เปิดจองบัตรแล้ว โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ “สะกดทัพ” ชมตัวอย่างฉากไฮไลต์
โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” กำหนดรอบการแสดง ต.ค.-ธ.ค.2565 เปิดจองบัตรแล้วที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ เผยตัวอย่างการแสดงฉากตื่นตา ชมขบวนไมยราพ หุงสรรพยา หนุมานรบยุงตัวเท่าแม่ไก่ หนุมานรบมัจฉานุ มีรายละเอียดตื่นเต้นกว่าเดิม
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดงานบูรพทัศน์ (preview) การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันอังคารที่ 6 กันยายน 2565
นอกจากเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาศิลปะการแสดงโขนในทุกมิติ ดังพระราชปณิธานใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อสนองพระราชปณิธานจากพระปฐมบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยทรงงานเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด
การจัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ยังเป็นการฉลอง 2 โอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทย ได้แก่
- เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565
- เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565
งานบูรพทัศน์ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ”
งานบูรพทัศน์ หรืองานแถลงข่าวการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” ได้รับเกียรติจากนาย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการแถลงข่าว
ร่วมด้วย ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
นาง นิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พร้อมด้วยคณะกรรมการ ศิลปินแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญโขนอีกหลายท่านเข้าร่วมงาน
ขบวนไมยราพ ตอน "สะกดทัพ"
ภายในงานบูรพทัศน์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ยังนำการแสดงโขนฯ ตอน “สะกดทัพ” ที่น่าตื่นตา มาจัดแสดง จำนวน 2 ชุด ให้ชมเป็นตัวอย่าง
การแสดงชุดที่ 1 ได้แก่ ขบวนไมยราพและหุงสรรพยา
ไมยราพเป็นโอรสกษัตริย์เมืองบาดาล มีอาวุธวิเศษคือ “กล้องยาสะกด” ที่สามารถเป่าให้ข้าศึกหลับใหล ซึ่งก่อนใช้อาวุธวิเศษนี้ต้องมีการ “หุงสรรพยา” ตามตำราการปรุงยาเพื่อสะกดทัพ
การแสดงในตอนนี้แสดงถึงกระบวนการอันเป็นพิธีกรรมในการเสกสรรพยาของไมยราพ ซึ่งประกอบด้วยโรงพิธี ขั้นตอนพิธีกรรม และกระบวนท่ารำ “หน้าพาทย์”
“หน้าพาทย์คือเพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาอาการของตัวละคร ก็จะมีหลายระดับ คือหน้าพาทย์ธรรมดากับหน้าพาทย์ชั้นสูง” อ.ประเมษฐ์ บุณยะชัย คณะกรรมการและศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) พ.ศ.2563 ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ”
ไมยราพ ลงจากราชรถ ร่ายรำเข้าโรงพิธี
โดยเฉพาะ หน้าพาทย์ สำหรับไมยราพในการแสดงโขนตอน “สะกดทัพ” ปีนี้ คือ หน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์ ใช้สำหรับตัวละครหลักที่จะเข้าพิธี เป็นหน้าพาทย์ที่มีความเก่าแก่มากและไม่ค่อยปรากฏที่ใดเนื่องจากเป็นหน้าพาทย์ชั้นสูง ได้รับการสงวนไว้ ไม่ได้อยู่ในการเรียนการสอนในระบบการศึกษา
“การที่ครูบาอาจารย์สงวนไว้ ไม่ใช่ท่านหวง แต่ท่านจะมอบให้กับคนที่รักษาของชิ้นนี้ได้ ครูบาอาจารย์นาฏศิลป์ไทยไม่ได้หวงวิชา เพียงแต่ว่าใครสามารถรับแล้วรักษาสืบทอดไว้ได้ ไม่ทำให้ของท่านเสียหาย ไม่ใช่ได้ไปแล้วไปเปลี่ยนแปลง ท่านก็ต้องพิจารณาว่าคนนี้รับของท่านแล้วรักษาไว้ได้ไหม”
