“พระแสงขรรค์ชัยศรี” เปิดปูมโบราณวัตถุชิ้นเอก ณ อาคารเครื่องทองอยุธยา
เครื่องทองโบราณจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ อาทิ พระแสงขรรค์ชัยศรี พระคชาธารจำลอง จุลมงกุฎ พระสุวรรณมาลา มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ชวนมาทำความรู้จักในเบื้องต้นก่อนไปรับชมของจริง ณ อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องทองอยุธยาจำนวนทั้งสิ้น 2,244 รายการ ที่ค้นพบ ณ แหล่งโบราณคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีการจัดแสดงในรูปแบบที่น่าสนใจ ทันสมัย และได้มาตรฐานตามหลักพิพิธภัณฑสถานสากล
มาทำความรู้จักกับโบราณวัตถุชิ้นเอก มีค่าควรเมือง ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ อาคารเครื่องทองอยุธยา ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร และมีลักษณะทางศิลปะยุคใด
พระแสงขรรค์ชัยศรี
ศิลปะอยุธยาตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 20
เหล็ก หินเขี้ยวหนุมาน และทองคำประดับแก้วสี
พบในกรุประธานชั้นที่ 2 พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“พระแสงขรรค์ชัยศรี” เป็นคำเรียกตามอย่างโบราณ มีการกล่าวถึงครั้งแรกในสมัยสุโขทัย โดยปรากฏในศิลาจารึกวัดศรีชุม พุทธศตวรรษที่ 19-20 ความว่า “เมื่อก่อนผีฟ้า เจ้าเมืองศรีโสธรปุระ ให้ลูกสาวชื่อนางสุขรมหาเทวี กับขรรค์ชัยศรี ให้นามเกียรติแก่พ่อขุนผาเมืองเหียม พ่อขุนบางกลางหาวได้ชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์เพื่อพ่อขุนผาเมืองเอาชื่อตนให้แก่พระสหายอีก เมืองสุโขทัยเพื่อนั้น”
พระขรรค์เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นหนึ่งในสิ่งของ 5 รายการ ที่เรียกกันว่า “เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์” ที่ต้องถวายแก่พระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระแสงขรรค์ที่พบในกรุพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะนั้น เมื่อพิจารณาลวดลายประดับจะเห็นถึงความเกี่ยวข้องกับศิลปะเปอร์เซีย-อิสลาม ได้แก่ ลายดอกไม้สามกลีบ และลายใบไม้ประดิษฐ์ หรือลายใบไม้สามเหลี่ยม ซึ่งเป็นลวดลายที่พบได้ในงานเครื่องปั้นดินเผาและงานประดับขอบที่วางคัมภีร์กุรอานสลักไม้
พระแสงขรรค์ชัยศรี ทำจากวัสดุหลายประเภท ได้แก่ เหล็ก หินเขี้ยวหนุมาน และทองคำประดับแก้วสี แสดงให้เห็นถึงความชำนาญในการทำงานโลหศิลปะของช่างชาวอยุธยา
ใบมีดของพระแสงขรรค์ทำจากเหล็ก ปลายเรียวแหลมมีคมทั้งสองด้าน กึ่งกลางใบเป็นสันนูนเห็นได้ชัดเจน สภาพมีร่องรอยถูกสนิมกัดกร่อน ด้ามจับพระขรรค์ทำจากหินเขี้ยวหนุมานเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยม ปลายสุดของด้ามทำเป็นรูปหัวเม็ดทรงหกเหลี่ยม ประดับด้วยทองคำและแก้วสี
ฝักพระขรรค์ทำด้วยทองคำประดับแก้วสีเขียวและใส โคนฝักแยกเป็นแฉก ตกแต่งด้วยลายใบไม้สามเหลี่ยม ตัวฝักตกแต่งด้วยลายดอกไม้สามกลีบต่อเนื่องถึงส่วนปลายฝัก ขอบบนและล่างของฝักเป็นลายกระหนก ด้านในฝักบุเหล็กรองรับอีกชั้นหนึ่ง
พระสุวรรณภิงคาร
ศิลปะอยุธยาตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 20
ทองคำบุขึ้นรูป ตกแต่งด้วยการสลักดุนลาย
พบในกรุประธานชั้นที่ 2 พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระสุวรรณภิงคาร เป็นภาชนะใส่น้ำรูปทรงคล้ายน้ำเต้า มีฝาปิดและมีพวยเป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรมตามธรรมเนียมศาสนาพราหมณ์ ยอดฝาทำเป็นเศียรพรหมจตุรพักตร์ ปากภาชนะผายออก คอคอดสูง เชิงซ้อนชั้นผายออกรับกับลำตัวทรงกลม
ส่วนบนและส่วนล่างของช่วงลำตัวตกแต่งด้วยลายกลีบบัว สองข้างตกแต่งด้วยแผ่นทองลักษณะคล้ายกลีบบัว ด้านหนึ่งทำเป็นรูปพญานาค 3 เศียร อีกด้านหนึ่งทำเป็นรูปเทวดาประทับเหนือดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองข้างถือสังข์ และวัชระ กึ่งกลางพระนลาฏ สันนิษฐานว่าเป็นเนตรที่ 3 หรืออุณาโลม
พระสุวรรณภิงคาร เป็นภาชนะใส่น้ำสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการบำเพ็ญพระราชกุศล น้ำที่ใช้หลั่งเพื่ออุทิศส่วนกุศลนี้เรียกว่า ทักษิโณทก ด้วยเหตุนี้พระสุวรรณภิงคารจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระเต้าทักษิโณทก พระสุวรรณภิงคารที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องพุทธบูชาโดยเฉพาะ มิได้เป็นภาชนะสำหรับใช้งานจริง เนื่องจากส่วนก้นของพระสุวรรณภิงคารมีลักษณะกลวงจนถึงส่วนฐาน
ยอดฝาพระสุวรรณภิงคารทำเป็นรูปเศียรบุคคล จำนวน 4 เศียร เรียกว่า ยอดพรหมพักตร์ หรือจตุรพักตร์ อันแปลว่า มีหน้า 4 หน้า นับถือว่าพระพรหมเกิดจากน้ำ และถือเต้าน้ำอมฤตเป็นสัญลักษณ์ในพระหัตถ์ เทวดาประทับขัดสมาธิราบเหนือปัทมอาสน์ สวมเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ ทรงมงกุฎ กึ่งกลางพระนลาฏสันนิษฐานว่าเป็นเนตรที่สาม หรืออุณาโลม พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ พระหัตถ์ขวาถือวัชระ น่าจะได้แก่ พระอินทร์ เทพแห่งฝนตามคติอินเดียโบราณ
รูปพญานาคแผ่พังพาน 3 เศียร กลางลำตัวทำเป็นลวดลายประดับคล้ายดอกไม้ 5 กลีบ ส่วนล่างของลำตัวขดเป็นวงกลมซ้อนกัน 3 วง นาค เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ให้น้ำและบันดาลให้เกิดฝนในแต่ละปี
พระคชาธารจำลอง
ศิลปะอยุธยาตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 20
ทองคำประดับอัญมณีและแก้วสี
พบในกรุประธานชั้นที่ 2 พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระคชาธาร คือช้างทรงของพระมหากษัตริย์ นับถือเป็นสัตว์มงคลมีกำเนิดจากเทพเจ้า เป็นสิริแก่พระเจ้าแผ่นดิน โดยเฉพาะช้างตระกูลฉัททันต์ และช้างอุโบสถ ถือว่าควรเป็นพาหนะของพระจักรพรรดิเท่านั้น
ช้าง เป็นมงคล 1 ใน สัปตรัตนะ (แก้ว 7 ประการ) อันเป็นเครื่องประกอบพระบารมีของพระจักรพรรดิ ผู้มีพระราชอำนาจแผ่ไพศาลยิ่งกว่าพระราชาทั้งปวง ประกอบด้วย จักรรัตนะ (จักรแก้ว) หัตถิรัตนะ (ช้างแก้ว) อัศวรัตนะ (ม้าแก้ว) มณีรัตนะ (มณีแก้ว) อัตถีรัตนะ (นางแก้ว) คหปติรัตนะ (ขุนคลังแก้ว) ปริณายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว)
พระคชาธารทองคำที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะทำจากทองคำประดับอัญมณีและแก้วสี อยู่ในอิริยาบถหมอบบนแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า งวงชูช่อพฤกษา ลำตัวประดับด้วยเครื่องคชาภรณ์ ได้แก่ ผ้าปกกระพอง (ผ้าคลุมศีรษะ) สายรัดประคน สำอาง ซองหาง และวลัย ผูกสัปคับไว้ที่หลัง ส่วนหัวและลำตัวถอดแยกออกจากกันได้ ภายในกลวง ส่วนหางยึดด้วยลวดทองคำทำให้สามารถขยับได้
