5 ไฮไลต์ศิลปะ BANKSY(แบงก์ซี่) ในนิทรรศการ The Art of Banksy: “Without Limits”
ไฮไลต์เด็ดๆ ของศิลปินระดับโลก ‘BANKSY’ ในนิทรรศการ The Art of Banksy: “Without Limits” ยังเปิดให้ชมถึงวันที่12 กุมภาพันธ์ 2565 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK)
จากกระแสฮือฮาเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา การปรากฏตัวของงานศิลปะกราฟิตี้อย่างปริศนาของภาพยิมนาสติกหญิงบนซากปรักหักพังของเมืองโบราณโบโรดยานกา หลังสถานการณ์สงครามรัสเซียบุกยูเครน ก็ไม่ใช่ฝีมือจากใครที่ไหน นอกจาก Banksy ศิลปินสตรีทอาร์ตนิรนามที่มักจะถ่ายทอดผลงานศิลปะที่สอดแทรกด้วยพลังแห่งการสะท้อนสังคม
หลาย ๆ คนอาจได้เคยเห็นผลงานของ ‘Banksy’(แบงก์ซี่) ผ่านตามาบ้างแล้ว และหลาย ๆ คนที่เพิ่งรู้จักเขาจากเหตุการณ์กระแสฮือฮาในครั้งนี้ จนชวนให้อยากทำความรู้จักกับศิลปินลึกลับผู้นี้มากยิ่งขึ้น
และเป็นข่าวดีของคนไทยที่นิทรรศการระดับโลกอย่าง The Art of Banksy: “Without Limits” ได้มาเยือนที่ MOCA BANGKOK (พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย )นิทรรศการที่จัดแสดงแนวคิดและเบื้องหลังเรื่องราวของผลงานกว่า 150 ชิ้นอันน่าทึ่งให้ผู้ชมได้รู้จักตัวตนของ ‘Banksy’
5 ไฮไลต์นิทรรศการ The Art of Banksy: “Without Limits”
- 1. รวมผลงานชิ้นเอก ‘Banksy’ ไว้ในที่เดียวกว่า 150 ชิ้น
ผลงานของ ‘Banksy’ กว่า 150 ชิ้น แต่ละชิ้นเป็นผลงานระดับตำนาน ไม่ว่าจะเป็น “Girl with Balloon” ภาพเด็กหญิงกับลูกโป่งรูปหัวใจ หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของ ‘Banksy’ ภาพนี้เป็นงานกราฟิตี้ที่ใช้เทคนิค stencil หรือ ฉลุลาย ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบงก์ซี่
ความน่าสนใจของภาพที่มีหลายคนพยายามตีความคือ มือของเด็กผู้หญิงจริง ๆ แล้วมันหมายถึงสิ่งใด บางคนบอกว่า เธอพยายามคว้าลูกโป่ง บางคนบอกว่า เธอปล่อยมือจากลูกโป่ง
ด้วยความเรียบง่าย แต่ทรงพลังของภาพนี้ ทำให้งานชิ้นนี้โด่งดังไปทั่วโลก และยิ่งโด่งดังไปมากขึ้น เมื่อในปี 2018 ภาพนี้ถูกนำไปประมูลที่ Sotheby’s และมันก็ทำลายผลงานของตัวเองด้วยเครื่องย่อยกระดาษ ภายในไม่กี่วินาที หลังจากที่มีการประมูลภาพนั้นไปสูงถึง 1.2 ล้านดอลลาร์
และภาพ “Flower Thrower” อีกหนึ่งผลงานที่ทรงพลังในด้านความรุนแรงของสังคมและเพศ ภาพชายสวมหมวกและมีผ้าพันคอปกปิดใบหน้าที่เคร่งขรึม กำลังโยนช่อดอกไม้หลากสี ที่เป็นสีของธงสัญลักษณ์ของกลุ่มชาว LQBTQIA+ แทนที่จะเป็นก้อนหิน หรือ ระเบิดจริง ๆ ที่กลุ่มผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงชอบใช้กัน
ทำให้หลาย ๆ คนเมื่อได้เห็นภาพนี้แล้ว ต่างเอาไปเชื่อมโยงและตีความกันว่า ‘Banksy’ ได้พยายามส่งข้อความที่เป็นเหมือนการเสียดสี และต่อต้านการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาว LQBTQIA+
- 2. ภาพWelcome Mat พรมที่ถักทอจากเสื้อชูชีพผู้อพยพ
หนึ่งในผลงานออริจินัลที่นำมาแสดงในนิทรรศการนี้ ซึ่งผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่เกิดขึ้นภายใต้โปรเจ็กต์ Banksy x Love Welcomes ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือการอพยพและตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยหญิง
โดยดีไซน์ของพรมและคอนเซ็ปต์ถูกออกแบบโดย ‘Banksy’ ด้านการผลิตนั้น พรมทุกผืนเป็นฝีมือการเย็บมือโดยผู้ลี้ภัยหญิงที่ได้รับเงินค่าจ้างให้มาผลิตพรมผืนนี้ จึงทำให้พรมทุกผืนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นชิ้นเดียวในโลก โดยเศษผ้าจากชุดชูชีพสีส้มที่นำมาใช้เย็บนี้เป็นเสื้อชูชีพที่พบอยู่บนชายหาดประเทศกรีซ ที่ถูกทิ้งไว้หลังผู้ลี้ภัยอพยพขึ้นฝั่งได้สำเร็จ
- 3. ‘Banksy’ เปลี่ยนห้องน้ำให้กลายเป็นงานศิลปะ
ในระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ‘Banksy' ได้โพสต์ภาพห้องน้ำที่เป็นงานศิลปะที่มีการวาดภาพหนู 9 ตัวบนจุดต่าง ๆ ในห้องน้ำ แฝงไว้ด้วยความตลกขบขัน ทั้งหนูแสนซนที่เล่นซนกับสิ่งของในห้องน้ำ และหนูที่กำลังนับวันที่ต้องล็อกดาวน์
นอกจากนี้ความน่ารักของงานชิ้นนี้ก็คือ caption ของภาพนี้ที่ ‘Banksy’ พิมพ์ไว้ว่า “My wife hates it when I work from home.” ข้อความที่เขาบรรยายไว้ใน instagram เขียนไว้อยู่บนกำแพงห้องน้ำของเขา ที่ทำให้ใครต่อใครต้องอมยิ้ม
รวมถึงความสนุกของงานศิลปะชิ้นนี้ที่ผสมผสานกับศิลปะการจัดวางจากอุปกรณ์เครื่องใช้ในห้องน้ำ เป็นภาพศิลปะ 2 มิติกับ 3 มิติ ผสมผสานกัน ทำให้กลายเป็นงานศิลปะที่ฮือฮาในช่วงโควิด-19 ได้
เพราะขนาด 'Banksy' เอง ยังต้อง Work From Home ทำงานในบ้านของตัวเอง ซึ่งในนิทรรศการนี้ก็มีการจำลองงาน เหมือนยกห้องน้ำของ ‘Banksy’ มาไว้ในนิทรรศการเลยทีเดียว
- 4. ชวนพิศวงกับผลงานชิ้นยักษ์ ‘Banksy’
“Dismaland” เป็นงานนิทรรศการชั่วคราวที่จัดขึ้น ณ ที่พักริมหาดในเมืองเวสตันซุปเปอร์แมร์ (Weston-super-Mare) ในเขตซัมเมอร์เซ็ต (Somerset) ประเทศอังกฤษ โครงการนี้ถูกจัดเตรียมอย่างเป็นความลับ ณ ทรอปิคานา (Tropicana) สถานที่พักผ่อนที่ถูกปล่อยให้รกร้าง
และดัดแปลงให้กลายเป็นด้านที่ชั่วร้ายของดิสนีย์แลนด์ ที่เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558 และปิดตัวลงในอีก 36 วันต่อมา โดยนิทรรศการนี้ผู้ชมถึง 150,000 คน เขาเรียกมันว่า สวนสนุกสำหรับครอบครัวที่ไม่เหมาะสำหรับเด็ก
การตกแต่งของ “สวนสยอง” แห่งนี้ ‘Banksy’ สร้างผลงานใหม่นับสิบชิ้นและก่อสร้างนิทรรศการด้วยเงินทุนของเขาเอง และมีศิลปินร่วมด้วยกว่า 58 ชีวิตจากทั้งหมด 60 ศิลปินที่ ‘Banksy’ เชิญมาร่วมงาน
ต่อมาอาคารเหล่านั้นได้รับการตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนัง และอีกผลงานอันเลื่องลือที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กับนิทรรศการที่จัดขึ้นในโรงแรมในรัฐปาเลสไตน์ ชื่อ “The Walled Off Hotel” โรงแรมดังกล่าวถูกตกแต่งด้วยผลงานที่แสดงถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐปาเลสไตน์และประเทศอิสราเอล
ต่อมาได้กลายมาเป็นผลงานจัดวางที่เป็นที่รู้จักของ ‘Banksy’ และแสดงถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ที่ประเทศอังกฤษมีในการรุกรานครั้งนี้ ซึ่งนิทรรศการ The Art of Banksy: “Without Limits” ก็มีการนำชิ้นส่วนที่เป็นของที่ระลึกจากนิทรรศการโรงแรมนี้มาจัดแสดงด้วย
- 5. ห้องแห่งห้วงความคิดของ ‘Banksy’ ใน “Infinity Room”
ห้องที่ต้องยกให้เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของนิทรรศการนี้ เพราะเป็นห้องที่ใช้เทคนิคกระจกสะท้อนทุกด้าน โดยใช้เทคนิค Video Installation การฉายภาพผลงานของ ‘Banksy’ รวมกว่าร้อยผลงานบนกระจก ทำให้ได้เห็นผลงานของ ‘Banksy’ แบบ 360 องศา ให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจกับการชมงานของ ‘Banksy’ ในประสบการณ์ใหม่
และหลังจากเดินชมเดินดูงานของ ‘Banksy’ อย่างจุใจแล้ว ห้องนี้จะเป็นห้องที่ทำให้คุณรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในความคิดของ ‘Banksy’ และยังเป็นอีกหนึ่งมุมโปรดที่ผู้ชมชอบเข้ามาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเช็กอินในห้องนี้อีกด้วย
เพื่อขยายโอกาสให้คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้แนวคิดสะท้อนสังคม ผ่านผลงานศิลปะของ ‘Banksy’ สตรีทอาร์ตนิรนามผู้โด่งดังในวงการกราฟิตี้ในระดับโลก ซึ่งนิทรรศการนี้ได้รวบรวมผลงานทั้งผลงานจริงของ ‘Banksy’ จากนักสะสมและผลงานที่นำผลงานบางส่วนของ ‘Banksy’ มาทำซ้ำด้วยเทคนิคภาพพิมพ์สเตนซิล (Stencil) หรือ การฉลุลาย ไว้กว่า 150 ชิ้น
หลากหลายเรื่องราวที่รอให้ผู้ชมได้มาตีความและตั้งคำถามกับงานศิลปะในนิทรรศการ The Art of Banksy : “Without Limits” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ - 12 กุมภาพันธ์ 2565 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK)
ซื้อบัตรเข้าชมทาง Zipevent https://bit.ly/3f7EDgi และจุดขายบัตรพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK)