“มหาวิทยาลัยศิลปากร” รวมนักปั้นจากทั่วโลกสร้าง "รากุ” กว่า 80 ชิ้น
“มหาวิทยาลัยศิลปากร” สนามจันทร์ รวมตัวนักปั้นจากทั่วโลก สร้างงานประติมากรรม "เซรามิก" “รากุ” ขนาดยักษ์กว่า 80 ชิ้น พร้อมเวิร์คชอปให้ผู้สนใจสร้างงานปั้นของตัวเอง
เมื่อ ศิลปะไร้พรมแดน มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม เตรียมเปิดถนนสายประติมากรรมเซรามิกเต็มรูปแบบ
โดยเชิญนักปั้นจากทั่วโลก สร้างงานประติมากรรม รากุ (Raku) ขนาดยักษ์รวมกว่า 80 ชิ้น พร้อมติดตั้งในบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร ชมและร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปสร้างสรรค์งานปั้นเซรามิก ของตัวเอง วันนี้ถึง 30 กันยายน 2565
ศิลปินนักปั้นเซรามิกจากทั่วโลก มารวมกันในงาน Silpakorn Clay Works Sanam Chandra 2022 ที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม นับเป็นงานรวมตัวของนักปั้นจากประเทศต่าง ๆ มากที่สุด
นักปั้นจากลัตเวียและจอร์เจีย
อาทิ จอร์เจีย สาธารณรัฐลัตเวีย เกาหลี เยอรมนี สิงคโปร์ ตูนีเซีย รวมถึงศิลปินแห่งชาติของไทย และศิลปินชาวไทยรวมกว่า 80 ชีวิต ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ถ่ายทอดเอกลักษณ์และเทคนิคอันเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของแต่ละคน ผ่านชิ้นงานและกระบวนการเผาแบบ รากุ สร้างประติมากรรมเซรามิกขนาดยักษ์ที่มีความสูงระหว่าง 1-1.5 เมตร เพื่อส่งมอบและติดตั้งอย่างถาวรรวม 80 ชิ้น ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
พิธีเปิดงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย ร.ศ.สยุมพร กาษรสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อม ผศ.ดร.วันชัย สุทธะนันท์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมเปิดงาน
พร้อมตัวแทนศิลปินแห่งชาติ ดร. กมล ทัศนาชลี, รศ.เขมรัตน์ กองสุข และ ศจ.เดชา วราชุน ซึ่งนับจากนี้ไป งานประติมากรรมเซรามิกขนาดยักษ์ทั้ง 80 ชิ้น ผลงานของนักปั้นทั่วโลก จะนำไปติดตั้งในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย
ผู้สนใจสามารถเข้าชมทุกขั้นตอนการสร้างสรรค์งานอย่างใกล้ชิดกับศิลปินทั้งหมด และสนุกกับกิจกรรมทดลองปั้นด้วยตัวเอง อีกทั้งชมบูธสินค้างานเซรามิกให้เลือกซื้อเป็นของที่ระลึกกลับบ้านได้อีกด้วย ตั้งแต่วันนี้ – 30 กันยายน 2565 นี้ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร สนามจันทร์ นครปฐม
เซรามิก “รากุ” (Raku)
รากุ คือเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ใช้ในพิธีชงชา จุดเริ่มต้นมาจากที-มาสเตอร์ Sen no Rikyu และนักทำกระเบื้อง ผลิตถ้วยชาเรียกว่า วาบิสไตล์ (Wabi) เพื่อใช้ในพิธีชงชา
ต่อมาเป็นชื่อของตระกูลที่ผลิตเครื่องกระเบื้อง Raku Kichizaemon ที่ 16 (ทายาทรุ่นที่ 16) และได้รับความนิยมแพร่หลาย จนถึงศตวรรษที่ 18 เครื่องปั้นดินเผาหรือ เซรามิก รากุ นิยมมากในญี่ปุ่น มีหลายตระกูลสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่างปั้นในเกียวโต ในยุคเอโดะ ความนิยมรากุแพร่หลายสู่หลายเมืองในญี่ปุ่น เช่น นาโกย่า, โอวาริ
ความพิเศษของ รากุ คือการขึ้นรูปด้วยมือและเผาในเตาที่ออกแบบพิเศษ ในยุคแรกทำจากดินสีแดง ยังมีเทคนิคเฉพาะอีกหลายอย่าง เช่น การตบดินให้เป็นแผ่นวงกลมแบน การบีบดินเข้ามาทำให้เกิดรูปทรงถ้วยชา (โดยที่ดินยังอยู่ในฝ่ามือ) การตกแต่งขอบถ้วยให้เรียบร้อยบนไม้กระดานวงกลม ซึ่งแตกต่างจากการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนที่ทำให้ดินเกิดเป็นรูปทรงต่าง ๆ
เทคนิคสำคัญอีกอย่างคือ การเผารากุ เป็นเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ แต่ในบางกรณีเช่น “รากุสีดำ” จะใช้อุณหภูมิสูงกว่า 1,200 องศาเซลเซียส ยังมีอีกสารพัดเทคนิคเพื่อสร้างลวดลายที่ไม่อาจคาดเดาได้ เช่น การเผาที่อุณหภูมิสูง 1,100-1,800 องศาเซลเซียส แล้วทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็ว หรือคีบออกจากเตาแล้วนำไปสุมในหญ้าแห้ง แกลบ กระดาษ ขี้เลื่อย หรือใบไม้แห้ง เพื่อให้เกิดลวดลายของขี้เถ้าที่ไหม้ไฟ และเฉดสีที่ผสมผสานจากแร่ธาตุต่าง ๆ ที่อยู่ในเนื้อดิน
อ้างอิง : enwikipedia.org, potteryclaythailand.com