ถอดบทเรียนนโยบายอยู่กับ“โควิด” ประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการแล้วเป็นอย่างไร
หลายสิบประเทศ ไม่บังคับเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในยุโรปหลายประเทศ ไม่มีนโยบายตรวจหาเชื้อโควิด และไม่กักตัวผู้ติดเชื้อแล้ว ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แล้วประเทศไทยจะใช้แบบไหน
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จากการถอดบทเรียนข้อมูลนโยบายอยู่กับโควิด-19 จากทั่วโลกพบว่า หลายประเทศใช้นโยบายผ่อนคลาย จนถึงยกเลิกมาตรการต่างๆ เกี่ยงกับโควิดทั้งหมด ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย หากมีการผ่อนคลายมาตรการคัดกรอง ก็จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง
แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า การระบาดของโควิด-19 กำลังยุติลง โดยในจำนวน 80 ประเทศที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์ พบว่า
-39 ประเทศหรือราวครึ่งหนึ่ง ไม่บังคับเว้นระยะห่างทางสังคม หรือสวมหน้ากากอนามัย
-18 ประเทศหรือราว1 ใน 5 ไม่มีนโยบายการตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 โดยส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป บางประเทศในแอฟริกาและอินเดีย
-7 ประเทศ ไม่มีนโยบายป้องกันโรคโควิด-19 รวมทั้งการตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 และไม่กักผู้ติดเชื้ออีกต่อไป ได้แก่ เดนมาร์ก, เยอรมนี, กรีนแลนด์, นอร์เวย์, โปแลนด์, สวีเดนและสหราชอาณาจักร
-3 ประเทศในเอเชีย ไม่มีนโยบายการตรวจโควิด-19 แล้ว แต่ยังคงกักตัวหากพบว่าติดเชื้อ ได้แก่ อินเดีย, สิงคโปร์และมัลดีฟส
ยุโรปยกเลิกมาตรการเกี่ยวกับโควิดแล้ว
ส่วนประเทศที่ยกเลิกมาตรการไปแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งเคยเกิดการระบาดใหญ่มาก่อน รวมถึงได้รับวัคซีนก่อนพื้นที่อื่น ๆ มีอัตราการรับวัคซีนสูง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมาก รวมทั้งไม่สามารถแบกรับภาระค่าตรวจคัดกรองและกักตัวเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ได้
ทั้งนี้ประเทศส่วนใหญ่เริ่มผ่อนคลายมาตรการ เว้นระยะห่างทางสังคม และยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยในที่แจ้ง
การผ่อนคลายนโยบายมักทำเป็นชุด เว้นระยะห่างกันประมาณ 2–8 สัปดาห์ เพื่อประเมินผลกระทบก่อนที่จะเริ่มนโยบายผ่อนคลายชุดใหม่
ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ไม่ยกเลิกมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งแตกต่างจากประเทศในทวีปอื่น ๆ ที่มักยกเลิกมาตรการนี้ก่อน
ข้อดี ข้อเสีย การยกเลิกมาตรการช่วงโควิด
ในส่วนของผลลัพธ์หลังจากการยกเลิกมาตรการต่าง ๆ ในหลายประเทศ งานวิจัยพบข้อดี - ข้อเสียดังต่อไปนี้
ข้อดี
1.กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจกลับมาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตเมืองหรือเขตอุตสาหกรรม
2.ลดภาระระบบสุขภาพในการคัดกรองและรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย
3.ลดค่าใช้จ่ายในการคัดกรองและการรักษาที่ไม่จำเป็น หลายประเทศเลิกอุดหนุนค่าตรวจและค่าชดเชยการกักตัว
4.ลดความไม่เสมอภาคสำหรับประชาชนในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้จนเกือบไม่ต้องตรวจคัดกรองหรือกักตัวอีกต่อไป
ข้อเสีย
1.อัตราการยอมรับวัคซีนลดลง เนื่องจากความมั่นใจว่าโรคโควิด-19 มีความรุนแรงน้อยลง บางประเทศจึงมีนโยบายเสริม เพื่อให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการรับวัคซีน
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ให้กักตัว 7 วันหากพบการติดเชื้อในคนที่รับวัคซีนครบหรือกักตัว 14 วันในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน
2.เกิดความต้องการบริการสุขภาพมากขึ้นจากการระบาดของโรคทางเดินหายใจและทางเดินอาหารจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โควิด-19 โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และจากผู้ป่วยในโรคที่ไม่เร่งด่วนและถูกเลื่อนบริการออกมาเพราะโควิด-19
3. ขาดข้อมูลการติดเชื้อในประเทศ เพราะหลายประเทศยกเลิกการตรวจหาการติดเชื้อและการเฝ้าระวังในชุมชน ทำให้อาจเกิดการระบาดใหญ่โดยไม่มีสัญญาณเตือนได้
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
ผลสรุปจากข้อมูลทั้งหมดทีมวิจัยได้จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 4 ข้อได้แก่
1. หากประเทศไทยจะผ่อนคลายมาตรการ ควรทำอย่างมีกลยุทธ์ โดยผ่อนคลายมาตรการเป็นช่วง ๆ มีระยะเวลาที่ประเมินผลกระทบเชิงลบได้
และอาจพิจารณาเริ่มเป็นบางพื้นที่ ซึ่งมีอัตราการรับวัคซีนสูงในกลุ่มเสี่ยง เช่น พื้นที่ที่ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 90 เป็นต้น
2. ประเทศไทยอาจไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัย เพราะมาตรการดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่มาตรการนี้ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออื่น ๆ ได้
3. หากมีการยกเลิกมาตรการคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข จำเป็นต้องเพิ่มระดับของการเฝ้าระวังการระบาดในระดับประชากรและการเฝ้าระวังเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า หากมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
4. ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและหามาตรการเสริม เพื่อทำให้ประชาชนยังตระหนักถึงความจำเป็นของการรับวัคซีนโควิด-19
5. เตรียมความพร้อมของระบบสุขภาพที่ต้องรับมือกับโรคติดต่อที่ไม่ได้เกิดจากโควิด-19
หลังจากผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 และความต้องการบริการสุขภาพจากผู้ป่วยโรคอื่น ๆ
......................
-ข้อมูลชุดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเพื่อจัดทำชุดข้อเสนอเชิงนโยบายและขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขยุคใหม่ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 (Post Covid Health System)
-สนับสนุนโดยสำนักงานบริหารการวิจัยและนวัตกรรมสาธารณาสุข (สบวส.) สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
-การศึกษานี้ใช้การทบทวนวรรณกรรมจากฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากหลายประเทศทั่วโลก แล้วนำมาสังเคราะห์เพื่อตอบคำถามผู้กำหนดนโยบายภายใต้ คณะกรรมการประมวลสถานการณ์ COVID-19กระทรวงสาธารณสุข (MOPH Intelligence UnitหรือMIU