Madama Butterfly โอเปร่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

Madama Butterfly โอเปร่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นร. ร่วมกับมูลนิธิ RBSO ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จัดการแสดงเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยอุปรากรระดับโลก Madama Butterfly (มาดามบัตเตอร์ฟลาย)

เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) กระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา (RBSO) กำหนดจัดการแสดงอุปรากรเรื่อง มาดามบัตเตอร์ฟลาย (Madama Butterfly) ในวันอังคารที่ 23 และวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์อุปถัมภ์มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้าฯ มีพระดำริให้มูลนิธิฯ จัดการแสดงโอเปร่าหรืออุปรากรเรื่อง Madama Butterfly ซึ่งเป็นบทประพันธ์ดนตรีของ จาโคโม ปุชชินี (Giacomo Puccini) ชาวอิตาเลียน บทคำร้องเป็นภาษาอิตาเลียนโดย ลุยจิ อิลลิกา (Luigi Illica) และ จูเซปเป้ จาโกซา (Giuseppe) 

Madama Butterfly โอเปร่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แถลงข่าวการจัดแสดงอุปรากรเฉลิมพระเกียรติเรื่อง Madama Butterfly

มาดามบัตเตอร์ฟลาย เป็นอุปรากรที่แสดงถึงความรักระหว่างสาวเกอิชาชาวญี่ปุ่นผู้ยึดมั่นในความรัก โดยการสละชีวิตเพื่อรักษาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตน กับทหารเรือหนุ่มชาวอเมริกัน

อุปรากรเรื่องนี้ได้รับการนำออกแสดงครั้งแรกที่โรงอุปรากร “สกาลา” ในกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี เมื่อปีค.ศ.1904 (พ.ศ.2447) เป็นโอเปร่าเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมนำออกแสดงมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก

การแสดงอุปรากรเรื่อง “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” ครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงรับเป็นผู้อำนวยการแสดง (Executive Producer) ทรงคัดเลือกคณะนักแสดงจาก Opera Production กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และเปิดคัดเลือกนักแสดงไทยในบทนักแสดงสมทบ และนักร้องประสานเสียง

Madama Butterfly โอเปร่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นักแสดงโอเปร่าเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง Madama Butterfly ในชุดซึ่งออกแบบโดยแบรนด์ SIRIVANNAVARI

ที่สำคัญการแสดงครั้งนี้ ชุดของนักแสดงออกแบบใหม่ทั้งหมดโดย แบรนด์ SIRIVANNAVARI  นำโดยองค์ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ ทรงออกแบบเสื้อผ้าจำนวน 14 ชุด ด้วยพระองค์เอง สำหรับ 9 ตัวละครหลักทั้งชายหญิง

ได้แก่ โจโจ้ซัง (Cio Cio San) นางเอก, พิงเคอร์ตัน (Pinkerton) พระเอก, ซูซูกิ (Suzuki) พี่เลี้ยง, ยามาโดริ (Yamadori) เจ้าชาย, เคท พิงเคอร์ตัน (Kate Pinkerton) ภรรยาใหม่, บอนโซ (Bonzo) พระญี่ปุ่น, โกโร (Goro) พ่อสื่อ, ชาร์พเลส (Sharpless) เพื่อนพระเอก และคอมมิสซาริโอ (Commissario) ขุนนางญี่ปุ่น

และเครื่องแต่งกายอีก 40 ชุด โดยทีมงานของแบรนด์ SIRIVANNVARI ภายใต้แนวคิดทรงกำหนดของพระองค์ท่าน  นอกจากนี้ ยังทรงมีส่วนร่วมในการออกแบบฉากเวที ร่วมกับทีมงานจากเวียนนาอีกด้วย

Madama Butterfly โอเปร่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รติรส จุลชาต

“พระองค์ท่านทรงรับสั่งกับทางทีมงานเบื้องหลังถึงความใฝ่ฝันของศิลปินสักคน ด้วยความที่พระองค์ท่านทรงสนพระทัยงานศิลปะรอบด้าน ไม่เพียงแฟชั่น แต่ทรงชอบดนตรี การแสดง ทุกอย่างที่เป็นศิลปะ พระองค์ท่านทรงมองว่าการทำโอเปร่าได้แสดงศักยภาพของการเป็นศิลปะทั้งหมด มีศิลปะหลายแขนงรวมอยู่ ท่านอยากเห็นว่าเมื่อรวมกันแล้วเป็นอย่างไร จึงทรงอยากผลักดันให้เกิดขึ้น” รติรส จุลชาต รองประธานบริษัท ไอริส 2005 จำกัด บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับออกแบบและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนม ภายใต้ชื่อแบรนด์ SIRIVANNAVARI ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ในงานแถลงข่าวกำหนดจัดการแสดงอุปรากรเรื่อง มาดามบัตเตอร์ฟลาย เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ก.ค.2567 ณ RBSO Museum ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ

Madama Butterfly โอเปร่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นักแสดงโอเปร่าชาวไทยซึ่งได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดง Madama Butterfly

“ที่สำคัญพระองค์ท่านทรงอยากเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยแขนงต่างๆ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทีมงานระดับโลก เพราะการทำโอเปร่านอกจากได้ทำงานในส่วนแฟชั่น ในส่วนของทีมเวที แสง สี เสียง ฉาก นักแสดงสมทบเป็นคนไทย มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับโอเปร่าโปรดักชั่นเวียนนา การมีโอกาสแบบนี้ท่านทรงมองว่าคนไทยได้แสดงศักยภาพและเพิ่มประสบการณ์ระดับสากล เพราะคนไทยก็ทัดเทียมต่างประเทศไม่แพ้ที่ไหนเลย”

รติรส จุลชาต ให้สัมภาษณ์ในเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุใด สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงเลือกทำโปรดักชั่น “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” ด้วยว่า

“พระองค์ท่านทรงเคยถามองค์เองบ่อย ถ้ามีโอกาสในการทำโอเปร่าที่ประเทศไทยสักครั้ง เรื่องแรกที่ทรงตั้งพระทัยจะทำคือ มาดามบัตเตอร์ฟลาย เพราะเข้าถึงคนไทยได้ง่าย และเป็นโอเปร่าเรื่องที่รัชกาลที่ 5 ก็ทรงโปรด” 

ย้อนกลับไปในปีพ.ศ.2450 เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 ทรงมีโอกาสทอดพระเนตรอุปรากรเรื่องดังกล่าว

เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร ได้ทรงเล่าให้ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) ว่าทรงทอดพระเนตรโอเปร่าเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย 

กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ จึงทรงนำเค้าโครงเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายมาดัดแปลงแต่งเป็นบทละครร้องแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง โดยเปลี่ยนบทนางเอกจากสาวญี่ปุ่น ‘โจโจซัง’ เป็น ‘เครือฟ้า’ เปลี่ยนบทพระเอกจากนายทหารเรืออเมริกัน ‘นายเรือเอกพิงเคอร์ตัน’ เป็น ‘ร้อยตรีพร้อม’ บทละครร้องเรื่องนี้ชื่อ สาวเครือฟ้า ซึ่งกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงใช้พระนามปากกา ‘ประเสริฐอักษร’ แต่งบทละครร้องเรื่องนี้

Madama Butterfly โอเปร่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการมูลนิธิ RBSO กับสองนักแสดงนำ

ครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) นำบทละครร้องเรื่อง ‘สาวเครือฟ้า’ มาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันเมื่อปีพ.ศ.2495 สร้างชื่อเสียงให้ วิไลวรรณ วัฒนพานิช ซึ่งรับบท ‘เครือฟ้า’ จนได้รับฉายา ‘นางเอกเจ้าน้ำตา’ แสดงคู่กับ ชลิต สุเสวี

ครูมารุตนำภาพยนตร์ ‘สาวเครือฟ้า’ มาสร้างใหม่อีกครั้งเมื่อพ.ศ.2508 ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มิลลิเมตร นำแสดงโดย พิศมัย วิไลศักดิ์, มิตร ชัยบัญชา

สาวเครือฟ้าได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้งเมื่อพ.ศ.2523 โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ทรงใช้ชื่อเรื่อง ‘เครือฟ้า’ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มิลลิเมตร นำแสดงโดย สุพรรษา เนื่องภิรมย์, นิรุตต์ ศิริจรรยา และวิยะดา อุมารินทร์

Madama Butterfly โอเปร่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว Gianluca Terranova และ Viktorija Miskunaite

สำหรับคณะนักแสดงจาก Opera Production เรื่อง มาดามบัตเตอร์ฟลาย เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระขนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ประกอบด้วยนักร้องโอเปร่าชั้นนำของยุโรป อาทิ

  • Viktorija Miskunaite และ Laura del Rio นักร้อง Soprano รับบทเป็น Madama Butterfly
  • Gianluca Terranova (Tenor) รับบทเป็น B.F. Pinkerton
  • Alissandra Volpe (Mezzo-Soprano) รับบทเป็น Suzuki
  • Massimo Cavalletti (Baritone) รับบทเป็น Sharpless
  • Orlando Polidoro (Tenor)
  • ร่วมด้วย 3 นักร้องโอเปร่าชาวไทยที่มีชื่อเสียงในวงการ
  • บรรเลงโดย Royal Bangkok Symphony Orchestra อำนวยเพลงโดย Valentin Egel ผู้อำนวยเพลงชาวเยอรมัน

Madama Butterfly โอเปร่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว Viktorija Miskunaite โชว์เสียงโซปราโนวันแถลงข่าว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนคร การแสดงอุปรากรเรื่อง “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2567

สำหรับการแสดงรอบวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567 เวลา 19.30 น. เปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมตามปกติ ราคา 1,000 บาท 2,000 บาท และ 3,000 บาท ซื้อบัตรได้ที่ Thai Ticket Major

ข้อแนะนำในการเข้าชมการแสดง

  1. ไม่ควรนำเด็กต่ำกว่า 5 ปี เข้าชมการแสดง ยกเว้นบางรายการที่อนุมัติเป็นกรณีพิเศษ
  2. ผู้ที่มาถึงหลังจากเริ่มการแสดงแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และไม่ควรเข้านั่งประจำที่ในขณะที่ดำเนินการแสดงอยู่ เพื่อจะไม่รบกวนผู้อื่น
  3. ห้ามนำกล้องถ่ายภาพ กล้องวีดีโอ หรือเครื่องอัดเสียง เข้าไปในหอประชุม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ
  4. กรุณาแต่งกายสุภาพ  งดสวมกางเกงขาสั้น งดสวมรองเท้าแตะ