คิมเบอร์ลี่ นางนพมาศงานลอยกระทงไอคอนสยาม นารีศรีสัชนาลัย เครื่องทองตระการ
ชมใกล้ๆ ชุดและเครื่องประดับชิ้นต่อชิ้น ‘คิมเบอร์ลี่’ งดงามตระการตาเป็น 'นางนพมาศ' พิธีเปิดงานลอยกระทง ไอคอนสยาม 2566 งามวิจิตร 30 ล้าน ในอาภรณ์ชุด ‘นารีศรีสัชนาลัย สุโขทัยธานี’ พร้อมเครื่องประดับ ‘รัตนมาสพิลาสจักรพรรดิ’ งานประณีตศิลป์ช่างทองหลวงผสานสำนักช่างสิบหมู่
งามวิจิตรสมการรอคอย นางนพมาศ ในพิธีเปิดงาน ICONSIAM CHAO PHRAYA RIVER OF ETERNAL PROSPERITY 'ลอยกระทงบนสายน้ำแห่งความเจริญรุ่งเรือง' หรือ งานลอยกระทง ประจำปี 2566 สุดยิ่งใหญ่งานหนึ่งประเทศไทย จัดโดย ไอคอนสยาม (ICONSIAM) ณ บริเวณ ริเวอร์ พาร์ค ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับค่ำคืนพิธีเปิดงานลอยกระทง วันจันทร์ที่ 27 พ.ย. ปีนี้ ไอคอนสยามเชิญนักแสดงสาว คิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัส เป็นนางนพมาศประจำปี 2566 เผยโฉมพร้อมการแสดงสุดพิเศษชุด “ลอยกระทง วิจิตรจันทรา เจ้าพระยาแห่งสยาม”
คิมเบอร์ลี่ นางนพมาศในพิธิเปิดงานลอยกระทงไอคอนสยาม
คิมเบอร์ลี่ ในชุดและเครื่องประดับทองคำ
นำเสนอการแสดงอันอ่อนช้อยและวิจิตรงดงามในบรรยากาศการเผาเทียนเล่นไฟในรูปแบบร่วมสมัย พร้อมการแสดงกลองชัยประดับลายไทยสีทองอร่ามต้องแสงจันทร์ยามค่ำคืน สร้างความตื่นตาตื่นใจ
ขณะที่ 'คิมเบอร์ลี่' ปรากฏกายในอาภรณ์และเครื่องประดับทองคำ มูลค่ารวมกันกว่า 30 ล้านบาท ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษเพื่องานลอยกระทงของไอคอนสยามปีนี้โดยเฉพาะ ผ่านการสืบค้นข้อมูลและได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะสมัยสุโขทัย
ชุด ‘นารีศรีสัชนาลัย สุโขทัยธานี’
อาร์ท - อัครัช ภูษณพงษ์ (ภาพ : ธิติ วรรณมณฑา)
อาภรณ์หรือเครื่องแต่งกายนางนพมาศที่นางเอกสาว ‘คิมเบอร์ลี่’ สวมใส่ในงาน ICONSIAM CHAO PHRAYA RIVER OF ETERNAL PROSPERITY ‘ลอยกระทงบนสายน้ำแห่งความเจริญรุ่งเรือง’ ออกแบบโดย อาร์ท - อัครัช ภูษณพงษ์ ไทยดีไซเนอร์เจ้าของห้องเสื้อ “อาร์ท อัครัช เนรมิตศิลป์”
อาร์ท - อัครัช ยังเป็นผู้ออกแบบ ‘ชุดประจำชาติ’ ให้กับนางงามผู้เข้าประกวดบนเวทีระดับประเทศและระดับโลก ฝากฝีมือเป็นที่เลื่องลือจากการครองแชมป์ชุดประจำชาติไทยมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 5 ปีติดต่อกัน
รวมทั้งเป็นผู้ออกแบบ ‘ชุดไตรรงค์อนงค์นาถสุพรรณมัจฉา’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ชุดปลากัดไทย’ ที่ อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม ใช้ในการประกวดรอบชุดประจำชาติบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2020 และชุด Hanuman Thai Boxing หรือ ‘หนุมานมวยไทย’ สวมใส่โดย อิงฟ้า วราหะ ในการประกวดมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล 2022 และคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในปีนั้น
นักท่องเที่ยวสนใจชมชุด ‘นารีศรีสัชนาลัย สุโขทัยธานี’
ครั้งนี้ อาร์ท - อัครัช ออกแบบเครื่องแต่งกายนางนพมาศในชื่อชุด นารีศรีสัชนาลัย สุโขทัยธานี มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท โดยได้สืบค้นข้อมูลและแรงบันดาลใจมาจากบันทึกของชาวจีนซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายในช่วงเวลานั้น ระบุว่าสตรีชั้นสูงสมัยสุโขทัยนิยมสวมใส่เครื่องนุ่มห่มที่ตัดเย็บด้วยผ้ากำมะหยี่ ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้าเบญจรงค์
ประกอบกับการเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับ นางนพมาศ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทน ‘ท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ตำแหน่งพระสนมในสมัยราชวงศ์พระร่วง ยุคสุโขทัย นอกจากทรงเป็นผู้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นคนแรก นางนพมาศยังมีผิวพรรณสวยงามดั่งทองคำ
ดังนั้นจึงเลือก ผ้ากำมะหยี่ทอง มาตัดเย็บเป็นเสื้อท่อนบนของชุด ‘นารีศรีสัชนาลัย สุโขทัยธานี’
อัครัช ภูษณพงษ์ กับผลงานชุด ‘นารีศรีสัชนาลัย สุโขทัยธานี’
ผ้าไหมทอมือบ้านหาดเสี้ยว ประดับงานปักช่างไทยโบราณ
ขณะที่ผ้าซิ่นหรือผ้านุ่งตัดเย็บจาก ผ้าไหมทอมือบ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ผ้าทอมือเก่าแก่ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของตระกูลทอผ้าบ้านหาดเสี้ยว ปักลวดลายด้วยงานหัตถกรรมของช่างไทยโบราณอันวิจิตรและปราณีต
รูปแบบการตัดเย็บผ้าซิ่นผืนนี้ประยุกต์จาก ‘ภาพหล่อสำริดพระแม่อุมา’ ศิลปะอินเดียซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย นั่นก็คือ การจีบหน้านางซ้ายและขวา เป็นเอกลักษณ์การนุ่งผ้าจีบหน้านางสมัยสุโขทัยที่แตกต่างจากยุคสมัยอื่นๆ
เทริดและกรองคอ
ลวดลายบนเทริด
เครื่องศิราภรณ์ประกอบเครื่องแต่งกายชุดนี้ประกอบด้วย เครื่องประดับศีรษะ เทริด (เซิด) มงกุฎยอดแหลม ออกแบบขึ้นใหม่บนพื้นฐานประวัติศาสตร์ ตกแต่งด้วยลวดลายถอดแบบจากร่องรอยงานประติมากรรมปูนปั้นนูนสูงบนผนัง วัดนางพญา โบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
อาร์ท - อัครัช กล่าวว่า ลวดลายปูนปั้นที่ประดับบนผนังวัดนางพญามีชื่อว่าลาย หรูอี้ ได้ชื่อว่าเป็นลวดลายปูนปั้นงามที่สุดในยุคสุโขทัย ได้รับอิทธิพลมาจากลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาจีน
ลายหรูอี้ มีลักษณะผสมผสานระหว่างลายก้านขด ลายดอกโบตั๋น และลายพรรณพฤกษา คุณอาร์ทนำมาประยุกต์และออกแบบเป็นลวดลายบน 'เทริดมงกุฎ' แล้วปิดด้วยทองคำแท้
ลวดลายบนกรองคอ
รวมทั้งปักประดับเป็นลวดลายบน กรองคอ ผสมงานปักดิ้นโขนแบบช่างไทยโบราณ ผลงานช่างฝีมือระดับประเทศ ครูช่างศิลป์จากวิทยาลัยเพาะช่างและกรมศิลปากร ขณะที่ตัวเสื้อปักลายสัญลักษณ์ดอกโบตั๋น
วัสดุที่ใช้ปักประกอบด้วยเพชรสวารอฟสกี้ พลอย ดิ้นทอง ปล้องอ้อยทองระดับพรีเมียม และลูกปัดหินที่เป็นเอกลักษณ์งานเครื่องประดับสมัยสุโขทัย
ข้อมูลจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย กล่าวถึงลาย 'หรูอี้' ว่ามีที่มาจากลายมงคลในศิลปะจีน ถือเป็นสัญลักษณ์ของความสมปรารถนา กรอบลายหรูอี้มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมโค้งมนคล้ายเห็ดหลินจือ ซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยเหตุนี้ลายหรูอี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืนด้วย
“เราต้องการให้เห็นความสัมพันธ์ด้านการค้าขายของสุโขทัย มีประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นเข้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย” อาร์ท - อัครัช กล่าวถึงการออกแบบชุด ‘นารีศรีสัชนาลัย สุโขทัยธานี’
รองเท้า ของประกอบชุด 'นารีศรีสัชนาลัย สุโขทัยธานี’
ของประกอบเครื่องแต่งกายชุดนี้ยังมี รองเท้า จัดทำเสริมเพิ่มเติมให้เข้ากับชุด โดยปักลวดลายลงบนผ้าชั้นแรกก่อนแล้วเย็บติดเข้ากับตัวรองเท้าอีกที
ของประกอบสำคัญอีกชิ้นคือ ฐานดอกบัว สำหรับให้นางนพมาศในพิธีเปิดงานประหนึ่งยืนอยู่ในดอกบัว เพื่อสดุดีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ผู้คิดประดิษฐ์กระทงรูปทรงกลีบดอกบัวจากโคมแขวน ใช้ลอยไปกับสายน้ำในวันพิธีจองเปรียง ต้นกำเนิดประเพณีลอยกระทงของประเทศไทย
ฐานดอกบัวนี้ประกอบด้วย กลีบดอกบัว 16 กลีบ ขึ้นแบบปั้นปูน จำนวน 16 กลีบ แล้วนำไปหล่อด้วยเรซิ่น พ่นสี ประดับอัญมณีเป็นลวดลาย
“ICONSIAM CHAO PHRAYA RIVER OF ETERNAL PROSPERITY เป็นงานที่ทรงคุณค่ามาก ผมอยากใช้วัสดุที่มีความแข็งแรงและอยู่กับเราไปตลอด ฐานดอกบัว ชุดและเครื่องศิราภรณ์ที่ผมออกแบบก็จะนำไปเก็บรักษาที่บ้านพักซึ่งแบ่งพื้นที่ทำเป็นห้องจัดแสดงร่วมกับผลงานชุดประจำชาติที่ผ่านมา” อาร์ท อัครัช ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’
เครื่องประดับ ‘รัตนมาศ พิลาสจักรพรรดิ’
สิทธิศักดิ์ คูหาวิไล กับภาพทับทรวง ‘รัตนมาศ พิลาสจักรพรรดิ’
เครื่องประดับที่นางเอกสาว ‘คิมเบอร์ลี่’ สวมใส่ในฐานะนางนพมาศในพิธีเปิดเทศกาลงานลอยกระทง ICONSIAM CHAO PHRAYA RIVER OF ETERNAL PROSPERITY มีมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ออกแบบโดย ทองถนิม กลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้ร่วมสืบสานศิลปะเครื่องทองไทยในศาสตร์ช่างทองหลวง
