‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’ นักจิตบำบัดกับทางเลือกการสื่อสารไม่ Toxic
ส่งท้ายปี 2567 ลองสำรวจจิตใจสักนิด...เรื่องใดทำแล้ว 'สุข‘ หรือ ’ทุกข์' มาทำความเข้าใจการสื่อสารที่ไม่เอาตััวเองเป็นศูนย์กลาง ด้วย Empathy
ชีวิตจะดีหรือร้าย ไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียว มีปัจจัยภายนอกผลักดัน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจย่ำแย่ เงินหายาก โลกเดือด ภัยพิบัติ ฯลฯ และปัจจัยแวดล้อม ผู้บังคับบัญชา เพื่อนที่ทำงาน คนในครอบครัว และคนที่พบเจอในชีวิตประจำวัน
ถ้าอย่างนั้นในวันเริ่มต้นใหม่ ปี 2568 จะตั้งรับอย่างไร มีทางเลือกไม่ให้ชีวิต Toxic ไหม...จุดประกายฉบับนี้คุยกับนักจิตบำบัดเรื่องวิธีการสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ โดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
"ถ้าจะอยู่กันแบบฮีลใจ ก็ต้องคิดว่า ทุกคนต้องการการซัพพอร์ต และพื้นที่อุ่นใจ เพื่อผ่านสภาวะยากๆ ลดแรงกระแทกไปได้ ชีวิตควรเป็นการเกื้อกูลช่วยเหลือกันและกันในเงื่อนไขที่ทุกคนทำได้ " ส่วนหนึ่งในการพูดคุยกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดที่มีทักษะหลากหลาย ทั้งการแสดงละครเวที พิธีกร อาจารย์สอนมหาวิทยาลัย วิทยากร
และเคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ ปัจจุบันก่อร่างสร้างบริษัทเล็กๆ Empathy Sauce เกือบ 5 ปีที่ทำงานกับจิตใจผู้คนหลายองค์กรและหลายมิติ ทั้งเรื่องจิตบำบัด และวิธีการสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ เพื่อผู้คนจะได้ไม่เดินไปสู่การบำบัดจิต...
- ถ้ามองภาคใหญ่ หากประชาชนรู้สึกสิ้นหวังกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ผู้นำต้องปรับบทบาทอย่างไร
เราอยู่ในสังคมที่สิ่งของบนสะพานจะตกใส่ประชาชนบนถนนเมื่อไรก็ได้ ไม่รู้ว่าวันไหนจะตกใส่เรา ที่ผ่านมาก็หล่นแล้วหล่นอีก แล้วคนมีอำนาจก็บอกว่า มันเป็นแบบนี้แหละ ประชาชนรู้สึกไม่ได้รับการดูแลใส่ใจจากผู้มีอำนาจในการออกแบบบริหารประเทศ เนื่องจากไม่มีการสื่อสารว่า เสียใจและขอโทษประชาชนกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
ทั้งๆ ที่ประชาชนอยากได้ยินคำขอโทษ หรือการจัดการขั้นต่อไป ถ้าเป็นผู้นำประเทศอื่น พวกเขาจะแสดงความรับผิดชอบ รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง
ผู้นำต้องมีบทบาททำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ ถ้าไม่สามารถฮีลใจประชาชนได้ ไม่ว่าสถานการณ์ไหนก็เป็นปัญหา ประชาชนไม่ถูกมองเห็น ย่อมรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่รู้จะพึ่งใคร และเรื่องนี้ดาวก็ไม่อยากด่วนสรุป ตัดสินใคร หรือฟันธง
- อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณตั้งองค์กรเล็กๆ ทำงานกับจิตใจผู้คน?
จำได้ว่า เคยมีคนมาสัมภาษณ์ทำวิจัยเรื่องราวของเรา คนสัมภาษณ์บอกว่า การสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจที่เราทำ ไม่ควรจำกัดแค่ในโรงพยาบาล (ตอนนั้นทำงานบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ) เราก็เลยขยับมาทำส่วนนี้ ไม่ต้องรอให้ถึงจุดต้องเยียวยาจิตใจ
ดาวเคยทำเรื่องการสื่อสารแบบเห็นอกเห็นใจให้โรงพยาบาล และหน่วยงานทางการแพทย์อยู่ 7 ปี ทักษะบางอย่างนำมาใช้ได้เลย และไม่ต้องทำในบทบาทนักจิตบำบัด ยกตัวอย่างบางครอบครัว ลูกๆ ไม่กล้าเล่าทุกอย่างให้พ่อแม่ฟัง ถ้าเล่าบางเรื่องอาจโดนดุ โดนตัดสิน รู้สึกไม่ปลอดภัย
ทักษะการสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจเป็นพื้นฐานของนักจิตบำบัด เรานำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ในห้องบำบัด คนสามารถเล่าความลับที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟัง นี่คือพื้นที่ปลอดภัย
("ถ้าจะอยู่กันแบบฮีลใจ ก็ต้องคิดว่า ทุกคนต้องการซัพพอร์ตและพื้นที่อุ่นใจ เพื่อที่จะผ่านสภาวะยากๆ ลดแรงกระแทกไปได้" ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัด)
- ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยอย่างไร
ต้องคำนึงว่า ถ้าพูดแบบนี้จะทำให้คนฟังเจ็บช้ำหรือเปล่า ยกตัวอย่าง...แต่งงานหรือยัง,ทำไมไม่แต่งงาน, ทำไมลาออกจากงาน ฯลฯ ถ้าอยากแสดงความห่วงใย ลองใช้คำพูดอื่นที่ไม่ทำร้ายจิตใจ
- หลายคนมองว่าเป็นคำถามปกติที่พูดได้ ?
ไม่ปกติคะ เป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว อะไรที่เคยเป็นปกติแบบเดิม ไม่ได้หมายความว่าถูกต้อง เมื่อก่อนคนเป็นพ่อ เป็นแม่ คิดว่าจะพูดแรงแค่ไหนก็ได้ เพราะมีอำนาจ แม้จะถามแบบรุกล้ำ ลูกก็ต้องตอบ แต่ตอนนี้โลกเปิดกว้าง ตระหนักถึงสิทธิและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นมากขึ้น จึงต้องเคารพพื้นที่ส่วนตัว
- แค่ไหนรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว ?
ต้องดูความสนิทสนม บางคนเจอกันครั้งแรก...ถามเลย หรือเผลอไปวิจารณ์คนอื่น ต้องคิดก่อนว่า อีกฝ่ายอึดอัดไหม ยกตัวอย่างวันรวมญาติ บางคนโดนซัดกลางวงโต๊ะจีน ก็ไม่อยากไปอีก กับคำถามที่รุกล้ำ บีบคั้นหรือสร้างความอึดอัดใจ
และการวิจารณ์เรื่องรูปร่าง อ้วน ผอม ดำ สวย ไม่สวย บางคนถือว่าหยาบคาย แล้วทำทำไม การแซว การหยอกแบบนี้ บางเจนเนอเรชั่นอาจถือว่าปกติ
หรือกรณีเพื่อนที่ชอบเล่นมุขเหยียดความเป็นเพศหญิง หน้าตาที่ไม่ได้มาตรฐานความสวยแบบคนทั่วไป แม้คนถูกล้อจะยิ้มขำๆ แต่เก็บมารู้สึก หากเป็นคนรุ่นใหม่จะไม่รับเรื่องแบบนี้เลย
("เป็นยุคที่ทรัพยากรในการใช้ชีวิต ที่ดิน ธรรมชาติ ถูกจับจอง เนื่องจากคน Gen X ก็ถลุงทรัพยากรไปเกือบหมด คนรุ่นใหม่เมื่อเรียนจบ ก็เจอคำว่าสวัสดีโลกร้อน ธรรมชาติกู้คืนไม่ได้แล้ว" -ส่วนหนึ่งจากดุจดาว)
- ทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ?
ความรู้ตัว...นี่สำคัญ คนชอบทำตามความเคยชิน สักแต่ว่าทำ มองแค่ตัวเองเป็นหลัก ทำให้การอยู่ร่วมกันยากขึ้น ถ้าจะอยู่กันแบบฮีลใจ ก็ต้องคิดว่า ทุกคนต้องการซัพพอร์ตและพื้นที่อุ่นใจ เพื่อที่จะผ่านสภาวะยากๆ ลดแรงกระแทกไปได้ ควรเกื้อกูลช่วยเหลือกันและกันในเงื่อนไขที่ทุกคนทำได้
- เพราะพื้นที่การรับฟังในสังคมไทยมีน้อยไป ?
