ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร

คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ครบ 80 ปี จัดนิทรรศการใหญ่ ‘ข้ามศตวรรษ : นิทัศนศิลปะ 2567’ เชิญศิลปินศิษย์เก่าร่วมแสดงผลงานศิลปะครั้งประวัติศาสตร์ ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน และผลงานชิ้นเอกจาก 99 ศิลปินศิษย์เก่าจากศตวรรษที่ 20 สู่ศตวรรษที่ 21

KEY

POINTS

  • ข้ามศตวรรษ : นิทัศนศิลปะ 2567 (Across the Centuries: A Visual Art Exposition By Alumni of the Faculty of Painting, Sculpture and Graphic Arts, Silpakorn University) เป็นชื่อนิทรรศการแสดงงานศิลปะ เนื่องในโอกาสครบ 80 ปี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ศิลปินศิษย์เก่าจากศตวรรษที่ 20 สู่ศตวรรษที่ 21 ครอบคลุม 3 รุ่น ระดับบรมครู ศิลปินรุ่นกลาง และศิลปินหน้าใหม่ 99 ท่าน ร่วมแสดงผลงานศิลปะครั้งประวัติศาสตร์
  • ชม พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดด้วย ดิน จากผืนแผ่นดินไทย, ภาพจิตรกรรม วัดร่องขุ่นยามค่ำคืน หมายเลข 1 อันเนื่องจากแผ่นดินไหวเชียงราย, ภาพ บูชาครูวัดเชตุพน ของศิลปินแห่งชาติ ปรีชา เถาทอง และงานศิลปะร่วมสมัยชิ้นเอกอีกมากมาย
  • จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 – 31 มีนาคม 2567 ณ ICONLUXE Pop Up Space , ICONLUXE Gallery ชั้น 1, Arts way และWalk way ชั้น M ไอคอนสยาม
     

เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานนิทรรศการแสดงผลงาน ศิลปะร่วมสมัย โดยฝีมือของศิลปินมืออาชีพระดับชั้นแนวหน้าของไทยกว่า 99 ท่านเป็นครั้งแรก ในชื่อ ข้ามศตวรรษ : นิทัศนศิลปะ 2567 (Across the Centuries: A Visual Art Exposition By Alumni of the Faculty of Painting, Sculpture and Graphic Arts, Silpakorn University)

นิทรรศการครั้งนี้จัดโดย สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ ไอคอนสยาม

นิทัศนศิลปะ คือการผสมคำระหว่าง “นิทรรศการ” กับคำว่า “ทัศนศิลป์” หมายความว่า นิทรรศการที่จัดแสดงทัศนศิลป์

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ธราธิป นัทธีศรี

นิทรรศการ ข้ามศตวรรษ : นิทัศนศิลปะ เป็นนิทรรศการในระดับมหกรรมที่นำเสนอความโดดเด่นและคุณค่าของศิลปะร่วมสมัยไทยที่หลากหลายแนวทาง ครอบคลุมบริบททางสังคม รูปแบบ เนื้อหา ผลงานศิลปะและศิลปินหลายยุคและหลายรุ่นในระดับข้ามศตวรรษ ประกอบด้วยศิลปินประมาณ 99 ท่าน รวมกว่า 105 ผลงาน จาก 3 รุ่น จากศตวรรษที่ 20 สู่ศตวรรษที่ 21

"เรียงลำดับตั้งแต่ศิลปินระดับ ‘บรมครู’ (Master) ที่ผ่านการทำงานศิลปะระดับคุณภาพมาอย่างยาวนาน เริ่มวิถีศิลปินตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 20

ครอบคลุมไปถึงศิลปิน ‘รุ่นกลาง’ (Midcareer) ที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางสร้างสรรค์ศิลปะและกำลังรอเวลาขยับขึ้นสู่ระดับบรมครู และศิลปินรุ่นเล็กที่แม้ว่าจะเป็น ‘หน้าใหม่’ (Newcomers) เริ่มแจ้งเกิดในวงการศิลปะในศตวรรษที่ 21 แต่เปี่ยมล้นด้วยไฟแห่งความคิดสร้างสรรค์” นาย ธราธิป นัทธีศรี นายกสมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าว

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ประทีป คชบัว, วันดา ใจมา, ธราธิป นัทธีศรี, ศ.สุธี คุณาวิชยานนท์, อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ

ศาสตราจารย์ สุธี คุณาวิชยานนท์ หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์และศิษย์เก่า คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ คณะจิตรกรรมฯ ครบรอบ 80 ปีเมื่อปี 2566 มีอายุเท่ากับมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2486 ดังนั้นปี 2567 คณะฯ และมหาวิทยาลัยฯ จึงก้าวสู่ปีที่ 81

“งานนี้เราพยายามรวบรวมศิษย์เก่าให้ครอบคลุมเท่าที่จะทำได้ เป็น 80 ปีที่ประสบความสำเร็จในการสร้างบุคลากรทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักวิชาการ ภัณฑารักษ์ บางคนไปเป็นนักเขียน นักออกแบบ เราเชิญชวนศิษย์เก่าให้ได้จำนวนมากที่สุดตามความจำกัดของพื้นที่แสดงงาน

ศิลปินท่านใดอยากส่งผลงานใดมาจัดแสดง เราก็รับมาแสดงทั้งหมด ผลงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้จึงมีความหลากหลายมาก ทั้งงานประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย สื่อผสม 

ถ้าพูดถึงแนวงาน มีตั้งแต่เหมือนจริง นามธรรรม ไทยประเพณี คอนเซปต์ชวล ป๊อบ เนื้อหาเรื่องราวมีตั้งแต่ทิวทัศน์ นามธรรม พุทธปรัชญา วิถีชีวิต ประเด็นวิจารณ์สังคม” ศ.สุธี กล่าว

ชื่อผลงาน : พระเจ้าแผ่นดิน, 2566
ศิลปิน : สมภพ บุตราช
เทคนิค : ดินบนผ้าใบ 
ขนาด : 120 x 100 เซนติเมตร

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ชื่อผลงาน : พระเจ้าแผ่นดิน, 2566

ภาพจิตรกรรมพระบรมสาทิสลักษณ์ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ เขียนขึ้นด้วย ‘ดิน’ เชื่อมโยงไปถึงคำว่า ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ และพระนาม ‘ภูมิพล’ ที่แปลว่าพลังของแผ่นดิน และพระองค์ได้ทรงงานเกี่ยวกับดินไว้มากมาย

ศ.สุธี กล่าวถึงภาพนี้เพิ่มเติมว่า เป็นภาพที่ศิลปินเดินทางเก็บดินจากสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งดินแต่ละแห่งมีสีสันที่แตกต่างกัน แล้วนำดินที่มีสีต่างกันมาเขียนเป็นภาพวาดเหมือนบุคคล (portrait) ซึ่งก็คือภาพจิตรกรรมพระบรมสาทิสลักษณ์ภาพนี้

“ปกติการวาดรูป เราต้องซื้อสีหลายสีมาวาด และผสมให้เกิดเป็นสีนั้นสีนี้แทนสีผิว แต่นี่ศิลปินไม่ได้ผสมสีจากหลอด ทั้งหมดเป็นสีจากดินที่ต่างๆ นำดินมาผสมน้ำให้เหลวผสมกาวนิดหน่อยให้ติดผ้าใบ ไม่เช่นนั้นดินจะแห้ง แตกและหลุด”

นอกจากความหมายที่ลึกซึ้ง กระบวนการและวัสดุที่สร้างผลงาน ทักษะที่เป็นเลิศของศิลปิน ทำให้ผลงานชิ้นนี้มีคุณค่าสูงยิ่ง

 

ชื่อผลงาน : สมเด็จพระพันปีหลวงฯ, 2567
ศิลปิน : จีรพงศ์ ขุนแผ้ว
เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าลินิน
ขนาด : 33 x 44 เซนติเมตร

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ชื่อผลงาน : สมเด็จพระพันปีหลวงฯ, 2567

ภาพจิตรกรรมพระบรมสาทิสลักษณ์ ‘สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ ภาพนี้แสดงถึงทักษะการวาดภาพขั้นสูง สมบูรณ์ด้วยความสมจริงและเปี่ยมล้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่สุขุม

แต่ก็แฝงไว้ด้วยความสดใสจากสีสัน ลวดลายฉลองพระองค์ เครื่องทรง รอยแย้มพระโอษฐ์ (รอยยิ้ม) สายพระเนตร (แววตา) ที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระองค์ มีทั้งแสงสะท้อนและราวกับมีน้ำคลออยู่ในดวงพระเนตร สมจริงดั่งมีชีวิต

 

ชื่อผลงาน : การเดินทางของชีวิต, 2565
ชื่อศิลปิน : ปริญญา ตันติสุข
เทคนิค : สีอะคริลิคบนผ้าใบ
ขนาด : 60 x 80 เซนติเมตร

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ชื่อผลงาน : การเดินทางของชีวิต, 2565

ศ.สุธี กล่าวว่า ปริญญา ตันติสุข ได้รับการยกย่องเป็น ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ผลงานจิตรกรรมภาพนี้มีความเป็นนามธรรม มีความงามอันเรียบง่าย แต่มีเรื่องราว มีความวิจิตรบรรจงในรายละเอียด

แถบริ้วแนวตั้งหมายถึงความมีระบบระเบียบ อยู่ร่วมกับคราบสีอิสระ คล้ายความสุขความทุกข์ที่สาดเข้ามาในชีวิตเป็นระยะ นกตัวเล็กๆ กำลังมองไปที่ช่อดอกไม้ อาจสะท้อนความรื่นรมย์ของชีวิต มีสิ่งมีชีวิตคล้ายๆ คนอยู่เต็มลำเรือ พูดถึงการเดินทางบางอย่างในชีวิต

โดยเฉพาะหากเพ่งพินิจให้ดี จะพบลายเส้นคล้ายรูปร่างคนนอนราบอยู่บนแถบสีขาว มีแถบสีหยดอยู่ข้างใต้ อาจหมายถึงเชิงตะกอน อีกหนึ่งการเดินทางของชีวิต

และต้องตาดีขนาดไหน คุณจึงจะเห็นลายเซ็นศิลปินอยู่ในผลงานภาพนี้ บอกใบ้ว่าเป็นลายเส้นสีขาว มุมล่างด้านขวามือ เตรียมแว่นขยายไปส่องกันได้

 

ชื่อผลงาน : สายฝน, 2561
ชื่อศิลปิน : พรชัย ใจมา
เทคนิค : สีฝุ่น, อะคริลิค และทองคำเปลว
ขนาด : 80 x 60 เซนติเมตร

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ชื่อผลงาน : สายฝน, 2561

พรชัย ใจมา ได้รางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ด้านจิตรกรรม พ.ศ.2548 เป็นชาวเชียงใหม่ มีความโดดเด่นในการนำเสนอภาพวาดวิถีชีวิตชาวบ้านชาวชนบทโดยเฉพาะชาวล้านนา

มีชื่อเสียงจากการประกวด อาทิ ศิลปกรรมเยาวชนล้านนา, การประกวดศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต, จิตรกรรมบัวหลวง จากนั้นเดินทางกลับเชียงใหม่เพื่อเปิดหอศิลป์ที่อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 

ภาพจิตรกรรม ‘สายฝน’ ที่นำมาจัดแสดงนำเสนอบรรยากาศและใบหน้าเปี่ยมสุข การเฉลิมฉลองช่วงเวลาที่ล้ำค่าดุจดั่งทองคำ เนื่องจากวิถีชนบท สายฝนเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์

 

ชื่อผลงาน : วัดร่องขุ่นยามค่ำคืน หมายเลข 1, 2558
ชื่อศิลปิน : ถาวร โกอุดมวิทย์
เทคนิค : สีอะคริลิคบนผ้าลินิน
ขนาด : 75 x 95 เซนติเมตร

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ชื่อผลงาน : วัดร่องขุ่นยามค่ำคืน หมายเลข 1, 2558

ภาพแสงประทีปและอุโบสถ วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย งามสงบในบรรยากาศยามค่ำคืน พร้อมกับดูลึกลับ น่าค้นหา และปลุกเร้าจินตนาการของผู้ชมได้อย่างมีพลัง

ศิลปินเล่าว่าเขียนภาพนี้ขึ้นมาในช่วงเวลาที่มีข่าวเชียงรายเกิดเหตุแผ่นดินไหว วัดร่องขุ่นเกิดความเสียหาย กระทั่งอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ออกมาตัดพ้อด้วยความเศร้าถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น

ศ.สุธี กล่าวว่า จากการที่เคยมีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์เฉลิมชัย อาจารย์เล่าว่าได้เตรียมการไว้หมดแล้ว มีการวางแผน มีระบบจัดการ เตรียมเงินในการดูแลรักษาบูรณะวัดร่องขุ่น ถึงขนาดตนเองเสียชีวิตไปแล้ว วัดร่องขุ่นยังอยู่ได้อีกอย่างน้อย 30 ปี แต่ลืมนึกถึงภัยธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

อาจารย์ถาวรได้แรงบันดาลใจจากตรงนั้นทำเป็นภาพนี้ขึ้นมา เป็นภาพเงาของวัดร่องขุ่นท่ามกลางบรรยากาศดูลึกลับชวนให้ค้นหา มีอารมณ์ของการโหยหาอดีตตามความถนัดของอาจารย์ถาวรที่ชอบพูดถึงความทรงจำ ขณะเดียวกันก็แฝงความไม่แน่นอนของชีวิต และภัยธรรมชาติ

 

ชื่อผลงาน : บูชาครูวัดเชตุพน, 2565
ชื่อศิลปิน : ปรีชา เถาทอง
เทคนิค : สีอะคริลิคบนผ้าใบ
ขนาด : 120 x 90 เซนติเมตร

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร

ชื่อผลงาน : บูชาครูวัดเชตุพน, 2565

ช่วงชีวิตที่ ปรีชา เถาทอง ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรใกล้สำเร็จการศึกษา ประมาณปีพ.ศ.2510 ได้เขียนงานจิตรกรรมขึ้นมาชุดหนึ่ง ถือเป็นลายเซ็นเฉพาะตัว และเป็นผลงานระดับไอคอนในเวลาต่อมา เนื่องจากไปชนะรางวัลประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ได้เหรียญทองติดต่อกัน 3 ปีซ้อน จนกระทั่งได้รางวัลศิลปินชั้นเยี่ยมในวัยหนุ่ม

ผลงานชุดนั้นก็คือชุด แสงและเงา โดยมีฉากเป็นงานสถาปัตยกรรมภายในวัด โบสถ์ วิหาร ดูสงบงดงาม สร้างความพึงใจแก่ผู้ชมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะชุดที่ทำให้โด่งดังคือชุดภาพเขียนที่วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ

ภาพ ‘บูชาครูวัดเชตุพน’ ศิลปินเขียนขึ้นเพื่อบูชาครูช่างที่สร้างวัดพระเชตุพนฯ วัดที่เป็นแรงบันดาลใจและเป็นพื้นที่ที่ศิลปินนำมาเขียนภาพชุด ‘แสงและเงา’

ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ฝากผลงานจิตรกรรมไทยร่วมสมัยไว้มากมาย รวมทั้งร่วมเขียนภาพประกอบสำหรับพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เรื่อง “พระมหาชนก” พ.ศ.2538 และได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) พ.ศ.2552

 

ชื่อผลงาน : มนุษย์ผู้รอบรู้, 2565
ชื่อศิลปิน : อินสนธิ์ วงค์สาม
เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าใบ
ขนาด : 115 x 95 เซนติเมตร

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร

ผลงาน : มนุษย์ผู้รอบรู้, 2565

อินสนธิ์ วงค์สาม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี พ.ศ.2542 พื้นฐานของศิลปินท่านนี้เป็นประติมากรและทำงานภาพพิมพ์ตั้งแต่ราวปีพ.ศ.2505 เป็นภาพแนววิถีชีวิตชาวชนบท และเป็นผู้สร้างตำนานขี่สกู๊ตเตอร์จากประเทศไทยสู่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บ้านเกิดของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้วางรากฐานศิลปะร่วมสมัยในเมืองไทย

ศ.สุธี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่ออินสนธิ์ในวัย 28 ปี เดินทางถึงอิตาลีและใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ในหลายประเทศในยุโรปและอเมริการวมกว่าสิบปี จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย ที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนบ้านเกิด

อำเภอป่าซางอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ อินสนธิ์สร้างงานศิลปะโดยขุดรากไม้ที่ตายแล้วตามธรรมชาติมาแกะสลักโดยมีรูปทรงอิสระเชิงนามธรรมเชื่อมโยงไปถึงธรรมชาติ ตรงข้ามกับรูปทรงเชิงเรขาคณิต 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมางานของ อินสนธิ์ วงค์สาม ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์ จิตรกรรม ประติมากรรม ก็จะมีลักษณะรูปทรงเฉพาะตัว เป็นอิสระ เป็นรูปทรงจากธรรมชาติ 

“ถ้าเป็นงานประติมากรรม ไม่เล่นสีเยอะ เป็นสีสัจจะวัสดุ พอเป็นจิตรกรรมเล่นสีได้ มีสีสันให้เล่น รูปทรงคล้ายประติมากรรม แต่เติมสีลงไป แสดงความโดดเด่นของจิตรกรรม”

จิตรกรรม ‘มนุษย์ผู้รอบรู้, 2565’ ดูแล้วเกิดความเพลิดเพลินทางสายตา ด้วยภาพกึ่งเล่าเรื่องกึ่งนามธรรม รูปทรงที่โดดเด่นอยู่กึ่งกลางภาพนี้คล้ายคลึงกับใบหน้าสิ่งมีชีวิตหรือมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความงามในแบบนามธรรม เป็นผลงานที่สวยทั้งรูปทรง ลวดลาย และสีสัน

 

ชื่อผลงาน : Illustration No.1
ชื่อศิลปิน : ธราธิป นัทธีศรี
เทคนิค : สื่อผสมบนกระดาษ Awagami
ขนาด : 84 x 59 เซนติเมตร

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ผลงาน : Illustration No.1

ศิลปินอธิบายว่า เป็นการพิมพ์ภาพถ่ายลงบนกระดาษอะวากามิ เป็นภาพต้นไม้ที่ตายแล้วอยู่ใต้น้ำที่ใสราวกระจก มองเห็นองค์ประกอบของคลื่นน้ำและแสงแดดที่ตกกระทบผิวน้ำ ท่ามกลางทิวทัศน์ที่สวยงามของธรรมชาติ

“อะวากามิ เป็นกระดาษทำมือของญี่ปุ่น กระดาษมีความหนาและซึมซับสีได้เหมือนกับสีน้ำ ตอบโจทย์ที่เราอยากให้งานถ่ายรูปออกมาเป็นภาพเขียนสีน้ำ ซึ่งเราค่อยๆ แสวงหาและทดลองทำ”

 

ชื่อผลงาน : ฉันรักกรุงเทพ (Bookroom series), 2564
ชื่อศิลปิน : ชาติชาย ปุยเปีย
เทคนิค : สีควอชบนผ้าใบ
ขนาด : 100 x 140 เซนติเมตร

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ผลงาน : ฉันรักกรุงเทพ (Bookroom series), 2564

จิตรกรรมภาพนี้เป็นงานชุดล่าสุดที่ ชาติชาย ปุยเปีย ศิลปินศิลปาธร (ทัศนศิลป์, พ.ศ.2549) กำลังทำอยู่ เป็นชุดซีรีส์เกี่ยวกับ ‘หนังสือ’ ตามประสาที่ศิลปินเป็นคนชอบอ่านหนังสือ

แนวคิดส่วนหนึ่งคือถ้าเขาได้รับหน้าที่เขียนภาพปกหนังสือเล่มต่างๆ ที่เขาชอบ เขาจะวาดยังไง และหนังสือชื่อ “ฉันรักกรุงเทพฯ” เป็นหนึ่งในหนังสือที่เขาชอบ 

“ฉันรักกรุงเทพฯ” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นๆ จากปลายปากกาของนักเขียนสตรีเจ้าของนามปากกา “สุวรรณี สุคนธา” ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดวงตา เมื่อปีพ.ศ.2540 นำเสนอเรื่องราวของนักศึกษาศิลปะหน้าพระลานซึ่งมีพฤติกรรมสนุกสนานไปจนถึงเพี้ยนๆ น่ารักน่าหมั่นไส้ในสายตาคนทั่วไป

ใครเป็นแฟนผลงานของ สุวรรณี สุคนธา เห็นภาพ “ฉันรักกรุงเทพ (Bookroom series), 2564” ของ ชาติชาย ปุยเปีย นอกจากจะคิดถึงเรื่องสั้นสุดสนุกในเล่มแล้ว คงคิดถึง “นิตยสารลลนา” อีกหนึ่งผลงานเอกอุของ สุวรรณี สุคนธา

เพราะมีการใช้ ฟอนต์ (font รูปแบบตัวพิมพ์) สวยเท่ไม่เหมือนใคร ที่เรียกกันว่า “ฟอนต์ลลนา” ปรากฏในภาพวาด ฟอนต์อมตะนี้ออกแบบโดย รุ่งทิพย์ เตียวสุวรรณ

ส่วนภาพชายเกือบเปลือยที่นอนอยู่ในภาพโดยมีกล่องคลุมศีรษะ ศิลปินกล่าวว่าไม่ได้บ่งบอกแน่ชัดว่าเป็นใคร อาจเป็นตัวละครในเรื่อง มีตัวตนจริงหรือไม่มีก็ได้ เป็นตัวศิลปินเอง หรือเป็นใครก็ได้ ถือเป็นชายนิรนามให้ผู้ชมวาดภาพได้จินตนาการ

 

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร นิทรรศการ ข้ามศตวรรษ: นิทัศนศิลปะ 2567

นี่เป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ข้ามศตวรรษ: นิทัศนศิลปะ 2567 (Across the Centuries: A Visual Art Exposition By Alumni of the Faculty of Painting, Sculpture and Graphic Arts, Silpakorn University) ที่ได้บันทึกประวัติศาสตร์ 80 ปีของศิลปะร่วมสมัยในไทย

เพราะในนิทรรศการฯ ยังมีผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินอีกหลายท่าน อาทิ ศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี 2560, อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม - สื่อผสม) ปี 2563

กนกพร เหล่าปิยะสกุล, กัญญา เจริญศุภกุล, กำศักดิ์ อติพิบูลย์สิน, เกรียง เรขะรุจิ, จักรี คงแก้ว, จารุต วงศ์คำจันทรา, จิตต์สิงห์ สมบุญ, จินตนา เปี่ยมศิริ, ฉลอง บุญจันทึก

ชลิต นาคพะวัน, ชวัส จำปาแสน, ฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร, ทรงไชย บัวชุม, ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์, ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, ธงชัย ศรีสุขคุณประเสริฐ

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นพพีระ โบศรี, นัยนา โชติสุข, ปรมัตถ์ เหลืองอ่อน, ปรมา เหล่าปิยะสกุล, ประทีป คชบัว, พงษธัช อ่วยกลาง, พลุตม์ มารอด, ไพโรจน์ วังบอน, มนูญ ศรีวงศ์กรกฏ, เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล, วันดา ใจมา, วิชญ มุกดามณี, วิวิชชา ยอดนิล, วีระพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ (อายิโน๊ะ)

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี, ศิริรัตน์ เอี่ยมสกุลเดชะ, ศุภชีพ จันทวงษ์,  สมพงษ์ ตั้งสถาพรนิตย์, สมวงศ์ ทัพรัตน์,  สิริพุฒ พูลลาภ, สิโรตม์ ทองชมภู, สุทธิพันธ์ สิทธิชัย, สุธี คุณาวิชยานนท์,

สุรกิจ ธรรมาสถิตย์, แสนคม สมคิด, อนุพันธ์ น้ำทิพย์, อลงกรณ์ หล่อวัฒนา, อัจจิมา เจริญจิตร, อาคม ด้วงชาวนา, อุดม ธรฤทธ์ และ  โอภาส โชติพันธวานนท์

ศิลปินแต่ละท่านล้วนมีเรื่องราวอยู่ในงานศิลปะที่นำมาจัดแสดง เห็นรายชื่อแล้ว คอศิลปะไม่ควรพลาดชม ที่สำคัญภาพที่ถ่ายมานี้เก็บความงดงามของชิ้นงานจริงมาได้เพียงเศษเสี้ยว

ชมพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 วาดจากดิน งานครบ 80 ปี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร นิทรรศการ ข้ามศตวรรษ: นิทัศนศิลปะ 2567

นิทรรศการ ข้ามศตวรรษ: นิทัศนศิลปะ 2567 จัดแสดงใน 3 พื้นที่ ณ ICONLUXE Pop Up Space , ICONLUXE Gallery ชั้น 1, Arts way และ Walk way ชั้น M ไอคอนสยาม วันนี้-31 มีนาคม 2567