ครั้งแรกของโลก เผยภาพชีวิตในสงครามยูเครน ถ่ายภาพโดย James Nachtwey

เปิดภาพถ่ายชีวิตผู้คนในสงครามยูเครนสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกของโลก ผลงานการถ่ายภาพโดย James Nachtwey ช่างภาพสารคดีสงครามชื่อดัง ในนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria เลือกกรุงเทพฯ เป็นเมืองเปิดนิทรรศการที่แรก
นับตั้งแต่ประเทศ ยูเครน (Ukraine) ถูกกองทัพรัสเซียประกาศสงครามและเปิดฉากรุกรานเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 (ค.ศ.2022) เราก็ได้เห็นภาพการเคลื่อนไหวออกมาให้สัมภาษณ์สื่อของ ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) แห่ง ยูเครน และ ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ตอบโต้กันไปมา
รวมทั้งลำดับความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบที่มีการใช้อาวุธหนักอานุภาพทำลายล้างสูง
เราได้รับรู้รับฟังจากข่าวต่างประเทศเรื่องการบุกด้วยกองกำลังทหาร การโจมตี ภาพการยิงจรวดจากระยะไกล การใช้รถถัง การโต้กลับ การถอยทัพ
แต่นี่เป็นครั้งแรกที่รายละเอียดชีวิตพลเรือน ความสูญเสีย ความโหดร้าย ความบ้าคลั่ง ความวิกลจริตที่มากับภาวะ สงครามในยูเครน ได้รับการถ่ายทอดผ่าน ภาพถ่าย โดยช่างภาพสารคดีสงครามชื่อดังของโลก มร.เจมส์ นาคท์เวย์ อายุ 75 ปี ซึ่งผ่านสมรภูมิรบทั่วโลกรวมกว่า 42 ปี รวมทั้ง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
มร.เจมส์นำภาพถ่ายชุด สงครามในยูเครน หรือ War in Ukraine ร่วมจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ James Nachtwey : Memoria ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ
นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายของเขาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งเป็น ครั้งแรกของโลกที่มีการเปิดเผยภาพชีวิตในสงครามยูเครน จากผลงานการถ่ายภาพของเขา
ภาพที่ เจมส์ นาคท์เวย์ บันทึกได้ มีตั้งแต่ช่วงเวลาที่ยูเครนทำสะพานเชื่อมกรุงเคียฟกับเขตปริมณฑลทางเหนือที่เมือง อีร์ปิญ (Irpen) เพื่อสกัดทางไม่ให้ทัพรัสเซียรุกคืบเข้าสู่เมืองหลวง ผู้อาศัยในบริเวณนั้นต้องหลบหนีออกมาทางสะพานคนเดินโดยมีอาสาสมัครท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือ (ภาพที่ 1)
ต่อมารัสเซียเปิดฉากรุกรานเต็มรูปแบบด้วยการใช้อาวุธสงครามโจมตีเขตพลเรือน สร้างความตื่นตกใจให้กับชาวเมืองต้องเก็บข้าวของเท่าที่นำไปได้หนีออกจากเมือง และสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้าง ในเวลาต่อมา
เจมส์บันทึกภาพชายคนหนึ่งในเมืองคาร์คีฟ (Kharkiv) ที่กำลังหนีพร้อมสัมภาระเท่าที่ขนใส่จักรยานได้ ขณะที่กองกำลังรัสเซียยิงจรวดโจมตีเขตพลเรือน (ภาพที่ 2)
ขณะที่ฝั่งรัสเซียระดมยิงจรวดเข้าใส่เขตพลเรือนในเมืองคาร์คีฟ หน่วยกู้ภัยก็รีบเร่งเก็บศพผู้เสียชีวิตออกจากพื้นถนน ทำงานแข่งกับเวลาและความเร็วของจรวด (ภาพที่ 3)
เมื่อจำเป็นต้องหนีเอาชีวิตรอด นี่คือภาพดวงตาที่ยากจะบรรยายความรู้สึก เป็นภาพที่เจมส์บันทึกได้นอกกรุงเคียฟ เขาบรรยายเกี่ยวกับภาพนี้ (ภาพที่ 4) ไว้ว่า
“เหล่าพลเรือนอพยพหนีจากการรุกรานเข้ากรุงเคียฟของรัสเซีย เดินทางด้วยรถบัสออกนอกพื้นที่รบ โดยมีกลุ่มเอ็นจีโอและอาสาสมัครยูเครนคอยช่วยเหลือ”
รวมทั้งภาพชายแก่คนหนึ่งล้มทรุดลงเมื่อข้ามมาถึงอีกฟากของซากสะพานได้สำเร็จ และ ได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัครในท้องที่ (ภาพที่ 5) ชายชราผู้นี้เป็นหนึ่งในประชาชนที่หนีจากการโจมตีกรุงเคียฟโดยทหารรัสเซีย
ในส่วนของความสูญเสีย เจมส์ นาคท์เวย์ ถ่ายทอดด้วยภาพที่บันทึกได้ช่วงที่ทหารรัสเซียถอยทัพออกจากเขตชานเมืองตอนเหนือของกรุงเคียฟ ได้สังหารพลเรือนไปราว 400 คน
หนึ่งในภาพสะเทือนใจ คือภาพที่สวนหลังบ้านของหญิงคนหนึ่งในเมืองบุชา (Bucha) ซึ่งพบว่าสามี (ด้านหน้า) น้องชาย (ด้านหลัง) และเพื่อนบ้าน ถูกยิงเข้าศีรษะในระยะเผาขน (ภาพที่ 6)
ตลอดการรุกราน รัสเซียได้ทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือนและอพาร์ตเมนต์ของพลเรือนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ที่ไม่ใช่นักรบหลายพันคนเสียชีวิต บาดเจ็บ และไม่มีที่อยู่อาศัย (ภาพที่ 6)
นิทรรศการ James Nachtwey : Memoria รวมผลงานภาพถ่ายสงครามและภัยพิบัติตลอดชีวิตการทำงานเป็นช่างภาพข่าวและสงครามกว่า 42 ปี ของ เจมส์ นาคท์เวย์ จำนวน 126 ภาพ จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 กันยายน - 26 พฤศจิกายน 2566 (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เข้าชมฟรี