อีกครั้งกับ'จักกาย ศิริบุตร' นิทรรศการศิลปะสิ่งทอแบบแขวนที่ฮ่องกง
นิทรรศการใหญ่ครั้งแรกกับผลงานจักกาย ศิริบุตร ศิลปินที่มีชื่อเสียงในด้านสิ่งทอ และศิลปะจัดวาง จัดแสดงที่ฮ่องกง
ชื่อเสียงของ จักกาย ศิริบุตร เป็นที่รู้จักจากผลงานพรมทํามือ ผ้าห่ม และงานจัดวางที่ทำด้วยมืออย่างประณีต ซึ่งสื่อสารเรื่องราวที่มีอิทธิพลต่อสังคมร่วมสมัย และปัญหาเชิงประวัติศาสตร์สังคมของประเทศไทย
ศิลปินด้านออกแบบสิ่งทอคนี้ มีผลงานนิทรรศการที่เป็นที่รู้จักของหลายงาน อาทิ
- Exploring the Cosmos:The Stupa as a Buddhist Symbol จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียสิงคโปร์ (2556)
- Phantoms of Asia:Contemporary Awakens the Past จัดที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาLink Tradition and Future(2555)
- และChongqing Biennale for Young Artistsครั้งที่2 พิพิธภัณฑ์ศิลปะของสถาบันวิจิตรศิลป์เสฉวน นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (2554) ผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงและรวมอยู่ในคอลเลกชั่นของพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งชาติไต้หวัน ฯลฯ
ล่าสุด Flowers Gallery นำเสนอOUTWORN ผลงานนิทรรศการใหญ่ครั้งแรก Jakkai Siributr: Everybody Wanna Be Happyที่CHAT/The Mills (ศูนย์มรดก ศิลปะ และสิ่งทอ) ในฮ่องกง
จักกายมีชื่อเสียงในด้านสิ่งทอ และงานศิลปะจัดวางที่ประณีตผ่านการตัดเย็บ การปัก และโครงการความร่วมมือในชุมชน เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวของแต่ละบุคคลที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางศาสนา และสังคมอันนำไปสู่สภาวะของการพลัดถิ่นในทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
OUTWORN นำเสนอผลงานศิลปะสิ่งทอแบบแขวน (พรมผนัง) 5 ชุดใหม่ แต่ละชุดสร้างสรรค์ขึ้นจากนำเครื่องแบบที่ได้มาจากคนงานในภาคอุตสาหกรรมการบริการในประเทศไทยแล้วนำมาต่อกัน
เพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกของศิลปินต่อการจัดการกับโรคระบาดของทางการ ด้วยเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ยาวนาน ทั้งยังส่งผลให้เกิดการว่างงานในวงกว้าง
รวมทั้งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเงิน ร่างกาย และจิตใจ ทั้งนี้มีการเก็บรวบรวมเครื่องแบบวิชาชีพที่ไม่ใช้แล้วจากบุคคลที่ประสบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ โดยให้เงินแก่เขาเหล่านั้นเป็นการตอบแทน
เครื่องแบบที่ได้มาแล้วถูกนำมาแยกส่วนแล้วนำกลับไปประกอบร่างสร้างใหม่ให้เป็นพรมผนัง พร้อมประดับประดาด้วยสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ลูกปัด ดอกดาวเรืองเทียม และวัตถุยันต์อื่น ๆ
วัตถุเหล่านี้สะท้อนแนวคิดในสังคมไทยที่ว่าหากปราศจากความเชื่อมั่นและไว้วางใจในภาครัฐแล้ว ผู้คนมักจะหันกลับไปเลือกพึ่งพาความเชื่อทางไสยศาสตร์ แนวคิดของจักกายที่นำเสนอมาอย่างต่อเนื่องคือการค้นหาปฏิสัมพันธ์ของพุทธศาสนากับวัตถุนิยมในวิถีชีวิตสมัยใหม่ รวมทั้งวัฒนธรรมสมัยนิยมของไทย
เสื้อผ้าเป็นสื่อกลางในการนำเสนองานศิลปะของจักกายมาโดยตลอด โดยมักใช้เครื่องแบบตำรวจ และทหารเพื่อแสดงออกถึงประเด็นทางการเมือง และสังคมที่ถูกปกปิด
ผลงานชุด 18/28: The Singhaseni Tapestries เป็นผลงานที่เป็นส่วนตัวมากที่สุดของเขา ซึ่งประกอบด้วยชุดของแม่เขา 5 ชุดที่ตัดเย็บอย่างพิถีพิถัน พร้อมด้วยพรมผืนใหญ่ 9 ผืนที่ทำจากชิ้นส่วนเสื้อผ้าจากญาติของเขา
จักกายกล่าวว่า “สิ่งทอเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องงานแขวนผนังสองมิติเสมอไป มันเป็นของตกแต่งหรือเป็นแนวคิดก็ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องยอมรับมันอย่างเต็มที่”
เขาจึงผนวกการเย็บผ้าด้วยมือที่มีรายละเอียดอย่างเข้มข้นในงานของเขากับการฝึกสมาธิ โดยเชื่อมโยงกับกระบวนการหัตถกรรมไทยแบบดั้งเดิม เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและการเมืองร่วมสมัย
.............
ภาพ: Flowers Gallery