“กูไม่กลัวมึง เรื่องของมึง ไม่ใช่ของกู” เมื่อ วิทย์ สิทธิเวคิน เจอสิ่งไม่ชอบ
วิทย์ สิทธิเวคิน เจ้าของรางวัลอินฟลูเอนเซอร์ สาขา Best Public Figure Creator Award 2024 เผยแนวคิดส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต และฝาก 3 ข้อคิดเติมพลังใจให้คนทุกเจนที่กำลังหมดไฟ ตามหาฝันไม่เจอ
ในงาน The Mall Lifestore Presents Thailand Influencer Awards by Tellscore งานประกาศรางวัลยิ่งใหญ่แห่งปีสำหรับสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์และสุดยอดแคมเปญอินฟลูเอนเซอร์แห่งปี จัดโดย บริษัท เทลสกอร์ จำกัด และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด
ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน หรือฉายา เฮียวิทย์ พิธีกร ผู้บริหารที่เชี่ยวชาญด้านพีอาร์และเศรษฐกิจ และผู้จัดรายการประวัติศาสตร์ 8 นาที (8 Minute History) ได้รับการตัดสินให้เป็นผู้รับรางวัล Best Public Figure Creator Award 2024
ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน
เพราะชีวิตคือการเติบโตและเรียนรู้ ไม่ว่าคุณจะอยู่เจนเนอเรชันไหนต่างต้องเผชิญกับ ‘อุปสรรค’ ยากจะก้าวข้าม หลายครั้งที่หมดกำลังใจ
ในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ผู้คว้ารางวัลสาขา Best Public Figure Creator ‘เฮียวิทย์’ ฝาก 3 ข้อคิดสำหรับคนทุก 'เจน' ที่กำลังหมดไฟ หรือยังคงตามหาความฝันของตนไม่เจอ ดังนี้
การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้ความฝัน หาสิ่งที่ชอบไม่เจอ
เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าควรทำงานในสายที่เรียนมา หรือเปลี่ยนไปหาสิ่งใหม่
เฮียวิทย์ แนะนำว่า ไม่ว่างานใดที่อยู่ตรงหน้า ให้ลองทำไปก่อน อย่าคิดเพียงว่าเป็นงาน แต่ให้มองว่าเป็นการต่อยอดความรู้จากห้องเรียน เหมือนเป็นปริญญาโทใบใหม่
อยากทำอะไรให้ลองลงมือทำ หลังจากผ่านประสบการณ์เหล่านี้ เราจะรู้จักตัวตนของเรามากขึ้นและสามารถก้าวเดินอย่างมั่นคง
“วัยเด็กเหมือนเขียนหนังสือด้วยดินสอ เขียนผิดก็ใช้ยางลบลบเอา แต่เมื่อโตขึ้นการแก้ไขจะยากขึ้นตาม ที่สำคัญเราต้องรู้จักเก็บพลังตัวเองเอาไว้ อย่าทำร้ายกำลังใจตัวเอง เพราะยุคสมัยนี้เด็กเก่งขึ้นทุกวันครับ
แต่กำลังใจห่อเหี่ยวง่ายมากจริงๆ เป็นเหมือนกันทุกยุคเพียงแต่เราอาจจะลืมไปแล้ว เฮียคิดว่าไม่ว่า ใครก็ตามที่มีจิตใจเข้มแข็งกว่าผู้อื่น จะเดินไกลกว่าคนอื่น”
“ความรู้” หมดอายุเร็ว วิชาใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน
ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว เกิดทฤษฎีใหม่ ความรู้ใหม่ๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายของคนวัยทำงาน รวมถึงน้องๆ ที่กำลังตัดสินใจเลือกศึกษาต่อคณะอะไรดีในมหาวิทยาลัย และคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ต้องขยันหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ
ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า สำหรับน้องๆ ที่กำลังตัดสินใจเลือกเรียนต่อในระดับปริญญาตรี อยากให้ตั้งใจเรียนสิ่งนั้นไปตลอด 4 ปี เพราะความรู้ที่เรียนมาหมดอายุลงแล้ว
ใครที่เรียนแล้วรู้สึกไม่ชอบ ไม่จริงเลย อยากให้เรียนให้ดีที่สุดเพราะทุกวิชาเหมือนกันหมดคือ กระตุ้นให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ ฉะนั้นเรียนเพื่อให้เรามีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ
“ผมมองว่า ในยุคก่อน ความรู้หมดอายุเร็วเท่าโยเกิร์ต แต่ในยุคปัจจุบันความรู้เหมือนเส้นมาม่า ต้ม 2 นาที เส้นอืดหมดแล้ว
ฉะนั้นความรู้ที่เรียนมาไม่ได้ใช้ เพราะโลกใบนี้หมุนเร็วมาก วิชาใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นเรียนเพื่อให้เรารู้จัก Logical thinking พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ แล้วเราจะเติบโตเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้น”
ชีวิตคือการต่อสู้ และการมองหาโอกาส
เรื่องปัญหาที่ทำงานไม่ว่าใครก็ไม่อาจหลีกหนี อยู่ที่ว่าเราจะรับมือได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเฮียวิทย์ ได้แสดงทัศนะว่า
“เวลาเจอปัญหาในที่ทำงาน ถ้าพออยู่ได้ ให้คิดว่าอยู่เพื่อเรียนรู้ ให้คิดซะว่าคนเรามีตา 2 ข้าง ข้างหนึ่งโฟกัสสิ่งที่ต้องทำ อีกข้างหนึ่งมองไปข้างนอก หาโอกาสอะไรใหม่ๆ ในช่วงที่กำลังหางานใหม่ ก็ทำงานเก่าด้วย Mindset ที่เป็นบวก
แต่เปลี่ยนงานบ่อยไม่ดีนะครับ ลองบังคับตัวเองให้เรียนรู้ทุกๆ องค์กรให้ได้ดีที่สุดและลึกที่สุด อย่างน้อยๆ หนึ่งบริษัทควรทำงานอย่างน้อย 1 ปี
แต่คำว่า 1 ปี ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับคนที่ตั้งใจออกทุกวัน ไม่เรียนรู้อะไรเลย เรียกว่าจะอยู่นานแค่ไหนก็เท่ากับศูนย์
แต่ถ้าเราได้เข้าไปทำงานแล้วตัดความไม่ชอบทิ้ง เพราะไม่มีใครได้ทำงานที่ตัวเองชอบ ตั้งใจเรียนรู้ทุกวัน พัฒนาทักษะตัวเอง จาก 1 ปีก็จะกลายเป็น 2-3 ปี และเมื่อมีโอกาสใหม่เข้ามา เราจะไปแบบเราคนใหม่ ไม่ใช่เด็กจบใหม่อีกต่อไป”
แนวคิดในการใช้ชีวิตของ “เฮียวิทย์” ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน
“อยู่ที่ Mindset ครับ เจอสิ่งที่ไม่ชอบก็บอก กูไม่กลัวมึง เรื่องของมึง ไม่ใช่ของกู เจอสิ่งที่เราทำไม่ได้ บอกมันว่า เรื่องแค่นี้เองกูทำได้ แล้วเดินหน้าครับ”
- อัปเดตข้อคิดดีๆ และเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์กับ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ในรายการ 8 Minute History ได้ที่ https://www.youtube.com/@TheStandardPodcast
- ติดตามผลการประกาศรางวัล Thailand Influencer Awards 2024 และสอบถามการให้บริการสร้างแคมเปญออนไลน์ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/tellscore หรือทาง www.tellscore.com
ข้อมูล : มิว-สิรภัทร
เรียบเรียง : วลัญช์