เรื่องหลอนในวังหน้า เรื่องจริงจากเจ้าหน้าที่นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เรื่องหลอนในวังหน้า 2 กลิ่นหอมไร้ที่มาภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เกิดอะไรขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่นำชมเข้าใหม่แค่คิดในใจ ‘รุ่นพี่ไหว้อะไรกันนักกันหนา’ ก่อนปฏิบัติงานภายใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สถานที่แต่ละแห่งล้วนมีผู้อยู่อาศัยมาก่อน ยิ่งเป็นสถานที่สำคัญของชาติบ้านเมืองระดับพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่สมควรลบหลู่หรือคิดท้าทายด้วยประการทั้งปวง
คุณ เสอี้ยน บุญช่วย เจ้าหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวในเทศกาลผีนานาชาติ ตอน 'พูด ผี-ปีศาจ' (Ghost Talk) กิจกรรมพิเศษ ‘เล่าเรื่องหลอนในวังหน้า’ รับวันฮาโลวีน ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566
ประวัติพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
ก่อนกิจกรรม ‘เล่าเรื่องหลอนในวังหน้า’ จะเริ่มขึ้น ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวถึงประวัติ ‘วังหน้า’ พอสังเขปดังนี้
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังเก่า ภาษาสามัญเรียกกันว่า ‘วังหน้า’ หรือ พระราชวังบวรสถานมงคล ที่ประทับของพระมหาอุปราช ผู้ซึ่งทำหน้าที่รองลงมาจากพระเจ้าแผ่นดิน
“วังหน้าแห่งนี้สร้างขึ้นพร้อมกับพระบรมมหาราชวัง ปีที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ตั้งเสาหลักเมือง และทรงตั้งกรุงเทพมหานครเป็นราชธานี โดยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาของรัชกาลที่ 1”
บริเวณนี้มีหลายอย่างซึ่งเป็นสถานที่ดั้งเดิมหรือโบราณ เดิมที พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เคยเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เคยเป็นที่อัญเชิญ ‘พระเสมา’ ประดิษฐานไว้ ณ สถานที่แห่งนี้
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เคยเป็นพระที่นั่งทรงธรรม โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์เสด็จฯ มาประทับทรงฟังธรรม และทรงธรรมอุทิศพระราชกุศลถวายแด่บรรพบุรุษเมื่อถึงวันพระและวันสารท
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า ทรงยกพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งเป็น 1 ในพระที่นั่ง 3 องค์ ให้จัดเป็น พิพิธภัณฑสถาน สำหรับพระนคร หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกกันว่า ‘มิวเซียมหลวง’
‘กลิ่นหอม’ ภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
เสอี้ยน บุญช่วย และ ศุภวรรณ นงนุช
คุณ เสอี้ยน บุญช่วย เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทำงานในตำแหน่ง ‘เจ้าหน้าที่นำชม’ เป็นปีที่ 30 กล่าวเริ่มต้นก่อน ‘เล่าเรื่องหลอนในวังหน้า’ ว่า จริงๆ แล้วไม่อยากใช้คำว่า ‘หลอน’ และไม่อยากพูดคำว่า ‘ผี’ และขอเอ่ยถึงบุคคลเหล่านี้ด้วยคำว่า ‘ท่าน’
“เชื่อว่า 'ท่าน' เป็นคนที่เคยอยู่ที่นี่ เรารับรู้ได้ และทำนายได้ว่าวันนี้เหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นกับเรา โดยเฉพาะตัวเองซึ่งนั่งรับงานอยู่ทางด้านหน้าขวามือเมื่อเข้ามาภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
วันไหนที่ได้กลิ่นโชยมา เป็นกลิ่นน้ำอบ ตอนที่เราเข้ามา พี่ป้อม(รุ่นพี่เจ้าหน้าที่นำชม)จะรู้ทัน ก็บอกว่า รู้แล้วก็นิ่งเงียบเสีย แต่ก็ยังสงสัย ตาก็ยังเลิ่กลั่กคืออะไรอยู่ตรงไหน เราก็เชื่อพี่ป้อม ไม่พูด
ถ้าได้กลิ่นน้ำอบ วันนั้นจงเตรียมตัวให้ดี ตั้งสติ รับมือให้ได้ค่ะ วันนั้นจะมีความวุ่นวายทั้งวัน เดี๋ยวคนนู้นมาว่านี่ เดี๋ยวคนนี้มาว่านั่น
