นิทรรศการ 808080 error objects : ความบิดเบี้ยวและตัวตน รุ้ง-นภัสกร นิกรแสน
ตั้งใจที่จะให้ศิลปะออกมาในรูปแบบ error objects เหล่านี้นี่คือเรื่องเล่าและเส้นทางรุ้ง-นภัสกร นิกรแสน ความบิดเบี้ยวและตัวตนในแบบของเธอ
หลายคนที่มาดูงานศิลปะ 808080 (error objects) โดย Anxiety Storage นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ รุ้ง-นภัสกร นิกรแสน มักจะบอกว่า “มันแปลกดีนะ”
ความบิดเบี้ยวที่บอกเล่าตัวตน ผลงานสร้างสรรค์ที่ใช้เวลาทั้งชีวิต(คิดฝันเรื่องความไม่สมบูรณ์แบบตั้งแต่เด็ก) จากการเก็บรวบรวมผลงานดิจิทัลอาร์ตในคอมพิวเตอร์ จนที่สุดจัดแสดงเกือบหนึ่งเดือน จนถึงวันที่ 17 กันยายน 2567 ณ Saratta Space และไม่หยุดแค่นั้น ยังไปต่อ...
ในช่วงวัยหนึ่ง ความบิดเบี้ยวในความรู้สึกของรุ้ง ถูกตั้งคำถามว่า จะเข้ากับสังคมได้ไหม แต่เมื่อถึงช่วงวัยหนึ่ง เธอยอมรับว่า นี่คือตัวตนของฉัน ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ทำแล้วมีความสุข ก็พอแล้ว
ความบิดเบี้ยวจึงอยู่ที่ว่า ใครจะมองมุมไหน...เป็นงานศิลปะหรือขยะ ? เพราะสิ่งของเหล่านี้ แทบใช้งานไม่ได้เลย ไม่ว่า...แก้ว 8 หู ,สเก็ตบอร์ดมีล้อ,จักรยานไม้กวาด,ช้อนเป็นรู,พัดลมไม่มีลม ,หวีตะปู ฯลฯ
จักรยานในแบบของรุ้ง นภัสกร นิกรแสน
error objects ในงานศิลปะ
เหตุใดต้องเป็น error objects รุ้งมองว่า สิ่งของบนโลกใบนี้ไม่จำเป็นต้องสมจริง จึงอยากโยนไอเดียออกไปในสังคม และนิทรรศการครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเติ้ด Tilly Birds เพื่อนที่ช่วยสนับสนุน
"ช่วงที่เริ่มทำโครงการ error objects รุ้งรู้สึกว่า โลกที่เราอยู่เป็นโลกเสมือนจริงหรือเปล่า เราไปกำหนดสิ่งนั้นหรือเปล่า ไม่มีใครยอมรับในสิ่งที่เราเป็นได้ทั้งหมด แม้กระทั่งตัวเราเอง ก็ไม่สามารถยอมรับสิ่งที่คนอื่นเป็นได้ทั้งหมดเช่นกัน
error objects อาจไม่ใช่สิ่งของ อาจเป็นมนุษย์ก็เป็นได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์อยู่บนพื้นฐานการตัดสิน รุ้งอยากปล่อยให้งานศิลปะตั้งคำถาม แรกๆ มีคนแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา... "ศิลปินน่าจะเป็นลูกคนรวย"? ,"เวลาว่างของเศรษฐีที่ทำออกมาแบบนี้","เป็นงานขยะ" ,"ไร้ประโยชน์สิ้นดี" และ"นี่ศิลปะบ้าอะไร" ฯลฯ" รุ้ง เล่า
รุ้ง นภัสกร ศิลปิน
และรู้สึกไม่ดีนักกับความคิดเห็นเหล่านั้น แต่เมื่อตั้งตัวได้ เธอมองตรงข้ามและยอมรับได้ว่า ความหลากหลาย คือ ความสมบูรณ์แบบ
แม้ 808080 (error objects) Concept Artist ที่เปิดแสดงเกือบเดือน จะถูกมองว่า แปลก กวน มีทั้งคนชื่นชอบและไม่ชอบ รุ้งไม่ได้ต้องการเสนองานเท่ๆ แต่อยากให้เห็นตัวตนของเธอ และไม่มั่นใจนักกับคำว่า การเป็นศิลปิน
สำหรับเธอแล้ว การเป็นศิลปิน ต้องมีวินัย มีโชค มีคอนเน็กชัน และต้องมีเงิน ดังนั้นหลังจากเรียนจบด้านมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอจึงเลือกทำงานเป็นดีไซเนอร์ก่อน
สเก็ตบอร์ดมีล้อในแบบของเธอ
แต่ก็เปลี่ยนงานบ่อยทำให้เธอมีทักษะที่หลากหลาย เคยเป็นทั้งกราฟิกดีไซเนอร์,อาร์ตไดเรคเตอร์ และผู้จัดการโครงการ ฯลฯ โดยทั้งหมดใช้ทักษะศิลปะ แต่ที่สุดแล้วเลือกทำงานในแบบของตัวเอง
“มีวันหนึ่งตื่นขึ้นมา รู้สึกไม่อยากทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพไปวันๆ อยากมีส่วนช่วยสนับสนุนคนอื่นบ้าง ตอนออกจากงานประจำ เพราะรู้สึกว่า การสื่อสารในเรื่องธุรกิจน่าจะให้คนที่เหมาะสมกว่าทำ
และสองปีที่ผ่านมา รุ้งเจอเรื่องสะเทือนใจในชีวิต พยายามค้นหาว่า เราเกิดมาทำไม ก็ไปปฎิบัติธรรมแล้วรู้สึกดีขึ้น ศาสนาพุทธน่าจะนำเราเข้าสู่สมาธิได้อย่างตรงไปตรงมามากที่สุด แต่รุ้งชอบปฏิบัติมากกว่าสวดมนต์ เพราะเป็นคนวิตกกังวล และพยายามบอกตัวเองตลอดว่าต้องอยู่กับปัจจุบัน"
ปัจจุบันรุ้งเรียกตัวเองว่า ฟรีแลนด์ที่ทำงานศิลปะหลากหลายหรือจะเรียกว่า ศิลปินก็ได้ รวมถึงเรียนปริญญาตรีอีกใบด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
พัดลมกระดาษ ไม่มีลม ตัวตนอีกแบบของรุ้ง
และล่าสุดผลงาน error objects เป็นเสมือนชีวิตรุ้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าชีวิตรุ้งขึ้นอยู่กับมัน เพียงแต่สะท้อนความเป็นรุ้งตั้งแต่เด็กจนโต
"เมื่อรุ้งคิดว่า ไม่สามารถเป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง เมื่อโตขึ้น รุ้งเริ่มแง้มความเป็นตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เพิ่งรู้ว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน สนุกแบบนี้เอง เคยมีคนบอกว่ารุ้งแปลก และสิ่งที่เซอร์ไพร์สมากคือ รุ้งสามารถยอมรับตัวเองในวันที่มีคนบอกว่า เราแปลกได้
เพราะตอนเด็กเป็นคนพูดน้อย เพื่อนน้อย กลัวว่าเวลาจะพูดอะไรออกไปจะทำให้เป็นตัวประหลาดในสายตาคนในสังคม เราไม่รู้ว่าจะเข้าสังคมอย่างไร ขี้อาย ไม่อยากเป็นจุดสนใจ"
ความฝันคือ ฉันอยากบิน
เมื่อตัั้งใจว่า ไม่อยากทำงานศิลปะเท่ๆ อย่างเดียว ไม่อยากให้คนมองว่า ศิลปะเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ขาวหรือดำ
"บางคนมาดูงานรุ้ง แล้วบอกว่าเข้าไม่ถึง ไม่เข้าใจ ดูแล้วไร้ประโยชน์ เหมือนงานขยะ นั่นแหละคุณได้เข้าถึงงานศิลปะแล้ว เมื่อเกิดความรู้สึกหรือความคิด ศิลปะได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว " รุ้ง เล่า
ส่วนงานชิ้นที่ปลื้มมากที่สุด เธอบอกว่า มี 3ชิ้น คือ จักรยานไม้กวาด ,สเก็ตบอร์ดมีล้อ และพัดลมกระดาษไม่มีลม เพราะใช้ทักษะหลายศาสตร์ ทั้งศิลปะ งานช่าง การทำเฟอร์นิเจอร์ และงานโครงสร้างแบบวิศวกรรม ฯลฯ
"ยกตัวอย่างพัดลมกระดาษไม่มีลม ตรงข้ามกับพัดลมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีลมเย็น ทั้งสองแบบ เมื่อนำมารวมกันในแบบเรา ไม่สร้างลมเย็นให้เลย แต่ทำออกมาแล้วมีความสุข เอ็นดูชิ้นงานนี้ ถ้าเปรียบเป็นตัวเรา ก็เหมือนเราพยายามทำประโยชน์อะไรสักอย่าง
ส่วนจักรยานไม้กวาด เป็นความรู้สึกตอนเด็กๆ ชอบแฮรี่ พอตเตอร์ ชอบเวทมนตร์ อยากเป็นแม่มด ตอนเด็กไม่ค่อยมีเพื่อน เคยคิดจะสอนนกแก้วพูด เพื่อเป็นเพื่อนเรา เวลาอยากบินได้ ก็เอาไม้กวาดมาขี่ กระโดดไปกระโดดมา ถ้ากระโดดสักร้อยครั้ คงมีสักครั้งที่เราบินได้ แต่เราก็บินไม่ได้ จึงออกมาเป็นจักรยานไม้กวาด ส่วนสเก็ตบอร์ดมีล้อถีบได้ ชิ้นงานนี่ทำยาก ซับซ้อนมาก ต้องสร้างโครงสร้างและกลไกใหม่ ต้องใช้ความรู้เรื่องวิศวกรรม เป็นงานที่ทำร่วมกับอาที่เป็นช่าง
เมื่อถามไปว่า งานศิลปะทั้งหมดมีคนขอซื้อบ้างไหม...รุ้งบอกว่า ถ้ามีคนขอซื้อ ก็ยินดี เพราะรุ้งไม่ใช่ศิลปินโด่งดัง และงานก็ไม่ได้สวยงาม ไม่ใช่งานสะสม แค่อยากนำเสนอโมเดิร์นอาร์ต หรือ Concept Artist ในสังคมไทย
.........
ภาพ : Anxiety Storage