ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ทรงสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ ‘หลากลาย หลายชีวิต’ ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รับการถวายพระสมัญญา ‘สิริศิลปิน’

4 กรกฎาคม เมื่อ 66 ปีก่อน เป็นอีกหนึ่งวันมหามงคลสำหรับปวงชนชาวไทย เนื่องจากเป็นวันประสูติ ศาสตราจารย์ พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กใน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงเป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงพระเยาว์

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต พระนามเดิมเมื่อแรกประสูติคือ 'สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี'

ทั้งนี้ พระนาม “จุฬาภรณ์” คือการอัญเชิญพระนาม “จุฬา” ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5) มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์

เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9’ เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ ตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเยี่ยมลูกเสือชาวบ้านและราษฎร ณ กองบังคับการพลเรือนตำรวจทหารที่ ๑๖๑๗ อ.หล่มเก่า, 12 มี.ค.2519
 

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป

อย่างไรก็ดี ที่สุดทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย สมดังที่ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ ทรงเคยรับสั่งว่าทรงโปรดให้โอรสธิดาทั้ง 4 ศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ กัน 

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ ทรงออกหน่วยแพทย์พระราชทานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ณ อ.สัตหีบ 20 เม.ย.2565

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย จึงทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทรงได้รับรางวัลเรียนดีตลอดระยะเวลา 4 ปีการศึกษา และทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1

เนื่องจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยคะแนนยอดเยี่ยม เมื่อมีพระดำริถึงการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา ‘มหาวิทยาลัยมหิดล’ จึงอนุมัติให้ทรงเข้าศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตได้โดยไม่ต้องผ่านมหาบัณฑิตก่อน 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเรียนเก่ง ทรงศึกษาด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ใฝ่พระทัยในการศึกษาเล่าเรียนเป็นที่ยิ่ง ทั้งที่มีพระราชกิจในฐานะสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ก็ยังเสด็จพระดำเนินไปทรงพระอักษรร่วมกับพระสหายในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทรงงานในห้องแล็บด้วยพระองค์เองอย่างไม่ทรงท้อถอย แม้จะทรงแพ้สารเคมีก็ตาม 

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ ทรงเข้าร่วมประชุมหารือกับผู้เชี่ยวชาญระดับสูงขององค์การอนามัยโลก ภายใต้กรอบความร่วมมือการป้องกันการติดเชื้อจากโรคพิษสุนัขบ้า (28 ส.ค.2560)
 

หลังจากทรงได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงตัดสินพระทัยศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์อีกหลายแขนง

เพื่อนำความรู้และวิทยาการมาพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขอนามัยให้คนไทยและเพื่อนมนุษย์ รวมทั้งเพิ่มพูนความสามารถบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขไทย ตลอดจนสนับสนุนการศึกษาวิจัยต่างๆ

ทรงเริ่มก่อตั้ง กองทุนจุฬาภรณ์, มูลนิธิจุฬาภรณ์ และทรงก่อตั้ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2530 ตามมาด้วย โรงพยาบาลจุฬาภรณ์, สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
 

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ กับภาพวาดฝีพระหัตถ์

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงงานสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อบำบัดทุกข์ผู้อื่นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 40 ปี แต่ก็ไม่เคยทรงลืมวิชาศิลปะที่ทรงรักและชื่นชอบ

เมื่อทรงว่างเว้นจากพระกรณียกิจ จึงเลือกที่จะผ่อนคลายพระองค์ด้วยการ ทรงงานศิลปะ เริ่มจากการทรงวาดภาพธรรมชาติและดอกไม้นานาพันธุ์ที่อยู่รายรอบ อาทิ ดอกบัว กุหลาบ ผีเสื้อ

จากนั้น ทรงส่งต่อความสุขโดยการนำลวดลายต่างๆ ที่ได้จาก ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ไปต่อยอดผลิตเป็นผ้าพันคอ เสื้อโปโล ฯลฯ เพื่อหารายได้ช่วยเหลือผู้ยากไร้และด้อยโอกาส

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ

ภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์ มีแนวคิดสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์ พระองค์ทรงบูรณาการศาสตร์หลายแขนงเข้าไปในชิ้นงาน โดยใช้ลวดลายสูตรเคมี คณิตศาสตร์ และสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์

จากการที่ทรงมีพระสมาธิในการวาดภาพติดต่อกันหลายชั่วโมง เป็นเหตุให้ 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์' ทรงสังเกตเห็น และได้กราบบังคมทูลว่า “น่าจะได้ทรงเรียนเขียนลายไทยด้วย” เพื่อนำลายไทยและความเป็นไทยแต่งแต้มจัดวางไว้ใน ภาพวาดฝีพระหัตถ์ และเครื่องประดับที่ทรงออกแบบ

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ จึงทรงเริ่มเรียนการวาดลายเส้นจิตรกรรมไทย โดยคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ขอพระราชทานพระอนุญาตให้ นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เป็นพระอาจารย์ถวายการสอน 

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ 

จากการทรงเรียนวาดลายเส้นจิตรกรรมไทยในครั้งนั้น เป็นแรงบันดาลพระทัยให้ทรงอยากศึกษาการวาดภาพอย่างจริงจัง จึงทรงมีพระประสงค์ที่จะทรงศึกษาตามระบบของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ เช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป 

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงสมัครเรียนแบบออนไลน์และกรอกเอกสารการสมัครเรียน พร้อมกับแนบ Portfolio ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์รูปเสือ เสนอคณะกรรมการหลักสูตรฯ พิจารณาเช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป 

ทรงมีพระนามปรากฏอยู่ในทะเบียนรายชื่อนักศึกษา ปีการศึกษา 1/2560  เลขที่1 รหัสประจำตัว 60007806 ร่วมกับพระสหายร่วมรุ่น 5 คน ใน หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ 

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงปฏิบัติพระองค์เฉกเช่นนักศึกษาปกติทั่วไปตลอดระยะเวลา 3 ปีของปีการศึกษา ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ความมุ่งมั่นต่อการเรียน ทรงไม่ย่อท้อ แม้จะมีพระภารกิจมากมายนานัปการ

รวมไปถึงอุปสรรคต่าง ๆ และพระสุขภาพของพระองค์เอง ก็ยังทรงเขียนรูปตลอดเวลาระหว่างการเรียนการสอนทั้งที่คณะจิตรกรรมฯ และพระตำหนักฯ  ทรงนำผลงานจำนวนมากเสนอให้คณาจารย์ผู้ถวายการสอนได้แนะนำและวิจารณ์ทุกครั้ง 

ด้วยความตั้งพระทัยกอปรกับพระวิริยะอุตสาหะนี้เอง เป็นสิ่งที่คณาจารย์ผู้ถวายการสอนมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ครั้งแรก ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถ.ราชดำเนินกลาง

นอกจากนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ  ยังทรงนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้วยพระองค์เอง รวมทั้งจัดนิทรรศการเผยแพร่แก่สาธารณชนจำนวน 2 ครั้ง ตามกฎการทำวิทยานิพนธ์และกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด

พระองค์ทรงนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ครั้งแรกในชุด หลากลาย หลายชีวิต (Various Pattern; Diversity of Life) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2561 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถ.ราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ

ภาดวาดฝีพระหัตถ์ชุดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางอัตลักษณ์ หลากหลายทฤษฏี หลากหลายกลวิธีของมนุษย์ที่สามารถอยู่รวมด้วยกันได้ 

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์

 วิทยานิพนธ์ หลากลาย หลายชีวิต (Various Pattern; Diversity of Life)

ทรงใช้สัญลักษณ์สื่อความหมายการแสดงออกจากสิ่งที่ทรงมีความประทับใจ นั่นคือ เจ้าป่า อันสื่อความหมายถึง สมเด็จพระราชบิดา (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) 

โดยแสดงแนวความคิดเกี่ยวกับ ‘เสือเจ้าป่า’ เปรียบเสมือนราชา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ผ่านการสร้างสรรค์ที่ทรงถ่ายทอดผ่านปลายปากกาเป็นรูปลักษณ์ของเสือท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันตามเรื่องราวและเนื้อหาในแต่ละภาพ อาทิ เป็นเสือที่ใจดี มีเมตตา เพียรสอนสั่งและกระทำสิ่งดีงามต่อผู้อื่น เป็นเสือที่มีแต่ความรักและความปรารถนาดีต่อทุกคน

