จากแผ่นเสียงครั่งสู่แผ่นไวนิล...ชวนดูนิทรรศการ “แผ่นเสียงในสยาม”
แผ่นเสียงถือกำเนิดขึ้นเมื่อไรในประเทศสยาม ใครคือนักร้องไทยคนแรกที่ได้บันทึกเสียงร้องของตัวเองลงบนแผ่นเสียง ศึกษาประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของแผ่นเสียงประเภทต่างๆ ในประเทศไทยได้ในนิทรรศการ “แผ่นเสียงในสยาม”
กรมศิลปากร โดยหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ ขอเชิญชมนิทรรศการ เรื่อง “แผ่นเสียงในสยาม” จัดแสดงแผ่นเสียงหายากและเครื่องเล่นแผ่นเสียงในยุคต่าง ๆ พร้อมเพลิดเพลินกับเสียงเพลงจากแผ่นเสียงเก่า และถ่ายภาพกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ
เปิดให้ชมวันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องจัดแสดง ชั้น ๑ อาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ เขตดุสิต กรุงเทพฯ
นิทรรศการ เรื่อง “แผ่นเสียงในสยาม” เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติและพัฒนาการของแผ่นเสียง ความรู้เกี่ยวกับแผ่นเสียงประเภทต่าง ๆ รวมถึงประวัติศาสตร์การบันทึกเสียงของไทย เนื้อหานิทรรศการประกอบด้วย ๔ ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ ๑ แรกมีแผ่นเสียงในสยาม กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการกำเนิดแผ่นเสียง และการ
บันทึกเสียงยุคแรกในสยาม แผ่นเสียงครั่ง ตราแผ่นเสียงที่ผลิตขึ้นโดยคนไทยในยุคแรก “หม่อมส้มจีน” นักร้องสตรีไทยคนแรกที่บันทึกเสียงลงแผ่นเสียง และแผ่นเสียงปาเต๊ะเพลงไทย
ส่วนที่ ๒ จากแผ่นเสียงครั่งสู่แผ่นเสียงไวนิล กล่าวถึงพัฒนาการการบันทึกเสียงจากแผ่นเสียงครั่ง สู่แผ่นเสียงไวนิล และแผ่นเสียงไวนิลประเภทต่างๆ
ส่วนที่ ๓ แผ่นเสียงสำคัญในสยาม กล่าวถึงแผ่นเสียงเพลงสำคัญของชาติ แผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๙ แผ่นเสียงเพลงไทยของกรมศิลปากร แผ่นเสียงเพื่อการศึกษา และรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน
ส่วนที่ ๔ การกลับมาของแผ่นเสียง คุณค่าทางใจและความสุนทรีย์ที่จับต้องได้ กล่าวถึงการ
กลับมาได้รับความนิยมของแผ่นเสียงอีกครั้งในยุคปัจจุบัน
ภายในนิทรรศการจัดแสดงกระบอกเสียงและแผ่นเสียงหายาก เช่น กระบอกเสียงของเอดิสัน แผ่นเสียงครั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ แผ่นเสียงครั่งร่องกลับทางของปาเต๊ะ ซึ่งเป็นแผ่นเสียงชนิดพิเศษและหายาก แผ่นเสียงไวนิลแบบต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นพิเศษ แผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ที่บันทึกครั้งแรก แผ่นเสียงเพลงชาติในยุคแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แผ่นเสียงเพลงไทยของกรมศิลปากร ฯลฯ
นอกจากนี้ยังจัดแสดงปกแผ่นเสียงไวนิลสวยงามของศิลปินที่มีชื่อเสียง และเครื่องเล่นแผ่นเสียงในยุคต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถเพลิดเพลินกับเสียงเพลงจากแผ่นเสียงเก่า ถ่ายภาพกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ และร่วมกิจกรรม Sleeveface จากปกแผ่นเสียง
นอกจากนิทรรศการแผ่นเสียงในสยาม หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดนตรี เป็นศูนย์ข้อมูลวิชาการดนตรีสำหรับศึกษาค้นคว้า วิจัย รวบรวมและอนุรักษ์ต้นฉบับเพลงไทย และเพลงพระราชนิพนธ์ทุกรูปแบบ ทั้งสื่อโสตทัศนวัสดุ หนังสือ เอกสาร และโน้ตเพลง จัดแสดงเปียโนสองหน้าโบราณหลังเดียวของไทย และผลงานของครูเพลงที่สำคัญของไทย เช่น ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ และพระเจนดุริยางค์ เป็นต้น