แอนนา เสือ เส้นทางฝ่าคำสาป กว่าชุดประจำชาติสวยสะกดบนเวที Miss Universe 2022
ดีไซเนอร์ "แชมป์ พีรณัฐ วิริยะ" เล่านาทีต่อนาทีฝ่าวิกฤติคำสาป ทำชุดประจำชาติ "สงกรานต์เทวี" ด้วยหัวใจให้เพื่อนรัก “แอนนา เสือ” รอบ National Costume การประกวด Miss Universe 2022 ปุ้ย ปิยาภรณ์ อุ้มขันเงินโบราณขึ้นเครื่องจากกรุงเทพฯ ถึงนิวออร์ลีนส์ เชียร์แอนนาชิงมง 15 ม.ค.นี้
“แอนนา เสือ” แอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022 สวมใส่ชุด “สงกรานต์เทวี” ถ่ายทอดจิตวิญญาณและสัญลักษณ์ความเป็นไทยในการประกวดรอบ ชุดประจำชาติ หรือ National Costume บนเวทีการประกวดนางงามจักรวาล Miss Universe 2022 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 12 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. ตามเวลาประเทศไทย
“สงกรานต์เทวี” ชุดประจำชาติไทยของ "แอนนา เสือ"
ชุดประจำชาติไทย “สงกรานต์เทวี” ออกแบบโดย แชมป์ พีรณัฐ วิริยะ อายุ 24 ปี ดีไซเนอร์น้องใหม่เจ้าของห้องเสื้อ Ciqure ซึ่งเข้ามารับผิดชอบการออกแบบและตัดเย็บชุดประจำชาติสำหรับ “แอนนา เสือ” เพื่อใส่ประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2022 แบบเร่งด่วน เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” ของทีมทำชุดประจำชาติทีมเดิม
เร่งด่วนและฉุกเฉินถึงระดับที่คุณ ปุ้ย ปิยาภรณ์ แสนโกศิก กรรมการผู้จัดการบริษัททีพีเอ็น โกลบอล จำกัด ผู้จัดการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“สิ่งหนึ่งที่เราจะไม่ยอมแพ้คือ ถึงแม้เราจะโดนขบถกลางสงครามบ้าง ไรบ้าง แม่ทัพสำรองของเราพร้อมที่จะผงาดขึ้นมานำทัพรบต่อเสมอค่ะ”
แชมป์ พีรณัฐ วิริยะ
แชมป์ พีรณัฐ วิริยะ ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ได้รับโทรศัพท์จาก “แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์” เมื่อเวลา 17.00 น. ของวันที่ 14 พ.ย.2565 ว่ามีเรื่องด่วน ขอให้เข้ามาที่ออฟฟิศทีพีเอ็นได้หรือไม่
สักพักผู้ใหญ่ในทีพีเอ็นอีกท่าน “คุณนก” ก็โทรศัพท์มาอีก ถามว่าหากต้องทำชุดประจำชาติในระยะเวลาเท่านี้จะสู้ไหม
นั่นคือ... ถ้ารับงานก็หมายถึงการเริ่มสเก็ตช์ชุดประจำชาติวันที่ 15 พ.ย.2565 และต้องทำชุดให้เสร็จในวันที่ 12 ธ.ค.2565 เนื่องจากวันที่ 13 ธ.ค. แอนนา เสือ ต้องสวมใส่ชุดประจำชาติถ่ายรูปเพื่อทำโปรไฟล์
ปิยาภรณ์ แสนโกศิก
เหตุที่คุณ ปุ้ย ปิยาภรณ์ โทรศัพท์ถึง แชมป์ พีรณัฐ เนื่องจากแชมป์เป็นดีไซเนอร์คนหนึ่งที่ส่งแบบสเก็ตช์ชุดราตรีและชุดประจำชาติสำหรับ “แอนนา เสือ” เข้ามาคัดเลือก โดยผลงานการสเก็ตช์ ชุดประจำชาติ ชนะใจกรรมการเข้ามาเป็น 3 แบบสุดท้าย แต่ไม่ได้รับเลือกในการตัดสินสุดท้าย
ต่อมาคุณปุ้ยก็มีโอกาสเห็นผลงานการออกแบบและตัดเย็บชุดราตรีของ "แชมป์ พีรณัฐ" อีกครั้ง จากชุดราตรีสีดำที่แชมป์ทำให้ มารีญา พูลเลิศลาภ สวมใส่ไปร่วมงาน “JKN Global Group presents Miss Universe Extravaganza เจิดจรัสจักรวาล”
“มีเวลาทำ(ชุดประจำชาติ)ไม่ถึงเดือน ก็บอกกับแม่นก เดี๋ยวหนูเข้าไปคุยรายละเอียดนะคะ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ตกลงว่าจะทำ เพราะเราก็ยังงงๆ อยู่ แล้วก็มีงานประจำ (เป็นดีไซเนอร์ให้กับแบรนด์แฟชั่นในไอจี)" แชมป์ พีรณัฐ กล่าวถึงคำตอบแรกที่ได้รับการทาบทามให้เข้าทำชุดประจำชาติ เพราะในแบบสเก็ตช์แรกที่ส่งไป กังวลว่าจะทำไม่ทัน แต่ขอลองเข้าไปคุยก่อน ซึ่งตอนนั้นก็เป็นเวลาสองทุ่มแล้ว
"สง่า นิ่ง อ่อนช้อย"
"ชุดสงกรานต์เทวีเป็นชุดใหม่ค่ะ ชุดเดิมที่ส่งแบบมีความเป็นไบโอพลาสติก แฟนตาซีหน่อยๆ ต้องใช้ระยะเวลาในการทำ กระบวนการซับซ้อน หนูก็ยอมรับกับผู้ใหญ่ตรงๆ ไม่สามารถทำตามสเก็ตช์แรกได้ในช่วงเวลาเท่านี้ อยากหาทางออกร่วมกันไปในแนวทางไหนดี
หนูก็เลยเสนอผู้ใหญ่ไปว่า เรามีสองทางเลือกไหมคะ เราจะไปแบบสวย หรือไปแบบสนุก ซึ่งธีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาส่วนใหญ่เป็นธีมสนุกสนาน
หนูก็เสนอแนวทางสวยงาม ทำชุดสวย ให้แอนนาสวมสวยๆ ออกมาสง่าๆ นิ่งๆ อ่อนช้อย เป็นมู้ดแอนด์โทนในการนำเสนอชุดประจำชาติ
จากความสนุกสนานเล่นน้ำ เราไปในแนวของนางสงกรานต์ดีมั้ย เราไม่ได้ไปในฐานะคนเล่นน้ำที่สนุกสนาน แต่เราไปในฐานะเทพธิดา นางสงกรานต์ บริบทก็จะเป็นอีกแบบ แต่ก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของงานประเพณีสงกรานต์ของไทย” แชมป์ พีรณัฐ กล่าว
แชมป์ พีรณัฐ วิริยะ หลังรับคำทำชุดประจำชาติ
หลังจากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและขอคำปรึกษาจากคุณปุ้ย ปิยาภรณ์ คุณนก และคณะกรรมการ คุณเอส พรีเว่ กูตูร์ กับคุณโจ้ เซอร์เฟซ ซึ่งเห็นชอบและสรุปกันได้ในเวลาสี่ทุ่มของวันที่ 14 พ.ย.2565 แชมป์ก็ตอบรับทำ ชุดประจำชาติ และขอลาออกจากงานประจำเที่ยงคืนวันนั้นเลย ซึ่งเจ้าของไอจีก็เข้าใจและยินดีสนับสนุนที่แชมป์มีโอกาสเติบโตขึ้นในสายงานแฟชั่นดีไซเนอร์
แชมป์กล่าวว่า ยิ่งสเก็ตช์แบบชุดประจำชาติคอนเซปต์ใหม่ได้เร็วเท่าใด ก็ยิ่งขึ้นโครงชุดได้เร็วเท่านั้น จุดที่ยากคือตอนนั้นยังคิดไม่ออกว่าชุดจะออกมาแบบใด
คืนนั้น แชมป์จึงเปิดดูรูปในไอจีของ “แอนนา เสือ” ว่าใส่ชุดแบบใดแล้วสวย ชุดแบบไหนเสริมบุคลิกภาพ เพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ชุดประจำชาติ เนื่องจากตอนนั้นยังไม่ได้ใกล้ชิดและไม่เคยคุยกันมากพอที่จะรู้จักตัวตนของแอนนาเสือ
