ซินดี้ สิรินยา-อาจารย์ช้าง : เครื่องประดับจาก"งาช้าง"ใช่ว่า...ดีที่สุด
“อาจารย์ช้าง-ทศพร” ผู้เชี่ยวชาญฮวงจุ้ย บอกชัดๆว่า การใช้เครื่องรางจาก“งาช้าง”ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเบียดเบียนช้าง จะส่งผลให้ชีวิตดีได้อย่างไร
ลองนึกดูง่ายๆ ถ้าช้างไม่มีงา จะเป็นอย่างไร...และวิธีการที่เราจะช่วยช้างได้ ก็เป็นเรื่องง่ายนิดเดียว แค่ลดความต้องการซื้อและสวมใส่เครื่องประดับจากงาช้าง
ซึ่งล่าสุดองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอด (USAID) องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ได้ออกมารณรงค์โครงการ “งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด” – Only elephants wear ivory best’ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติผู้ใช้ที่เชื่อว่างาช้างเป็นของสวยงาม
โดยเผยแพร่โฆษณารณรงค์ 2 เรื่อง มีซินดี้ สิรินยา บิชอพ นักแสดง นางแบบ และอาจารย์ช้าง ทศพร ศรีตุลา นักโหราศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ยชื่อดังเป็นทูตโครงการ เพื่อร่วมตอกย้ำว่า ไม่มีใครใส่งาช้างได้คู่ควรและสวยงามเท่ากับตัวของช้างเอง
“ซินดี้ปฏิเสธการถ่ายแบบ และการทำงานที่ต้องสวมใส่เครื่องประดับที่ทำจากงาช้างและชิ้นส่วนจากสัตว์ป่า หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์มาโดยตลอด
เพราะซินดี้เชื่อว่า สิ่งที่มาจากสัตว์ป่า เช่น งาช้างจะสวยที่สุดและมีคุณค่าที่สุด เมื่ออยู่กับช้างเท่านั้น "
นอกจากนี้ โครงการรณรงค์ยังมีเป้าหมายเพื่อลดแรงจูงใจในการซื้อและสวมใส่เครื่องประดับจากงาช้างที่มาจากความเชื่อว่างาช้างจะช่วยเสริมดวง และนำมาความโชคดีมาสู่ผู้สวมใส่
อาจารย์ช้าง บอกว่า สิ่งที่จะช่วยเสริมดวงให้ดีขึ้นต้องมาจากจุดเริ่มต้นที่ดี โดยเฉพาะการใช้เครื่องรางจากงาช้างที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเบียดเบียนช้างนั้น จะส่งผลให้ชีวิตของเราดีได้อย่างไร
"การที่เรามีจิตที่เป็นกุศลมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายถือเป็นความดีที่จะช่วยเสริมให้ชีวิตของเรามีแต่สิ่งดีๆเกิดอย่างแน่นอน ที่สำคัญที่สุดคืองาช้างจะสวยและมีคุณค่าที่สุดเมื่ออยู่กับช้างเท่านั้น”
ผลการวิจัยผู้บริโภคและใช้งาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 โดย USAID พบว่า คนไทยร้อยละ 2 มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และคนไทย ร้อยละ 3 มีความตั้งใจที่จะซื้องาช้างหรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง ในอนาคต
แม้ว่าสัดส่วนนี้จะต่ำ แต่ผู้นิยมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีส่วนผลักดันตลาดภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ การรณรงค์สื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและพฤติกรรม จึงมีความสำคัญต่อการลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้าง และจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง
ผลการสำรวจหลังการดำเนินโครงการรณรงค์สื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและพฤติกรรม ของ USAID ปี พ.ศ. 2563 พบว่า ผู้ที่เห็นสื่อโครงการ “สวยที่ใจไม่ใช่ที่งา” ที่ตอบว่ามีความตั้งใจจะซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างมีจำนวนลดน้อยลงถึงร้อยละ 50
และคนที่เห็นด้วยว่า การซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างไม่อาจเป็นที่ยอมรับในสังคมมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับผลการวิจัยผู้บริโภคของ USAID เมื่อปี พ.ศ. 2561
รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์เพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า อย่างเช่น โครงการ “งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด” จะช่วยสร้างทัศนคติใหม่ในสังคม ที่จะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าและนำไปสู่การป้องกันการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายได้