7 ของขวัญและของที่ระลึก APEC 2022 โมเดลเศรษฐกิจ BCG บนอัตลักษณ์ไทยงามวิจิตร
เผยแพร่อัตลักษณ์ไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น เสริมสร้างคุณค่า ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน 7 ของขวัญ - ของที่ระลึก งานประชุม APEC 2022 สำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจและคู่สมรส
รัฐบาล โดยคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัด การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เอเปค ปีพ.ศ.2565 หรือ APEC 2022 Thailand ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ได้พิจารณาเห็นชอบ ของขวัญและของที่ระลึก ทั้งหมด 7 รายการ จัดทำขึ้นพิเศษเพื่อมอบให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและคู่สมรส
โดย ของขวัญและของที่ระลึก ทั้ง 7 รายการ ล้วนนำเสนอ อัตลักษณ์ไทย หรือเอกลักษณ์ความเป็นไทย บอกเล่าเรื่องราวและคุณค่า ส่งเสริมแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ โมเดลเศรษฐกิจ BCG อันสอดคล้องกับแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคในครั้งนี้ที่ว่า Opem. Connect. Balancce. หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล”
ของขวัญและของที่ระลึก เอเปค 2022 ทั้ง 7 รายการ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่ม คือ
- ผลิตภัณฑ์ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับผู้นำและคู่สมรส จำนวน 3 รายการ
- ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดสรรจากสถาบันสิริกิติ์ จำนวน 2 รายการ
- ผลิตภัณฑ์ที่รัฐบาลพิจารณาเห็นสมควรจัดทำขึ้นในวาระพิเศษครั้งนี้ จำนวน 2 รายการ
เพื่อให้ผู้นำทุกเขตเศรษฐกิจเอเปคประทับใจในการเตรียมการต้อนรับของไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ภาพดุนโลหะ“รัชตะแสนตอก” (สำหรับผู้นำ)
ผลิตภัณฑ์ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับผู้นำและคู่สมรส จำนวน 3 รายการ ประกอบด้วย
1. ภาพดุนโลหะ“รัชตะแสนตอก” (สำหรับผู้นำ)
ภาพพระบรมมหาราชวังและกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค จากมุมมองของผู้นำที่จะได้ชมจากหอประชุมกองทัพเรือในค่ำคืนของงานเลี้ยงรับรอง ใช้เทคนิค ดุนลาย หรือ ตอกเงิน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่สืบทอดมากว่า 700 ปีบนแผ่นโลหะรีไซเคิล
พื้นหลังแสดงลายนูนต่ำ ลวดลาย ‘ชะลอม’ ที่พัฒนาขึ้นจากตราสัญลักษณ์ การประชุมเอเปค โดยผูกร้อยขึ้นสี่มุมให้เป็นรูปทรง ลายประจำยาม หนึ่งในลายไทย
ส่วนกรอบรูปดุนลายขึ้นเป็น ลายพื้นเมืองล้านนา ซึ่งทั้งภาพและกรอบนี้ใช้วัสดุ โลหะรีไซเคิลสีเงิน (รัชตะ) โดยผ่านการดุนหรือตอกนับแสนครั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อภาพ ‘รัชตะแสนตอก’ ผลิตจากชุมชนคุณธรรมฯ วัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเทคนิคการดุนโลหะของชุมชนนี้ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยในชุมชนเองก็มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาฝึกฝนเทคนิคนี้จนชำนาญอย่างต่อเนื่อง
กล่องเครื่องประดับดุนโลหะ “รัชตะหมื่นตอก” (สำหรับคู่สมรส)
2. กล่องเครื่องประดับดุนโลหะ “รัชตะหมื่นตอก” (สำหรับคู่สมรส)
ใช้เทคนิคดุนลายบนแผ่นโลหะรีไซเคิลสีเงิน(รัชตะ) ตรงกลางกล่องแสดงลายตอกนูนต่ำตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย “ชะลอม” โดดเด่นบนพื้นรูปชะลอมที่เรียงร้อยเข้าทั้งสี่มุมเป็นลายประจำยาม
กล่องรัชตะหมื่นตอก ได้รับการดุนลายด้วยการตอกนับหมื่นครั้งต่อหนึ่งชิ้นงาน ด้านในของกล่องบุด้วยผ้าไหมสีแดงชาด ผลิตจากชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่ เช่นกัน
ชุดผลิตภัณฑ์ผ้า “จตุราภรณ์”
3. ชุดผลิตภัณฑ์ผ้า “จตุราภรณ์”
ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติด้วยสีจากเปลือกมะพร้าว อันเป็น ภูมิปัญญาท้องถิ่น จาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พิมพ์ลาย “ชะลอม” ร้อยเรียงขึ้นเป็นลายไทยประจำยาม
จตุราภรณ์ หรือ "อาภรณ์ทั้งสี่ชิ้น" เชื่อมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย ประกอบด้วย เนกไท ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดหน้า และหน้ากากผ้า
นอกจากนี้ ยังได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดกับความร่วมสมัยในการทำผ้าคลุมไหล่ โดยนำเทคนิคการทอเส้นใยจากโลหะรีไซเคิลหลากหลายประเภทมาใช้ตกแต่งด้านปลายของผ้าคลุมไหล่ทั้ง 2 ข้าง พร้อมประดับลูกปัดจากวัสดุธรรมชาติ อาทิ ลูกปะเกือม สอดคล้องลงตัวกับสัมผัสเส้นใยของผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติ ที่นำลวดลายตราสัญลักษณ์ชะลอมมาจัดเรียงเป็นลายไทยรูปทรงตราประจำยาม โดยใช้เทคนิคการแกะและปั๊มลายที่ละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อน เพื่อให้ตราสัญลักษณ์มีความโดดเด่นบนผืนผ้า
นอกจากนี้ตรงชายผ้า ยังได้มีการนำเศษผ้าจากเปลือกไหมย้อมสีธรรมชาติซึ่งมีผิวสัมผัสที่มีเอกลักษณ์ เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้อย่างคุ้มค่าตามแนวคิดลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) และส่งเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็ง
ของที่ระลึกทั้ง 3 รายการ นอกจากตัวผลิตภัณฑ์จะมีที่มาจากแนวคิด BCG แล้ว ตัวบรรจุภัณฑ์ก็ผ่านการออกแบบให้สอดคล้องกัน โดยผลิตจากไม้ยางพาราอบฆ่าเชื้อตามมาตรฐานการส่งออก ประดับโลหะสีเงินฉลุลายตราสัญลักษณ์ APEC 2022 ที่มีความละเอียดอ่อนสวยงาม
แนวคิดในการจัดทำของที่ระลึกสำหรับผู้นำและคู่สมรสในครั้งนี้ ได้รับโจทย์มาจากแนวคิดหลักของการประชุม และแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ โดยกระทรวงวัฒนธรรมตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน ที่สร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า นำมารังสรรค์ผลงาน เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น อันจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน
โดยพยายามนำแนวคิด โมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้คงความเป็นอัตลักษณ์ไทย แต่ผสมผสานเทคนิคแบบสมัยใหม่ ก่อให้เกิดเป็นผลงานร่วมสมัยที่ยังคงผสานกลิ่นไอของความเป็นไทย
กรอบรูปถมเงิน
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดสรรจากสถาบันสิริกิติ์ จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย
1. กรอบรูปถมเงิน (พร้อมภาพพระราชทานของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในระหว่างการเข้าเฝ้าฯ)
เป็นงานฝีมือ ถมเงิน ซึ่งเป็นงานศิลปหัตกรรมชั้นสูงที่น่าภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของคนไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเห็นคุณค่าของเครื่องถมไทย
ที่นับวันจะสูญหายไป จึงโปรดให้ช่างสถาบันสิริกิติ์ที่ทรงคัดเลือกจากครอบครัวที่ยากจนไม่มีที่ทำกินจากทั่วทุกภาคของประเทศ ให้มาฝึกเรียนวิธีทำเครื่องถมตามแบบโบราณ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือขั้นสูงนี้ให้คงอยู่เป็นศิลปะประจำชาติไทยต่อไป
เทคนิคการถมเงินนี้มีความละเอียดอ่อนมาก ทั้ง "การตีแผ่นเงิน" เพื่อขึ้นรูปให้เป็นรูปทรงตามที่ต้องการ ทั้งการทำลวดลายด้วยการสลักหรือด้วยวิธีเขียนลาย และใช้น้ำกรดกัดผิวเงินรอบลวดลายให้ต่ำลงเพื่อให้ยาถมไหลเติมเต็มไปตามร่องลายนั้น รวมทั้งการตะไบยาถมให้เรียบเนียนเสมอผิวหน้าของเนื้อเงิน
ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายในการเพิ่มรายละเอียดของลวดลายที่เป็นเงินให้เป็นประกายแวววาวตัดกับพื้นรอบลวดลายที่เป็นสีดำของยาถม
เหล่านี้ล้วนเป็นงานฝีมือที่ต้องทำด้วยความประณีต อดทน และตั้งใจ ตามภูมิปัญญาคนไทยโบราณ จนได้งานฝีมืออันสวยงาม ทรงคุณค่า เหมาะสมที่จะมอบเป็นของที่ระลึกผู้นำอย่างยิ่ง
กล่องลิเภาเลี่ยมขอบเงิน ตกแต่งเงินลงยาสี
2. กล่องลิเภาเลี่ยมขอบเงิน ตกแต่งเงินลงยาสี
“ลิเภา” หรือ “ย่านลิเภา” (ตามภาษาท้องถิ่นภาคใต้) เป็นไม้เถาเลื้อยตระกูลเฟิร์นหรือเถาวัลย์ ลำต้นเมื่อแก่จะมีสีเข้มเป็นมันเหนียวทนทาน คนไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงนำลำต้นลิเภามาสานเป็นภาชนะ เครื่องใช้พื้นบ้านต่าง ๆ งานจักสานย่านลิเภาเป็นงานละเอียด ประณีต ที่ต้องใส่ใจ ใช้ความพยายามและความอดทนทุกขั้นตอน
โดยเลือกเก็บเฉพาะเส้นที่เหมาะ ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป แล้วนำมาผ่านกรรมวิธีลอกเปลือก รูดเส้นให้เรียบสะอาดมีขนาดเส้นเท่ากันทั้งหมด นำเส้นหวายหอมมาเป็นแกนแล้วพันรอบด้วยเส้นลิเภา
ความสวยงามของรูปทรงเกิดจากทักษะการใช้สองมือในการขึ้นรูปจนได้งานศิลปหัตถกรรมที่ประณีตใช้งานได้อย่างดีและคงทน
กล่องจักสานย่านลิเภานี้จึงเปรียบเสมือนเป็นสื่อที่แสดงถึงภูมิปัญญาคนไทยที่เพียบพร้อมด้วยศิลปะสวยงาม ความตั้งใจ นอกจากนี้ยังเสริมคุณค่าด้วยการเลี่ยมขอบเงินโดยรอบ และตกแต่งฝากล่องด้วยงานสลักลายบนแผ่นเงินลงยาสี
ส่วนภายในซับด้วยผ้าไหมไทยจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ผลิตภัณฑ์จากสถาบันสิริกิติ์ทั้ง 2 รายการนี้ สะท้อนพระปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสืบสานศิลปหัตถกรรมในทุกสาขา ทั้งศิลปหัตถกรรมโบราณที่ใช้เทคนิคชั้นสูงและศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน
สมุดรายนาม Thai Silk for All
ผลิตภัณฑ์ที่รัฐบาลพิจารณาเห็นสมควรจัดทำขึ้นในวาระพิเศษครั้งนี้ 2 รายการ ประกอบด้วย
1. สมุดรายนามผู้ผลิตผ้าไหมและผู้ประกอบการทั่วประเทศฉบับพิเศษ หรือ Thai Silk for All
จัดทำโดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระวิริยอุตสาหะในการส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย” จากสิ่งทอท้องถิ่นที่สูญหายไป ให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ สืบสานและต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่ ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีในการนำทุนทางวัฒนธรรมด้านผ้าไทยมาเพิ่มคุณค่า และมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดและยกระดับผ้าไทยไปสู่เวทีโลก
ขณะเดียวกัน ชุมชน ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมผ้าไทยได้รับการสนับสนุนให้เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นทั้งระดับฐานรากและระดับชาติอย่างยั่งยืน
หนังสือดังกล่าวจัดทำขึ้นภายใต้กรอบแนวคิด “Thai Silk for All” ภายในมีภาพประกอบที่สวยงาม ตามแนวคิดการนำผ้าไหมไปใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งมีข้อมูลของร้านค้าผู้ผลิตและผู้ประกอบการจากภูมิภาคต่าง ๆ มาจัดทำเป็นฐานข้อมูลผู้ผลิตและผู้ประกอบการผ้าไหม ผนวกกับช่องทางการจำหน่ายผ้าไหมผ่านระบบดิจิทัลในเชิงพาณิชย์
ช่วยให้ผู้สนใจสามารถค้นหาแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายได้สะดวก รับชมสินค้าได้ง่าย สั่งซื้อสินค้าผ่านระบบดิจิทัลได้ทันที
เป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคมด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดสมดุล สอดคล้องกับแนวคิดหลักของการประชุม คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค
2. เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค
จัดทำโดย "กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง" เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่พระเกียรติคุณให้แผ่ไพศาลไปทั้งในประเทศและนานาประเทศ
รวมทั้งเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย และเผยแพร่ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
โดยเป็นเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิเกิล) ชนิดมูลค่า 20 บาท ผู้สนใจสามารถติดต่อขอแลกได้ที่กรมธนารักษ์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ซึ่งเมื่อคราวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2003 (พ.ศ.2546) ก็ได้มีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในวาระดังกล่าวเช่นกัน