่เคยได้เที่ยว เมืองจีนกว้างใหญ่ ค่าตัวก็ได้เยอะกว่า แล้วก็ได้เที่ยวด้วย
สัญญาณเตือนครั้งแรกน่าจะเป็นตอนถ่ายหนังอยู่ที่จีน ไปกินอาหารใส่หมาล่าใส่พริกเยอะ ๆ เผ็ดมาก กินเสร็จกลับมาโรงแรมที่พัก
ปวดท้องมาก นอนไม่หลับเลย เราเป็นคนใต้ภูมิใจกับการกินเผ็ด มันเป็นความเข้าใจผิด เป็นความละเลย
การทำงานในกองถ่าย ต้องรับมือกับความเครียดตลอด ทำงานเร่งให้ทันกับเวลา จะเช้าแล้ว พระอาทิตย์กำลังจะขึ้น งานยังค้างอยู่อีกเยอะ
ต้องเก็บให้เสร็จ ทำงานไม่เป็นเวล่ำเวลา ร่างกายไม่ได้พักผ่อน ภูมิใจกับการทำงานหนัก ไม่ได้นอนสองสามวัน
- เริ่มเป็นมาก ๆ ตอนไหน
ช่วงโควิดระบาด ผมถ่ายซีรีสเรื่อง "จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี" ช่องไทยพีบีเอส เรามีอาการถ่ายเป็นเลือด ตอนแรกคิดว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
คุณพ่อผมก็เป็นมะเร็งลำไส้ เรารู้อาการดี แต่ด้วยความที่ต้องออกกองถ่าย ก็ปล่อยปละละเลย ไม่ยอมไปหาหมอ
สัญญาณแรก ถ่ายเป็นเลือด สัญญาณที่สอง ระบบขับถ่ายผิดปกติ เดี๋ยวท้องเสีย เดี๋ยวท้องผูก เดี๋ยวถ่ายไม่ออก สลับไปสลับมาปั่นป่วนไปหมด ไม่เป็นระบบ เริ่มมีมูกเลือดมา อุจจาระมีกลิ่นมากผิดปกติ เพราะลำไส้มีก้อนเนื้ออุจจาระก็ไปอุดตันอยู่
ช่วงโควิดรอบสาม กองถ่ายมีคนติดโควิด เขาหยุด 7 วัน ผมก็เลยไปหาหมอ ตรวจแบบส่องกล้อง เจอเนื้องอกในลำไส้ ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
หมอบอกว่าน่าจะเป็นเซลล์มะเร็ง จะขอตัดชิ้นเนื้อรอบสอง เราบอกไม่ต้องแล้ว ผ่าตัดออกเลย เอาชิ้นเนื้อไปตรวจ พบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ระยะ 2A
หมอบอกถ้าทำคีโม โอกาสรอดเพิ่มขึ้นเท่านี้เปอร์เซนต์ เราก็เข้าสู่กระบวนการทำคีโม 6 เดือน เดือนละ 5 ครั้ง
ระหว่างทำคีโม เราก็ไปถ่ายซีรีส์ด้วย ทุกคนก็มาช่วย อาจจะไม่ได้ใช้แรงแบบสมัยก่อน มันเป็นความรับผิดชอบของเรา
ผมแพ้คีโมหนักมาก น้ำหนักลดลงจากร้อยกว่าเหลือ 73 ก.ก. กินข้าวไม่ได้เลย กินโปรตีนอย่างเดียว จนจบคอร์สคีโม
เดือนที่ 7-9 เป็นระยะติดตามผล หมอเช็คค่ามะเร็งในเลือด ล่าสุด 2-3 วันที่ผ่านมา ค่ามะเร็งเหลือเท่าคนปกติแล้ว
แต่ไม่มั่นใจว่าจะหายร้อยเปอร์เซนต์ เพราะเกิน 50 เปอร์เซนต์ของผู้ป่วยที่ให้คีโมไป มะเร็งมันจะกลับมาอีก เราก็ต้องทำใจ
ผมเปลี่ยนการกิน เปลี่ยนความคิด ห้ามเครียดกับงาน เพราะความเครียดทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรดทำให้เกิดอนุมูลอิสระ สารตั้งต้นของมะเร็ง เราก็ศึกษามันพยายามเข้าใจอยู่กับมันให้ได้
- เป็นคนที่ไหน ชีวิตวัยเด็กเป็นอย่างไร
ผมเกิดที่ จ. ตรัง คุณพ่อเป็นข้าราชครู คุณแม่เป็นแม่บ้าน มีน้องสาวหนึ่งคน บ้านอยู่กลางทุ่ง ห่างไกล เวลาจะไปบ้านญาติ ต้องเดินข้ามนาประมาณหนึ่งกิโล
ที่บ้านมีหนังสือเยอะ เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เรียนจบชั้นประถม 6 ก็มาสอบเข้า รร.เตรียมอุดมฯ ที่กรุงเทพฯ ปี 2524 เมษายน มีปฏิวัติเมษาฮาวายพอดี เรียนมัธยม 4-6 จบแล้วก็ไปเรียนต่อ มศว.ปทุมวัน คณะสังคมศาสตร์ประวัติศาสตร์
- ตอนเด็กๆ มีความฝันว่าอยากจะทำอาชีพอะไร
ตอน ป.3-4 มีค่ายทหารมาตั้งใกล้ ๆ บ้าน เราได้เห็นความเท่ ก็อยากเป็นทหาร แล้วชอบอ่านการ์ตูน ชอบวาดการ์ตูน
หลัง ๆ ก็อ่านเยอะขึ้น ไปหาซื้อหนังสือเก่า ที่สนามหลวง ตรงแม่พระธรณี มาอ่าน ทำให้สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ ทฤษฎีสังคม การเมือง
รู้ว่า 16 ตุลา นักศึกษาเข้าป่า ก็อยากเป็นนักประวัติศาสตร์ ตอนเรียนเตรียมอุดม ผมไม่มีญาติอยู่กรุงเทพฯ ไปอยู่หอพักแถวซอยกิ่งเพชร ต้องเดินผ่านโรงหนังที่มีเต็มไปหมดไปโรงเรียนทุกวัน ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ดูหนัง
- ความรู้เรื่องการถ่ายภาพมาจากไหน
ไม่มีเลยฮะ จากที่ดูหนังก็รู้ว่าเรื่องนี้ถ่ายสวย ถ่ายดีนะ มีบรรยากาศของหนัง มาค้นพบว่ามันเป็นเรื่องของการถ่ายภาพ เป็นเรื่องของศิลปะที่นอกเหนือไปจากกบทและการตัดต่อ
เราก็ครูพักลักจำมาเรื่อย ๆ จากหนังสือ Starpics บ้าง จากบทวิจารณ์ในสยามรัฐสุดสัปดาห์บ้าง หนังมันมีมากกว่าทำให้ดูเรื่องความบันเทิง ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไป
พอใกล้เรียนจบ มศว. มีรุ่นพี่ทำงานรายการ "ฝันที่เป็นจริง" มาชวนไปเขียนบทสารคดีสั้น ๆ ชีวิตของคนจน เพื่อให้คนบริจาค
ตอนนั้นผมเคว้งคว้างอยู่ว่าเรียนประวัติศาสตร์จบแล้วจะทำอะไร นอกจากเรียนต่อโท แล้วก็มีคนมาชวนไปเป็นไกด์ เราพูดไม่เก่ง จะไปนำเที่ยวก็ไม่ใช่ทางที่ถนัด ก็เลยรับงานรุ่นพี่เขียนบทสารคดีไป
หลังจากนั้นเขาชวนให้มาทำงานประจำที่บริษัท เริ่มออกกองถ่ายไปกับช่างภาพ ไปถ่ายสารคดี เรียนรู้การถ่ายทำ พอถ่ายเสร็จเข้าห้องตัดต่อ รอคิวเขาตัดละครก่อนตัดสารคดี ก็นั่งดู
อ๋อ ถ่ายมาแบบนี้เพื่อตัดแบบนี้ แล้วก็ลองตัดดู ทำงานอยู่สองปีครึ่ง คิดว่าถ้าจะทำงานด้านนี้ให้สุด ๆ ต้องทำหนัง บอกเพื่อน ๆ ว่าที่ไหนเปิดรับคนทำหนังให้มาบอกเลยนะ
- มาทำหนังได้อย่างไร
เพื่อน ๆ ก็มาบอกว่า บริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ กำลังจะทำหนังไทยเรื่อง "โตแล้วต้องโต๋" ต้องการผู้ช่วยผู้กำกับ ผมก็ลาออกจากงานประจำไปเป็นฟรีแลนซ์ทำหนังเลย
ทำเรื่องนั้นเสร็จก็ทำเรื่อง "ฉลุย คนไข่สุดขอบโลก" เป็นผู้ช่วยผู้กำกับพี่อังเคิล (อดิเรก วัฏลีลา) ได้เรียนรู้เรื่องโปรดักชั่นเยอะมาก
ได้เห็นการทำงานแผนกต่าง ๆ ทำที่ไทฯอีก1-2เรื่อง พี่อังเคิลลาออก บริษัทอาร์เอสฟิล์ม ชวนมาเป็นผู้กำกับหนังเรื่อง "เจนนี่กลางวันครับกลางคืนค่ะ"
จากนั้นก็ทำหนังมาตลอดแล้วก็ทำ MV หมดจากช่วงที่เขาทุ่มงบ MV 1-2 ล้านแล้ว งบก็น้อยลง มีงบมาให้เท่านี้ เราก็ต้องถ่ายเอง
มีกล้องวิดีโอกับกล้องฟิล์ม เราเลือกกล้องฟิล์ม วัดแสงเอง ถ่าย MV อยู่ 2-3 ปี มีคนชวนให้มาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
เพราะคุณ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาคุยที่ไฟว์สตาร์พร้อมบทหนังเรื่อง "คนล่าจันทร์" มา อยากให้อาบัณฑิตกำกับ
เราพอมีแบคกราวน์ประวัติศาสตร์ เขาก็ให้ทำรีเสิร์ช ตามสัมภาษณ์คนเดือนตุลา ให้เขาเล่าบรรยากาศเล่าสภาพต่าง ๆ ให้ฟัง จนหนังใกล้เปิดกล้อง
ช่างภาพก็ไม่ว่างหมดเลย เราจับกล้องฟิล์มถ่าย MV มา 10-20 เพลง มีความมั่นใจ อาบัณฑิตก็ขอดูงาน MV ที่ถ่ายมา แล้วถามว่า กล้าถ่ายไหม
ผมตอบว่า ถ้าอาให้โอกาสเราก็รับนะ เราเข้าใจเรื่องดี นึกภาพวิช่วลและวิธีคิดออก ก็เลยได้เป็นผู้กำกับภาพเต็มตัว ต่อมาหนังเปลี่ยนชื่อเป็น "14 ตุลา สงครามประชาชน" จากนั้นก็ทำหนังเรื่อยมา 10 ปี
- มีแนวคิดอย่างไรในการทำงานวงการภาพยนตร์
เวลามีงานเข้ามา ต้องเป็นงานที่อ่านบทแล้วชอบ ในมุมของเราอาจจะไม่ไร้สาระในมุมของผู้กำกับคนนั้น
ถ้าเราไม่มีแรงบันดาลใจหรือนึกไม่ออกว่าเรื่องนี้เราจะต้องถ่ายยังไง ก็จะปฏิเสธไป จะรับงานเฉพาะที่เรารู้สึกเกี่ยวกับเรื่อง สอง.เป็นเรื่องของผู้ร่วมงาน ผู้กำกับเป็นใคร และแต่ละเรื่องมันท้าทายเรายังไง
ในด้านการทำงานกับคนอื่น เขามักบอกว่า เราไม่ค่อยยอมตามใจ พี่ อุดม อุดมโรจน์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ปุกปุย เคยบอกว่า
หนังมันอยู่เป็นร้อยปีนะ ที่คุณทำมันน่ะ ถ้าเกิดคุณชุ่ยกับมันปั๊บ มันจะเป็นตราอัปยศในชีวิตคุณ อยู่ไปได้นานเลย เราก็เลยต้องทำให้ดีที่สุด
ทีมงานบอกว่าผมเป็นคนที่ร่วมงานด้วยยากนั่นเป็นช่วงแรก ๆ แต่พออายุมากขึ้น มีความเข้าใจคนอื่นมากขึ้น
บางทีเขาอาจจะคิดไม่เหมือนเรา คิดแค่ว่ามันเป็นงานจ๊อบแต่ละชิ้น จบแล้วก็จบไป แต่เราไม่ได้คิดแบบนั้น เราคิดว่ามันเป็นอนุสาวรีย์ของเรา ระยะหลังเราก็เบา ๆ คลายๆ ไป แล้วเราเป็นมะเร็งลำไส้ด้วย
- ตอนนี้มีงานอะไรอยู่บ้าง
มีหนังเรื่อง พระร่วง ของกองทุนสื่อสร้างสรรค์, มีหนังพีเรียดย้อนยุคเรื่องหนึ่ง, มีซีรีส์ของไทยพีบีเอส ผมมีคิวงานยาวไปถึงสิ้นปี
- มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำอีกไหม
มีฮะ เฉพาะหนัง มีหลายเรื่องเหมือนกัน ก็เอาที่มันเป็นไปได้จริง ๆ
- ร่างกายตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ผลข้างเคียงของคีโมยังมีอยู่ในร่างกาย มีชาหน้าอก แต่ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น เราเปลี่ยนวิธีการกิน กินผัก ไม่กินเนื้อ เนื้อสุก ๆ ดิบ ๆ ก็ไม่กินแล้ว เมื่อก่อนชอบกินมาก สเต็ก มีเดียมแรร์ เป็นอาหารส่งเสริมมะเร็ง
ตอนนี้เริ่มมีเรี่ยวแรงกลับมา ตอนที่คีโมอยู่ จะเดินแต่ละก้าวคิดแล้วคิดอีก เพราะว่ากล้ามเนื้อมันอ่อนแรง ถ้าจะเดินข้ามถนนก็ต้องคิดให้ดี จะตัดสินใจลุกไปไหนก็ต้องคิดแล้วคิดอีก
พอเราเฉียดตายมาแล้ว ก็คิดว่า ถ้าเกิดเราตายไป หรือหายไปจากโลกนี้จะทำยังไง เราก็เลือกงานหลายอย่างที่เราอยากจะทำ อะไรที่มันไม่ใช่ รับไปด้วยความเกรงใจ ก็ตัดทิ้ง ให้เหลือเฉพาะที่เราอยากทำ เราอายุ 55 แล้ว อยู่โลกนี้ได้อีกไม่นาน
แต่ที่เหลือที่จะต้องทำมีอีกเยอะมาก หนึ่ง เราทำไม่หมดหรอกที่เราอยากจะทำ ต้องคัดทิ้งไป มีอะไรที่เราอยากทำบ้าง ต้องเอาที่มันสามารถเกิดขึ้นจริงได้ ไม่ใช่เพ้อฝัน เริ่มสกรีน เริ่มคิด อันนี้เราอยากทำเพราะอะไร
เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นในสังคม ในช่วงที่เรายังมีชีวิตอยู่ การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหลาย ๆ อย่างต้องใช้เวลา เราต้องอดทนกับมัน การทำงานของเรามีเป้าหมายชัดเจนที่จะสื่อสารกับสังคม
หนังเป็น Soft Power ที่มีอำนาจ ทำให้คนคล้อยตามได้ มีอำนาจสื่อสารแมสเสจหลักการเรื่องราวบางอย่างที่เราต้องการเสนอได้
คุณค่าของคน สิทธิ์ ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ของคนที่เท่ากัน เป็นหลักการสากลโลกที่ทุกคนควรยึดถือ
หลักการประชาธิปไตยสามารถสร้างสมานฉันท์ในสังคมให้เกิดขึ้นได้ นำสังคมไปสู่ความศิวิไลซ์
ในเรื่องการใช้ชีวิต อย่าประมาทกับการใช้ชีวิตมาก มีอะไรทำ รีบทำ เพราะว่าเราก็ไม่รู้ว่าชีวิตเราจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน ชีวิตคนเรามันไม่แน่นอน ทำทุกวันนี้ให้ดีที่สุดก็แล้วกัน