พูด ผี-ปีศาจ (Ghost Talk) กิจกรรมพิเศษ ‘เล่าเรื่องหลอนในวังหน้า’
โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ใช่คนมีความอดทนสูง นับหนึ่งได้ถึงเก้าก็ระเบิดกลับไปเลย ทีนี้เราเป็นงานบริการค่ะ พูดไม่ได้ แต่เมื่อเรารู้แล้ววันนี้จะเป็นเช่นไร เราก็ตั้งสติ
วันใดที่เราได้กลิ่นดอกไม้โชยมา แต่ละคนได้กลิ่นดอกไม้ไม่เหมือนกัน มีสัมผัสที่ไม่เหมือนกัน โดยส่วนตัวพี่เอี้ยนถ้าได้กลิ่นดอกไม้เย็นๆ หอมโชยมา วันนั้นจะได้รับการชื่นชม มีความสุข วันนั้นจะเหนื่อยมากสักแค่ไหน แต่เรารู้สึกอิ่มเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นการนำชม เราก็จะพบกับอะไรที่ดีๆ อันนี้คือสิ่งที่พี่เจอที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
เห็นไหมคะ ท่านไม่ใช่ผีค่ะ แต่ท่านเป็นผู้ที่คอยปกปักรักษา ปกป้องคุ้มครองเรา เหมือนประหนึ่งให้เรารู้ว่าจะต้องตั้งรับอย่างไร ขอบคุณท่านด้วยนะคะ ไม่ทราบว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ก็ตาม”
แค่คิดในใจ “ไหว้อะไรกันนักกันหนา”
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย สถานที่จัดแสดง 'หมู่พระวิมาน'
คุณเสอี้ยน เตือนสติผู้เข้าฟังกิจกรรมพิเศษ ‘เล่าเรื่องหลอนในวังหน้า’ ว่า “จะบอกให้ท่านทราบว่า อย่าท้าทายค่ะ ท่านอย่าท้าทาย อย่าคิดลองดีค่ะ” โดยเล่าประสบการณ์ตรงของตนเองให้ฟังว่า
“เมื่อทราบว่าต้องทำงานอยู่ที่นี่ และได้มอบหมายให้รับหน้าที่นำชม พอเข้ามาทำงานวันแรก 11 กันยายน 2531 สิ่งที่เห็น พวกรุ่นพี่ก็ไหว้
ไหว้ครั้งแรกเราก็เข้าใจได้ ว่าไหว้บูชาพระพุทธสิหิงค์ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่หอพระ แต่เขาไหว้ๆ มา ไม่ได้พูดค่ะ แต่คิด ‘ไหว้อะไรกันนักกันหนา ขออะไร’ วันนั้นโดนเลยค่ะ
เขาให้ไปนำชม นั่งกัน 5-6 คน ต้องมี 1 คนอยู่ที่เคาน์เตอร์คอยตอบคำถาม รุ่นพี่ไปกันหมดแล้ว ยังไม่กลับมา เหลือเรา คณะมาก็ต้องออกไปค่ะ
ห้องจัดแสดงราชยาน คานหาม ภายในหมู่พระวิมาน
เข้าไปในหมู่พระวิมาน มีพระที่นั่งหลายๆ องค์ รวมกันอยู่ 11 องค์ และมีที่ประทับ 3 ฤดูกาล
ถึงเราจะเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ ก็ต้องออกพานำชม แต่ถือว่าเรารู้สิ่งของ ครูบาอาจารย์เคยสอนไว้ว่าเห็นสิ่งใดพูดสิ่งนั้น
พอพาคณะเดินไป ทางแยกที่จะไปพระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา พระที่นั่งบูรพาภิมุข ตรงนั้นเลยค่ะ คือห้องที่จัดแสดงราชยานคานหาม (พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร) ตัวเองเข้าไปปุ๊บ เลี้ยวไปปั๊บ และกำลังจะเดินออกไปให้ทะลุด้านหลัง ไปไม่ถูกค่ะ วนกลับมาออกที่ห้องราชยาน คุณก็สงสัย ห้องนี้มาแล้วนะคะ
ความชาญฉลาดของคนนำชมต้องเอาให้รอดก่อน จึงพูดออกไปว่า ‘พอดีหลายห้องเสียงตีกันค่ะ เราอยู่ตรงนี้สักครู่นะคะ’ ตั้งสติ ฉันจะไปทางไหนหนอ แล้วก็พาเดินต่อ แต่ก็วนไปเจอทางตัน
คราวนี้อ้างไม่ได้แล้ว พวกพี่ๆ เขาออกไปกันหมดแล้ว เสียงเงียบหมดแล้ว ไม่มีคนนำชมอีกแล้วค่ะ จิตนั้นระลึกได้เคยพูดว่า ‘ไหว้อะไรกันนักกันหนาหนอ ไหว้อะไรกัน’ ก็เลยขอขมาค่ะ ลูกทำผิด หรือสบประมาทอะไรก็แล้วแต่ด้วยความรู้ที่ไม่ถึงการณ์ ขอจงช่วยเปิดทางให้ลูกเถิด โล่งเลยค่ะ เดินไปได้ตามจังหวะ
หลายคนแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ประจำห้องเดี๋ยวนี้ถ้าเขาเห็นป้าเอี้ยนนำชม เขาคงงง ก่อนถึงพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ดิฉันก็ไหว้ค่ะ ขออนุญาตไว้ก่อน เข้าห้องราชรถ ดิฉันก็ไหว้ค่ะ เป็นสิ่งหนึ่งที่ตัวเองเจอ ไม่เห็นทางเลยค่ะ ตัน-วนอยู่ตรงนั้น”
หมายเหตุ : โปรดติดตามตอนต่อไป 'ท่านจุก' แห่งพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน