'อปมายา' ประติมากรรม X เครื่องประดับเงิน งามไร้มายา ณ รายา เฮอริเทจ เชียงใหม่

‘อปมายา’ (อะปะมายา) นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยสะท้อนความงามที่ไร้ซึ่งมายา การพบกันอย่างลงตัวระหว่างงานประติมากรรมเซรามิกรูปบุคคล ผลงานของ ศิริพงษ์ เรืองศรี กับเครื่องประดับเงินในคอลเลคชั่นของ รัง-แตน ศิริรัตน์ จิวานุวงศ์
ห่างหายจากการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะไปนาน หลังจากจัดแสดงผลงานเชิดชูพ่อครูแม่ครูผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมพื้นล้านนาในชื่อว่า เลือนจางไม่รางหาย เมื่อปี 2562
ล่าสุด โรงแรมรายา เฮอริเทจ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ด้วยการจัดแสดงนิทรรศการ อปมายา (อะ-ปะ-มา-ยา) Without Illusion นำเสนอผลงานประติมากรรมของ ศิริพงษ์ เรืองศรี และ เครื่องประดับเงินดีไซน์สุดล้ำของ ศิริรัตน์ จิวานุวงศ์ ในแนวทางที่บรรจบกันได้อย่างลงตัว
วิชดา สีตะกลิน ที่ปรึกษางานด้านการออกแบบ บริษัทเดอะ รายา คอลเลคชั่น กล่าวถึงการเชื้อเชิญสองศิลปินมาร่วมกันจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ว่า เกิดจากการชื่นชมในผลงานออกแบบหัตถศิลป์ของศิริรัตน์ เจ้าของแบรนด์ รัง - แตน (Rang–Tan) ผู้หยิบจับอะไรก็กลายเป็นของสวยงามไปทั้งหมด และความประทับใจในผลงานประติมากรรมของ ศิริพงษ์ ที่สะท้อนใบหน้าบุคคลที่มีเสน่ห์บนความเรียบง่าย
“ความตั้งใจในการทำโรงแรมรายา เฮอริเทจ เราอยากสืบสานงานหัตถกรรม เราทำงานกับชุมชน ครูช่าง พอได้มาพบกับคุณแตนและงานของอาจารย์แดง ศิริพงษ์ ซึ่งเป็นงานศิลปะทำมือที่ทำจากใจ มีความนาอีฟ (Naïve) เรียบง่าย ใสซื่อ ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรปรุงแต่ง รู้สึกว่าตรงใจใช่เลย”
ไม่ต้องกลัวไม่สวย ไม่ดี แค่ทำสิ่งที่อยากทำ
ศิริพงษ์ หรือ อาจารย์แดง ครูของเด็กด้อยโอกาส ผู้เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาศิลปะที่สายตายังเวิ้งว้าง ต้องการหาความหมายเข้ามาเรียนรู้ ทดลองการทำงานประติมากรรมเซรามิกในสตูดิโอ บอกกับเราถึงผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ว่า
“อปมายา หมายถึง ไร้มายา ผมพยายามบอกทุกคนว่า คนเราไม่ต้องกลัวไม่สวย ไม่ต้องกลัวไม่ดี แค่ทำตามสิ่งที่คุณอยากทำ เพราะฉะนั้นงานของผมจึงไม่มีชื่อ ส่วนที่มีชื่อล้วนแล้วแต่มีชื่อเดียวกันว่าผู้หญิง เหตุที่เป็นผู้หญิง นั่นก็เป็นแพราะว่า ผมชอบดูสีหน้าคนเพราะสีหน้าของแต่ละคนจะบอกเรื่องราวมากมาย”
ผลงานศิลปะในชุด “ผู้หญิง” ของอาจารย์แดง ประกอบไปด้วยงานจิตรกรรม ประติมากรรม และสื่อผสม โดยเฉพาะงานประติมากรรมมีเป็นจำนวนมากมาย ตั้งแต่ขนาดเล็กที่สามารถหยิบจับได้ไปจนถึงขนาดใหญ่โตสูงราว 2 เมตร
บางชิ้นเป็นงานปั้นดินแบบง่ายๆ บางชิ้นแคลือบสีสันสดใส ใบหน้ามีการแสดงอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยมีรูปปั้นของนกตัวเล็กๆและปลาใหญ่บ้างเล็กบ้างมาต่อเติมอารมณ์และความรู้สึกเคลื่อนไหวของรูปปั้นผู้หญิงได้อย่างน่าสนใจ
“งานเซรามิกของผมเป็นงานประติมากรรมที่ผสมกับงานจิตรกรรมไปด้วย โดยทั่วไปจะมีการเผา 2 ครั้ง ต้องมีการเผาดิบก่อนแล้วค่อยมาเพ้นท์สี แต่ของผมเพ้นท์สีลงไปเลยแล้วเผาครั้งเดียวแบบ One Firing ผมทำงานแบบผิดวิธี ผิดขั้นตอนหมดเลยนะครับ ครูอาจารย์มาเห็นจะต้องบอกว่านี่มันไม่ถูกเลย แต่ผมก็ชอบของผม งานเซรามิกเป็นงานสนิมสร้อยมากเลยนะครับ ถ้าเราเปิดเตาเผาออกมาแล้วเจอชิ้นงานที่แตกมันก็ทำให้หัวใจเราชอกช้ำ” อาจารย์แดงเล่าด้วยรอยยิ้ม
ศิลปะส่องทางให้กันและกัน
ในวันที่อยากหลีกหนีไปจากเชียงใหม่ ไฟในการทำงานสร้างสรรค์เริ่มอ่อนล้า การพาตัวเข้าไปในโลกของงานศิลปะ กลับได้พบกับคำตอบที่ปลดปล่อยพันธนาการของความรู้สึกภายในได้อย่างคาดไม่ถึง
“10 ปีที่แล้วพี่แดงเคยพูดไว้ว่าอยากให้มาแสดงงานด้วยกัน ปีที่แล้วได้พบกันอีกครั้งพี่แดงยังพูดประโยคเดิมเลยว่า เมื่อไหร่จะแสดงงานด้วยกัน วินาทีนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับแตนเลย เพราะปีนั้นเป็นปีที่แย่มากสำหรับแตนในเรื่องของจิตใจ อยากออกจากวงการ อยากย้ายไปจากเชียงใหม่
พอเข้ามาในสตูดิโอของพี่แดง ได้พบกับคำพูดและความรู้สึกที่ตอบโจทย์ข้างในใจที่ทำให้เราไม่อยากไปต่อ ไม่อยากทำสร้อยอีกแล้ว เราเบื่อหุ่นโชว์สร้อยที่เคยทำมา อยากได้หุ่นโชว์สร้อยที่แตกต่างไม่เหมือนใครในโลกนี้ เลยถามพี่แดงไปว่าถ้าแตนนำสร้อยไปใส่ในหุ่นของพี่แดงจะโอเคไหม
พี่แดงตอบมาว่า ทำไมไม่ขายหุ่นพี่ด้วยเลย ปลดล็อคเลยคือเขาหาทางออกให้เราด้วย จึงเป็นที่มาของการเปิดโลกของการขายสร้อยในรูปลักษณ์ใหม่”
ศิริรัตน์ หรือ แตน นักออกแบบเครื่องประดับเงินและนักสะสมผ้าเก่า เจ้าของแบรนด์ รัง - แตน เล่าถึงที่มาของการพบกันทางความคิดที่นำไปสู่การจัดแสดงนิทรรศการร่วมกันระหว่างประติมากรรมและเครื่องเงินว่า
“แตนทำงานกับพี่หน่อย เราทั้งคู่ทำงานกับชุมชน นักวิจัย และชาวเขาเผ่าต่างๆ แรกๆเราเริ่มต้นสะสมและเสพงานเครื่องเงินของเขาก่อน นานวันเราอยากมีสร้อยในรูปแบบของตัวเอง จึงทำงานร่วมกับช่าง นำธรรมชาติรอบตัว เช่น ก้อนหิน เปลือกไม้มาออกแบบเป็นรูปทรงต่างๆจนกลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของเรา
งานของเราจะใช้เงินเปอร์เซ็นต์ที่สูง ตอนนี้เราย้ายสถานที่ผลิตไปอยู่ที่อุบลราชธานี แตนมีหน้าที่ออกแบบและเป็นสไตลิสต์ เพราะพี่หน่อยไม่ใส่สร้อยของตัวเอง แต่แตนเป็นคนใส่สร้อย งานที่ทำออกมาไม่ได้ขายทุกชิ้น บางชิ้นเราเก็บสะสมไว้”
สำหรับเครื่องประดับเงินที่นำมาจัดแสดงร่วมกับหุ่นเซรามิกของอาจารย์แดง เป็นคอลเลคชั่นของรัง-แตนที่เคยนำไปโชว์ที่ฝรั่งเศสเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แม้ว่าจะเป็นงานที่เจ้าตัวกล่าวว่า “ขายไม่ได้เลย” หากมองย้อนกลับไปในวันนั้น ถือว่าเป็นงานเครื่องประดับที่ล้ำหน้ามาก และยังคงล้ำสมัยมาจนถึงวันนี้
“การที่สร้อยได้มาอยู่ในคอหุ่นของพี่แดง ทำให้เราอยากไปต่อ ใบหน้าของหุ่นที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ รวมทั้งรอยยิ้ม ทำให้เราอยากทำสร้อยให้สวยมากยิ่งขึ้น ตอนนี้เรามองไปข้างหน้าแล้วว่างานประติมากรรม กับเครื่องประดับเงิน จะพาเราไปสู่เส้นทางต่อไปอย่างไร”
ไม่ต้องกลัวไม่สวย ไม่ต้องกลัวไม่ดี อาจเป็นอีกหนึ่ง “คำตอบ” ที่ปลดเปลื้องพันธนาการทางความคิดได้อย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แค่ทำตามสิ่งที่อยากทำด้วยความตั้งใจ คือสาระสำคัญจาก ‘อปมายา’ ที่ชวนให้เราไปต่อในปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึงได้อย่างมีกำลังใจ
ภาพ : อนุตรา อึ้งสุประเสริฐ
นิทรรศการประติมากรรมศิลปะร่วมสมัยและเครื่องประดับเงิน Without Illusion – อปมายา (อะ-ปะ-มา-ยา) จัดแสดงที่โรงแรมรายาเฮอริเทจ จ.เชียงใหม่ วันที่ 9 ธ.ค. 67 ถึง วันที่ 31 ม.ค. 68 (เข้าชมฟรี)
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/RayaHeritage