"กษัตริย์ของราษฎร" นิทรรศการภาพถ่ายน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ร.9

เพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคตในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นวันแห่งการร่วมรำลึกและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เหล่าศิลปินหลากหลายสาขาร่วมกันจัดแสดงผลงานในนิทรรศการภาพถ่าย “กษัตริย์ของราษฎร” The King loves Thais ระหว่างวันที่ 13-31 ตุลาคม 2566 ณ บริเวณชั้น 2 และ 3 โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
นิทรรศการภาพถ่าย “กษัตริย์ของราษฎร”The King loves Thais เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง ศิริราชร่วมกับมูลนิธิ เก้า ยั่งยืนเพื่อรำลึกและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันนวมินทรมหาราช ในรูปแบบการแสดงคุณค่าของงานศิลปะจากภาพถ่าย ภาพจิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี และบทกวี โดยมีศิลปินแห่งชาติ ศิลปินกิตติมศักดิ์ อาทิ
ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี อัญชลี วานิช เทพบุตร อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม-สื่อผสม) พุทธศักราช 2563 วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (การภาพถ่าย) พุทธศักราช 2552 ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) พุทธศักราช 2558 ไพบูลย์ มุสิกโปดก ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่ายศิลปะ) ประจำปีพุทธศักราช 2547 พร้อมด้วยศิลปินอิสระ ช่างภาพสื่อมวลชน ช่างภาพจิตอาสาและประชาชน ส่งผลงานมากกว่า 1,000 ผลงานมาจัดแสดงในนิทรรศการดังกล่าว
"นิทรรศการครั้งนี้นำภาพชุด ณ วันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สิ้นพระชนม์ โดยช่างภาพจากทั่วประเทศร่วมกันบันทึกภาพในห้วงเวลานั้น สื่อให้เห็นว่าเราชาวไทยรักพระองค์ท่าน รวมทั้งภาพถ่ายแสงและเงา ใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดด้วยกล้องมิเรอร์เลส การถ่ายภาพด้วยวิธีนี้ จะทำให้ท้องฟ้ามีสีเข้มขึ้น เปิดหน้ากล้องกว้าง เพื่อให้เห็นประชาชนที่เข้าชมพระเมรุมาศ เดินผ่านหน้ากล้อง เกิดเป็นเส้นสายตามธรรมชาติ สื่อถึงความรักความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อในหลวง ร.9
อีกภาพหนึ่งเป็นรูปช้าง สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย รูปนี้ถ่ายภาพที่บ้านแหลมโพธิ์ จังหวัดกระบี่ แบบพาโนรามา เพื่อถวายความจงรักภักดีในฐานะตัวแทนคนตัวเล็กๆ ในประเทศไทย
ธงชัย รักปทุม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เผยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน
"การได้มาร่วมงานครั้งนี้ เต็มตื้นในหัวใจนำพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง ร. 9 แนวพอร์ตเทรด ประดับด้วยดอกไม้สีเหลือง แม้ว่าพระองค์ท่านเสด็จสู่สวรรคาลัย นึกถึงพระองค์ท่านตลอดเวลา ผมทำงานสนองพระราชดำริ พร้อมทั้งเคยเป็นกรรมการคนหนึ่งของกรมศิลปากร เขียนภาพจิตรกรรมที่พระพุทธรัตนสถาน และเคยเข้าเฝ้าฯ ที่วังไกลกังวล หัวหิน ถวายรายงานเกี่ยวกับการภาพวาด ครั้งหนึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับพระอุโบสถ สิ่งก่อสร้าง รูปทรงของช่อฟ้าว่า แบบนี่ไม่ใช่ศิลปะไทย ทรงละเอียดรอบคอบกว่าคนเป็นที่เป็นศิลปินเสียอีก"
อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ นำความถนัดงานศิลปะเทคนิคสื่อผสม ทำเป็นรูปพระพักตร์ในหลวง รัชกาลที่ 9
"ผมตั้งต้นความคิด นำลวดมาดัดเป็นพระพักตร์ในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้วถ่ายเป็นภาพ จากนั้นนำภาพมาเขียนวาดเส้น สร้างเงาให้ดูเป็นมิติด้วยคอมพิวเตอร์"
ส่วน เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับพระที่นั่งพุดตาลทอง ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ สะบัดทีแปรงแบบไม่เก็บรายละเอียด เต็มเปี่ยมไปด้วยความเคลื่อนไหว พินิตย์ พันธประวัติ นำเทคนิคอิชชิ่ง หรือการแกะโลหะทำเป็นแม่พิมพ์พระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 ดินหิน รักพงษ์อโศก วาดพระบรมสาทิสลักษณ์เทคนิคชาโคลสะท้อนความรักที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9
ผู้สนใจชมนิทรรศการภาพถ่าย “กษัตริย์ของราษฎร”The King loves Thais ระหว่างวันที่ 13-31 ตุลาคม 2566 ณ บริเวณชั้น 2 และ 3 โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยผลงานที่จัดแสดงภายในงานทั้งหมดจะจัดจำหน่ายเพื่อหารายได้สมทบทุนศิริราชมูลนิธิสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 419 2046