ฟินๆ จากไอเดียสองสาวไทยฟิต : รำไทยผสานออกกำลังกาย และแตรวง
รำไทยผสานการออกกำลังกาย สนุกและฟิตในแบบไทยฟิต เป็นความคิดของคนรักนาฏศิลป์รุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่
เพียงไม่กี่ปี การออกกำลังกายที่ออกแบบจากรำไทย ซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ของ ครูเฟี้ยว มาดาพร น้อยนิตย์ และครูดิว ขจิตธรรม พาทยกุล ทายาทรุ่นสามของ “ครูเตือน พาทยกุล” ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดง (ดนตรีไทย) ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งสองทำให้ไทยฟิต สตูดิโอ( Thai Fit Studio) กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
สองสาวเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่เด็ก เป็นผู้ก่อตั้งและออกแบบท่ารำ เต้น ออกกำลังกาย เพื่อให้คนที่รำไม่เป็นสามารถทำได้ ส่วนคนที่มีพื้นฐานการรำ ก็สนุกไปอีกแบบ และไม่ใช่สนุกอย่างเดียว ยังได้ใช้กล้ามเนื้อแต่ละมัดตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาและการแพทย์
กว่าจะเป็นไทยฟิต
แม้ไทยฟิต สตูดิโอ ของสองสาวจะผ่านวันเวลามานานกว่า 5 ปี ทั้งสองก็ไม่หยุดพัฒนา เป็นอีกความท้าทายที่ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างเธอสนุกในการคิด
“ยากในการคิด แต่เราคิดให้ทำมันง่าย” ครูดิวขมวดปมให้ฟังตอนท้าย ส่วนต้นตอความคิดคือ การลองทำ แล้วค่อยๆ พัฒนา โดยคิดจากพื้นฐานทั่วไปว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้รำเก่ง และอยากให้การออกกำลังกายรูปแบบนี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ความมุ่งมั่นและตั้งใจ ทำให้ทั้งสองฝึกฝนครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกิดความมั่นใจ แล้วนำมาสอนครูฝึก รวมถึงสอบถามนักวิทยาศาสตร์การกีฬาและคุณหมอว่า การออกกำลังกายด้วยท่าทางของนาฏศิลป์แบบนี้ดีหรือยัง กว่าจะลงตัวร่วมปีกว่าๆ จึงนำมาสอนอย่างเป็นทางการ ปี 2017
“เราทั้งสองอยู่ที่โรงเรียนพาทยกุลการดนตรี และนาฏศิลป์ ตั้งแต่เป็นนักเรียน จนเฟี้ยวมาบริหารโรงเรียน เราเห็นพัฒนาการผู้คนที่มาเรียนด้านนี้ จึงอยากขยายกลุ่มเป้าหมาย นอกจากรำไทยเพื่อเป็นนักแสดง เราอยากทำรำไทยสู่เป้าหมายอื่นๆ มากขึ้น ก็เลยเอาเรื่องสุขภาพเป็นแกนหลัก จึงต้องปรึกษาคุณหมอและนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ”
ครูเฟี้ยว มาดาพร น้อยนิตย์ และครูดิว ขจิตธรรม พาทยกุล
แนวทางของเธอทั้งสอง แม้ส่วนหนึ่งจะสอนรำไทยตามมาตรฐานทั่วไป ยังมีส่วนของไทยฟิตที่เน้นการออกกำลังกายด้วยท่ารำเพื่อสุขภาพ หากท่าไหนไม่เหมาะ ก็ดีไซน์ใหม่
“การทำงานกับนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เราเรียนรู้ไปพร้อมกัน พอมีเรื่องวิทยาศาสตร์เข้ามา ท่าที่ใช้ก็มีเรื่องการป้องกันการบาดเจ็บ แบบไหนทำได้ แบบไหนทำไม่ได้ บางท่าเราคิดว่าง่าย แต่ยากไปสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานการรำ ก็ทำให้ง่ายขึ้น ”
ความเป็นไทย...ต้องคิดใหม่
ไม่ได้คิดให้ผู้เรียนสนุกอย่างเดียว ทั้งสองยังคิดไปถึงเรื่อง องศาการยกแขน ขา ร้อง รำ ทำเพลง เพื่อให้การออกกำลังกายมีผลต่อการพัฒนากล้ามเนื้อ ครูดิวบอกว่า ถ้าเป็นไทยฟิตเราทำในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน และตอนนี้ก็ยังไม่มีใครทำ การรำไทยเพื่อการออกกำลังกาย ของเรา จึงแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ...
1. Thai Myth เป็นการรำไทยแบบสวยงาม เหมือนตัวละครในวรรณคดี ทำแล้วได้ออกกำลังกายเหมือนการเล่นเวท
2. Thai Folks นำศิลปะการรำพื้นบ้านสี่ภาคมาใช้ ได้ทั้งความสนุกสนาน การขยับเขยื่อนเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เสมือนได้ออกกำลังกายแบบคาดิโอ
และ3. Thai Martial Arts นำท่าของโขนและศิลปะป้องกันตัว มวยไทย มาประยุกต์ใช้ คนเล่นจะได้กล้ามเนื้อมัดใหญ่
“ความถนัดแบบไทยๆ เป็นดีเอ็นเอของพวกเรา” ครูดิว เล่าถึงสิ่งที่ถนัด และอยากให้คนเรียนได้ประโยชน์ โดยไม่ยัดเยียด จึงมีทั้งคนที่มาเรียนที่โรงเรียนพาทยกุลฯ การสอนตามงานอีเว้นต์ รวมถึงคลาสเฉพาะกิจ ต้องออกแบบให้เข้ากับรูปแบบสถานที่และงาน
“ที่ผ่านมาคนที่มาเรียนหลากหลายกว่าที่เราคิด ตอนแรกตั้งเป้าหมายว่าเป็นวัยทำงาน เพราะอยากให้คนหันมารำไทย และเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ต้องทำเพื่อการอนุรักษ์ คนต่างชาติก็ให้ความสนใจ
ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ก็ต้องทำให้เหมาะกับสรีระพวกเขา แม้จะทำได้น้อย แต่พวกเขาสนุก ได้ฟังเสียงดนตรีที่คุ้นเคย เน้นปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน และได้ออกกำลังกาย "
แตรวงบ้านๆ กับไทยฟิต
ล่าสุดในงานบางกอก ดีไซน์ วีค 2024 ทั้งสองเลือกใช้แตรวงชาวบ้านประกอบการรำออกกำลังกายแบบไทยฟิต ครูดิว บอกว่า เรามองเห็นความพิเศษของเสียงที่กระตุ้นให้เกิดการอิมโพรไวส์ เพราะเราทดลองกับกลุ่มต่างชาติเทศกาลวันเดอร์ฟลุ๊ต
"พวกเขาก็สนุกและไม่ได้มีมายเซ็ทว่า สิ่งที่เราสอนเชย หรือผู้ชายรำไม่ได้ ถ้ามีโอกาสเราก็อยากไปสอนในต่างประเทศ ก็มีกระทรวงต่างประเทศติดต่อมาบ้าง มีไปโชว์หรือทำเวิร์คชอป จนล่าสุดได้มาทำกิจกรรมให้กลุ่มคนเมือง
บางคนคิดว่า ดนตรีไทย รำไทย เป็นเรื่องไกลตัว เราทำให้เห็นว่าอยู่ใกล้ๆ พวกเขา คนเรียนไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานรำไทย ส่วนคนที่คิดถึงรำไทย ไทยฟิตก็มีพื้นที่ให้รำลึก"
เหมือนเช่นที่กล่าวว่า การออกแบบท่ารำมาจากความคิดสร้างสรรค์ล้วนๆ ไม่ได้เอาทฤษฎีการตลาดมาเป็นตัวตั้ง ครูดิว บอกว่า เราทั้งสองไม่ได้คิดว่า ทำคลาสแบบนี้แล้วจะขายได้ ทั้งหมดมาจากแรงบันดาลใจล้วนๆ กระบวนการที่ทำจึงมีความละเอียดทุกขั้นตอน และกว่าจะฝึกครูออกไปสอนได้ ก็ใช้เวลา
"อย่างโนราห์ เราก็สนใจ แต่ไม่มีพื้นฐาน ก็เดินทางไปเรียนกับคณะโนราห์ดั้งเดิม เฉลิมประพา ที่ปัตตานี คิดแค่ว่าจะนำโนราห์กลับมาทำงานออกแบบท่ารำกับนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ตอนนั้นเราขอทุนทำหนังสั้นออกมาชุดหนึ่ง ทำจากแรงบันดาลใจ
พวกเราสนุกกับสิ่งที่ทำ คนที่มาลองทำกิจกรรม กลับไปมักจะเจ็บปวดกล้ามเนื้อ แต่ว่าสะใจ ได้ปลดปล่อยในการรำไทย และออกกำลังกายไทยฟิตไม่ใช่ออกกำลังกายอย่างเชื่องช้า ทำแล้วได้เหงื่อและกล้ามเนื้อ
คนที่มาร่วมกิจกรรมไทยฟิตจะได้ความฟินกลับไป เหมือนได้สำรวจร่างกายตัวเอง บางคนไม่เคยรู้เลยว่าไหล่ติด สะโพกยกขึ้นได้ไม่เท่ากัน หรือท่าไหนทำแล้วตึง"
หากถามว่า เรียนแค่ไหน ร่างกายจะปรับสมดุลได้ ครูดิวแนะว่า พื้นฐานร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน ไทยฟิตออกแบบมาเพื่อให้ทำซ้ำ แต่ถ้าทำเต็มที่ครั้งหนึ่ง จะรู้เลยว่าเป็นการออกกำลังกายได้เหงื่อ
........................
ภาพจากเฟซบุ๊ก : Thai Fit Studio