"ไม่มี ไม่ใช่ ไม่ต้องกลัว" เพลงติดหูจาก "ไต้หวัน" สะท้อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย

"ไม่มี ไม่ใช่ ไม่ต้องกลัว" เพลงติดหูจาก "ไต้หวัน" สะท้อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย

สุดติดหู! “หม่ายตงกวา” (買冬瓜) เพลงใหม่ของ “หลัว จื้อเสียง” หรือ “โชว์ หลัว” (Show Lo) เป็นเพลงจีนแต่มีเนื้อเพลงพ้องเสียงกับภาษาไทย ทั้ง “ไม่มี ไม่ใช่ ไม่ต้องกลัว” ได้ใจทั้งชาวเน็ตไทยและจีน สามารถสะท้อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ในมุมมองของต่างชาติได้เป็นอย่างดี

ในนาทีนี้คงไม่มีเพลงใดกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียเท่าเพลงใหม่ล่าสุดของ “หลัวจื้อเสียง” หรือ “โชว์ หลัว” (Show Lo) ศิลปินและนักแสดงชื่อดังวัย 43 ปีจากไต้หวัน ในชื่อว่า “หม่ายตงกวา” (買冬瓜) ซึ่งแปลว่า “ซื้อฟักเขียว” โดยพ้องเสียงกับคำว่า “ไม่ต้องกลัว” ในภาษาไทย

เนื้อเพลงนี้ไม่ได้มีเพียงแต่เล่นคำพ้องเสียงในภาษาไทยแค่คำว่า ไม่ต้องกลัว เท่านั้น แต่หลัวได้จัดหนักจัดเต็มมาเป็นคอมโบเซ็ตอีกหลายคำ ไม่ว่าจะเป็น

  • ไม่มี พ้องเสียงกับคำว่า 买米 (ม่าย หมี่) แปลว่า ซื้อข้าว
  • ไม่ใช่ พ้องเสียงกับคำว่า 买菜 (ม่าย ไช่) แปลว่า ซื้อผัก
  • ไม่ต้องกลัวผี พ้องเสียงกับคำว่า 买冬瓜皮 (ม่าย ตง กัว ผี) แปลว่า ซื้อเปลือกฟัก
  • สวัสดีค่ะ พ้องเสียงกับคำว่า 刷我的卡 (ซวา หว่อ ตี ข่า) แปลว่า รูดการ์ด (บัตรเครดิต) ของฉัน

นอกจากจะมีท่อนเพลงที่ฟังง่าย ซ้ำไปซ้ำมาแล้ว เพลงนี้ยังมีจังหวะโจ๊ะ ๆ สามช่า สนุกเร้าใจ เข้าทางคนไทยแบบสุด ๆ มาพร้อมกับท่าเต้นที่ใคร ๆ ก็สามารถเต้นตามได้ เหมาะแก่การนำไปทำชาลเลนจ์ใน TikTok หรือจะนำไปเต้นหน้านาคและขบวนรถแห่ ก็คงม่วนถูกใจขาแดนซ์ไม่น้อย 

ขณะที่ในมิวสิควิดีโอนั้น ได้จำลองบรรยากาศของถนนคนเดินยามค่ำคืนในไทย มีทั้งร้านขายอาหารตามสั่ง ร้านขายเสื้อผ้าขายส่ง ร้านขายของชำ รถตุ๊กตุ๊ก ผับ บาร์ ตลอดจนร้านนวดที่มีชื่อร้านภาษาไทย ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันดีในสายตาของต่างชาติ 

ในเพลงนี้ หลัวมาในลุคของ “บิวตี้ หลัว” (Beauty Lo) หญิงสาวที่แต่งชุดไทย และเดรสสีแดง ซึ่งเป็นการสร้างอีกตัวละคหนึ่งขึ้นมาสำหรับการใช้ในการแสดง (Alter Ego) เช่นเดียวกับ เดวิด โบวี ที่สร้าง ซิกกี้ สตาร์ดัส (Ziggy Stardust) ขึ้นมา โดยในปัจจุบัน หลัวยังคงปล่อยเพลงทั้งในนาม โชว์ หลัว และ บิวตี้ หลัว สลับกันอยู่เรื่อย ๆ 

\"ไม่มี ไม่ใช่ ไม่ต้องกลัว\" เพลงติดหูจาก \"ไต้หวัน\" สะท้อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย

ปกซิงเกิลเพลง “หม่ายตงกวา” (買冬瓜)

 

  • หลัว จื้อเสียง ผู้หลงรักประเทศไทย

เพลงนี้กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียล หลังจากเพจเฟซบุ๊กลุยจีน” ได้นำเพลงนี้มาแชร์และกลายเป็นที่สนใจของชาวโซเชียล มียอดกดรีแอคชันกว่า 20,000 ครั้ง จนศิลปินเจ้าของเพลงมาคอมเมนต์เป็นภาษาไทย

“ฉันชอบประเทศไทยมาก ฉันชอบอาหารและวัฒนธรรมของประเทศไทย ขอบคุณที่รักเพลงของฉัน ขอบคุณทุกคน”

แท้จริงแล้ว คำว่า “ไม่มี ไม่ใช่ ไม่ต้องกลัว” คำติดปากของหลัวมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่เขาเป็นคณะกรรมการในรายการร้องเพลงต่าง ๆ ซึ่งมักจะพูดประโยคนี้กับผู้เข้าแข่งขันที่มาจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในรายการ “Super Boy 2017” พูดกับ “โบ๊ท AF12” หรือในรายการ “Produce 101 China" ที่พูดกับ “มีมี่ ลี” และ ในรายการ “Jungle Voice” ที่เขาพูดกับ “เกล โสพิชา” เด็กหญิงตัวน้อยกับอูคูเลเล่ ซึ่งสุดท้ายถูกนำมาแต่งเป็นเพลงในปีนี้นั่นเอง

 

สำหรับ หลัว จื้อเสียง เป็นนักแสดง ศิลปิน และพิธีกรชาวไต้หวันที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน โดยเขาเข้าวงการจากการประกวดร้องเพลง จนได้เดบิวต์ในฐานะบอยแบนด์ ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นศิลปินเดี่ยวและนักแสดง จนกลายเป็นหนึ่งในซูเปอร์สตาร์ของไต้หวัน และเป็นที่รู้จักทั้งในจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสหรัฐ เหล่าแฟนคลับได้ตั้งฉายาให้ว่า “เสี่ยวจู” ที่แปลว่า “ต้าวหมูน้อย” 

หลัว จื้อเสียง เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของคนไทยจาก ซีรีส์ The Outsider II หรือในชื่อไทยว่า “เดิมพันรัก เดิมพันชีวิต” ที่เคยออกอากาศทางช่อง 3 และ รายการวาไรตี้ Go Fighting! ส่วนผลงานเพลง หลัวมีเพลงฮิตมากมาย และหลายเพลงสามารถคว้ารางวัลเพลงแห่งปีจากเวทีประกาศรางวัลต่าง ๆ ได้นับไม่ถ้วน เช่น "撐腰" (Waist Support) "一支獨秀" (One Man Show) "真命天子" (Destined Guy) เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ในปี 2559 หลัวในร่างของ บิวตี้ หลัว ได้นำเพลง “ABC ชักกระตุก” เพลงประกอบภาพยนตร์ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้ ไปคัฟเวอร์เป็นเวอร์ชันภาษาจีนอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาสนใจและชื่นชอบวัฒนธรรมของไทยอย่างแท้จริง

 

  • ชาวไต้หวันเริ่มกลับมาท่องเที่ยวไทย

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีชาวไต้หวันเดินทางเข้าไทยถึง 7,966 คน แม้ว่าไต้หวันยังคงมีมาตรการปิดพรมแดนเข้มข้นและต้องกักตัวก็ตาม หรือเพิ่มขึ้นถึง 9,383% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่มีชาวไต้หวันเดินทางเข้าประเทศไทยเพียงแค่ 84 คนเท่านั้น จากมาตรการควบคุมโควิด-19 

ขณะที่ข้อมูลจากการออกบูธของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในงาน Travel Fair  2022 ATTA : Taichung International Travel Exhibition เมืองไถจง ของไต้หวัน ระหว่างวันที่ 21-24 ต.ค.2565 พบว่า กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ เกาะสมุย และหัวหิน เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไต้หวัน โดยส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจจองการเดินทางในระยะนี้ จะเป็นกลุ่มที่เคยมาเมืองไทยแล้ว (Revisit) กลุ่มพนักงานออฟฟิศ กลุ่มคนที่มีอายุ 26-38 ปี และกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบการเล่นกอล์ฟ 

สรุปยอดขายแพ็กเกจท่องเที่ยวทั้ง 4 วัน รวมทั้งสิ้น 350 แพ็กเกจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ประมาณ 14.3 ล้านบาท ซึ่งนักท่องเที่ยวมีกำหนดเดินทางในช่วงปลายเดือน ต.ค. - ช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2565

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในมิวสิควิดีโอนี้ จึงเป็นเหมือนการสะท้อนภาพจำและเอกลักษณ์ทีชาวต่างชาตินึกถึงประเทศไทย อาจเรียกได้ว่าเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” อย่างหนึ่ง ที่คนไทยเองก็ไม่คิดด้วยซ้ำว่าสิ่งเหล่านี้ที่เราเห็นคุ้นชินตากันอยู่ทุกวัน จะกลายเป็นสิ่งที่ใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวประเทศไทย ไม่ได้มีเพียงแต่วัดวาอาราม สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ หรือรอยยิ้มของไทย ตามที่เรามักเห็นในสื่อการโปรโมตการท่องเที่ยวของไทยเท่านั้น

\"ไม่มี ไม่ใช่ ไม่ต้องกลัว\" เพลงติดหูจาก \"ไต้หวัน\" สะท้อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย