แฟชั่นหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเสื้อผ้า Swoop Buddy ดีต่อโลกและเงินในกระเป๋า

แฟชั่นหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเสื้อผ้า Swoop Buddy ดีต่อโลกและเงินในกระเป๋า

ถ้ามีเสื้อผ้ากว่าครึ่งในตู้ไม่ได้ใส่ เอามาแลกกันไหม...Swoop Buddy ทางเลือกใหม่การแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อลดทอนแฟชั่นแบบมาเร็ว ไปเร็ว หรือฟาสต์ แฟชั่น

“ตอนแรกเรารู้สึกว่า เรื่องแฟชั่นและมลภาวะเป็นเรื่องไกลตัวมาก พอมีความเข้าใจเรื่องผลกระทบของแฟชั่นต่อโลกร้อน ทำให้เราตั้งคำถามว่า ทำไม 20 กว่าปีที่ผ่านมา เราไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย ผมก็เลยอยากเป็นกระบอกเสียง...”  

กาย-สุวิจักขณ์ นิ่มนวล นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Scientist) บริษัทโกซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Swoop Buddy เล่าถึงชุมชนแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า เครื่องประดับ  เพราะอยากทำให้กิจกรรมที่ทำเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค 

กายและเพื่อนๆ ก็คงไม่ต่างจากผู้บริโภคหลายคนที่เชื่อว่า เสื้อผ้าไม่ได้มีไว้ใส่แค่ครั้ง สองครั้งแล้วเก็บไว้ในตู้ เมื่อไม่ชอบก็เอามาแลกเปลี่ยนกัน  Swoop Buddy จึงขอเป็นทางเลือกสายแฟชั่นหรือไม่แฟชั่น เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน

แฟชั่นหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเสื้อผ้า Swoop Buddy ดีต่อโลกและเงินในกระเป๋า แลกเปลี่ยนเสื้อผ้าและแฟชั่นกัน ดีต่อโลกและประหยัดเงิน 

  • Swoop Buddy ชุมชนแลกเสื้อผ้า

ชุมชนแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือสิ่งของเครื่องแต่งกาย ไม่ได้มีแค่ Swoop Buddy ยังมีคนรุ่นใหม่อีกหลายกลุ่มที่ทำเรื่องความยั่งยืน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ ส่งต่อองค์ความรู้เรื่องอุตสาหกรรมเสื้อผ้า โดยเฉพาะฟาสต์ แฟชั่น ที่กำลังสร้างปัญหาให้โลก

ก่อนจะเล่าถึงแนวทางแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ไม่ว่าหมวก กระเป๋า และเครื่องประดับ กาย เล่าว่า กิจกรรม Swoop Buddy ยังมีบอส (คณิน ทรงอธิกมาศ ) เพื่อนมหาวิทยาลัยที่ครอบครัวทำธุรกิจเสื้อผ้าร่วมทำงานด้วย

กายยอมรับว่า ตัวเขาเองไม่ใช่คนชอบแต่งตัวหรือตามแฟชั่น แต่มีแพสชั่นบางอย่าง อยากมีธุรกิจที่ทำประโยชน์ให้สังคมบ้าง สองปีที่แล้วจึงชวนบอสมาเดินบนเส้นทางเดียวกัน

 

“ตอนที่คุยกับบอส ผมยังไม่ได้ทำงาน เราแค่มีหัวข้อที่อยากทำเรื่องแฟชั่นและความยั่งยืน ก็ใช้เวลาศึกษาหาข้อมูลประมาณ 2-3 เดือน จนมาเจอแนวคิดเรื่องการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า ในต่างประเทศมีแนวทางแบบนี้อยู่ และในประเทศไทยก็มีคนทำเรื่องพวกนี้ อย่างพี่อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี (Fashion Revolution Thailand)  

หลังจากได้คุยกับพี่เขา ผมก็ลองศึกษาวิธีทำ ลองไปเป็นอาสาสมัคร นี่คือจุดเริ่มต้น Swoop Buddy ถ้าถามว่า สนใจเรื่องแฟชั่นขนาดไหน ผมกับบอสอาจไม่ได้สนใจมากนัก 

แฟชั่นหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเสื้อผ้า Swoop Buddy ดีต่อโลกและเงินในกระเป๋า ทีมงาน Swoop Buddy ชวนมาแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า เครื่องประดับ โดยส่วนใหญ่จัดกิจกรรมตามงานต่างๆ 

แต่บอสมีความสนใจเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะที่บ้านทำธุรกิจนี้ เสื้อผ้าที่นำมาแลกเปลี่ยนกันไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์ แต่ต้องมีสภาพดี คนอื่นเอาไปใส่ต่อได้

พวกเราเริ่มจากทำกิจกรรมเปิดบูธตามงาน ในการแลกเปลี่ยนกัน ทางทีมงานจะประมูลว่า เสื้อผ้าและสิ่งของที่นำมามีมูลค่ากี่เหรียญ ดูจากคุณภาพเสื้อผ้า โดยใช้ระบบ Buddy Coin"

ระบบ Buddy Coin ของพวกเขา มีราคาตั้งแต่ ครึ่งCoin ถึง 13 Coin โดยครึ่ง Coin ราคาต่ำสุด 300 บาท ส่วน 1 Coin ราคา 300-600 บาท ถ้าเป็น 2 Coin ราคาประมาณ 600-1000 บาท โดยเทียบจากราคาเสื้อผ้ามือหนึ่ง และผู้สนใจสามารถนำมาแลกได้เต็มที่ 5 ตัว  

ค่าแลกเปลี่ยนมีอัตราชิ้นละ 75 บาท เพื่อใช้เป็นค่าจัดการทุกอย่างในกิจกรรม ไม่ว่าค่าขนส่ง ราวแขวนเสื้อผ้า ค่าแรง ค่าเดินทางอาสาสมัครที่มาช่วยงาน 

แฟชั่นหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเสื้อผ้า Swoop Buddy ดีต่อโลกและเงินในกระเป๋า

หากเสื้อผ้าที่เห็นยังไม่ถูกใจ Coin ที่แลกไว้สามารถเก็บไว้ เพื่อนำมาแลกในครั้งต่อไปของกิจกรรม Swoop Buddy ได้

การประเมินราคาเสื้อผ้า กาย บอกว่า อาจมีความคลาดเคลื่อนบ้าง ซึ่งคนที่นำของมาแลกก็เข้าใจดี บางคนจำไม่ได้ว่าซื้อเสื้อผ้ามาราคาเท่าไร ซึ่งการทำธุรกิจเล็กๆ แบบนี้ คงไม่เรียกว่า ประสบความสำเร็จ 

"ค่าใช้จ่ายเยอะ ไม่ได้สร้างรายได้มากมาย แต่เป็นกิจกรรมที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแฟชั่นที่มาเร็วไปเร็ว อยากให้คนตระหนักรู้ว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นส่งผลกระทบต่อโลก ไม่ค่อยมีคนพูดว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าขนาดใหญ่ มันคือแฟชั่น”

  • แฟชั่นหมุนเวียนเพื่อโลก

แม้ไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างรายได้มากมาย แต่กายและบอสก็ผ่านห้วงเวลาทำกิจกรรมจัดบูธ Swoop Buddy มานานกว่าสองปี และยังดำเนินต่อไป โดยก่อนหน้านี้กายเคยลองทำกิจกรรมนี้เต็มเวลา 

แต่พบว่า รายได้ไม่อาจดูแลชีวิตได้ดี จึงกลับไปทำงานประจำ และยังชักชวนเพื่อนที่ทำงานประจำอีกสองคนมาร่วมทีม ธวัลยา วิลสัน (Client Manager) และฐิติพร สุดเจียดี (Business Development) เพราะผู้หญิงจะเข้าใจแฟชั่นดีกว่าผู้ชาย 

แฟชั่นหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเสื้อผ้า Swoop Buddy ดีต่อโลกและเงินในกระเป๋า กิจกรรมแบบนี้ต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเยอะๆ

"คนทำอุตสาหกรรมการผลิตที่เรียกว่า ฟาสต์ แฟชั่น ก็อยากให้ผู้บริโภคซื้อเยอะๆ ใช้น้อยๆ ทั้งๆ ที่เป็นการผลิตเกินความจำเป็น และเราไม่เคยรู้มาก่อนว่า การย้อมผ้าก็ส่งผลต่อสิ่งอื่นๆ ด้วย ทั้งสร้างปัญหาน้ำเสีย และยังต้องเอาขยะเสื้อผ้าที่เหลือใช้ไปฝังกลบส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีก " กาย เล่าและบอกว่า

"ปกติพวกผมจะจัดกิจกรรมเดือนละครั้ง เคยมีบางสถานที่ให้เราปักหลักเดือนละสองครั้ง คนที่มาร่วมกิจกรรม มีทั้งคนที่เข้าใจเรื่องความยั่งยืน และขาช้อปเสื้อผ้าแฟชั่น เขานำมาแลกเปลี่ยน เพราะรู้สึกว่าช้อปเยอะไปแล้ว ก็เอามาแลกเปลี่ยนเผื่อคนอื่นจะชอบ

ส่วนสายแฟชั่นแบบสุดๆ จะเป็นวัยรุ่นเพิ่งเรียนจบ ถ้าเป็นคนที่เข้าใจความยั่งยืนน่าจะเป็นกลุ่มเจนวาย และคนที่มาแลกเปลี่ยน ยังมีกลุ่มเสียดายเสื้อผ้าที่ซื้อมา เมื่อไม่ชอบก็ไม่อยากทิ้ง อยากให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่น"

แฟชั่นหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเสื้อผ้า Swoop Buddy ดีต่อโลกและเงินในกระเป๋า กาย เล่าว่า เพื่อนบางคนก็ชอบซื้อเสื้อผ้ามือหนึ่ง พอมาเจอพวกเราก็เลือกที่จะแลกเปลี่ยน ส่วนงานแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าทางออนไลน์ ก็เคยทำ แต่รายละเอียดเยอะ จึงเลือกออกร้านเดือนละครั้งน่าจะดีกว่า อย่างน้อยๆ  ก็เป็นกิจกรรมฮีลใจ ได้พบปะเพื่อนๆ มีน้องๆ มาช่วยเป็นอาสาสมัคร แต่ถ้ายึดเป็นอาชีพคงไม่ตอบโจทย์ชีวิต

"ในระยะยาว ถ้าเป็นไปได้อยากลองหาสถานที่ปักหลักสักครึ่งปีหรือปีหนึ่ง แต่ต้องใช้เงินทุน จึงไม่ค่อยแน่ใจ เพราะเราอยู่ในโลกทุนนิยมต้องกินและใช้ อีกอย่างการใช้เสื้อผ้าแพงๆ ใช้นานๆ อาจไม่ตอบโจทย์คนทั่วไป เพราะฉะนั้นกระแสฟาสต์แฟชั่นที่ราคาถูกมากๆ ถ้าคนไม่มีทางเลือก ก็ต้องซื้อ

แต่สิ่งที่พวกเราทำคือ อยากให้ผู้บริโภครับรู้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วย พวกเราทำสเกลเล็กๆ ทำกันเองในกลุ่มเพื่อนๆ ต้องทำงานประจำจึงเหนื่อย เวลามีคนเอาเสื้อเข้ามาแลกเปลี่ยน เราต้องทำทุกอย่างเอง เท่าที่เห็นการแลกเปลี่ยนแบบนี้ยังมีแค่ในกรุงเทพ ในต่างจังหวัดแทบไม่มีเลย"

...............

แฟชั่นหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเสื้อผ้า Swoop Buddy ดีต่อโลกและเงินในกระเป๋า ภาพเฟซบุ๊ก Fashion Revolution Thailand

ฟาสต์ แฟชั่น : มาเร็ว ไปเร็ว

ซื้อง่าย ขายคล่อง มาเร็ว ไปเร็ว คงต้องยกให้สินค้าที่เรียกว่า ฟาสต์ แฟชั่น(Fast fashion) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาถูกพูดถึงมากขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าราคาต่ำ ค่าแรงถูก ผู้บริโภคก็ชอบซะด้วย ใส่ไม่กี่ครั้งก็คุ้มราคา แต่มีต้นทุนที่โลกต้องแบกรับ

แต่ละปีมีเสื้อผ้าผลิตใหม่ 150 ล้านล้านชิ้น และมากกว่า 3 ใน 5 ของเสื้อผ้าถูกนำไปเผาในเตาขยะจนเกิดมลพิษ นอกจากขยะเสื้อผ้า แต่ละคนยังมีเสื้อผ้าที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันแค่ 1ใน 4 ที่มีอยู่ในตู้

ลองเชื่อมโยงดูสิว่า กว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นจะเดินทางมาถึงมือเรา ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง...ตั้งแต่การปลูกฝ้าย การฟอกย้อม การขนส่ง การทอมาเป็นผืน ล้วนแล้วแต่ใช้สารเคมี น้ำ ที่ดิน และพลังงานมหาศาล

ว่ากันว่า อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 4 รองจากอุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง และการขนส่ง โดยกระบวนการผลิตใช้น้ำมหาศาล รวมถึงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 8 -10 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก และก่อให้เกิดน้ำเสียเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์จากการผลิตเสื้อผ้า

แฟชั่นหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเสื้อผ้า Swoop Buddy ดีต่อโลกและเงินในกระเป๋า ภาพเฟซบุ๊ก Fashion Revolution Thailand

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ในเรื่องอุตสาหกรรมเสื้อผ้าระบุไว้ว่า ฝ้ายที่ใช้ผลิตเสื้อ 1 ตัวต้องใช้น้ำในการปลูกมากถึง 2,700 ลิตร

หากเทียบกับปริมาณน้ำที่มนุษย์เราดื่ม 2 ลิตรต่อวัน เท่ากับปริมาณการดื่มน้ำถึง 3 ปี หรือในการผลิตกางเกงยีนส์ 1 ตัว จะต้องใช้น้ำ 7,500 ลิตร หรือเท่ากับน้ำที่เราดื่มถึง 7 ปี

ดังนั้นการหันมาให้ใส่ใจสินค้าแฟชั่นให้เกิดการหมุนเวียนมากขึ้น โดยแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากันใส่ ลดวงจรการผลิตเสื้อผ้า ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในแก้ปัญหาฟาสต์ แฟชั่น

"การบริโภคไม่ผิด แต่การบริโภคและการมีสิ่งของเกินจำเป็นอาจส่งผลกระทบอย่างที่เราคาดไม่ถึง แฟชั่นเป็นตัวกลางหนึ่งที่ทำให้เกิดขยะมากมายบนโลก” อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution Thailand เคยกล่าวไว้ในงาน Greenery talk 2021 : Can Change the Wor่ld (จากกรุงเทพธุรกิจ)

การก่อตั้งกลุ่ม Fashion Revolution ในประเทศไทย พวกเขามองว่า แฟชั่นไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่เราเห็นในอุตสาหกรรมก็ได้ แต่ควรหันมาให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืน 

และมั่นใจได้ว่า การแลกเสื้อผ้าไม่ได้ดีแค่สิ่งแวดล้อม ยังดีต่อเงินในกระเป๋าผู้บริโภค หากคนส่วนใหญ่หันมาใช้ความคิดสร้างสรรค์ดัดแปลง ลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ นำมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เกิดเสื้อผ้าในลุคใหม่

..................

ภาพเฟซบุ๊ก : Swoop Buddy