รสนิยมผู้คน 100 ปีที่แล้ว ย่านเก่า ห้างหรู สมัยรัชกาลที่ 5- รัชกาลที่ 6
ตามร่องรอยย่านเก่า รสนิยมผู้คนร่วมรัชสมัยเมื่อ 100 ปีที่แล้ว จากสิ่งของ เครื่องใช้ ถนนหนทาง สมัยรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 6
หากมองย้อนกลับไปที่สมัยรัชกาลที่ 5 -รัชกาลที่ 6 ยุคที่มีการสร้างรากฐานบ้านเมืองใหม่ ปรับเปลี่ยนความเป็นอยู่ให้สยามประเทศเจริญทัดเทียมอารยประเทศ โดยเฉพาะเรื่องสาธารณูปโภค ความศิวิไลซ์ในการใช้ชีวิตให้มีความสมัยใหม่มากขึ้น มีการสร้างห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ และร้านค้า นำเข้าสิ่งของเครื่องใช้ ทั้งแถบตะวันตก จีนและเอเชีย
นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรกในแถบสิงคโปร์ ชวา อินเดีย และพม่า เมื่อปี 2413-2414 หลังจากนั้นเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในยุโรป ปี 2440 และปี 2450
การเสด็จประพาสหลายประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรป พระองค์ทรงนำแนวคิดมาพัฒนาปรับปรุงบ้านเมือง ทั้งเรื่องการสร้างเมือง ถนน สะพาน และห้างสรรพสินค้า รวมถึงระบบการปกครอง มีการยกเลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าเป็นการยืนหรือนั่งเก้าอี้ ใช้วิธีถวายคำนับ รวมถึงปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตของสยามประเทศให้มีความสากลมากขึ้น
ถนนราชดำเนินในยุครัชกาลที่ 5
ในช่วงเดือนเมษายน 2567 มิวเซียมสยาม จึงจัดกิจกรรมเชื่อมโยงหลายประเด็นกับเรื่องราว 100 ปีที่ผ่านมาเรื่อง ฐานรากก่อนกาลอภิวัฒน์สยาม (The Alteration : Prelude of Siamese Reform) หนึ่งในหัวข้อกิจกรรมนั้นก็คือ : ปกิณกะประวัติศาสตร์ผ่านรสนิยมผู้คนร่วมรัชสมัยเมื่อ 100 ปีที่แล้ว
ความทันสมัยเมื่อ 100 ปีที่แล้ว
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปกครองบ้านเมือง มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านด้วยกัน ทั้งการจัดตั้งธนาคารครั้งแรก (บริษัทสยามกัมมาจล), ว่าจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการ และส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชากฎหมายทวีปยุโรป ฯลฯ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในสังคมตอนนั้น
"เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ เปลี่ยนจากการสัญจรทางน้ำมาสู่ทางบก เริ่มมีการตัดถนน นำเข้ารถยนต์ สร้างตึกแถว เปิดห้างสรรพสินค้าและร้านค้า..." รศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็นเรื่องปกิณกะประวัติศาสตร์ผ่านรสนิยมผู้คนร่วมรัชสมัย
ว่ากันด้วยเรื่องเครื่องแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนจากทรงผมมหาดไทยเป็นผมรองทรงแบบฝรั่ง
ในส่วนของการแต่งกายข้าราชสำนัก โปรดให้นุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนแทนผ้าสมปักแบบเก่า สวมเสื้อแพรสีตามกระทรวงแทนเสื้อกระบอกแบบเก่า ต่อมามีพระราชดำริให้ออกแบบเสื้อราชประแตน และให้ทหารใส่กางเกง มีเครื่องแบบรัดกุม
ส่วนเครื่องแต่งกายหญิงฝ่ายใน นอกจากนุ่งโจงสวมเสื้อแขนยาว ห่มแพรสไบเฉียงบ่านอกเสื้อ ยังต้องสวมถุงน่องและเกือกบู๊ต
และเมื่อเสด็จประพาสยุโรป ปี 2440 การแต่งกายของสตรี พระองค์เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ให้มีการสวมเสื้อแขนหมูแฮมตัดด้วยผ้าลูกไม้ ผ้าไหม ผ้าแพรจากยุโรป แต่ยังนุ่งโจงให้เข้ากับสีเสื้อ สวมถุงเท้า รองเท้าหุ้มข้อแบบตะวันตก
รถนำเข้าสมัยรัชกาลที่ 5
อาจารย์พีรศรี เล่าว่า ในยุคนั้นเริ่มเห็นการแต่งงานในโบสถ์ ย่านสาธร มีการพัฒนาสร้างตึกแถว เริ่มมีรถยนต์ออกวิ่ง โดยเฉพาะรถของเชื้อพระวงศ์ที่แล่นบนถนน ต้องมีบริวารมาตั้งขบวนแห่ คนที่มีรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นเจ้านายและชาวตะวันตก
"ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 มีสถิติการนำเข้ารถยนต์ประมาณ 80 คัน ปลายรัชกาลที่ 6 เพิ่มเป็น 600 กว่าคันต่อปี และมีการนำเข้าผ้าและเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าอันดับต้นๆ ในยุคนั้น
สินค้าที่มาทางท่าเรือผ่านมาสู่ห้างสรรพสินค้าในยุคนั้น บางส่วนมาจากเมืองจีน ฉลากที่ติดทำจากเยอรมัน เพราะมีคุณภาพการพิมพ์ที่ดีสมัยในหลวง รัชกาลที่ 5 ไม่ว่าเสด็จประพาสต้น หรือสถานที่ฝึกม้า ซึ่งเป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ทุกคนจะใส่หมวก ทำให้มีการนำเข้าหมวกเยอะมาก
เครื่องแต่งกายสังคมสมัยใหม่ในยุครัชกาลที่ 5 จะจำแนกชัดเจนว่า ชายและหญิงต้องแต่งกายอย่างไร จะมีเครื่องแบบ เครื่องประดับผู้หญิงแต่ละแบบ เครื่องประดับชั้นยศต่างๆ เพื่อจำแนกคนในสังคม
และในช่วงรัชกาลที่ 6 กระแสการเปลี่ยนแปลงแฟชั่นเกิดขึ้นเร็วมาก มีสิ่งพิมพ์ข่าวสารจากยุโรปส่งมาที่เอเชีย เพื่อโฆษณาสินค้าที่ต้องการขาย"
เคยเป็นห้างเอส.เอ.บี. ห้างแรกที่จำหน่ายสินค้ายุโรป ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานซิงเสียนเยอะเป้า
การวางรากฐานการศึกษาที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 -รัชกาลที่ 6 เพื่อนำผู้คนเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ อาจารย์พีรศรี บอกว่า ทำให้ในพระนครเริ่มมีการทำงานแบบสำนักงาน คนเข้ารับราชการมากขึ้น เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคม
"หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้พระนครจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ดึงคนเข้ามาอยู่อาศัยมากมายเหมือนในปารีส ฝรั่งเศส หรือนิวยอร์ก อเมริกา ส่วนใหญ่เป็นตึกแถวที่เป็นอาคารพาณิชย์ ห้างร้าน และโรงงานขนาดเล็ก
ซึ่งจริงๆ แล้วคนไทยนิยมซื้อของจากเมืองนอกตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อค้าขายกับจีน ก็ใช้เครื่องลายคราม ผ้าแพร หลังจากเปิดประเทศ การค้าขายกับจีนก็สนับสนุนสินค้านำเข้าจากตะวันตกด้วย
การค้าขายระหว่างสยามกับนานาประเทศในตอนนั้นผ่านมาทางท่าเรือสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เศรษฐกิจของโลกตอนนั้นขับเคลื่อนผ่านเมืองท่าเหล่านั้น"
100 ปีห้างในพระนคร
หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2440 ทรงเห็นความเจริญของประเทศแถบตะวันตก พระองค์ทรงชักชวนเจ้าของห้างหลายประเทศมาเปิดในพระนคร ยกตัวอย่าง ห้างจอห์นแซมป์สัน จำหน่ายผ้าตัดเสื้อ รองเท้า รวมทั้งอานม้าที่มีชื่อเสียง
ย่านบอนด์สตรีท ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เข้ามาเปิดสาขา โดยการสร้างอาคารขนาดใหญ่แบบตะวันตก สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2455 ต้นรัชกาลที่ 6 ห้างแห่งนี้มีการทำสัญญาเช่ากับพระคลังข้างที่เป็นระยะเวลา15 ปี ตั้งแต่ ปี2455-ปี2470 ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เปล่ี่่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ดิโอลด์สยาม เคยเป็นที่ตั้งห้างรัตนมาลา จำหน่ายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
“ตอนที่ในหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จพม่าและอินเดีย ก็ชวนเจ้าของห้างฯ มาตั้งในกรุงเทพฯ ห้างฝรั่งแรกๆ ของกรุงเทพฯ ตั้งบนถนนบำรุงเมือง ใกล้กระทรวงกลาโหม ตัวตึกสไตล์ตะวันตกหลังคามุงด้วยกระเบื้องจีน ปลายรัชกาลที่ 5 เริ่มมีห้างที่มาจากตะวันตกมากขึ้น มีความใหญ่โตทั้งกิจการและสถาปัตยกรรม” อาจารย์พีรศรี กล่าว
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างห้างแบดแมน ให้เป็นศูนย์รวมแฟชั่นแบบตะวันตก มีสินค้าหรูๆ จากยุโรป อเมริกา ซึ่งเป็นที่นิยมของเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งอยู่หัวมุมถนนราชดำเนิน ด้านสะพานผ่านพิภพลีลา
ตึกงามเด่นสะดุดตาสร้างเมื่อปี 2427 ห้างแห่งนี้จำหน่ายข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ทันสมัย อาทิเครื่องเงิน เครื่องเงินลงยา นาฬิกาข้อมือ เครื่องเพชรนิลจินดา อานม้าหรือบังเหียนม้า เครื่องเรือนเครื่องแบบข้าราชการทั้งพลเรือนและทหาร
ภายหลังห้างแบดแมนเลิกกิจการ ทางราชการได้ใช้เป็นตึกกรมโฆษณาการในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะราษฎรได้พัฒนาเป็นสำนักงานโฆษณาการ กรมโฆษณาการ และกรมประชาสัมพันธ์ ต่อมามีการรื้อถอนทั้งหมดหลังถูกเพลิงไหม้เสียหายจากเหตุพฤษภาทมิฬ
ส่วนห้างจากอินเดีย จีน แขก อังกฤษ เยอรมัน ฯลฯ มีอยู่ในย่านเจริญกรุง ราชดำเนิน พาหุรัด ฯลฯ อาทิ ห้างรัตนมาลา บนถนนพาหุรัด จำหน่ายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ มีทั้งเครื่องครัว เครื่องสำอาง เครื่องประดับอัญมณี เครื่องแต่งกายชาย นํ้าหอม เครื่องแก้ว ฯลฯ
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ( เคยเป็นที่ตั้งห้างจอห์นแซมป์สันจากอังกฤษ)
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานตราครุฑ อันเป็นตราแผ่นดินอย่างใหม่แทนตราเก่าสำหรับประดับห้างรัตนมาลา พระองค์ทรงโปรดสินค้าหมวกลูกเสือสักหลาดในห้างแห่งนี้ ปัจจุบันห้างนี้ถูกรื้อทิ้งกลายเป็นดิโอลด์สยาม
นอกจากนี้ยังห้างเอส.เอ.บี. ของชาวเบลเยี่ยม บนถนนเจริญกรุง ตัดถนนวรจักรและถนนจักรวรรดิ ปัจจุบันกลายเป็นสำนักงานหนังสือพิมพ์จีนซิงเสียนเยอะเป้า
ส่วนห้างของชาวจีน มีทั้งห้างบ้วนฮั่วเสง ,ห้างเคียมฮวดเฮง ตลาดน้อย สี่พระยา,ห้างยงหลีเสง บางรัก ,ห้างบีกริม กิจการคนเยอรมัน ,ห้างเอช.อับดุลราฮิม เยื้องหน้าวัดราชบพิธ ,ห้างสิทธิภัณฑ์ ถนนเฟื่องนคร ฯลฯ
ณ วันนี้ ห้างทั้งหมดในยุครัชกาลที่ 5-6 มีจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และมีการอนุรักษ์ตึกไว้บ้าง ยกตัวอย่างพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ( เคยเป็นที่ตั้งห้างจอห์นแซมป์สันจากอังกฤษ) และมีหลายแห่งทุบทิ้ง เปลี่ยนเป็นตึกที่หน้าตาเหมือนๆ กันในยุคนี้