รูปแบบการแสดงออกทางศิลปะในผลงานชุดนี้ ทรงบูรณาการศาสตร์แขนงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการแพทย์ และการแพทย์ ฯลฯ 

โดยทรงนำลวดลายสัญลักษณ์สูตรเคมี รูปทรงโมเลกุล การประกอบของตัวพันธะเคมีในโมเลกุล ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น ตัวเลข รูปหัวใจ ดอกไม้ และทิวทัศน์ธรรมชาติเข้ามาอยู่ในผลงาน 

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ ผลงานส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์

รวมถึง “นกฮูก” และ “สัตว์ปีกต่าง ๆ” ร่วมถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ผ่านรูปทรง ความหมาย เรื่องราว และความเป็นตัวตนของสรรพสิ่งในบริบทรอบข้าง ทรงส่งต่อความฝันและความรู้สึกนั้น ๆ ไปยังประชาชนชาวไทย รวมไปถึงผู้คนบนโลกนี้ 

เรียกงานศิลปะลักษณะนี้ว่า ศิลปะนาอีฟ  (Naïve Art) หรือศิลปะที่ซื่อตรงและบริสุทธิ์ ดังพระดำรัสเกี่ยวกับงานศิลปะตอนหนึ่งว่า... 

“งานศิลปะทำให้ข้าพเจ้ามีความสุข ข้าพเจ้าจึงอยากแบ่งปันความสุขให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย”  

ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ชุดนี้ ยังใช้เทคนิควิธีการสร้างสรรค์งานด้วย สีโคปิค (Copic) สีวิทยาศาสตร์สำเร็จรูปชนิดหัวแหลม ไม่มีพิษ ไม่มีกลิ่น และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ การจัดแสดงนิทรรศการวิทยานิพนธ์ครั้งที่ 2

สำหรับ หัวข้อวิทยานิพนธ์ครั้งที่ 2 ทรงโปรดให้จัดนิทรรศการวิทยานิพนธ์เพื่อการสอบจบภาคการศึกษา ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงนำเสนอวิทยานิพนธ์และทรงสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ครั้งสุดท้ายเพื่อจบการศึกษานี้

เป็นการสอบปากเปล่าประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งมีคณะกรรมการสอบ ได้แก่ ประธานหลักสูตร อาจารย์ที่ปรึกษา กรรมการประจำหลักสูตรเป็นผู้สอบ

หลังจากเสร็จสิ้น คณะกรรมการสอบได้ลงมติให้ การสอบครั้งนี้  “ผ่าน” เป็นเอกฉันท์ ในคะแนนระดับ “ดีมาก”

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงสําเร็จการศึกษาหลักสูตร ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2563 แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพเชิงสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์

กระทรวงวัฒนธรรม โดยคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย จึงมีมติถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” มีความหมายว่า “ศิลปินผู้ทรงสร้างสรรค์งานศิลปะงดงามหลากหลายแขนง อันเป็นศรี เป็นมิ่งขวัญ และเป็นมงคลยิ่ง” แด่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ด้วยประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถที่เป็นเลิศในการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายสาขา ทั้งงานทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี และ งานออกแบบสร้างสรรค์ 

ทรงใช้มิติของศิลปะเป็นสื่อในการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนําไปต่อยอดหารายได้สมทบทุนมูลนิธิในพระดําริ เช่น มูลนิธิจุฬาภรณ์ มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ และมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่ง ในพระอุปถัมภ์ฯ พสกนิกรต่างแซ่ซ้องสรรเสริญ และสํานึกในพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ เส้นทางพระอัจฉริยภาพศิลปะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทัศนศิลป์ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 รับทราบการถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” แด่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อน้อมสํานึกในพระกรุณาธิคุณที่มีต่อวงการศิลปะร่วมสมัย และเผยแพร่พระเกียรติคุณให้ปรากฏสืบไป ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 66 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2566

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

 

credit photo : 

  • ศูนย์ภาพเนชั่น
  • เฟซบุ๊ก/คนไทยรักฟ้าหญิงจุฬาภรณ์
  • เฟซบุ๊ก/เรารักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
  • World Health Organization