‘บางกอกไพรด์ 2023’ (Pride Month)สีสันขบวนพาเหรดและเส้นทางการเดินทางง่ายๆ
งาน “บางกอกไพรด์ 2023” ทั้งเรื่องสีสันขบวนพาเหรด 6 ขบวน วงเกย์คอรัส และเส้นทางการเดินทาง(ท้ายเรื่อง) เพื่อฉลอง Pride Month
นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองในกิจกรรมบางกอกนฤมิตไพรด์ (Bangkok Naruemit Pride 2022) ครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ย่านสีลม จนเป็นที่รู้กันดีว่า Pride Month จัดในเดือนมิถุนายนของทุกปี
ในปีนี้ งาน “บางกอกไพรด์ 2023” มีความพร้อมในการจัดงานมากขึ้น ทั้งเรื่องสีสันขบวนพาเหรด งานศิลปะ และวงเสวนาที่อยากให้คนไทยเข้าใจว่า มนุษย์มีความหลากหลายเท่าเทียมกัน
ทีเด็ดปีนี้น่าจะอยู่ที่กิจกรรมการเดินพาเหรดไพรด์ ที่เป็นมิตรกับคนทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงความใส่ใจในผู้พิการ ขบวนเริ่มตั้งแต่บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ จัดวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 14:00 - 20:00 น.
ในวันนั้นธงสีรุ้งยาวที่สุดในประเทศไทยจะโบกสะบัดเพื่อประกาศชัดถึงความเท่าเทียมกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งไฮไลท์กิจกรรมงานตลอดเส้นทางพิเศษกว่าทุกปี ครั้งแรกที่จะมีเวทีฉลองความหลากหลายทางเพศหรือ Pride Stage บริเวณหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์
ขบวนพาเหรดบางกอกไพรด์
ขบวน 1 “ชุมชน COMMUNITY”
(Gender X เพศเรา เราเลือกเอง)
ยืนหยัดในความต้องการด้านสิทธิการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศที่รวมไปถึงกลุ่ม Intersex Trans และ Non-binary ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
ขบวน 2 “เจตจำนง PURPOSE”
(My Body my Choice ร่างกายเรา สิทธิเรา)
เจตจำนงคงมั่นในการรณรงค์ให้ยกเลิกพ.ร.บ ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีเพื่อคืนสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพให้กับพนักงานบริการและ Sex Creator รวมถึงการสนับสนุนเซ็กซ์ทอย (Sexual Wellness Product) ให้ถูกกฏหมาย สนับสนุนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและConsent ในโรงเรียน รวมถึงการรณรงค์สิทธิในเนื้อตัวร่างกายเพื่อยุติวัฒนธรรมการข่มขืนและความรุนแรงในครอบครัว
ขบวน 3 “ความสัมพันธ์ RELATIONSHIP”
(Chosen Family)
ยืนยันอย่างชัดเจนในการรณรงค์ให้สังคมเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายของคำนิยามความสัมพันธ์และครอบครัว เพื่อนำไปสู่การรับรองสิทธิการต่อตั้งครอบครัวในกฏหมายสมรสเท่าเทียมและรัฐธรรมนูญ
ขบวน 4 “สิ่งแวดล้อม ENVIRONMENT”
(Peace & Earth รักษ์โลก รักสันติภาพ)
มุ่งหมายในการรณรงค์เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของโลกและทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออนาคตที่เท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกคน การรักษาความความหลากหลายคือทางรอด เพศหลากหลายก็เป็นส่วนหนึ่งและเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมา
ขบวน 5 “สุขภาพ HEALTH”
(Equal Rights to Health ทุกเพศเข้าถึงบริการทางการแพทย์เท่าเทียม)
มุ่งหวังและต้องการรณรงค์สิทธิในการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์สำหรับทุกเพศและเรียกร้องสวัสดิการการยืนยันเพศ (gender-affirmimg care) สำหรับบุคคลข้ามเพศ
ขบวน 6 “ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต SECURITY”
(I AM HOME ความปลอดภัยในชีวิตของ LGBT+)
โอบกอดและยืนยันถึงสิทธิในการที่มีความปลอดภัยในชีวิตของ LGBTQIAN+ ผ่านการสนับสนุนและอำนวยความสงบสันติจากทุกภาคส่วน รวมถึงเสรีภาพในการแสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณของแต่ละบุคคล รณรงค์ให้มีการเปิดกว้างทางศาสนาสำหรับทุกเพศ
วงเกย์คอรัสขอร่วมสนุก
การแสดงของวงเกย์คอรัสวงแรกของไทยในงาน Bangkok Pride 2023 คณะประสานเสียงเกย์แห่งกรุงเทพฯ 30 ชีวิตจัดแสดงวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่บ่ายจนถึงค่ำ ณ เวทีสยามเซ็นเตอร์
การแสดงสดครั้งนี้ นำโดย วุฒิพันธุ์ พงษ์ธนเลิศ ผู้ฝึกสอนและวาทยกร BKGMC ต้องการสื่อสารบทเพลงไปยังกลุ่มผู้ฟังให้สัมผัสถึงความสามัคคีและความภาคภูมิใจ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ผ่านการแสดง “เพราะเราคือส่วนหนึ่งของโลก”
วิทยา แสงอรุณ ผู้ก่อตั้ง BKGMC กล่าวว่า คณะประสานเสียงเกย์แห่งกรุงเทพฯ เป็นวงเกย์คอรัสแรกของประเทศไทยที่อุทิศตน เพื่อเผยแพร่ความรัก การยอมรับ และความสามัคคีผ่านพลังของดนตรี
วงเกย์คอรัสนี้ได้รวบรวมนักร้องมากความสามารถจากหลากหลายภูมิหลัง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่ม LGBTQ+ และความเสมอภาคผ่านการแสดงด้วยเสียงเพลง และหวังว่าจะเป็น Soft Power ในการขับเคลื่อนประเทศไทยผ่าน Pride-Pop (Pride popular music) ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกลุ่ม Pride ทั่วโลกได้
บางกอก ไพรด์ 2023 พบกันวันที่ 4 มิถุนายนนี้ ตั้งขบวนหน้าลานหอศิปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ (BACC) บ่ายสองโมงเป็นต้นไป เตรียมตัวพร้อมเดินขบวนจากแยกปทุมวัน มุ่งหน้าสู่แยกราชประสงค์
ดูแผนที่ได้ที่ https://bangkokpride.org/map/
..........
#BangkokPride2023