‘ทองถนิม’ ให้ชื่อผลงานการออกแบบเครื่องประดับชุดนี้ไว้ว่า รัตนมาศ พิลาสจักรพรรดิ ความหมายคือนางแก้วของกษัตริย์
เครื่องประดับ ‘รัตนมาศ พิลาสจักรพรรดิ’
“เราออกแบบเครื่องประดับชุดนี้เพื่อยกย่อง ‘นางนพมาศ’ ว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ผู้มีทั้งความงดงามและมีสติปัญญา คิดประดิษฐ์กระทงและถวายให้กับพระเจ้าแผ่นดิน ในพระราชพิธีจองเปรียง วันเพ็ญเดือนสิบสอง
โดยพิธีนี้แต่เดิมเป็นการลอยโคมขึ้นบนท้องฟ้า เพื่อถวายสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่นางนพมาศได้คิดค้นเป็นกระทงเพื่อลอยทางสายน้ำ เพื่อให้สมเด็จพระร่วงเจ้าสักการะพระพุทธบาทแห่งแม่น้ำนัมมหานที นางนพมาศได้กลายเป็นชายาอันเป็นที่รักและได้ชื่อว่าเป็นสตรีนักปราชญ์แห่งยุคสุโขทัย” เอิร์ธ - สิทธิศักดิ์ คูหาวิไล ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘ทองถนิม’ และเจ้าของแบรนด์เครื่องประดับโบราณทองถนิม ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’
ลายหงส์และไข่มุกที่ประดับบนพาหุรัด
กลุ่มทองถนิมยกย่องนางนพมาศปีนี้ด้วยสัญลักษณ์ หงส์ เป็นลวดลายหลักที่ปรากฏบนเครื่องประดับ หมายถึงสตรีในราชสำนักผู้สูงศักดิ์ ซึ่งเปรียบกับนางนพมาศ
ประกอบคู่กับอัญมณี ไข่มุก เปรียบอัญมณีแห่งพระแม่คงคา เป็นอัญมณีไม่กี่ชนิดที่กำเนิดจากสิ่งมีชีวิต และความหมายของไข่มุกยังหมายถึงความงดงาม ความบริสุทธิ์ และปัญญาอันล้ำเลิศ
“หงส์ กับ ไข่มุก จึงมีความหมายว่านางนพมาศผู้มีทั้งความงดงามและปัญหาอันล้ำเลิศ” เอิร์ธ – สิทธิศักดิ์ กล่าวถึงความหมาย แนวคิดและที่มาของการออกแบบเครื่องประดับ ‘รัตนมาศ พิลาสจักรพรรดิ’ ชุดนี้
ทองข้อพระกร (กำไล) สตรีสูงศักดิ์สุโขทัยนิยมสวมเป็นคู่
เครื่องประดับชุดนี้ประกอบด้วย ต่างหู ทับทรวงและสร้อยคอ พาหุรัด ปั้นเหน่งและสายเข็มขัด ทองข้อพระกร ทุกชิ้นทำด้วย ทองคำ 96.5% ตกแต่งด้วยลวดลายกลิ่นไอศิลปะยุคสุโขทัย ล้อไปกับตัวชุดนางนพมาศที่ใช้ลวดลายปูนปั้นของวัดนางพญา นำมาผสมผสานอยู่ในลวดลายของเครื่องประดับทุกชิ้น เพื่อให้กลมกลืนสอดรับซึ่งกันและกัน
ความพิเศษที่กลายเป็นความสร้างสรรค์และท้าทายของทีมช่างทองโบราณ ‘ทองถนิม’ คือการผสานงานฝีมือ ช่างทองหลวง เข้ากับงานฝีมือ สำนักช่างสิบหมู่ ยกตัวอย่าง ‘ทับทรวง’
ประติมากรรมแผ่นทองคำรูปตัวหงส์บนทับทรวง
“ความพิเศษของทับทรวงชิ้นนี้ เรานำฝีมืองานปั้นเข้ามาประยุกต์ ปกติงานฝีมือที่ใช้กับงานเครื่องทองจะเป็นการสลักดุนที่พบในเครื่องทองราชสำนัก แต่เรานำความพิเศษตรงนี้มาต่อยอด ถ้าสังเกต หงส์จะลอยตัวออกมา คือใช้ทั้งงานฝีมือช่างทองและช่างสิบหมู่ ทั้งงานจิตรกรรม งานปั้น”
ตัวหงส์บนทับทรวง ไม่ได้เกิดจากการนำทองคำมาปั้นขึ้นรูป แต่เกิดจาก 'ช่างปั้น' ปั้นตัวหงส์ให้ดูก่อน จากนั้นช่างทองจึงนำแผ่นทองคำมาประกอบขึ้นรูปจนเป็นตัวหงส์ ไม่ได้ใช้แม่พิมพ์
แม้กระทั่งจงอยปากหงส์ ก็เกิดจากแผ่นทองคำ เช่นเดียวกับลวดลายบนใบหน้าหงส์เกิดจากทองคำชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาประสานให้ปรากฏเป็นลวดลายตามที่ช่างปั้นทำงานร่วมกับผู้ออกแบบ
ทับทรวงพร้อมสร้อยพระศอประดับทองลายลูกฟัก
เครื่องประดับทองคำแต่ละชิ้นในชุด ‘รัตนมาศ พิลาสจักรพรรดิ’ จึงต้องประสานทักษะฝีมือช่างทองหลวงและฝีมือสำนักช่างสิบหมู่เข้าด้วยกัน เนื่องจากช่างแต่ละคนมีทักษะงานฝีมือที่เชี่ยวชาญแตกต่างกัน
“งานช่างทองหลวง มีการเรียนการสอนอยู่ที่ ‘กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง’ ทองถนิมมีช่างมาจากช่างทองหลวงเป็นช่างประจำ อาคารเรามีโรงช่าง มีการฝึกการเรียนการสอนด้วย งานตรงนี้ไม่ได้ใช้ทักษะแค่ช่างทองที่ทำทองให้เป็นมิติได้ แต่เขายังต้องเรียนรู้การวาด การปั้น ถ้าวาดไม่ได้ ลายเส้นก็จะไม่ต่อกัน ไม่สมบูรณ์ เรานำบุคลากรมาพัฒนาองค์ความรู้” เอิร์ธ – สิทธิศักดิ์ กล่าว
ปั้นเหน่งลายหงส์คู่ และสายเข็มขัดทองคำถัก
ยกตัวอย่าง ปั้นเหน่งลายหงส์คู่ ตรงกลางประดับไข่มุก และประดับเพชรที่ลวดลาย เป็นงานฝีมือที่ทำร่วมกันระหว่างช่างออกแบบ ส่งงานต่อให้ช่างสลักดุนสลักตามแบบ จากนั้นส่งงานต่อให้ช่างเชื่อมประกอบ ช่างดัดลวด ช่างฝังอัญมณี
เช่นเดียวกับ สายเข็มขัดทองคำ ที่ใช้กับปั้นเหน่ง ก็เป็นสุดยอดงานประณีตศิลป์ช่างทองไทย ทำจากห่วงทองคำชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาถักเชื่อมด้วยน้ำประสานทองจนเกิดเป็นสายเข็มขัดที่มีความนิ่ม กระชับรูปร่าง ใส่สบาย
สิทธิศักดิ์ คูหาวิไล
นอกจากทองคำ เพชร อัญมณีชิ้นเอก ไข่มุก ก็เป็นงานท้าทายที่ต้องพิถีพิถัน เครื่องประดับชิ้นที่มีไข่มุกเป็นองค์ประกอบ นอกจากคัดไข่มุกคุณภาพน้ำหนึ่งแล้ว ยังต้องคัดไข่มุกที่มีขนาดเท่ากันหรือใกล้เคียงกันที่สุด
ด้วยความที่ไข่มุกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงต้องควานหาและคัดสรรเป็นพิเศษ เพราะไม่สามารถกลึงหรือเจียรให้มีขนาดตามต้องการได้ หากสุดวิสัยจริงๆ ก็ต้องปรับฐานรับไข่มุกกันเล็กน้อย
ต่างหูประดับไข่มุกทรงหยดน้ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ต่างหู’ ที่ออกแบบให้ใช้ ไข่มุกทรงหยดน้ำ เพื่อความสวยงามอย่างที่สุดเวลาสวมใส่ ยิ่งหายากขึ้นไปอีก ยากทั้งที่เป็นทรงหยดน้ำ ยากทั้งขนาดที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากปกติไข่มุกส่วนใหญ่ล้วนเป็นทรงกลม