จุลมงกุฎ
ศิลปะอยุธยาตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 20
ทองคำประดับแก้วสี
พบในกรุประธานชั้นที่ 2 พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จุลมงกุฎ เครื่องประดับศีรษะ สำหรับสวมครอบมุ่นพระเมาลีหรือมวยผม ทำด้วยทองคำประดับแก้วสีเขียวและใส ยอดตกแต่งลายดอกจัน มีสายรัดทำเป็นสาแหรกสี่สายเชื่อมต่อกับแผ่นทองรัดรอบมวยผมหรือรัดเกล้าประดับลายรักร้อย
ส่วนบนเป็นลายดอกไม้ ขอบตกแต่งลวดทองลายไข่ปลา ระหว่างสาแหรกตกแต่งด้วยลายกระจัง รัดเกล้าเป็นแผ่นทองเชื่อมต่อเป็นวง ด้านหน้าแผ่ออกเป็นทรงสามเหลี่ยม ประดับลายช่อดอกไม้ประดิษฐ์ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แนวขอบบนและขอบล่างทำเป็นลายกระจังรวน แสดงขนบพระเจ้าแผ่นดินต้นกรุงศรีอยุธยาทรงเกล้าเกศาเป็นมวยสูงกึ่งกลางกระหม่อม
สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ศิลปะอยุธยาตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 20
ทองคำประดับอัญมณี
พบในกรุประธาน พระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรจุอยู่ภายในสถูปชั้นที่ 5
สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุชั้นที่ 6 ทำจากอัญมณีวางซ้อนกัน 3 ชั้น รัดด้วยสาแหรกทองคำ อัญมณีชั้นล่างเป็นพลอยสีดอกตะแบก (amethyst) ชั้นกลางเป็นไพฑูรย์ (chrysoberyl) และชั้นบนเป็นสปิเนล (spinel) อันเป็นอัญมณีที่หายากและเป็นสีที่ไม่พบในประเทศไทย ด้านข้างของฐานสถูปประดับมรกต (emerald) และเพทาย (zircon) ภายในมีอัญมณีสีต่าง ๆ วางเรียงกัน ได้แก่ สปิเนล (spinel) โกเมน (garnet) ไพฑูรย์ (chrysoberyl) และมุกดาหาร (moonstone)
กลางสถูปเป็นตลับทองคำ ใต้ฝาตลับฝังอัญมณี 2 เม็ด ได้แก่ กะรุน (corundum) สีที่หาได้ยากในปัจจุบัน และสปิเนล (spinel) สีที่ไม่พบในประเทศไทย ยอดฝาตลับประดับเพชร ซึ่งมีโครงสร้างผลึกในรูปแบบ สามเหลี่ยม (trigon) ที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร อันหาได้ยากยิ่ง ภายในตลับทองคำประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 1 องค์ สัณฐานคล้ายเกล็ดพิมเสนสีขาวเป็นรุ้งพราว
ตลับรูปสิงโต
ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20
ทองคำประดับอัญมณี
พบในกรุเล็กใต้พื้นพระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณใต้ฐานเจดีย์หรือฐานมณฑป
ตลับสิงโตแบบจีน เดิมบรรจุอยู่ภายในภาชนะหินรูปปลาร่วมกับเครื่องทองขนาดเล็กอื่น ๆ สันนิษฐานว่าเป็นของใช้ของเจ้านายฝ่ายหญิงที่มีความสำคัญพระองค์หนึ่ง เมื่อสิ้นพระชนม์จึงนำมาอุทิศถวายลงในกรุเล็กใต้ฐานเจดีย์หรือมณฑปบริเวณใต้พื้นพระปรางค์พร้อมกับเถ้าอัฐิ
ตลับแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนลำตัวสิงโตช่วงล่างเป็นตัวตลับ และลำตัวช่วงบนและหัวเป็นฝาตลับ ตกแต่งด้วยการปรุลวดลายทั่วลำตัว ดวงตาและขนช่วงกลางส่วนหัวเคยประดับอัญมณี เขา หู ลิ้น และหาง ทำแยกจากส่วนลำตัวแล้วประกอบยึดเกี่ยวด้วยเส้นลวดทองคำ ทำให้สามารถขยับได้
ทั้งนี้ อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป โดยระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2566 ไม่เก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่
อ้างอิง : ข้อมูลและภาพจาก กรมศิลปากร