'เทศกาลเล่นว่าวไทย' ชม 'นิทรรศการว่าว' และชมว่าวออกแบบโดยศิลปินไทย
'ไอคอนสยาม' จัด 'เทศกาลเล่นว่าวไทย' ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชมว่าวออกแบบพิเศษโดยศิลปินไทย และชม 'นิทรรศการว่าว' เวิร์คชอปทำว่าว 26 มีนาคม - 8 เมษายน 2567
เทศกาลเล่นว่าวไทย เวียนมาถึงอีกครั้ง ณ ริเวอร์ พาร์ค ชั้น G ไอคอนสยาม
สนามเล่นว่าวขนาดใหญ่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต้อนรับคุณหนู ๆ วันปิดเทอมและคนรักว่าว พร้อมชม นิทรรศการว่าวและเล่นว่าวไทย พร้อมกิจกรรมตลอด 14 วัน (26 มีนาคม – 8 เมษายน 67)
ปีนี้คอนเซปต์ ศิลปะแห่งสายลมรับหน้าร้อน (Embrace the Art of the Sky) ว่าวออกแบบพิเศษโดย 4 ศิลปินไทย สร้างสรรค์ผลงานวาดลวดลายลงบนว่าวไทยจัดแสดงงานศิลปะบนท้องฟ้า มีอาทิ
ปัณพัท เตชเมธากุล ศิลปินภาพวาดอิลลัสเตรท เสนอผลงานชื่อ The Lion of January ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ภาพงานศิลปะของเธอนำมาทำเป็นว่าว และใช้งานจริงบนท้องฟ้า ปัณพัท บอกว่า
ปัณพัท เตชเมธากุล ออกแบบลวดลายว่าวเป็นครั้งแรก
“แรงบันดาลใจมาจากภาพผนัง และเรื่องราวของป่าหิมพานต์ ซึ่งเหมาะกับการแสดงว่าวไทย หากย้อนไปตอนเด็ก ๆ ว่าวเป็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจในทุกฤดูร้อน หรือแม้แต่เวลาไปทะเล เวลาจะเล่นก็ต้องรอช่วงที่มีลม และต้องหาที่โล่งโปร่งถึงจะเล่นได้สนุก
ลวดลายว่าวของปัณพัท
ทุกครั้งที่เล่นก็ชอบจินตนาการว่า ถ้าว่าวใหญ่มาก ๆ จนเราขึ้นไปนั่งข้างบนได้จะรู้สึกยังไงบ้าง ซึ่งเป็นความฝันตั้งแต่เด็ก ๆ ที่ว่า วันหนึ่งจะได้ใช้ภาพวาดของตัวเองอยู่บนกระดาษว่าว และบินฉวัดเฉวียนอวดลวดลาย และลีลาบนท้องฟ้า”
ว่าวของ กฤษฏิ์พัณณ์ สุวรรณวัฒนาสุข แรงบันดาลใจจากเทศกาลสงกรานต์
กฤษฏิ์พัณณ์ สุวรรณวัฒนาสุข ปีนี้เป็นที่ 2 ที่มาร่วมรังสรรค์ชิ้นงานบนว่าวให้แก่ไอคอนสยาม ศิลปินหนุ่มบอกว่า
“ผลงานชื่อ SUPER SUMMER TIME แรงบันดาลใจในเทศกาลสงกรานต์ โดยใช้สีสันกับผลงานที่เหมือนการโดนแดดแรง ๆ สื่อถึงอารมณ์ที่เปรียบเสมือนตัวละครที่อยู่นอกบ้าน และกำลังเที่ยวเล่นอยู่กับท้องฟ้าสีน้ำเงิน ความพิเศษคือการผสมผสานภาษาไทย พร้อมลายเส้นส่วนตัวกับ Elements ที่เป็น 3D สำหรับทรงว่าวจุฬาเข้าไป
เทศกาลเล่นว่าวไทย ไอคอนสยาม
อยากทำชิ้นงานที่เวลาคนเห็นว่าวแล้วอารมณ์ดี เหมือนเห็นตัวเองที่รู้สึกอบอ้าว และเจอความร้อนช่วงสงกรานต์ อยากสื่ออารมณ์ให้คนที่เห็นรู้สึกขำขันและสนุกไปกับว่าวที่กำลังบินไปมา โดยเน้นดีไซน์ลูกตาขนาดใหญ่ที่เมื่อเวลาลอยอยู่บนท้องฟ้า คนดูก็ยังสามารถ Eye Contact กับลูกตาในยามที่ว่าวขยับไปมา ซึ่งเหมือนกับมองงานศิลปะที่เคลื่อนไหวบนท้องฟ้าจริง ๆ”
น้องอาณา
ศิลปินรุ่นเยาว์ สักกตะฤจ อินทรวิชะ หรือ น้องอาณา หนึ่งในศิลปิน NFT วัย 12 ปี ร่วมผลิตผลงานชื่อ Rapbit Man in the sky แรงบันดาลใจมาจากเหล่า Superhero
ลวดลายว่าวของน้องอาณา
“รู้สึกดีใจและได้เห็นงานศิลปะที่ผมออกแบบได้โบยบินสร้างความสุขให้กับผู้คน ความพิเศษคือแคแรกเตอร์ที่ชื่อ Rapbit Man ออกแบบให้เป็น Superhero เพื่อเหาะขึ้นบนท้องฟ้า เพิ่มความพิเศษให้สอดคล้องกับปีมังกร โดย Rapbit Man มีหูด้านซ้ายเป็นหัวมังกร”
วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่น 3 ของ เถ้า ฮง ไถ่ เจ้าของผลงาน ไอ้จุด กับผลงานชื่อ Flying Dot Dog ครั้งนี้ “ไอ้จุด” มาสร้างสรรค์ในรูปแบบ 2 มิติ วศินบุรี บอกว่า
“การออกแบบครั้งนี้ถือเป็นการฟื้นความทรงจำวัยเด็ก เนื่องจากอุปกรณ์ของเล่นที่จะสร้างความสนุกมีไม่มากและหลากหลายเท่าในปัจจุบัน เป็นความสุขที่ทำให้จำได้ถึงช่วงเวลานั้นอีกครั้ง
ว่าวหมาลายจุดหรือ "ไอ้จุด" ออกแบบโดย วศินบุรี
แนวคิดในการสร้างสรรค์คือสะท้อนคอนเซปต์ของ Embrace the Art of the Sky บ่งบอกถึงความหลากหลาย และมุมมองที่เป็นไปได้ของงานศิลปะว่าคือสิ่งที่น่าสนุก ทั้งยังทำให้เห็นถึงการไม่จำกัดพื้นที่ในการแสดง หรือมุมมองที่ถูกมองเห็นของงานศิลปะมากขึ้น”
เทศกาลเล่นว่าวไทย ไอคอนสยาม
เที่ยวงานชมว่าวและเล่นว่าว ICONSIAM Thailand’s Kite Festival 2024 กับผลงานจาก 4 ศิลปินไทยชั้นนำ พร้อมกิจกรรม อาทิ ชมว่าวออกแบบพิเศษที่หาดูยาก, ว่าวมังกรขนาดยาวต้อนรับปีมังกร, ว่าวตัวหนังสือ ICONSIAM, ว่าวแฟนซี, ว่าว LED เหนือแม่น้ำเจ้าพระยา, นิทรรศการว่าว 4 ภาค ฯลฯ
เทศกาลเล่นว่าวไทย วันที่ 26 มีนาคม – 8 เมษายน 2567 ณ ริเวอร์ พาร์ค ชั้น G ไอคอนสยาม โทร.1338, www.iconsiam.com, FB: ICONSIAM
ชมนิทรรศการว่าว, ว่าวหาดูยาก, เวิร์คชอปทำว่าว
เล่นว่าว...ประเพณีและกีฬาเก่าแก่ของไทย
ประเพณีเล่นว่าว ของไทยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย บันทึกไว้ว่าสมัยพ่อกรุงศรีอินทราทิตย์ (พระร่วง) โปรดการเล่นว่าวมาก ว่าวที่รู้จักกันมากได้แก่ ว่าวหง่าว หรือ ว่าวดุ๋ยดุ่ย ซึ่งจะใช้ชักขึ้นในพิธี "แคลง" เป็นความเชื่อของประชาชนในสมัยนั้นว่าเพื่อเป็นการเรียกลมหรือความโชคดีให้เกิดขึ้น
ว่าวจุฬา ปรากฏในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา บันทึกว่าว่าวใช้ในการสงครามด้วย และพระพุทธเจ้าเสือก็ทรงโปรดการเล่นว่าว การแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้าก็เกิดขึ้นในสมัยนี้
ในจดหมายเหตุของ มองซิเออร์ ลาลูแบร์ เขียนถึงการเล่นว่าวของไทยว่า “เป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายและขุนนาง ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ปรากฏในท้องฟ้าตลอดระยะเวลา 2 เดือน ของฤดูหนาว และทรงแต่งตั้งขุนนางให้คอยผลัดเปลี่ยนเวรกันถือสายป่านไว้ ในเวลากลางคืนรอบพระราชนิเวศน์ จะมีว่าวรูปต่าง ๆ ลอยอยู่ ว่าวนี้ติดโคมไฟส่องสว่าง และลูกกระพรวนส่งเสียงกรุ๋งกริ๋ง”
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชานุญาติให้ประชาชนเล่นว่าวได้ที่ท้องสนามหลวง และจัดการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้า ชิงถ้วยทองคำพระราชทานที่พระราชวังสวนดุสิต
การเล่นว่าวยังคงเป็นการละเล่นและกีฬาที่นิยมโดยเฉพาะในราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้ามาก โดยมักจัดการแข่งขันกลางแจ้ง ณ ท้องสนามหลวง เป็นที่สนุกสนานเมื่อเวลาที่ว่าวสายใดชนะพระองค์ ก็ทรงโปรดพระราชทานถ้วยรางวัล
ว่าว LED
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนให้จัดตั้งสมาคมกีฬาว่าวเมื่อ พ.ศ. 2469 และมีการเขียนตำราว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าวและการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ ของ พระยาภิรมย์ภักดี ผู้ชำนาญการเรื่องว่าวไทย และเป็นนายสนามแข่งว่าว
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเรือนพัฒนาไปเป็นตึกต่าง ๆ ว่าวกลายเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาเพราะบางครั้งก็ลอยไปติดสายไฟ จนมีคนถูกไฟดูด ประกอบกับคนที่มีภูมิปัญญาด้านการทำว่าวเริ่มลดน้อยลง ทำให้การเล่นว่าวที่อยู่คู่กับคนไทยมาไม่ต่ำกว่า 700 ปี เริ่มเสื่อมความนิยมลงไป กลายเป็นการละเล่นตามฤดูกาล
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2526 หน่วยงานราชการและเอกชนร่วมกันจัดงาน มหกรรมว่าวไทย ณ ท้องสนามหลวง จัดประกวดว่าว ทั้งว่าวแผง ว่าวประเภทสวยงาม ประเภทความคิด และว่าวตลกขบขัน โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน และปีต่อมาก็จัดงาน ประเพณีว่าวไทย
ปัจจุบันว่าวแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ
1. ว่าวแผง ว่าวที่ไม่มีความหนา มีแต่ส่วนกว้างและส่วนยาว เช่น ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวแอก (ว่าวแอว) ว่าวอีลุ้ม ว่าวอีแพรด ว่าวเดือน ว่าวหน้าควาย หรือว่าวรูปสัตว์ต่าง ๆ
2. ว่าวภาพ ว่าวที่ประดิษฐ์ให้มีลักษณะพิเศษ เพื่อแสดงแนวคิด ฝีมือในการประดิษฐ์ แบ่งย่อยได้ 3 ชนิด ดังนี้
2.1. ว่าวประเภทสวยงาม
2.2. ว่าวประเภทความคิดสร้างสรรค์ เช่น ว่าวผีเสื้อ ว่าวนก ว่าวเครื่องบิน 2.3. ว่าวประเภทตลกขบขัน
ว่าวแผง เท่านั้นที่นิยมนำมาแข่งขัน ส่วนว่าวภาพจะทำขึ้นสำหรับอวดรูปร่าง และนิยมชักให้ลอยนิ่งอยู่ในอากาศให้คนชม
ข้อมูล : thaikite.com