ค่ำๆ ของวันที่ 15 พ.ย.2565 แชมป์จึงนำแบบสเก็ตช์ชุดประจำชาติไปเสนอผู้ใหญ่ของทีพีเอ็นและพี่เลี้ยงของแอนนา เสือ มีการปรับเปลี่ยนแบบชุดร่วมกันอีกเล็กน้อย เพื่อปรับจินตนาการกับการลงมือทำให้เป็นไปได้
“เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทางทีพีเอ็นยังไม่ปล่อยแบบสเก็ตช์ใหม่ออกไปทันทีหลังจากที่ทุกคนทราบว่ามีการเปลี่ยนทีม จึงเก็บไว้ก่อน รอเปิดตัวทีเดียว ไม่งั้นก็จะมีดราม่าอีก ทำไมชุดไม่เหมือนแบบสเก็ตช์” แชมป์ กล่าว
ชุด “สงกรานต์เทวี”
ชุด “สงกรานต์เทวี” ได้แรงบันดาลใจจากนางสงกรานต์ประจำปี 2566 ชื่อ “นางกิมิทาเทวี” เป็น 1 ในเทพธิดาทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหม ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของประเพณีสงกรานต์ของไทย
ขณะที่ลวดลายงานปักบนชุด ได้แรงบันดาลใจมากจาก "ผ้าทอลายน้ำไหล" ผ้าทอโบราณทางภาคเหนือของไทย เป็นลวดลายที่ปักขึ้นด้วยลูกปัด คริสตัล เลื่อม และ ขวดน้ำใช้แล้วจากการบริโภค
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่แสดงถึงประเพณีสงกรานต์ของไทยคือ “ขันเงิน” ที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวันแต่ดั้งเดิม ใช้ในการรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ รวมทั้งใช้ เล่นสาดน้ำ กิจกรรมที่คนทั่วโลกรู้จักและอยากเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์ความสนุกสนานของเทศกาลสงกรานต์เมืองไทย
“ขันเงิน” ยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความประณีต สร้างสรรค์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับชาวบ้านและชุมชน
โดยรวมแล้ว ชุดประจำชาติ “สงกรานต์เทวี” สะท้อนให้เห็นถึงความสุข ความรัก ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความงดงามที่สืบทอดต่อกันมาอย่างช้านาน
ชุด "สงกรานต์เทวี" ตัดเย็บด้วยผ้าไหมชีฟอง
แชมป์กล่าวว่า ชุดประจำชาติ “สงกรานต์เทวี” ตัดเย็บด้วยผ้าไหมชีฟองสีขาวเนื้อบางมากๆ ตัวผ้าก็ไม่มีน้ำหนักมาก เพื่อให้ผู้สวมใส่ดูเบาล่องลอยดุจสายน้ำขณะเดิน
“หลายคนอาจบอกว่าชุดดูไม่ไทย เหมือนชุดราตรี แต่หนูอยากให้ชุดมีกลิ่นไอของความเป็นไทยในโครงของชุดที่มีความเป็นสากล โชว์งานปักมือ การจับจีบผ้า (draping) บนโครงเสื้อที่ทำสำหรับใส่บนตัวของแอนนาเสือโดยเฉพาะ
แม้คนกับหุ่นเสื้อจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่ไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ การจับ draping บนตัวเขาโดยตรงจะทำให้ได้สัดส่วนที่พอดี ออกมาสวยงาม เหมาะกับเขามากที่สุด เสริมเขาได้มากที่สุด
ด้วยความที่ผ้าสีขาวและบาง การจับ draping ตรงสะโพก จึงต้องออกแบบให้ปิดในส่วนที่จะโป๊ ทำชิ้นแรกผ้าเบาไป ผ้าย้วยไม่เป็นทรง ก็ต้องนำกลับมาสอยเนาจับจีบใหม่ เอาไปลองอีกทีก็ยังไม่พอดี ก็ต้องเปลี่ยนชิ้นใหม่จนพอดี”
ใช้ผ้าประเภทเดียวกันทั้งชุด
แชมป์ พีรณัฐ กล่าวด้วยว่า ด้วยความที่อยากให้ชุด “สงกรานต์เทวี” ดูเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (unity) จึงไม่อยากใช้ผ้าคนละประเภทในชุดเดียวกัน ไม่เหมาะที่จะใช้งาน patchwork (การตัดต่อผ้า) พอผ้าปล่อยตรงช่วงไหล่ต้องเป็นชีฟองไหมเนื้อบาง ผ้าตรงอกกับสะโพกก็ต้องเป็นผ้าชนิดเดียวกัน
การใช้ผ้าชีฟองเนื้อบางขนาดนี้ ทำให้งานฝีมือ “ปักผ้า” ยากขึ้นกว่าปกติ หากขึ้นสะดึง ความตึงของผ้าช่วยให้ปักง่ายขึ้น
แต่เพราะต้องการงานปักให้เสมือน “ลายน้ำไหล” จึงต้องปักผ้าบนชุดที่อยู่บนหุ่นเลย ไม่มีอะไรดึงให้ชุดตึง ผ้าเคลื่อนไหวได้ตลอด ทำให้ปักยากและใช้เวลามากขึ้น
ความวิจิตรของ "กรองคอ" ที่เกิดจากการปักประดับ
ประกอบกับ “เครื่องประดับศีรษะ” แต่เดิมที่ออกแบบไว้ มีวี่แววว่าแบรนด์เครื่องประดับที่ให้การสนับสนุนจะประดิษฐ์ขึ้นไม่ทันเวลา
แชมป์จึงต้องหาวิธีแก้ไขด้วยการออกแบบ “กรองคอ” ขึ้นมาใหม่อีกชิ้น เพื่อเสริมความสวยงามของชุดแทนเครื่องประดับศีรษะ โดยเปลี่ยนเครื่องประดับศีรษะเป็นดอกไม้ประดับเรือนผมแทน วันนั้นล่วงเข้าวันที่ 8 ธ.ค.2565 แล้ว ซึ่งวันที่ 12 ธ.ค. องค์ประกอบชุดทุกอย่างต้องเสร็จสมบูรณ์
เมื่อต้องวางมือจากการปักชุดไปปักกรองคอ แชมป์จึงขอความช่วยเหลือไปที่ พี่แพร ซึ่งมีฝีมือประณีตในการปักผ้า มาช่วยฝากฝีมืออันยอดเยี่ยมในงานปักผ้าชีฟองตรงบริเวณช่วงอกและสะโพก
แชมป์กล่าวว่า 'พี่แพร' เป็นรุ่นพี่ที่เปรียบเสมือนครูท่านหนึ่งสมัยที่เขายังเป็นนิสิตสาขาวิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีโอกาสได้ฝึกงานตลอดสี่ปีกับแบรนด์ไทยซึ่งผลงานการออกแบบและตัดเย็บมีความงดงามพิถีพิถันระดับโอต์กูตูร์ของฝรั่งเศส
ตุ้งติ้งและเลื่อมบนชุดสงกรานต์เทวี
หนึ่งในสามรุ่นน้องนั่งติดตุ้งติ้งและปักเลื่อมบนหุ่นโดยไม่ใช้สะดึง
งานปักและการร้อย “ตุ้งติ้ง” ในส่วนของกระโปรงเป็นฝีมือของ “คอปปี้แคท จุลลี่ พอก่อน” รุ่นน้อง 3 คนที่เรียนแฟชั่นคณะเดียวกัน ซึ่งเคยเป็นทีมที่เคยช่วยงานสมัยที่แชมป์เป็นประธานเชียร์ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74
“ตุ้งติ้ง” มีส่วนสัมพันธ์กับ “ผ้าทอลายน้ำไหล” ที่เดิมทอเป็นลายขวางเหมือนการไหลของแม่น้ำ แต่แชมป์บอกว่า ถ้านำมาอยู่บนชุด ช่วงตัวของ “แอนนา เสือ” จะดูตัน ก็เลยกลับลายให้เหมือนน้ำไหลจากบนลงล่าง ลวดลายจึงมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น
“พอมีตุ้งติ้ง เวลาเดินเกิดการเคลื่อนไหว ชุดเคลื่อนไหวไปกับตัวตลอดเวลา เหมือนชื่อน้ำไหล ดูเป็นธรรมชาติ ไม่แข็งกระด้าง ก็ตรงกับธีมสงกรานต์พอดี ที่มีน้ำเป็นสื่อ”
