อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565

คณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ศิลปินแห่งชาติ ครูนาฏศิลป์ และผู้เชี่ยวชาญโขน เทใจให้เคล็ดลับคำแนะนำ “นักแสดงโขนรุ่นใหม่” รอบทดสอบความสามารถ บรรยากาศเต็มไปด้วยความตื้นตันใจระหว่างครู-ลูกศิษย์

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดให้มี การทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565 เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” เพื่อส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสฝึกฝีมือและมีใจรักในการแสดงโขน 

ที่ผ่านมา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เปิดโอกาสให้นักเรียนนาฏศิลป์และผู้มีความสามารถในการแสดง โขน เข้ารับการคัดตัวในลักษณะ การทดสอบการแสดง หรือ audition เพื่อคัดผู้ซึ่งมีความสามารถและความพร้อมมากที่สุดเข้ารับบทใน 5 ตัวละคร ได้แก่ ละครพระ, ละครนาง, โขนพระ, โขนลิง และ โขนยักษ์ 

แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงช่วงต้นปี 2565 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เห็นควรลดความเสี่ยงการรวมตัวของคนจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายในของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในเขตภาคกลาง คัดเลือกนักเรียนนาฏศิลป์ที่มีทักษะการแสดงและมีความพร้อมที่จะรับบท 5 ตัวละครดังกล่าว เข้าร่วมทดสอบความสามารถพร้อมกัน ณ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง เมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2565

การทดสอบความสามารถในปีนี้ จึงไม่ใช่การ audition แต่เป็นลักษณะของ การแสดงความสามารถของนักแสดงเบื้องหน้า "คณะกรรมการจัดการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ" เพื่อรับฟังคำแนะนำด้านการแสดง ผู้เข้ารับการทดสอบจึงไม่มีใครตกรอบ ทุกคนได้เข้าร่วมแสดง โขนศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ตามบทบาทที่เข้ารับการทดสอบ โดยเฉพาะโอกาสสำคัญที่ได้ร่วมแสดงกับศิลปิน อาจารย์ และนักแสดงฝีมือระดับชาติ
 

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565 (จากซ้าย) ดร.เกิดศิริ นกน้อย, นายสมศักดิ์ ทัดติ, นายวิโรจน์ เข้มแข็ง, นางรัตติยะ วิกสิตพงศ์, นาง รัจนา พวงประยงค์, นายประเมษฐ์ บุณยะชัย, ดร.อนุชา ทีรคานนท์,  นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง และ ดร.สุรัตน์ จงดา 

การทดสอบความสามารถนักแสดงในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก คณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ศิลปินแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายประเมษฐ์ บุณยะชัย คณะกรรมการและศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) พุทธศักราช 2563 

ร่วมด้วยคณะกรรมการอีก 3 ท่าน ได้แก่ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ดร.สุรัตน์ จงดา และ ดร.เกิดศิริ นกน้อย 

พร้อมทั้ง ศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ นางรัตติยะ วิกสิตพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์ไทย) พุทธศักราช 2560 นางรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์ไทย) พุทธศักราช 2554 และนายไพฑูรย์ เข้มแข็ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์-โขน) พุทธศักราช 2564 

อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายสมศักดิ์ ทัดติ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทย (โขนยักษ์) และนายวิโรจน์ เข้มแข็ง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทย (โขนลิง) 

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565 ผู้เข้ารับการทดสอบความสามารถ "ละครพระ"

ดร.เกิดศิริ นกน้อย ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงและผู้กำกับเวที การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” กล่าวว่า การทดสอบความสามารถนักแสดงโขนรุ่นใหม่ในครั้งนี้ มีนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปจาก 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี อ่างทอง และลพบุรี 

การทดสอบแบ่งตาม 5 ตัวละคร  ได้แก่ ละครพระ จำนวน 6 คน  ละครนาง จำนวน 10 คน โขนพระจำนวน 8 คน  โขนลิง จำนวน 14 คน  และ โขนยักษ์ จำนวน 20 คน

รวมถึงนักแสดงรุ่นเยาว์จากโรงเรียนต่าง ๆ ร่วมทดสอบการแสดงใน บทมัจฉานุ จำนวน 7 คน รวมทั้งหมด 65 คน โดยนักแสดงที่เข้ารับการทดสอบจะได้รับการบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ ตามความสามารถ 

ทั้งนี้ในปีหน้า หากสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ก็จะเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และผู้มีใจรักในการแสดงโขนจากทั่วประเทศเข้าร่วมออดิชั่นเพื่อคัดเลือกนักแสดงโขนรุ่นใหม่ในการแสดงโขนมูลนิธิฯ เช่นเดิม”

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565 ผู้เข้ารับการทดสอบความสามารถบท "โขนยักษ์"

สำหรับบรรยากาศ “การทดสอบความสามารถ” นักแสดงรุ่นใหม่ได้รับการแบ่งเป็นกลุ่มละไม่เกิน 5 คน แยกตามบทที่เข้าทดสอบ เพื่อแสดงต่อหน้าคณะกรรมการฯ ศิลปินแห่งชาติ ครูนาฏศิลป์ และผู้เชี่ยวชาญ โดยคณะกรรมการจะ “อ่านบทที่เป็นโจทย์” ให้นักแสดงฟัง

บทที่เป็นโจทย์ก็มีเช่น ระบำ 4 บท เพลงพระทอง, รำแม่บทเล็ก, รำหน้าพาทย์ เพลงกราวใน, เพลงชำนาญ, เพลงชมตลาด, เพลงลิงโลด จากนั้นนักแสดงจึงร่ายรำไปพร้อมกับการบรรเลงสดของวงปี่พาทย์ไม้แข็ง

หลังจบการแสดง คณะกรรมการฯ มีทั้งถามไถ่ความรู้สึกของนักแสดงรุ่นใหม่ เนื่องจากสังเกตเห็นความตื่นเต้นของนักแสดงบนเวที พร้อมกันนั้นก็ได้ทราบว่านักแสดงบางคนแม้ตื่นเต้นแต่ก็เก็บอาการบนใบหน้าได้ดี ซึ่งเป็นลักษณะที่เหมาะสำหรับบทละครพระ ละครนาง โขนพระ

ครูบาอาจารย์ต่างให้กำลังใจนักแสดง ให้คำแนะนำเรื่องรูปทรงสีลาท่ารำ การป้องหน้า การกระดกข้อมือ การจีบนิ้ว การเยื้องหน้าซึ่งต่างจากการลอยหน้า การทำอย่างไรจึงจะไม่พลาดกับจังหวะดนตรี

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565 เด็กๆ ทดสอบความสามารถบท "มัจฉานุ" ร่วมกับครูนาฏศิลป์

โดยเฉพาะรอบทดสอบความสามารถของ “นักแสดงบทมัจฉานุ” ซึ่งเป็นเด็กอายุระหว่าง 9-12 ขวบ โดยมีครูนาฏศิลป์เข้าร่วมเป็นคู่ทดสอบในบทหนุมาน 

น้องนักแสดงรุ่นเยาว์ทั้ง 7 คน ต่างแสดงฝีไม้ลายมือเต็มที่ สู้ด้วยฝีมือสุดใจ ท่าทางอย่างโขนเปล่งประกาย เรียกเสียงปรบมือจากรุ่นพี่นาฏศิลป์ที่เข้าทดสอบบทต่างๆ เกรียวกราว

บรรยากาศเต็มไปด้วยความน่าตื้นตันใจ เมื่อจบการทดสอบบทบนเวที เด็กๆ ต่างนำพวงมาลัยลงมากราบคณะครูบาอาจารย์ซึ่งทำหน้าที่ติชมให้คำแนะนำอยู่หน้าเวที

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565 ครูบาอาจารย์นาฏศิลป์ชมการแสดงความสามารถนักแสดงโขนรุ่นใหม่

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565 นักแสดงบท "มัจฉานุ" ทั้ง 7 คน

ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวถึงการจัดการทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ใน “บทมัจฉานุ” ปีนี้ว่า 

“ความพิเศษของการคัดเลือกนักแสดงปีนี้ คือ ตัวละครมัจฉานุ ที่ตั้งใจเปิดโอกาสให้เด็กจริงๆ ได้แสดงความสามารถ เป็นเด็กๆ ที่มีความสนใจเรียนโขนเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เนื่องจากการแสดงที่ผ่านๆ มา เราให้ผู้ใหญ่ที่มีรูปร่างเล็กเหมือนเด็กเป็นผู้รับบทนี้ เมื่อได้นักแสดงที่เป็นเด็กตามอายุจริง การแสดงจะได้ความรู้สึกของความน่ารักแบบเด็กๆ ได้จริง น่าจะเป็นเสน่ห์ที่น่าติดตามของการแสดงครั้งนี้”

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” จะเปิดการแสดงในช่วงปลายปีนี้  ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ติดตามรอบการแสดงในโอกาสต่อไป

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565 นักแสดงรุ่นใหม่ทดสอบบท "โขนพระ"

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565 นักแสดงรุ่นใหม่ บท "ละครนาง" 

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565 มัจฉานุประชันหนุมาน

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565

นักแสดงรุ่นใหม่ "โขนพระ"

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565

นักแสดงรุ่นใหม่ บท "โขนยักษ์" 

อบอุ่นใจ รอบทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ โขนศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” 2565 ละครพระ คู่ ละครนาง