คนจำนวนไม่น้อยเติบโตมาจากสังคมที่ไม่ได้รับฟังซึ่งกันและกัน หลายคนมองว่าการฟังกันเป็นเรื่องยาก คนอายุมากกว่าเรา แทบไม่ฟังเราเลย แล้วเขาจะฝึกฟังตอนไหน เป็นการสื่อสารทางเดียว ใครมีอำนาจมากกว่าจะพูดอะไรก็ได้ เขาจึงไม่รู้ว่า การฟังสำคัญ
- กระบวนการแบบไหนสามารถช่วยให้เกิดพื้นที่การรับฟัง
ถ้าทุกคนเอาแต่พูด จะรู้ไหมว่า คนข้างๆ เราต้องการอะไร และบางทีเราก็ไม่รู้ว่า เราไปล้ำเส้นใครบ้าง การฟังจึงสำคัญ ในเวิร์คชอปที่เคยทำ บางคนไม่รู้ว่าคำพูดที่ใช้จนชินสร้างความรู้สึกไม่ตรงกับเจตจำนงที่ต้องการ
ยกตัวอย่าง การพูดกับพนักงานว่า “เรื่องง่ายๆ แค่นี้ ใครๆ ก็รู้ ทำไมไม่รู้” แม้คนพูดจะมีเจตจำนงอยากสอนงาน แต่คนฟังรู้สึกว่าถูกตำหนิ ไม่ใช่การสอนงาน จึงต้องมีการปรับถ้อยคำ
- ถ้าอย่างนั้นต้องใช้คำพูดแบบไหน
ถ้าเรื่องนั้นเขาไม่รู้ ทำไม่ได้ ก็ช่วยเหลือ ไม่ตำหนิ และพูดตรงไปตรงมา คนฟังก็รู้สึกว่าไม่ถูกกด หรือถูกด้อยค่า ทำไมเราต้องทำให้พนักงานใจห่อเหี่ยว ไม่อยากทำงาน ถ้าคราวหน้าทำงานติดขัด เขาก็ไม่อยากมาปรึกษา เพราะมนุษย์ไม่อยากถูกทิ่มแทงจิตใจ อยากอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
- เมื่อการพูดคุยทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัยและเกิดความกลัว ?
เราอยู่ในประเทศที่มีวัฒนธรรม และการเลี้ยงดูที่ใช้ความกลัวกระตุ้น บางครอบครัวใช้ถ้อยคำตำหนิแรงๆ หรือขู่ให้ลูกทำตัวดีๆ เดี๋ยวแม่จะไม่รัก คน Gen X ขึ้นไปจะชินกับการเลี้ยงดูแบบนั้น มีการส่งต่อความกลัว จนเป็นเรื่องปกติ ยุคนี้ต้องตัดความเชื่อหลายอย่างออกไป ความกลัวใช้ไม่ได้แล้ว
ในองค์กรที่เราไปสอน มีหลายคนอยากสร้างทีมให้เหนียวแน่น อยากแสดงความเข้าอกเข้าใจคนอื่น แต่ไม่มีทักษะ เพราะบริบทชีวิตที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครทำให้ดูว่า การสื่อสารแบบไม่ทิ่มแทงทำอย่างไร ก็ชวนให้เขามีทางเลือกในการสื่อสารอีกแบบ
(อยากบอกครูอาจารย์หรือผู้นำทั้งหลายว่า จะดูถูกเหยียบหยามใคร เบาๆ หน่อย คุณอาจสร้างแผลใจให้คนอื่น แล้วแผลใจมันอยู่นาน"-ดุจดาว )
- ผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสำคัญแค่ไหน
จากที่เราไปอบรมให้ ผู้นำบางคนที่เคยโหดสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ ย่อมส่งผลดีต่อทีมและครอบครัว ถ้าผู้นำขยับ คนอื่นๆ ก็ขยับตาม
- เป็นงานที่ทำแล้ว รู้สึกภูมิใจ?
ไม่ได้คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ไม่ได้อยากเป็นนักจิตบำบัดตั้งแต่แรก ตอนนั้นสนใจเรื่องจิตวิทยา แค่อยากรู้ว่า ร่างกายและจิตใจทำงานสัมพันธ์กันอย่างไร ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานชีววิทยา ระบบฮอร์โมน ความเครียด การเต้นของหัวใจ ถ้าอยากรู้ว่าใจเป็นยังไง ก็ดูที่ร่างกาย
- ใช่ว่า...จิตใจจะควบคุมร่างกายได้ทุกครั้ง?
สเต็ปแรกที่ทำได้ เลิกตัดสินว่า อารมณ์นี้ดี อารมณ์นี้ไม่ดี อารมณ์ก็คืออารมณ์ บางคนมีอารมณ์โกรธ ก็คิดว่าไม่ดีกดเอาไว้ แล้วดำเนินชีวิตต่อไป อารมณ์ที่กดๆ เอาไว้ก็ยังอยู่ การกดไม่ใช่การจัดการอารมณ์ที่ดี
- ต้องฝึกฝนไหม
ต้องฝึกคะ ฝึกจัดการอารมณ์ เป็นทักษะที่คนทุกเจนฯ น่าจะฝึกไว้ ต้องเลิกตัดสินอารมณ์ตัวเอง คิดไปเองว่า โกรธคือแย่ ลองอยู่กับมันนานขึ้น แต่อยู่แบบไม่เหวี่ยงลงที่ใคร จะได้เข้าใจหน้าตาความโกรธ
- ในปัจจุบันความต้องการเรื่องจิตบำบัดมีมากน้อยเพียงใด
มีสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่บ้านเรายังแปะป้ายว่า การไปหานักจิตบำบัดคือความอ่อนแอ ถ้าเสียใจหรือร้องไห้ คือ อ่อนแอ เรายังมีความเชื่อที่ไม่อัพเดท ทุกคนต่างมีปัญหาเรื่องจิตใจ บางคนไม่ยอมรับ ไม่แก้ไม่จัดการ การอยู่บนโลกนี้ยากขึ้นในหลายๆ มิติ เมื่อไม่ยอมรับ คิดว่าฉันไม่ป่วย ก็แย่ลงเรื่อยๆ
- เวลาเครียดๆ คุณทำอย่างไร
ออกไปเดิน ขยับร่างกาย การเดินจะช่วยย่อยความคิดให้คลี่คลาย มีเวลาอยู่กับตัวเอง แต่ละคนมีวิธีการไม่เหมือนกัน บางคนเวลาเครียด ก็วาดรูป เขียนสมุดบันทึก นวด ร้องคาราโอเกะ หรือเจอนักจิตบำบัด
สำหรับดาว เวลาเครียดมากๆ ต้องการการซัพพอร์ต ก็โทรหาเพื่อนที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เพื่อนที่แชร์เรื่องละเอียดอ่อนได้ เพื่อนที่จะไม่ขำใส่เราหรือลดทอนความรู้สึกบางอย่าง
ส่วนเพื่อนที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย บางคนมีน้ำใจ เราก็แค่ไปปาร์ตี้ ไม่ต้องเล่าเรื่องละเอียดอ่อน คนเรามีหลายมิติ ยกเว้นเพื่อนที่เป็นพิษ เราก็มีระยะห่าง ปีหนึ่งเจอกันครั้ง สองครั้ง เวลาเจอกันก็คุยเรื่องไม่ใกล้ใจเรามาก เชื่อมกันได้ระดับหนึ่ง
- ในฐานะนักจิตบำบัด เคยมีเรื่องแย่ๆ และสลัดไม่ออกจากความรู้สึกบ้างไหม
มีบ้าง บางทีผวาจากความรู้สึกที่ถูกตีตราตั้งแต่เด็กๆ ว่าเก่งไม่พอ ดีไม่พอ ประเทศนี้เวลาทำอะไรที่ไม่เข้าแกนมาตรฐานสังคม สังคมจะตัดสินกันหนักมาก จึงอยากบอกครูอาจารย์หรือผู้นำทั้งหลายว่า จะดูถูกเหยียบหยามใคร เบาๆ หน่อย คุณอาจสร้างแผลใจให้คนอื่น แล้วแผลใจมันอยู่นาน บางคนต้องไปจ่ายตังค์เจอนักจิตบำบัด
- ความคิดแบบนั้นหายไปหรือยัง
เบาบางลง ไม่จำเป็นต้องเอาออก เราอยู่กับมันได้ เพราะเท่าทัน บางวันมาแบบเข้มข้น บางวันก็เบาบาง
- ความสมบูรณ์แบบไม่มีจริง?
ในฐานะผู้ให้บริการทางด้านจิตใจ ถ้าเชื่อว่า ฉันสมบูรณ์แบบ ฉันดีพร้อมจะนำทางไปสู่ความอคติ เพราะคิดว่า ตัวเองดีกว่าคนที่อยู่ตรงหน้า ในห้องบำบัด เราไม่ตัดสินว่า ใครเหนือกว่าใคร ไม่มีใครดีหรือใครแย่
- ในยุคนี้คนรุ่นใหม่จะเอนจอย(enjoy)กับชีวิตจากอะไรได้บ้าง
เป็นยุคที่ทรัพยากรในการใช้ชีวิต ที่ดิน ธรรมชาติ ถูกจับจอง เนื่องจากคน Gen X ก็ถลุงทรัพยากรไปเกือบหมด คนรุ่นใหม่เมื่อเรียนจบ ก็เจอคำว่าสวัสดีโลกร้อน ธรรมชาติกู้คืนไม่ได้แล้ว แล้วยังสภาพอากาศ ฝุ่นP.M. 2.5 คำถามคือ แล้วจะให้คนรุ่นใหม่เอนจอยกับชีวิตจากอะไร พวกเขาต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี และการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำโครงสร้าง ครอบครัว สังคม องค์กร คุณมีอำนาจเปลี่ยนโครงสร้างบางอย่างได้
- คุณภาพชีวิตที่ดีในความหมายของคุณ ?
ถ้ามองภาพใหญ่คือ สวัสดิการภาครัฐ และนโยบายบางอย่าง ยกตัวอย่างบางองค์กรไม่อนุญาตให้ใช้ความรุนแรงในการสื่อสาร หรือถ้าเกิดกรณีเซ็กชวลฮาราสเมนต์(sexual harassment-การถูกคุกคามทางเพศ) พนักงานสามารถให้ฝ่ายบริหารบุคคลจัดการได้เลย เรื่องเหล่านี้พนักงานต้องส่งเสียงไปถึงผู้บริหาร เพื่อออกนโยบายคุ้มครอง
- สรุปได้ว่า งานขององค์กรคุณมีสองส่วนใหญ่คือ การอบรมทักษะการสื่อสารและเยียวยาด้วยจิตบำบัด
Empathy Sauce มีทีมงาน 20 กว่าคน มุ่งประเด็นเรื่องจิตใจ ทั้งปัจเจกบุคคล เป็นกลุ่ม และบางองค์กรก็ซื้อเป็นสวัสดิการให้พนักงาน เพื่อเสริมสร้างทักษะการสื่อสาร ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนแต่ละเจนแตกต่างกัน
ไม่ว่า Gen X ,Gen Y และGen Z จะมีปฎิกิริยาตอบกลับต่างกัน ตอนนี้เป็นโลกของความเท่าทัน สิทธิ ความเป็นมนุษย์ ถ้า Gen X ขึ้นไป อาจไม่ตระหนักรู้ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การสื่อสารแบบเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์
การสร้างบรรยากาศที่ทำงานให้เกิดความปลอดภัย คนจะไม่เจ็บป่วยทางจิตใจ งานส่วนนี้ คนรับบริการอาจไม่มีปัญหาด้านจิตใจ เราก็เข้าไปติดเครื่องมือให้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาจิตใจ
แต่ถ้ามีปัญหารุมเร้า ความเครียด และต้องการใครสักคนอยู่ข้างๆ เพื่อคลี่คลายปัญหา เราทำในส่วนที่เรียกว่า Soulsmith แต่อยู่ในบริษัทเดียวกัน เมื่อคนต้องการเยียวยาเพื่อไปต่อ นักจิตบำบัดใช้หลายรูปแบบ ทั้งดนตรีบำบัด,เต้นบำบัด เสียงบำบัด การเคลื่อนไหวบำบัดและการพูดคุยบำบัด