เหตุใด'ทวารวดี' มีศูนย์กลางอยู่ที่'เมืองโบราณศรีเทพ' จ.เพชรบูรณ์
ในมุมศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ยืนยันว่าที่ตั้งของเมืองทวารวดี ไม่ได้อยู่ที่นครปฐม แต่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
ในปีพ.ศ.2565 ที่ผ่านมา เมื่อได้ลงสำรวจแหล่งโบราณคดีหลายแห่งกับทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เพื่อทำข้อมูลทำหนังสือ “ต้นรากเพชรบุรี ยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคทวารวดี” ค้นคว้ารวบรวมเรื่องของศิลปะทวารวดีอายุเวลาพุทธศตวรรษที่ 11-16 ในเมืองเพชร
ทีมหลักของพวกเรามี รศ.ดร.กาญจนา บุญส่ง เป็นหัวหน้าทีม ดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล ดูแลประสานงานจัดการทุกอย่าง และมี ดร.วิฑูรย์ คุ้มหอม กับครูเจี๊ยบสมบัติแม่น้ำเพชร และกิตติพงษ์ พึ่งแตง ร่วมทีมร่วมทางไปไหนไปกัน
การทำหนังสือ ต้นรากเพชรบุรี ครั้งนี้ เราได้เรียนเชิญ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ครูที่แท้ คุณครูที่รักยิ่งของดิฉันมาให้ความรู้กับทีมงานของเรา
เนื่องด้วยในปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้นำเสนอข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับที่ตั้งของเมืองทวารวดี ว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยที่ตลอดหลายสิบปีก่อนหน้านี้ แวดวงวิชาการไทยได้ศึกษาและค่อนข้างเชื่อถือเข้าใจกันมาตลอดว่า ศูนย์กลางเมืองทวารวดีอยู่ที่จ.นครปฐม
ทวารวดี มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองศรีเทพ
ด้วยประเด็นแหลมคมสำคัญเช่นนี้ จึงน่าสนใจยิ่งว่าทาง ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ พบหลักฐานสำคัญอย่างไรเล่า จึงนำเสนอข้อมูลใหม่ว่าทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองศรีเทพ
กับคำถามนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้ให้คำอธิบาย เป็นลำดับขั้นของที่มาแห่งชุดความรู้ครั้งนี้ดังนี้...
“ผมศึกษาเรื่องของทวารวดี มา 50 กว่าปีแล้ว มันเริ่มจากการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเสนอมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเกี่ยวกับเจดีย์จุลปะโทนที่ จ.นครปฐม ซึ่งใช้เวลามากทีเดียวในการพิจารณาว่าทวารวดีอยู่ที่ไหน
และผมก็ไม่แน่ใจว่าเป็นนครปฐม พอทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้เสร็จในปีพ.ศ.2518 ผมก็เห็นชัดเลยว่า ทวารวดีไม่ได้อยู่นครปฐม เพราะโบราณวัตถุภาพดินเผา งานปูนปั้นที่เจดีย์จุลปะโทน พิจารณาอายุเวลาแล้วมันคนละสมัยกับทวารวดีในเอกสารของจีน คือเอกสารจีนระบุอายุเวลารุ่งเรืองของทวารวดีเป็นพุทธศตวรรษที่ 12
แต่ภาพดินเผา ปฏิมากรรมปูนปั้นที่เจดีย์จุลปะโทน เมืองนครปฐมนี้ อายุเวลาคือพุทธศตวรรษที่ 13-14 มันเหมือน 100 ปีหลังมาเลย
ผมจึงไม่แน่ใจ ถึงขั้นว่าพอจบปริญญาเอก ผมก็เขียนบทความเสนอประเด็นนี้ออกมา ฟันธงว่านครปฐมไม่ใช่ทวารวดีแน่ ๆ นำเสนอไว้ตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว ว่านครปฐมอาจจะเป็นเมืองอื่นแต่ไม่ใช่ทวารวดีแน่นอน"
นครปฐม :ไม่น่าจะใช่ทวารวดี
"หลังจากนั้นมา ประมาณ 20 ปีมาแล้ว ผมก็ได้ตรวจสอบศึกษาเรื่องทวารวดี ทำให้ยิ่งมีความแน่ใจว่า นครปฐมไม่น่าจะใช่ทวารวดี
ต่อมาในปีพ.ศ.2552 นักวิชาการฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญการอ่านศิลาจารึกกัมพูชา อาจารย์โคล้ด ฌาคส์(Claude Jacques, 19 มีนาคม พ.ศ.2472-20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561) ตอนนี้ท่านเสียชีวิตไป
อาจารย์โคล้ด ฌาคส์เขียนบทความเสนอว่า ทำไมไม่ให้ศรีเทพเป็นทวารวดี ทั้งที่ศรีเทพพบเทวรูปพระกฤษณะจำนวนมาก คือมากกว่าที่อื่นทั้งหมด แล้วเมืองของพระกฤษณะก็คือเมืองทวารวดี ดังนั้นทวารวดีน่าจะได้แก่ศรีเทพ"
“ในประเด็นนี้ผมเห็นด้วยกับอาจารย์โคล้ด ฌาคส์ แล้วอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของเอกสาร ในเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลป์จะเป็นการศึกษาเทวรูป
แล้วพอมาถึงจารึก ซึ่งเป็นเรื่องของเอกสาร ในปีพ.ศ.2562 ได้มีการพบศิลาจารึก 1 หลักทางด้านทิศเหนือของเนินโบราณสถานวัดพระงาม เป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำด้วยหินสีเทา ส่วนที่เหลือยังคงปรากฏรูปอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต บางส่วนที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน
กล่าวถึงคำว่า “ทวารวตีวิภูติ” ข้อความในจารึกหลักนี้ ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณของกรมศิลปากร ได้แปลความไว้ว่า “เมืองทวารวดีซึ่งยิ่งใหญ่เนื่องจากความเจริญรุ่งเรือง เหมือนกับเมืองของพระวิษณุ”
“นั้นคือกล่าวถึงทวารวดีว่า เป็นเมืองของพระวิษณุ ที่เจริญรุ่งเรืองก็เพราะเป็นเมืองของพระวิษณุ ซึ่งก็สอดคล้องกับการที่พบรูปของพระกฤษณะ ซึ่งเป็นอวตารที่ 8 ของพระวิษณุ และพระวิษณุก็พบมากที่ศรีเทพด้วย"
นี้ก็เป็นการสอดคล้องกันอีกประเด็นหนึ่งด้วย
“แต่เรื่องสำคัญก็คือเรื่องของชื่อเมือง ผมไม่ทราบว่ามีความคิดเห็นในทางเดียวกับอ.ล้อม เพ็งแก้วด้วยหรือไม่ คือชื่อของพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงเสียกรุง กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ นามทวารวดีก็ยังปรากฏต่อเนื่อง
ซึ่งเห็นได้จาก พระไอยการลักษณภญาน จารในพ.ศ.1894 กล่าวนามของราชธานีว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา” นอกจากนั้นแล้วสั ญญาทางการค้าระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์(VOC) ก็ยังใช้ชื่อ“กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา”
และยังมีหลักฐานว่าใช้มาจนสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองกรุงเทพก็ยังเรียกกรุงเทพทวารวดี กันอยู่เลย ซึ่งก็แปลว่าเป็นเรื่องของพระนครศรีอยุธยาสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงรัชกาลที่ 3(31 มีนาคม พ.ศ. 2331 – 2 เมษายน พ.ศ. 2394) พอถึงสมัยรัชกาลที่ 4 (18 ตุลาคม พ.ศ. 2349 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411)ถึงมาเปลี่ยนเป็นกรุงสยาม"
ทวารวดี ตั้งอยู่บนแม่น้ำป่าสัก
“ทวารวดีเป็นชื่อกรุงศรีอยุธยา ก็เพราะว่ากรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนปากแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐทวารวดีนั้นเอง การที่ชื่อทวารวดีตามติดมากับชื่อกรุงศรีอยุธยา ทำให้เห็นว่า ตำแหน่งที่ตั้งของพระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่บนแม่น้ำป่าสักซึ่งไหลมาพบแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดพนัญเชิง
ทีนี้เมืองศรีเทพก็อยู่บนแม่น้ำป่าสัก สายน้ำเดียวกันคือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โอกาสที่ศรีเทพจะเป็นทวารวดีก็มากกว่าที่อื่น เพราะเป็นสายน้ำเดียวกัน มันมีภูมิศาสตร์สนับสนุน
ซึ่งทวารวดีศรีอยุธยามีภูมิศาสตร์อยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเดียวกันกับศรีเทพ เป็นไปได้มากที่สุดที่ทวารวดีจะอยู่ที่ศรีเทพมากกว่าที่อื่น เพราะมีหลักฐานและเหตุผล ถึง 4 ประเด็นที่สนับสนุน คือ
ประวัติศาสตร์ศิลป์จากจำนวนเทวรูปพระกฤษณะ-วิษณุจำนวนมากที่ศรีเทพ, เอกสารลายลักษณ์อักษรจากจารึกว่า ทวารวดีเจริญรุ่งเรืองก็เพราะเป็นเมืองของพระวิษณุ , ชื่อนามทวารวดีในชื่อกรุงศรีอยุธยา, และต่อเนื่องมาเป็นภูมิศาสตร์ของการอยู่บนลุ่มน้ำเดียวกันของศรีเทพ-อยุธยา คือลุ่มน้ำป่าสัก"
“นี้มีถึง 4 ประเด็นที่สนับสนุนว่าทวารวดีอยู่ที่ศรีเทพ ซึ่งตรงกันข้ามกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ( 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 – 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486)ที่ท่านเสนอว่าทวารวดีอยู่ที่นครปฐม ท่านไม่มีหลักฐานเลย
ถ้าจะหาหลักฐานให้ท่านก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงรับสั่งว่านครปฐม- ปฐมแปลว่าเบื้องต้น ซึ่งจริง ๆ อาจจะผิดก็ได้ เพราะว่าเมืองที่นั่น เดิมไม่ได้เรียกนครปฐม แต่เรียกว่าพระประโทนประทม ธม-ในภาษาเขมรแปลว่าใหญ่ ซึ่งก็ว่าสถูปหรือพระปฐมเจดีย์นี้เป็นโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุด
เขมรเรียกว่าพระประโทนประทม แล้วร.4 ท่านมาเปลี่ยนเป็นปฐม เพราะฉะนั้นมันก็ไม่เกี่ยวข้องกัน แล้วนี่ก็เป็นแค่ข้อสันนิษฐาน เมื่อมันเป็นปฐมแล้วท่านก็เอามาเชื่อมโยงเข้ากับพุทธศาสนา กับสุวรรณภูมิ แต่หลักฐานที่จริงท่านไม่มีหรอก”
"""""""""""
ติดตามเพิ่มได้จากเฟซบุ๊ก นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว