เปิดโมเดลปลูกสตรอว์เบอร์รีทั้งปี เกษตรแม่นยำที่เนรมิตเกษตร ปทุมธานี
โมเดลปลูกสตรอเบอร์รีให้มีผลผลิตทั้งปีในโรงเรือน เคยทำทดลองทำมาแล้วที่เนรมิตเกษตร แดนเนรมิต วิศวกรเจ้าของระบบยังไม่ท้อ แต่ขึ้นโมเดลใหม่ที่ปทุมธานี
การปลูกสตรอว์เบอร์รีในเมือง ดร.พลรชฏ เปียถนอม ผู้ก่อตั้งเนรมิตเกษตร แดนเนรมิต กรุงเทพฯ ทดลองทำมาเกือบ 5 ปี และก่อนหน้านี้เขาก็ทำเรื่องการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ
วิศวกรที่ชอบการเกษตรคนนี้ มีสวนปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองส่งออก จังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วงที่ริเริ่มก็ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เขาเคยเป็นผู้บริหารบริษัทโทรคมนาคม และเป็นเจ้าของบริษัทบีเอสซีเอ็มฟู้ด จำกัด แปรรูปข้าวเพื่อการส่งออก
ก่อนหน้านี้การปลูกสตรอว์เบอร์รี แคนตาลูป และมะเขือเทศ ที่เนรมิตเกษตร แดนเนรมิต เขาก็เคยเปิดให้คนสนใจเข้ามาชมและซื้อผลผลิตในโรงเรือน โดยทำเป็นโมเดลสร้างผู้ประกอบการการเกษตรรุ่นใหม่
สตรอว์เบอร์รีแบบญี่ปุ่น ต้องพึ่งเทคโนโลยีที่เรียกว่า เกษตรแม่นยำ คนไทยก็ทำได้
เขายอมรับว่า ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ใช่ปัญหาเงินทุน แต่เป็นเรื่องศักยภาพผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมถึงพื้นที่ในการปลูกสตรอว์เบอร์รียังสร้างผลผลิตได้ไม่เต็มที่
ล่าสุดเขาเลือกพื้นที่ทดลองแห่งใหม่ที่ปทุมธานี คลอง 11 เพื่อปลูกสตรอว์เบอร์รี โดยคิดโมเดลเรื่องผู้ประกอบการและวิธีการใหม่ แม้จะลงทุนสูง แต่เขาบอกว่า ถ้าเป็นไปอย่างที่คิด ก็จะคุ้มทุนและคุ้มค่า ทำให้คนไทยได้กินสตรอว์เบอร์รีเหมือนที่ญี่ปุ่น และจะส่งออกได้ด้วย
มะเขือเทศอีกผลผลิตที่เนรมิตเกษตร
เกษตรแม่นยำชานเมือง
สำหรับเขาแล้ว การทำเกษตรแม่นยำ ต้องสร้างผลผลิตได้ทั้งปี ไม่ขึ้นกับฤดูกาล มีความยั่งยืนและสามารถใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่า รวมถึงพืชผลที่ผลิตต้องให้สารอาหารครบ
เรื่องนี้ ดร. พลรชฏ ขยายความว่า พอได้ทำการเกษตรในเมืองรวมๆ เกือบ 5 ปี การบริหารจัดการภูมิอากาศให้เหมาะกับพืชที่ปลูกสำคัญมาก การทำเกษตรแม่นยำ เรามองเรื่องการเพิ่มมูลค่าของที่ดินว่างเปล่าในเมือง การผลิตอาหารสด และลดการขนส่งระยะไกล
"ถ้าไทยยังทำอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อส่งออกเหมือนเดิม เราจะแข่งขันกับตลาดโลกได้ยังไง ต่อไปเราต้องผลิตอาหาร พืชผักเฉพาะโรคเฉพาะคนได้ด้วย รวมถึงอาหารที่ใช้ทางการแพทย์เพื่อรักษาโรค
ผมจะเน้นการปลูกสตรอว์เบอร์รี สมุนไพรเพื่อการแพทย์ สตรอว์เบอร์รีไทยนำเข้าปีละสี่พันตัน ถ้าเราปลูกได้ปีละสองพันตัน ยังไงคนไทยก็ชอบกินสตรอว์เบอรี คนญี่ปุ่นเคยบอกว่า สตรอว์เบอร์รีเราสีสดกว่า"
สิ่งสำคัญสำหรับดร.พลรชฏ จึงไม่ใช่แค่การขายความคิด แต่เน้นลงมือทำให้เห็น ยกตัวอย่างเกษตรในเมืองที่เนรมิตเกษตร เขาได้ลองทำแล้ว และเห็นปัญหาโมเดลการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมถึงปัญหาเทคโนโลยีบางอย่างที่ยังไม่สามารถเอาชนะสภาพอากาศร้อนในเมืองได้
ดร.พลรชฏ เปียถนอม ผู้ก่อตั้งเนรมิตเกษตร แดนเนรมิต กรุงเทพฯ และกำลังทดลองในโรงเรือนแห่งใหม่ที่ปทุมธานี คลอง 11
สตรอว์เบอร์รีในโรงเรือน
ล่าสุดกับการพัฒนาพื้นที่ 1 ไร่ในจำนวน 9 ไร่ ปทุมธานี เพื่อทดลองทำการเกษตรแม่นยำ สร้างระบบโรงเรือนปิดปลูกสตรอว์เบอร์รี ที่เขาเรียกว่า เกษตรใต้เงาแสงแดด นำโซล่าฟาร์มมาใช้ จัดวางระบบไว้เหนือโรงเรือน
โดยคำนึงถึงปัญหาความร้อนที่สูงขึ้นทุกปี แผงโซลาร์เซลล์นอกจากผลิตกระแสไฟฟ้า ยังมีหน้าที่บังแดดและให้เงา ซึ่งเป็นโมเดลหนึ่งที่ใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว
"ไม่จำเป็นต้องตั้งโซลาร์เซลล์เป็นแถวยาวๆ บนหลังคา ควรจัดตั้งให้สมดุลกับการปลูกพืช แล้วใช้เงาแผงโซลาร์เซลล์ลดอุณหภูมิ ลดการใช้พลังงานในโรงเรือนให้น้อยลง มีพลังงานเหลือก็นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น"
โมเดลใหม่ที่เขาคิด ไม่เน้นเรื่องผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่เขาพบปัญหาเรื่องศักยภาพทางความคิดในการพัฒนาโครงการ จึึงเปลี่ยนมาเป็นคนเกษียณที่สนใจอยากทำเกษตรรูปแบบนี้
"โมเดลนี้น่าจะดีกว่า ไม่ว่าเรื่องทุนความคิด การตลาด โครงสร้าง เพราะต่างจากคนรุ่นใหม่ คนเกษียณมีทุนทำเกษตรแม่นยำ เป็นโจทย์ใหม่ที่เริ่มทำ เพราะเชื่อว่าคนเกษียณมีศักยภาพและกล้าลงทุน หรือลงแรงก็ได้
เพิ่งพัฒนาปรับพื้นที่ มีโมเดลว่า หนึ่งไร่ลงทุน 10-12 ล้านบาท ผลิตสตรอว์เบอร์รีให้ได้ปีละห้าพันกิโลกรัม ถ้าขายกิโลกรัมละ 800 บาท ก็จะมีรายได้ปีละ 4 ล้านบาท เพื่อให้ผลตอบแทนสำหรับผู้ลงทุน 3-5 ปีคุ้มทุน
โมเดลแบบนี้ ผมต้องทำให้เห็น เนรมิตเกษตรที่ปทุมธานีหนึ่งไร่น่าจะปลูกได้ 8,400 ต้น ผลผลิตน่าจะใกล้เคียงกับเนรมิตเกษตร แดนเนรมิต แต่พลังงานที่ใช้ลดลง เพราะเราใช้โซลาร์เซลล์ ทำเป็นโรงเรือนบังแสงลดอุณหภูมิได้ประมาณ 3-5 องศา"
มองการณ์ไกลแบบเกษตรแม่นยำ
แม้โมเดลเกษตรแม่นยำครั้งล่าสุดจะลงทุนกว่าสิบล้านบาท แต่ถ้าทำสำเร็จ เขาคิดคำนวณแล้วว่าคุ้มทุน และเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรบ้านเรา เพื่อผลิตสตรอว์เบอร์รีให้ได้ปีละสามครั้ง รอบละ 4 เดือน คนไทยก็จะได้กินสตรอว์เบอร์รีแบบที่ส่งมาจากญี่ปุ่น
“ตลาดไม่ใช่ปัญหา มีอยู่แล้ว เราจะมีระบบควบคุม ทุกอย่างใช้ข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงทำแพลตฟอร์มใหม่ ผมไม่ใช้ทีมใหญ่ ผมพอมีบทเรียนเรื่องนี้ เรามีหุ้นส่วน มีบริษัทที่สนใจอยากพัฒนาเรื่องการเกษตรและพลังงาน
และมีคนทำเรื่องปลูกสตรอว์เบอร์รีสำเร็จแล้วที่เชียงใหม่มาช่วยพัฒนาระบบ มีหุ้นส่วนที่พัฒนาแอป ที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น เราก็จะรวมคนพวกนี้เข้าด้วยกัน"
ระบบที่เขากล่าวถึง คงต่างจากเกษตรแนวตั้งในโรงเรือนทั่วไป ซึ่งการควบคุมสภาพแวดล้อมในการปลูกพืช เขาบอกว่า ใช้พลังงานมหาศาล แต่รูปแบบที่เขาทำจะเป็นการเกษตรที่ใกล้เคียงแนวธรรมชาติ สร้างแสง อุณหภูมิ และทุกอย่างที่พืชต้องการให้ได้สารอาหารครบ
“ถ้ามีคนบอกว่า จะทำในโรงเรือนเป็นระบบปลอดสารเคมี ผมไม่เชื่อ ถ้ามีเพลี้ยไฟสักตัวหลุดเข้าไปในโรงเรือน ถ้าคุณไม่ใช้สารเคมีจะกำจัดเพลี้ยไฟได้หรือ เราทำมะม่วงส่งออก 20 ปี
คนญี่ปุ่นบอกว่า คุณใช้สารเคมีได้ แต่ต้องรู้ว่าจะเก็บเกี่ยวช่วงไหน เราปลูกสตรอว์เบอร์รี ก็ทำตามมาตรฐานสากล ถ้าผลิตได้ปีละห้าตันอย่างที่คิด แล้วมีคนซื้อโนฮาวไปพัฒนา ลงทุนสักร้อยแห่ง ก็จะส่งออกได้ ถ้าตราบใดยังมีแรงผมก็ทำไปเรื่อยๆ "
บทเรียนที่เนรมิตเกษตร แดนเนรมิต
จากประสบการณ์ลองผิดลองถูกในช่วงหลายปีที่เนรมิตเกษตร แดนเนรมิต ดร.พลรชฏ พบว่า โมเดลเจ้าของที่ดิน คนลงทุน และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ แม้จะสร้างผลผลิตได้ แต่ไม่ตรงตามเป้าหมาย
"ที่แดนเนรมิตผมหมดทุนไป 8 ล้าน เพราะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไม่สามารถสร้างโมเดลที่ผมสร้างขึ้น อีกอย่างผลผลิตไม่เป็นอย่างที่เราคิด เพราะสภาพแวดล้อมบางอย่างปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ยังทำอยู่ แค่เปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการฟาร์มทดลองแบบยั่งยืน
ผมอยากสร้างโมเดลการเกษตรที่มั่งคั่งยั่งยืน ปลายปี 67 ผมจะเริ่มปลูกรอบแรกที่ปทุมธานี และเก็บผลผลิตเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 68 เราจะเก็บสตรอว์เบอร์รีในฤดูร้อน
ตอนนี้เนรมิตเกษตร ยังเป็นพื้นที่ทดลองวิจัย เพราะเรายังไม่ได้คำตอบบางเรื่อง อย่างการควบคุมการสังเคราะห์แสงพืชแต่ละช่วงวัย ต้องใช้ความเข้มของแสงเท่าไร ยังเป็นเรื่องที่เราอยากรู้ ส่วนที่เนรมิตเกษตร 11 (ปทุมธานี คลอง 11 ) ผมวางแผนไว้ว่า ในอนาคตถ้าโมเดลที่นวเกษตร ปทุมธานี ประสบความสำเร็จ เราจะทำเป็นหนึ่งโรงเรือนหนึ่งอำเภอ
จะเปิดให้คนที่อยากลงทุนได้เห็นต้นเดือนเมษายน ปี 68 และต่อไปจะทำโรงเรือนสมุนไพร ดอกไม้และผลไม้มูลค่าสูง ถ้าสำเร็จจะมีการรับประกันซื้อผลผลิต เพื่อพัฒนาส่งออกต่างประเทศ"