ศิลปิน “จักกาย ศิริบุตร” นำผลงานชิ้นใหม่ Mask แสดงในเทศกาลศิลปะสิงคโปร์
“จักกาย ศิริบุตร” ศิลปินไทยผู้มักหยิบยกประเด็นความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในประเทศไทยและอุษาคเนย์มาตีความผ่านงานศิลปะเชิงสิ่งทอ นำผลงานชิ้นใหม่ “Mask” ร่วมแสดงในงาน Art SG 2023 ประเทศสิงคโปร์
ศิลปินไทย จักกาย ศิริบุตร ได้รับเชิญเป็น 1 ใน 6 ศิลปินชาวเอเชียผ่าน Flowers Gallery ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอผลงานศิลปะในหมวดของศิลปินชาวเอเชียในงาน Art SG 2023 ณ มารีนา เบย์ แซนด์ (บู้ท 1E06) ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 12-15 ม.ค.2566
6 ศิลปินชาวเอเชียที่ได้ร่วมแสดงงานศิลปะในงาน Art SG 2023 นำโดย โมวานา เฉิน (Movana Chen), จอยซ์ โฮ (Joyce Ho), หวู่ เจียหรือ (Wu Jiaru), โทโมนะ มัตสึคาวะ (Tomona Matsukawa), จักกาย ศิริบุตร (Jakkai Siributr) และ ไอดา โทเมสคู (Aida Tomescu)
ในงาน Art SG 2023 "โมวานา เฉิน" ศิลปินชาวฮ่องกง นำเสนองานศิลปะแบบพหุศาสตร์ของ เน้นย้ำลงไปในการสำรวจเรื่องการสื่อสารที่ครอบคลุมความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยงาน Words of Heartbeats VI (2563-2564) คือผลงานภาคต่อของเธอ ผ่านการสื่อสารข้อมูลที่เรียงร้อยขึ้นมาจากแผนที่และพจนานุกรมเก่า
ผลงาน Mask (2022) ขนาด 240 x 230 เซนติเมตร
เชื่อมโยงและเล่าเรื่องต่อด้วยผลงานของ จักกาย ศิริบุตร ศิลปินไทย ผู้มักหยิบยกประเด็นความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในประเทศไทยและอุษาคเนย์ และอิทธิพลมาจากศิลปะร่วมสมัย ประเด็นประวัติศาสตร์สังคมในประเทศไทย มาตีความผ่านงาน "ศิลปะเชิงสิ่งทอ" ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง
ผลงานใหม่ของเขาครั้งนี้ชื่อ Mask (2022) เกิดขึ้นจากการนำเสื้อแจ็คเก็ตของนักสังคมสงเคราะห์ มาตัดเย็บใหม่กลายเป็นหน้ากาก
จักกาย ศิริบุตร (credit : BAB2018)
จักกาย ศิริบุตร (เกิด 2512) เกิดและทำงานในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ได้รับการศึกษาสาขาศิลปะและออกแบบสิ่งทอที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา Bloomington สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทสาขาการออกแบบสิ่งทอและสิ่งพิมพ์จากมหาวิทยาลัยฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา
ผลงานนิทรรศการที่เป็นที่รู้จักของเขา ได้แก่
- Exploring the Cosmos: The Stupa as a Buddhist Symbol จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียสิงคโปร์ (2556)
- Phantoms of Asia: Contemporary Awakens the Past จัดที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
- Link Tradition and Future (2555) และ Chongqing Biennale for Young Artists ครั้งที่ 2 พิพิธภัณฑ์ศิลปะของสถาบันวิจิตรศิลป์เสฉวน นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (2554)
นอกจากนี้ ผลงานของ "จักกาย ศิริบุตร" ยังได้รับการจัดแสดงและรวมอยู่ในคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งชาติไต้หวัน, Asian Art Museum ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา, มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา, มูลนิธิ Vehbi Koc อิสตันบูล ประเทศตุรกี และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ และเมืองแคนเบอร์รี่ ประเทศออสเตรเลีย
The open wounds of white clouds ขนาด 200 x 306 เซนติเมตร
ศิลปินคนต่อมา “ไอดา โทเมสคู” ผู้มีชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะหนึ่งในคนที่เป็นผู้นำวงการศิลปะร่วมสมัยของออสเตรเลีย นำเสนอผลงาน The open wounds of white clouds (2562) บ่งบอกตัวตนผ่านการใช้สีขาว สีแดงแคดเมียม สีม่วงมาเจนต้า สีม่วงโคบอลต์ สาดลงไปบนผืนผ้าใบลินินเบลเยียมขนาดใหญ่ สร้างสรรค์เป็นผลงานที่ดูยุ่งเหยิงและบ่อยครั้งที่เกิดเป็นพื้นผิวประหลาดแต่เต็มไปด้วยความน่าสนใจ
สำหรับผลงานศิลปะของศิลปินชาวฮ่องกงอีกคน “หวู่ เจียหรือ” คือสังเกตการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะฮ่องกง ควบคู่ไปกับคำถามว่าด้วยเรื่องตัวตนและความเป็นเจ้าของ ผ่านการมองย้อนกลับไปในความทรงจำของบุคคล และศิลปะในการปรับตัวของฮ่องกง
20200412 ผลงานของ "จอยซ์ โฮ"
ศิลปินหญิงชาวไต้หวัน "จอยซ์ โฮ" สร้างสรรค์งานประติมากรรมสื่อผสม (Mixed-media Sculpture) เธอให้ชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า 20200412 (ค.ศ.2020) ขนาด 27 x 23 x 23 เซนติเมตร และขนาด 10.58 x 9 x 9 นิ้ว
โฮ พูดถึงงานชิ้นนี้ว่า คือ "เศษเสี้ยววังวนของทุกวัน" ที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างมนุษย์ และ ความเป็นจริง
จอยซ์ โฮ อายุ 40 ปี เกิดและทำงานที่ไต้หวัน สำเร็จการศึกษาหลักสูตร M.A. สาขา Studio Arts จาก University of Iowa ผลงานศิลปะแบบพหุศาสตร์ของเธอ เจาะจงไปที่ภาพจิตรกรรม งานปั้น และละครเวที
โฮยังทำงานด้านเขียนบทและกำกับการแสดงละครเวที ใช้ความหลากหลายเป็นตัวแสดงผลงาน ผ่านภาพจิตกรรม วิดีโอ ไปถึงงานศิลปะจัดวาง
ความเข้มข้นของการใช้แสงและเงา คอนเซปต์ของงานศิลปะ มีเป้าหมายเพื่อรวบรวมการเคลื่อนไหวที่ไม่ตายตัว
ขณะที่เศษเสี้ยวในฉากของชีวิตประจำวัน เช่น ความอุตสาหะของศิลปิน ไม่ว่าจะในจิตรกรรม ศิลปะจัดวาง หรือวิดีโอ เพื่อส่งผ่านความคุ้นเคยหรือไม่ก็ความตึงเครียดระหว่างมนุษย์กับความเป็นจริง ความตึงเครียดที่เป็นเอกลักษณ์จะช่วยกระตุ้นผู้ชมเกิดความรู้สึกหลงใหลและดึงดูดให้เข้ามาชมภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายทอดห้วงเวลาหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างวัน ผ่านผลงานภาพ Lanscape หรือ ผ่านทางพิธีกรรม
Words of Heartbeats VI ขนาด 250 x 110 เซนติเมตร ของ "โมวานา เฉิน"