จาก “Black Adam” ถึง “Taylor Swift” สำรวจ "Anti-Hero" ที่ซ่อนอยู่ในใจของทุกคน
ทำความรู้จัก “Anti-Hero” ฮีโร่แบบใหม่สีเทา ๆ ที่แหวกขนบซูเปอร์ฮีโร่ทั่วไป แต่ไม่ใช่ตัวร้ายสุดขั้ว ทั้ง “Black Adam” “Venom” และ “Deadpool” รวมซิงเกิลหลักจากอัลบั้มชุดที่ 10 “Midnights” ของ “เทย์เลอร์ สวิฟต์”
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีการสร้างภาพยนตร์แนวนี้มาอย่างต่อเนื่อง และในระยะหลังนั้นได้เกิดการทำภาพยนตร์แนว “แอนตี้ฮีโร่” (Anti-Hero) ขึ้น ซึ่งจากชื่อหลายคนอาจจะเข้าใจว่าแอนตี้ฮีโร่นั้นเป็นกลุ่มต่อต้านฮีโร่ หรือเป็นตัวร้าย แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่แบบนั้น
- แอนตี้ฮีโร่ คือใคร?
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับเหล่าตัวละคร “ซูเปอร์ฮีโร่” (Super Hero) หรือเหล่าวีรบุรุษกันก่อน ตัวละครเหล่านี้คือตัวละครที่ผดุงความยุติธรรม คอยกอบกู้โลกจากเหล่าวายร้ายที่พร้อมจะทำลายทุกอย่าง โดยคุณสมบัติสำคัญของซูเปอร์ฮีโร่คือจะไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ และไม่ฆ่าตัวร้าย แม้ว่าตัวละครเหล่านั้นจะชั่วร้ายขนาดไหนก็ตาม เพราะมีคุณธรรมในหัวใจและอุดมการณ์สูงส่ง เป็นแบบอย่างของความดี (ยกเว้นเหตุการณ์จวนตัวจริง ๆ แบบใน Avengers: Endgame) เหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่เรารู้จักกันดีก็อย่างเช่น ซูเปอร์แมน วันเดอร์ วูแมน กัปตันอเมริกา สไปเดอร์แมน แบล็กแพนเตอร์ เป็นต้น
ส่วนเหล่า “วายร้าย” (Villains) คือ ตัวละครที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับฮีโร่ เป็นตัวละครสร้างความวุ่นวาย ทำให้สังคมปั่นป่วน ตัวร้ายบางประเภทก็ร้ายแบบโจ่งแจ้ง มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าเป็นตัวร้าย แต่บางตัวก็เป็นจอมวางแผน ร้ายลึก ตีหน้าซื่อว่าเป็นคนดี ประเภทปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ ซึ่งในอดีตตัวร้ายมักจะเป็นตัวละครแบน ๆ เป็นสีดำเข้ม เรียกว่า Pure Evil แต่ในปัจจุบันตัวร้ายมีมิติมีที่มาที่ไปมากขึ้น มีเรื่องราวและปูมหลังทำให้ผู้ชมได้รู้ถึงสาเหตุว่าทำไมถึงกลายเป็นตัวร้าย โดยเรียกว่า Complex Evil โดยตัวร้ายในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ที่น่าจดจำได้แก่ ธานอส ตัวร้ายจากต่างดาวที่ทำให้คนหายไปครึ่งโลก โจ๊กเกอร์ วายร้ายคู่ปรับตลอดกาลของแบทแมน โลกิ น้องชายตัวแสบของธอร์ และ เล็กซ์ ลูเธอร์ นักวิทยาศาสตร์คู่อาฆาตของซูเปอร์แมน
ขณะที่ “แอนตี้ฮีโร่” (Anti-Hero) หรือในภาษาไทยเรียกว่า “ตัวเอกปฏิลักษณ์” หากจะพูดให้ง่ายก็คือเป็นฮีโร่ที่ไม่ได้มีนิสัยแบบฮีโร่ เป็นตัวละครเทา ๆ ที่ไม่ได้เป็นคนดีแบบ 100% มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่าเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่มักจะเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นแบบอย่างในอุดมคติ แต่แอนตี้ฮีโร่อาจจะเป็นอาชญากรมาก่อน เคยกระทำความผิดบางอย่างมา หรือมีความร้ายกาจ ปากจัด ช่างแซะ เกรียนแตก จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมอินกับเหล่าแอนตี้ฮีโร่ และเอาใจช่วยได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างที่ชัดเจนของเหล่าแอนตี้ฮีโร่ได้แก่ เดดพูล พันนิชเชอร์ วีนอม หรือแม้แต่วูล์ฟเวอรีน ก็ถือว่าเป็นแอนตี้ฮีโร่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากตัวละครเหล่านี้มีวิธีการต่อสู้ที่บ้าระห่ำ เลือดสาด ฆ่าได้ฆ่าใครตายช่างมัน ขอเพียงแค่ให้ภารกิจ (หรือการแก้แค้น) สำเร็จก็พอ
ในหลาย ๆ ครั้งพวกแอนตี้ฮีโร่ก็เป็นเหล่าวายร้ายที่จับพลัดจับผลูมาทำภารกิจปกป้องโลกแบบไม่ได้ตั้งใจ เช่น ฮาร์ลี ควินน์ วายร้ายหวานใจโจ๊กเกอร์ (ต้นตำรับของความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ) ที่อยู่ ๆ ก็ตกกระไดพลอยโจนเข้าร่วมพิทักษ์โลกไม่งั้นตัวเองก็ต้องตายเพราะมีระเบิดฝังหัวอยู่ ในเรื่อง Suicide Squad ทั้ง 2 ภาค รวมไปถึง Birds of Prey: And the Fantabulous Emancipation of One Harley Quinn ที่ได้ร่วมมือกับทีมนกผู้ล่าต่อกรกับวายร้ายในเมืองก็อตแธม
ในบางครั้งแบทแมน หนึ่งในซูเปอร์ฮีโร่ที่คนรู้จักมากที่สุด ก็ถูกนับว่าเป็นแอนตี้ฮีโร่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากปูมหลังที่แสนจะมืดมนของเขา รวมถึงแม้เขาจะมีกฎว่าจะไม่ฆ่าคน ไม่ใช้อาวุธ (No Killing, No Guns) แต่ในภาพยนตร์และคอมมิกหลายเวอร์ชัน แบทแมนก็ทำตัวเป็นศาลเตี้ยฆ่าอาชญากรไม่เลือกหน้า เช่น แบทแมน เวอร์ชั่นของ เบน แอฟเฟล็ก ในจักรวาล DCEU กำกับโดย แซ็ก สไนเดอร์ ที่ใช้ทั้งอาวุธปืนและมีการฆ่าคน ไม่ต่างจาก The Batman ของทิม เบอร์ตัน ที่ฆ่าคนเช่นกัน
ส่วนใน “The Dark Knight” ในภาพยนตร์ของคริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ชาวเมืองก็อตแธมมองว่าแบทแมนเป็นภัยคุกคาม มีส่วนทำให้สถานการณ์ทุกอย่างแย่ลง ส่งผลให้ เจมส์ กอร์ดอน ตำรวจผู้คอยช่วยเหลือแบทแมนกล่าวว่า "เขาไม่ใช่ฮีโร่ที่ก็อตแธมต้องการ แต่ฮีโร่ก็อตแธมสมควรได้รับ"
แบตแมน ในจักรวาล DCEUใช้ทั้งอาวุธปืน
- แบล็กอดัม แอนตี้ฮีโร่เรื่องล่าสุด
ยิ่งภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่เข้าฉายมากเท่าไหร่ ภาพยนตร์แอนตี้ฮีโร่ก็มีออกมาอยู่เรื่อย ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Venom ปรสิตเมือกสีดำที่พร้อมกลืนกินเจ้าของร่าง มีออกมาแล้ว 2 ภาคและดูเหมือนกำลังจะเตรียมเข้าจักรวาลมาร์เวล (MCU) อีกด้วย รวมไปถึง Morbius อีกหนึ่งคู่แค้นของสไปเดอร์แมนที่พึ่งเข้าฉายไปเมื่อกลางปี แต่ก็ทำรายได้ไม่ดีนัก ส่วน Deadpool ฮีโร่สุดเกรียนกำลังจะกลับมาในภาค 3 พร้อมได้ ฮิวจ์ แจ็คแมนกลับมาร่วมแจมในบท วูล์ฟเวอร์ลีนด้วยอีกครั้ง
แต่ภาพยนตร์ที่ทำให้แอนตี้ฮีโร่กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ก็คือ “แบล็กอดัม” (Black Adam) ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจากฝั่ง DC นำแสดงโดย “ดเวย์น จอห์นสัน” หรือที่รู้จักกันอย่างดีในชื่อ “เดอะ ร็อค” ที่พึ่งเข้าฉายทั่วโลกไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทำรายได้เปิดตัวสุดสัปดาห์แรกในสหรัฐเป็นอันดับ 1 ด้วยรายได้ 67 ล้านดอลลาร์ และได้รับคะแนนจากผู้ชมในเว็บไซต์ Rotten Tomatoes สูงถึง 90% สวนทางกับคะแนนจากฝั่งนักวิจารณ์ที่ได้ไปเพียง 39% (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ต.ค. 2565 เวลา 11.30 น.) ที่คะแนนแตกต่างกันขนาดนี้เป็นเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากแอคชั่นที่สนุก เร้าใจ ตอบโจทย์ผู้ชมได้อย่างดี แต่ในแง่ของบทและการเล่าที่มาที่ไปนั้นอาจจะยังทำได้ไม่ดี มีช่องโหว่หลายจุด
เดิมทีแบล็กอดัมเป็นตัวละครคู่แค้นแสนรักของชาแซม (SAZHAM) ซูเปอร์ฮีโร่เด็กที่ได้รับพลังจากเทพเจ้า แต่ในเวอร์ชันภาพยนตร์นี้แบล็กอดัมรับบทเป็นแอนตี้ฮีโร่ร่วมต่อกรกับวายร้ายของเรื่อง ซึ่งน่าสนใจว่าในอนาคตตัวละครแบล็กอดัมจะเดินทางไปในทิศทางใด และเราจะได้เห็นแบล็กอดัมและชาแซมต่อสู้กันแบบในคอมมิคหรือไม่
- Anti-Hero ในแบบของเทย์เลอร์ สวิฟต์
ที่จริงแล้วแนวคิดแอนตี้ฮีโร่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในเพียงวงการภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังถูกนำไปใช้ในสื่อบันเทิงอื่น ๆ เพื่อสะท้อนตัวตนและการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ อย่างเช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ นักร้องขวัญใจคนทั้งโลก ที่ปล่อยเพลง “Anti-Hero” ซิงเกิลหลักจากอัลบั้มเต็มชุดที่ 10 “Midnights”
เพลงนี้ได้สร้างสถิติเป็นเพลงที่เปิดตัวด้วยยอดสตรีมมากที่สุดโลกและในสหรัฐบน Spotify ด้วยยอดสตรีมสูงถึง 17,390,253 ล้านครั้ง นอกจากนี้ยังส่งผลให้ Midnights เป็นอัลบั้มของศิลปินที่มียอดสตรีมมิงบน Spotify มากที่สุดถึง 404 ล้านครั้ง โดยใช้เวลาเพียง 3 วัน
ปกติแล้วสวิฟต์มักจะแต่งเพลงจากประสบการณ์ของตนเอง ทั้งในเรื่องความรัก ความสุข ความสัมพันธ์ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เธอผู้ฟังไปสำรวจความไม่มั่นคงทางจิตใจของเธอ ทั้งสิ่งที่เธอไม่ชอบเกี่ยวกับตัวเองและการต่อสู้ให้รอดพ้นจากภาวะไม่เป็นตัวเอง
“Anti-Hero เป็นหนึ่งในเพลงโปรดที่ฉันเคยแต่งมา ฉันยังไม่เคยพูดถึงถึงความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองขนาดนี้มาก่อน ชีวิตฉันมีหลายเรื่องที่ยังจัดการไม่ได้ ฉันไม่อยากจะทำให้ทุกคนเศร้าเกิน แต่ฉันมักรู้สึกว่าไม่เป็นตัวของตัวเอง เพลงนี้จึงเปรียบเหมือนไกด์พาไปสำรวจสิ่งที่ฉันเคยเกลียดในตัวเอง
เราทุกคนต่างก็มีสิ่งที่ไม่ชอบในตัวเองด้วยกันทั้งนั้น มันคือมุมมองของสิ่งที่เราไม่ชอบและชอบในตัวเอง จนมาถึงจุดที่ว่าเราจะชอบตัวตนที่เราเป็นไหม ฉันจึงชอบเพลงนี้มาก ๆ มันมาจากใจจริง ๆ” สวิฟต์เปิดเผยผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว
จึงเป็นไปได้ว่าที่จริงแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนเป็น Anti-Hero ด้วยกันทั้งนั้น เพราะไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ 100% แบบวีรบุรุษในอุดมคติ ทุกคนต่างเคยผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น เหล่าแอนตี้ฮีโร่ทั้งหลายก็รู้ตัวและเข้าใจดีว่าเขาไม่ได้เป็นคนที่เพียบพร้อมจะเป็นตัวอย่างให้ใคร และมองชีวิตตามความเป็นจริงได้มากกว่าจากสิ่งเคยเผชิญหน้ามา ซึ่งในบางครั้งก็ทำให้เข้าใจความเป็นไปของชีวิตและบุคคลอื่น ๆ มากขึ้น
ดังนั้นเราอาจจะไม่ต้องลุกขึ้นไปต่อกรกับเหล่าวายร้ายเหมือนในภาพยนตร์ เพื่อรักษาสันติภาพของโลก หรือเสียสละอุทิศชีวิตตนเองเพื่อช่วยทุกคนให้ได้ มันคงจะสุดโต่งเกินไป แต่เพียงแค่เรายอมรับและก้าวข้ามความผิดพลาดในอดีตเหล่านั้น เห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้มากขึ้น และรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง เหมือนกับสิ่งที่เทย์เลอร์พยายามสื่อสารผ่านเพลง “Anti-Hero”
It’s me, hi, I’m the problem, it’s me
(นี่ฉันเอง สวัสดี ฉันตัวปัญหาไง ฉันเองแหละ)
At tea time, everybody agrees
ตอนอยู่ในวงเมาท์ ทุกคนก็พูดแบบนั้น
I’ll stare directly at the sun, but never in the mirror
ฉันกล้ามองไปยังดวงอาทิตย์ตรง ๆ ได้ แต่กลับไม่กล้าส่องกระจกเลย
It must be exhausting, always rooting for the anti-hero
(มันคงจะเหนื่อยมากแน่ ๆ ที่ต้องให้กำลังใจแอนตี้ฮีโร่)
ที่มา: Box Office Mojo, Genius, Jericho Writers, Kind Connext, Mashable, Movie Web, Saratay, The Matter, Washington Post