อ.ประเมษฐ์ กล่าวว่า “หน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์” มีประวัติความเป็นมาอย่างน้อยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีบันทึกเป็นลายมือของพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เจ้ากรมโขนในรัชกาลที่ 6 ท่านได้เขียนบรรยายไว้หมดว่าหน้าพาทย์นี้ “ไม้เดิน” และ “ไม้ลา” จำนวนเท่าใด ซึ่งคนรำต้องจำให้ได้และรำด้วยความแม่นยำ
“หน้าพาทย์นี้แทบจะสูญไปแล้ว บังเอิญในช่วงชีวิตของผม คุณครูของผม..ครูจตุพร (รัตนวราหะ) ได้รับการถ่ายทอดจากคุณครูอร่าม อินทรนัฏ (ลูกศิษย์พระยานัฏกานุรักษ์) รุ่นผมก็ได้รับการถ่ายทอดตาม ก็ได้รับกระบวนท่ารำนี้ไว้ และก็ไม่เคยนำมาใช้เลย ในตอนที่เราเล่นไมยราพตอนที่แล้ว ผมก็เรียนปรึกษาครูจตุพร ขอนำหน้าพาทย์นี้มาใช้กับการแสดงโขนปีนี้ จึงมีการถ่ายทอดออกมาโดยครูสมศักดิ์ ทัดติ (ผู้เชี่ยวชาญโขนยักษ์)”
“หน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์” จะปรากฏเพียงไม่กี่นาที ตั้งแต่ช่วงไมยราพลงจากราชรถแล้วร่ายรำเข้าสู่โรงพิธี เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของการแสดงครั้งนี้ อ.ประเมษฐ์กล่าวให้เป็นจุดสังเกตเวลาเข้าไปชมโขน "สะกดทัพ"
ไมยราพในโรงพิธีหุงสรรพยา
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เคยจัดแสดงโขน ตอน “ศึกมัยราพณ์” ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีพ.ศ.2554 ซึ่งเล่นตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
แต่สำหรับ ตอน “สะกดทัพ” ปี 2565 ครั้งนี้ เป็นการเล่นตามบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป อาทิ การแต่งกายของไมยราพ (สะกดตามบทพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 1) มีการประดับเครื่อง โกปินำ หรือการแต่งกายแบบพราหมณ์
“โกปินำคือผ้าปิดอวัยวะเพศ คือพราหมณ์เวลาจะเข้าพิธี จะนุ่งผ้าผืนห่มผืน แต่ในการแสดงเราจะแต่งแบบนั้นไม่ได้ แต่เราก็ไม่ทิ้งบทพระราชนิพนธ์ตอนนี้ เราก็นำมาใช้ มีบทร้องบรรยาย” อ.ประเมษฐ์ กล่าว
หนุมานรบยุงตัวเท่าแม่ไก่
การแสดงชุดที่ 2 ได้แก่ หนุมานรบยุงตัวเท่าแม่ไก่ และ หนุมานรบมัจฉานุ
การแสดงชุดนี้สืบเนื่องมาจาก หลังทราบว่า “พระราม” ถูกไมยราพลักพาตัวไปกักขังอยู่ที่เมืองบาดาล กองทัพพระรามจึงของให้ “หนุมาน” ติดตามไปช่วย
ระหว่างเดินทางไปเมืองบาดาล หนุมานต้องพบกับด่านต่าง ๆ หลายด่าน หนึ่งในนั้นคือ ด่านยุงตัวโตเท่าแม่ไก่ เกิดการสู้รบเป็นชุลมุน แต่ในที่สุดหนุมานก็ต่อยตีจนฝูงยุงยักษ์แตกกระเจิงพ่ายกลับไป
หนุมานรบฉัจฉานุ
และ ด่านมัจฉานุ ด่านนี้มัจฉานุซึ่งรับหน้าที่เฝ้าด่านอยู่ เกิดการสู้รบกับหนุมาน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถเอาชนะกันได้ หนุมานสงสัยจึงร้องถามว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร จนทราบว่าเป็นบุตรของตนเองที่เกิดกับกับนางสุพรรณมัจฉา
บทมัจฉานุปีนี้มีความพิเศษ ตรงที่รับบทโดย เด็กๆ ซึ่งมีความสามารถในการแสดงโขน แม้ยังไม่เข้าเรียนในวิทยาลัยนาฏศิลป ซึ่งมีความสนใจฝึกโขนเป็นการส่วนตัว
การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” พร้อมยกทัพมาสร้างความประทับใจให้ผู้ชมอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 5 ธันวาคม 2565 ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จองบัตรเข้าชมได้ที่ ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2565
ภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต
ผู้เข้าร่วมการแถลงข่าวในงานบูรพทัศน์ โขนมูลนิธิฯ 2565 ตอน "สะกดทัพ"
หนุมานรบมัจฉานุ
หนุมานรบยุงตัวเท่าแม่ไก่
ขบวนไมยราพ
วงดนตรีปี่พาทย์ไม้แข็งและผู้ขับร้อง