ฮ่องกงรำลึก '100 ปี กิมย้ง' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร

ฮ่องกงรำลึก '100 ปี กิมย้ง' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร

รำลึก 100 ปี ‘กิมย้ง’ ฮ่องกงจัดนิทรรศการ A Path to Glory – Jin Yong’s Centennial Memorial โชว์เส้นทางสู่ความรุ่งโรจน์แห่งยุทธภพมังกรหยก ปั้นประติมากรรมตัวละครนวนิยายกำลังภายในเรื่องดัง ก๊วยเจ๋ง อึ้งย้ง เอี้ยก้วย เซียวเหล่งนึ่ง ตงฟางปุ๊ป้าย หลิงหูชง เยิ่นอิ๋งอิ๋ง

KEY

POINTS

  • A Path to Glory – Jin Yong’s Centennial Memorial  คือนิทรรศการพิเศษรำลึก 100 ปี ‘กิมย้ง’ หรือ จา เหลียงยง (Zha Liangyoug) ผู้ให้กำเนิดนวนิยายกำลังภายในเรื่องดังหลายเรื่อง อาทิ มังกรหยก ดาบมังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร แปดเทพอสูรมังกรฟ้า 
  • นิทรรศการจัดแสดง “ประติมากรรมตัวละคร” จากนวนิยายกำลังภายในหลายเรื่อง อาทิ ก๊วยเจ๋ง อึ้งย้ง เอี้ยก้วย เซียวเหล่งนึ่ง ตงฟางปุ๊ป้าย หลิงหูชง เยิ่นหว่อสิง ต้วนอี้ ฯลฯ
  • ประติมากรรมถอดแบบจากคำบรรยายที่กิมย้งเขียนไว้ในบทประพันธ์อมตะ ปั้นโดย Ren Zhe ประติมากรชื่อดังของจีน
  • พร้อมประสบการณ์แบบอิมเมอร์ซีฟ รับฟังเรื่องราวผ่านเครื่องบรรยายหลายภาษาและเทคโนโลยี AR นำฉากและเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวละครในนิยายมาบอกเล่าใหม่ให้เห็นภาพ 
     

มังกรหยก เป็นนวนิยายกำลังภายในที่เมื่อนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์กี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ได้รับการติดตามและจับตามองว่านักแสดงคนใดจะมารับบทตัวละครเอกที่พวกเขารัก

จา เหลียงยง (Zha Liangyoug) หรือ ดร.หลุยส์ ชา เจ้าของนามปากกา กิมย้ง (Jin Yong) ประพันธ์เรื่อง “มังกรหยก” หรือ The Eagle shooting hero เมื่อปีพ.ศ.2500 ได้รับการนำมาทำเป็นละครกำลังภายในฉายทางโทรทัศน์ครั้งแรกโดยบริษัท CTV เมื่อปีพ.ศ.2519

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร ก๊วยเจ๋ง-อึ้งย้ง มังกรหยก เวอร์ชั่นแรกทางโทรทัศน์ปีพ.ศ.2519

นักแสดงผู้รับบท ก๊วยเจ๋ง เวอร์ชั่นแรกคือพระเอกชื่อดังจากจอเงิน “ไป่เปียว” ส่วนคนที่รับบท อึ้งย้ง คือดาราสาวดาวรุ่งขณะนั้น “หมีเซียะ” 

เวอร์ชั่นนี้นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากตัววรรณกรรมที่มีพล็อตน่าติดตาม มีฉากการต่อสู้ด้วยกำลังภายใน(โดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกมากมายเหมือนยุคนี้) ยังสร้างชื่อเสียงให้กับ หมีเซียะ เกิดในวงการนักแสดงทันที ใครๆ ก็เรียกเธอว่า “อึ้งย้ง”

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร ก๊วยเจ๋ง-อึ้งย้ง คู่ที่ 2 ในมังกรหยก ฉบับปีพ.ศ.2526

7 ปีต่อมา TVB นำวรรณกรรมมังกรหยกมาสร้างใหม่เป็นครั้งที่สอง คราวนี้มอบบทก๊วยเจ๋งให้ “หวงเย่อหัว” บทอึ้งย้งให้กับ “องเหม่ยหลิง” เวอร์ชั่นนี้ได้รับการบันทึกว่าประสบความสำเร็จมากกว่าเวอร์ชั่นแรก และอาจจะมากที่สุดในบรรดามังกรหยกทุกเวอร์ชั่นที่มีการสร้างในเวลาต่อมาถึงปัจจุบัน

นักแสดงสาว “องเหม่ยหลิง” ถึงกับได้รับการยกย่องจากผู้ชมมากมายขณะนั้นว่า "จะไม่มี อึ้งย้ง หลังจาก องเหม่ยหลิง อีกต่อไป"

ต่อมา กิมย้ง เขียน มังกรหยก ภาค 2 (The Return of the Condor Heroes) เมื่อปีพ.ศ.2502 สร้างตัวละครหลักที่น่าหลงใหลและน่ารันทดฉีกขนบพระเอก-นางเอกอย่าง เอี้ยก้วย และ เซียวเหล่งนึ่ง พร้อมเนื้อเรื่องและวรยุทธ์ที่พิสดารขึ้นไปอีก

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร เตียบ่อกี้ เตี๋ยเมี่ยง จิวจี้เยียก ใน "ดาบมังกรหยก" ฉบับปี 2546 และฉบับปี  2562

จักรวาลมังกรหยกเดินทางมาถึงภาคที่ 3 เมื่อ กิมย้ง ให้กำเนิดบทประพันธ์ ดาบมังกรหยก (Heaven Sword and Dragon Sabre) ในปี 2504 เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอีกเกือบ 400 ปีหลังเหตุการณ์ใน มังกรหยก ภาค 2 

ดาบมังกรหยก ผูกเรื่องขึ้นจากดาบและกระบี่วิเศษจนเกิดวลีอมตะ “บัญชาทั่วหล้า ดาบฆ่ามังกร อิงฟ้าไม่มา ใครหาญต่อกร” พร้อม 3 ตัวละครหลัก เตียบ่อกี้ เตี๋ยเมี่ยง จิวจี้เยียก และตัวละครเอกอีกมากมาย

นอกจากจักรวาลมังกรหยก กิมย้ง จรดปลายปากกาเขียนนวนิยายกำลังภายในรวมทั้งหมด 15 เรื่อง ให้กำเนิดตัวละครมากกว่า 1,400 ตัว

ผลงานอันโดดเด่นของเขามียอดจำหน่ายมากกว่า 100 ล้านเล่มทั่วโลก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 14 ภาษา 

ด้วยความลึกซึ้งในแง่ของคุณค่าด้านมนุษยนิยม สังคม และศิลปะ นิยายของกิมย้งจึงไม่เพียงดึงดูดใจนักอ่านเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลสั่นสะเทือนวงการวรรณกรรมทั่วโลกอีกด้วย

ด้วยเหตุผลเช่นนี้เอง ผลงานของกิมย้งจึงขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในงานวรรณกรรมคลาสสิกของทั้งจีนและประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร A Path to Glory – Jin Yong’s Centennial Memorial นิทรรศการรำลึก 100 ปี กิมย้ง

พ.ศ.2567 ถือเป็นปีที่นักเขียนชื่อดังระดับตำนานในวงการนิยายจีน กิมย้ง มีอายุครบ 100 ปี หากเขายังมีชีวิตอยู่ 

ฮ่องกงร่วมรำลึก “100 ปี กิมย้ง” ชาวจีนผู้มีความสามารถ ด้วยการจัดงานครั้งยิ่งใหญ่คือ A Path to Glory - Jin Yong's Centennial Memorial  ประกอบด้วยนิทรรศการ จำนวน 2 นิทรรศการ คือ

  • A Path to Glory - Jin Yong's Centennial Memorial • The World of Wuxia
  • A Path to Glory – Jin Yong's Centennial Memorial, Sculpted by Ren Zhe

A Path to Glory - Jin Yong's Centennial Memorial • The World of Wuxia

Wuxia (อู่เสีย) หมายถึง “นิยายจีนกำลังภายใน” ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ Wu สำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า “บู๊” แปลว่าการต่อสู้, และ Xia แปลว่า วีรบุรุษ 

ฮ่องกง ถือเป็นบ้านเกิดของ Wuxia เพราะทั้ง ชอว์บราเดอร์ส บริษัทบุกเบิกสร้างภาพยนตร์กำลังภายใน และสถานีโทรทัศน์ ซีทีวี, ทีวีบี, อาร์ทีวี, เจียซือ ผู้สร้างละครชุดจากนวนิยายกำลังภายในอย่างต่อเนื่องและได้รับการซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในหลายประเทศจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ต่างก็อยู่ใน "ฮ่องกง"

นิทรรศการ A Path to Glory - Jin Yong's Centennial Memorial • The World of Wuxia ตั้งใจสดุดีผลงานการประพันธ์นวนิยายกำลังภายในของกิมย้ง เพื่อให้ "ผู้มีจิตใจกล้าหาญ" ทุกคนได้หวนคำนึงถึง ศิลปะการต่อสู้แบบคลาสสิก และ ร่วมรำลึกถึงผลงานอันเป็นอมตะ เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งร้อยปีของกิมย้ง

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร ประติมากรรมก๊วยเจ๋งและอึ้งย้ง

นิทรรศการชุดนี้จัดแสดงหุ่นรูปปั้นตัวละครจากปลายปากกาของกิมย้ง จำนวน 10 ตัว ประกอบไปด้วยตัวละครจากเรื่อง มังกรหยก และ มังกรหยก ภาค 2 จำนวน 8 ตัว คือ เซียวเหล่งนึ่ง, เอี้ยก้วย, ก๊วยเจ๋ง, เจงกิสข่าน, ราชครูจักรทอง, จิวแป๊ะทง, อ้วนง้วนอั้งเลี้ยก และ แม่ชีมิกจ้อ

ตัวละครจากเรื่อง ดาบมังกรหยก คือ ฟ่านเหยา หรือทูตขวาพรรคเม้งก่า คนที่ทำลายโฉมตัวเองปลอมตัวเป็นภิกษุใบ้นาม “โค้วไต้ซือ” แทรกซึมเข้าไปสืบความลับในกองทัพมองโกลในฐานะครูสอนวรยุทธ์องค์หญิงเตี๋ยเมี่ยง

ตัวละคร หูเฟย พระเอกจากนวนิยายกำลังภายในเรื่อง จิ้งจอกอหังการ (The Young Flying Fox) กิมย้งประพันธ์ไว้เมื่อปีพ.ศ.2503 นิยายเรื่องนี้เป็นปฐมบทของ “จิ้งจอกภูเขาหิมะ” ซึ่งเขียนขึ้นก่อนเมื่อปี 2502

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร สถานที่จัดนิทรรศการ

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดง กระโจมแบบมองโกเลีย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่อง มังกรหยก ซึ่งเปิดให้ผู้เข้าชมทุกท่านได้เข้าไปดื่มด่ำประสบการณ์แบบอิมเมอร์ซีฟ รับฟังเรื่องราวผ่านเครื่องบรรยายหลายภาษาและเทคโนโลยี AR ที่ผสานโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกเสมือนจริง 

สถานที่แห่งนี้จะนำฉากและเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวละครในนิยายมาบอกเล่าใหม่ให้เห็นภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่จะปลุกความทรงจำที่ทุกคนมีร่วมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ถ่ายภาพเก็บความทรงจำเหล่านั้นไว้อีกด้วย

ทุกท่านจะได้เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ทางศิลปะและวัฒนธรรมแบบอินเทอร์แอ็คทีฟกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมสนุกไปกับการอ่านนวนิยายร่วมกัน คอนเสิร์ต เวิร์คช็อปวาดภาพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งในชิ้นงานประพันธ์ของกิมย้ง วรรณกรรมจีน และวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

  • นิทรรศการ "A Path to Glory - Jin Yong's Centennial Memorial • The World of Wuxia" 
  • จัดแสดงวันที่ 15 มีนาคม – 2 กรกฏาคม 2567 (ปิดให้บริการทุกวันจันทร์ ยกเว้นตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์)
  • สถานที่ Edinburg Place ย่านเซ็นทรัล
  • เวลา 10.00 – 22.00 น.
  • เข้าชมฟรี

 

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร อาวเอี๊ยงฮง - พิษประจิม

A Path to Glory – Jin Yong's Centennial Memorial, Sculpted by Ren Zhe

นิทรรศการชุดนี้จัดแสดงหุ่นรูปปั้นตัวละครจากผลงานนวนิยายกำลังภายใน 5 เรื่องของกิมย้ง จำนวน 22 ตัว ประกอบไปด้วยตัวละครจากเรื่อง มังกรหยก ได้แก่ ก๊วยเจ๋ง, อึ้งย้ง, อาวเอี๊ยงฮง – พิษประจิม, เฮ้งเตงเอี้ยง – เทพมัชฉิม, อั้งชิกกง – ยาจกอุดร, อิดเต็งไต้ซือ – ราชันทักษิณ และ  อึ้งเอี๊ยะซือ – มารบูรพา

ประติมากรรมตัวละครจากเรื่อง มังกรหยก ภาค 2 ได้แก่ เอี้ยก้วย และ เซียวเหล่งนึ่ง

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร ประติมากรรมตงฟางปุ๊ป้าย

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร หลิงหูชง และ เยิ่นอิ๋งอิ๋ง

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร เยิ่นหว่อสิง

ประติมากรรมตัวละครจากเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร (The Smiling, Proud Wanderer พ.ศ.2510-2512) ได้แก่ ตงฟางปุ๊ป้าย, เยิ่นหว่อสิง, หลิงหูชง, เยิ่นอิ๋งอิ๋ง และ ฟงชิงหยาง

ประติมากรรมตัวละครจากเรื่อง ดาบมังกรหยก ได้แก่ เตียบ่อกี้ และ 4 ผู้คุ้มกฎพรรคเม้งก่า ราชสีห์ขนทอง มังกรเสื้อม่วง อินทรีคิ้วขาว และ ค้างคาวปีกเขียว

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร เฉียวฟง

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร ต้วนอี้

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร

หลวงจีน​​​​ซีจุ๊

ประติมากรรมตัวละครจากเรื่อง แปดเทพอสูรมังกรฟ้า (The Demi-Gods and the Semi-Devils พ.ศ. 2506-2509) ได้แก่ เฉียวฟง, ซีจุ๊ และ ต้วนอี้

นอกจากนี้ภายในงานนิทรรศการยังมีการสัมมนา การเสวนา การจัดแสดงผลงานแบบอิมเมอร์ซีฟ

  • A Path to Glory – Jin Yong's Centennial Memorial, Sculpted by Ren Zhe
  • จัดแสดงวันที่ 16 มีนาคม – 7 ตุลาคม 2567 (ปิดให้บริการทุกวันอังคาร ยกเว้นตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์)
  • สถานที่ Hong Kong Heritage Museum ย่านซ่าถิ่น
  • เวลา 10.00 – 18.00 น. (วันจันทร์/พุธ/ศุกร์) และ 10.00 – 19.00 น. (วันเสาร์/อาทิตย์/วันหยุดนักขัตฤกษ์)
  • เข้าชมฟรี

 

ประติมากร Ren Zhe

นวนิยายกำลังภายในหลายเรื่องของกิมย้ง ได้รับการนำมาสร้างเป็นละครชุดทางโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง แต่ละครั้งมี “นักแสดง” มารับบทนำต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา สร้างความโดดเด่นความประทับใจต่างกันไป

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร นักแสดงหญิงที่เคยถ่ายทอดบุคลิก "เซียวเหล่งนึ่ง" ในวรรณกรรม มังกรหยก ภาค 2

ยกตัวอย่างตัวละครเด่น เซียวเหล่งนึ่ง ใน “มังกรหยก ภาค 2” มีนักแสดงสาวหลายคนรับบทนี้ แต่ที่ประทับใจและได้รับเสียงชื่นชมมากที่สุดคือ เฉินอวี้เหลียน ฉบับปี 2526 โดยมี “หลิวเต๋อหัว” รับบทเอี้ยก้วย 

นักแสดงสาว เฉินอวี้เหลียน นับเป็นเซียวเหล่งนึ่งคนที่สองของ “มังกรหยก ภาค 2” ที่นำมาทำเป็นละครโทรทัศน์ แต่สร้างภาพลักษณ์เซียวเหล่งนึ่งได้อย่างน่าติดตามและเป็นที่กล่าวถึงมากกว่าเซียวเหล่งนึ่งคนแรกที่รับบทโดย หลี่ทงหมิง เมื่อปี 2519 (ซึ่งมีพระเอก “หลอเล่อหลิน” เป็นเอี้ยก้วย ซึ่งต่อมาเขาได้รับบท “เล็กตัน” ในซีรีส์กำลังภายในเรื่อง “ยอดยุทธจักรมังกรฟ้า” ภาคต่อของ “กระบี่ไร้เทียมทาน”)

ยังมีนักแสดงสาวอีกอย่างน้อย 3 คนที่รับบทเซียวเหล่งนึ่ง คือ หลี่ยั่วถง ฉบับปี 2538 เล่นคู่กับกู่เทียนเล่อ, หลิวอี้เฟย์ ฉบับปี 2549 มี “หวงเสี่ยวหมิง” เป็นเอี้ยก้วย และ  เฉิน เหยียนซี ฉบับปี 2557 ได้พระเอก “เฉินเสี่ยว” รับบทเอี้ยก้วย

แต่ไม่ว่าคุณจะมีภาพจำตัวละครจากนักแสดงท่านใด นิทรรศการ A Path to Glory - Jin Yong's Centennial Memorial จัดแสดงประติมากรรมตัวละครที่ท่านรักที่ปั้นโดยยึดหลักตามคำที่กิมย้งได้บรรยายไว้ในวรรณกรรม 

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร ประติมากรรม เซียวเหล่งนึ่ง และ เอี้ยก้วย

กิมย้ง บรรยายความงามของ เซียวเหล่งนึ่ง ไว้ด้วยความตอนหนึ่งว่า “เซียวเหล่งนึ่งมีใบหน้าดูสงบเยือกเย็น บริสุทธิ์ดังหิมะ และเย็นชาราวน้ำแข็ง เอี้ยก้วยเองยังเคยครุ่นคิดว่า สตรีนางนี้สร้างจากแก้วผลึก หรือว่าเป็นมนุษย์หิมะหรืออย่างไร ที่แท้เป็นคนหรือภูตผี หรือว่าเป็นเทพธิดาสวรรค์กันแน่”

ตัวแทนผู้จัดนิทรรศการฯ ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า “ในการปั้นตัวละครฝั่งตัวเอกและตัวร้ายของวรรณกรรมแต่ละเรื่อง ศิลปินมีการนำองค์ประกอบความขัดแย้งมาเล่น และเสริมแต่งด้วยศาสต์และศิลป์แห่งการปั้น จินตนาการและการตีความแบบเหนือจริง จนออกมาเป็นท่าทางการจัดวางของรูปปั้นที่มีความสุดโต่งกว่าปกติ 

นอกจากนี้ยังมีการจัดวางแสงและเงา เพื่อแสดงสีหน้าและอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนของตัวละครตามคำบรรยายในวรรณกรรม”

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร

ประติมากร เหริน เจ๋อ (Ren Zhe)

ศิลปินผู้ปั้นหุ่นจากวรรณกรรมกิมย้งในนิทรรศการครั้งนี้ ชื่อ เหริน เจ๋อ (Ren Zhe) วัตถุดิบที่ใช้ในการปั้นประกอบด้วยเหล็กสเตนเลส, ทองเหลือง และทองสัมฤทธิ์

มร.เหริน เจ๋อ เกิด เติบโต และทำงานในกรุงปักกิ่ง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากภาควิชาประติมากรรม วิทยาลัยศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University)

ได้ชื่อว่าเป็นประติมากรอายุน้อยรุ่นแรกๆ ที่แม้จะอายุน้อยแต่กลับมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง และยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก รวมถึงศาตร์และศิลป์ทั้งแบบดั้งเดิมและทันสมัยเป็นอย่างดี ซึ่งมีการแสดงออกผ่านผลงานของเขาอย่างชัดเจน

ปัจจุบัน มร.เหริน เจ๋อ อายุ 41 ปี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการประจำสถาบันประติมากรรมจีน

ฮ่องกงรำลึก \'100 ปี กิมย้ง\' ปั้นหุ่นตัวละครอมตะ มังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร ประติมากรรมกิมย้งในนิทรรศการฯ

นิทรรศการ A Path to Glory - Jin Yong's Centennial Memorial ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนอีเวนต์ศิลปะและวัฒนธรรมขนาดใหญ่ของฮ่องกง (Hong Kong Mega Arts and Cultural Events Fund), การท่องเที่ยวฮ่องกง (Hong Kong Tourism Board) และ กรมสันทนาการเเละวัฒนธรรม (Lisure and Cultural Services Department)