เลื่อมจากขวดน้ำผสมกับเลื่อมจริง
นอกจากความสวยงามแล้ว แชมป์ พีรณัฐ ยังฝากแนวคิด sustainable ความใส่ใจในความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไว้ในชุดประจำชาติ “สงกรานต์เทวี” โดยการเก็บ ขวดน้ำ ที่ใช้แล้วจากการบริโภคมาปั๊มพิมพ์เป็นวงกลมขนาดเล็ก ใช้ประโยชน์แทน “เลื่อม” ในการปักลงบนชุดร่วมกับเลื่อมจริงของสวารอฟสกี้ เพื่อลดปริมาณการใช้วัสดุผลิตใหม่
นอกจากนี้ยังนำ “เลื่อมจากขวดน้ำดื่ม” ตกแต่งลงบนกลีบดอกไม้ประดับเรือนผมของ “แอนนา เสือ” ประหนึ่งหยดน้ำค้างบนกลีบดอกไม้ยามเช้า
“ในอนาคตที่คุยกับพี่มารีญา และพี่อุ้ง ที่ปรึกษาในเรื่อง sustainable fashion จาก Fashion Revolution อาจนำขวดน้ำพลาสติกไปอัพไซเคิล พัฒนาในกระบวนการต่อไป อาจได้แนวทางที่ดีกว่า รักษ์โลกได้มากขึ้น”
"ขันเงิน" ใบจริงที่ แอนนา เสือ ถือบนเวที
สำหรับ “ขันเงิน” บนเวทีที่ “แอนนา เสือ” ถือในรอบประกวดชุดประจำชาติ เป็นคนละใบกับที่ใช้ถ่ายทำวีทีอาร์และภาพนิ่งโปรโมตซึ่งเป็นเพียงขันสเตนเลส
แต่ขันเงินที่แอนนาเสือถือวันประกวดจริง เป็นขันเงินแท้ ฝีมือช่างเชียงใหม่ ซึ่งคุณปุ้ย ปิยาภรณ์ แสนโกศิก ได้รับความกรุณาจากผู้ใหญ่เชียงใหม่ที่เคารพนับถือท่านหนึ่งให้ขอยืมไปอเมริกา
“หนูไม่ทราบมูลค่า เพราะเป็นขันเงินแท้ ขนาดใหญ่กว่าในวีทีอาร์ เป็นของเก่าด้วย แม่ปุ้ยเป็นห่วงขันเงินมาก ให้หนูห่อบับเบิ้ลหลายชั้นมาก พอเป็นเงินจริง ความบอบบางมากกว่าสเตนเลส มีความวิจิตรในลวดลาย โหลดใต้เครื่องไม่ได้เลย ให้พี่นนท์ ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ทำโชว์ถือขึ้นเครื่องไปด้วย พอขึ้นเครื่อง แม่ปุ้ยก็เอามาอุ้มไว้เองตลอด”
แอนนา เสือ ในชุดประจำชาติวันประกวด 12 ม.ค.2566
การนำเสนอหรือการพรีเซนต์ ชุดประจำชาติ “สงกรานต์เทวี” บนเวที คุณแชมป์ให้สัมภาษณ์ก่อนวันประกวดจริงว่า ไม่ได้เตรียมหรือซักซ้อม เนื่องจากยังไม่ทราบว่ากองประกวดวางบล็อคกิ้งบนเวทีการประกวดรอบชุดประจำชาติไว้อย่างไร
“โดยส่วนตัวแล้ว พอได้พูดคุยกับแอนนาเสือ เป็นเพื่อนกันแล้ว เราจะรู้ว่าเพื่อนเราสามารถทำได้แบบไหน ถึงยังไม่รู้บล็อคกิ้ง แต่เราตั้งใจจะนำเสนอ ความอ่อนช้อย สวยงาม สง่างาม เป็นคีย์เวิร์ด
คือเราไม่ได้มาเล่นน้ำ โจทย์เป็นการเดินออกมาอย่างไรให้เป็นเทพธิดา ให้คนรู้สึกถึงความอ่อนช้อยเหมือนลอยมา เราไม่สามารถสาดน้ำบนเวทีได้อยู่แล้ว 'แอนนา เสือ' มีความสามารถในการรำอยู่แล้ว แต่เราก็ยังไม่ได้กำหนดท่วงท่าแบบไหน เพราะว่าเรายังไม่รู้บล็อคกิ้งบนเวที ต้องรอดูว่าทางกองให้เดินแบบไหน ให้เดินมาก หรือให้ยืนนิ่งๆ ยังไม่ได้เคาะกันว่าจะเดินแบบไหน
โดยส่วนตัวหนูเชื่อ 'แอนนา เสือ' เป็นคนฉลาด พออยู่บนเวทีเหมือนองค์ลง สามารถลื่นไหลไปกับเวทีได้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ในเรื่องการพรีเซนต์หนูไม่เป็นห่วงเลย ด้วยความที่พูดคุยกันมาแล้ว เราเชื่อว่าแอนนาสามารถแก้ไขปัญหาและนำพาชุดนี้นำเสนอสู่สายตาชาวโลกได้อย่างสวยงาม”
ปุ้ย ปิยาภรณ์ โพสต์เผยเรื่องราวชุดประจำชาติ "สงกรานต์เทวี" ครั้งแรก
แชมป์ พีรณัฐ วิริยะ ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า วันที่คุณปุ้ย ปิยาภรณ์ เปิดตัวชุดประจำชาติ “สงกรานต์เทวี” ที่สหรัฐอเมริกา เธอทำอะไรไม่ถูกเลย กลัวชุดไม่เป็นไปตามความคาดหวังของแฟนนางงาม
“วันที่เปิดตัวชุด วันนั้นทำอะไรไม่ถูกเลย กลัวมาก เราก็กังวลอยู่แล้วว่าในระยะเวลาเท่านี้ ความคาดหวังของแฟนนางงามก็สูง เราก็ต้องเตรียมตัวรับมือรับทัวร์ รับคำสาป แอนนาเสือเป็นคนให้ความมั่นใจกับเรามากกว่าอีก
ตอนเราไปฟิตติ้งชุด ตอนเราทำให้เขา ชีก็บอกเธอโอเคไหม เราเป็นคนทำชุด เราจะถามคนใส่ว่าโอเคมั้ย แต่นี่กลับเป็นแอนนาเสือถามเราว่าเราโอเคมั้ย เราดีใจมั้ยที่เห็นชุดอยู่บนตัวเขา
ปกติด้วยความเป็นเพื่อนกัน เราไม่ได้พูดอะไรซึ้งๆ กัน แต่วันถ่ายวีทีอาร์เห็นชีใส่ชุดเรา เป็นห่วงความรู้สึกเรา หนูได้แต่กลั้นน้ำตาไว้ หนูโอเคมาก หนูจะร้องไม่ได้ คนก็อยู่เยอะ
แชมป์ พีรณัฐ วันไปส่ง "แอนนา เสือ" เดินทางไปประกวด
วันที่เขาไปอเมริกา ถ่ายรูปลองชุดส่งมา อยากให้เรามั่นใจ เพราะเคยคุยกันช่วงหนึ่ง เรามีช่วงไม่มั่นใจ แอนนาบอก ถ้าเธอไม่มั่นใจ ฉันที่เป็นคนใส่ชุดจะมั่นใจได้ยังไง เธอต้องเชื่อมั่นในตัวเองนะ ให้กำลังใจเรา
เราก็ดีใจเพื่อนเราใส่สวย วันที่เปิดตัว ฟี้ดแบ็คก็ดี เราก็โล่ง เราก็รอชีเสร็จกิจกรรมค่อยคุยกัน เพราะเวลาก็ไม่ตรงกัน ชีก็โทร.มา ได้คุยกัน ก็รับรู้ถึงฟี้ดแบ็คที่ดี ตัวแอนนาเสือก็จะได้ไม่เครียด
หลายคนอาจคาดหวังว่า ชุดประจำชาติ จะต้องได้รางวัล โดยส่วนตัวหนูเอง การได้รางวัลกลับมาถือเป็นกำไร แต่ในระยะทาง เราอยากทำให้ชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เสริมให้เขาสวยและสบายใจ ชุดนี้อาจเป็นหนึ่งในจุดที่ทำให้กรรมการสนใจ พอคนสวย ไม่กดดัน ในรอบอื่นๆ ชีก็จะทำได้ดียิ่งขึ้น รอบต่อๆ ไปก็ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นหลักของการทำชุดนี้ คือหนูอยากเสริมให้เขาดูสวยที่สุด สบายใจ และพาเขาไปสู่จุดอื่นๆ ได้” แชมป์ พีรณัฐ วิริยะ ผู้ออกแบบและดูแลการตัดเย็บชุดประจำชาติ 'สงกรานต์เทวี' กล่าว
การประกวดรอบชุดประจำชาติผ่านพ้นไปแล้ว นับถอยหลังสู่ การประกวดรอบไฟนอล ร่วมให้กำลังใจ "แอนนา เสือ" วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566 เวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศไทย