"บง" (봉) ที่เป็นมากกว่า บง! วัฒนธรรม "แท่งไฟ" ที่ซึมลึกในคอนเสิร์ต "K-POP"
ส่องพัฒนาการ “แท่งไฟ” หรือ “บง” (봉) อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับการดูคอนเสิร์ต “K-POP” แถมยังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับค่ายเพลง จนวันนี้ “บง” เป็นได้มากกว่า “บง” ชนิดที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง
แสงไฟระยิบระยับสว่างไสวสีสันสวยงาม จาก “แท่งไฟ” (Light Stick) หรือ “บง” ที่ฉายแสงออกมาท่ามกลางกลุ่มแฟนคลับที่กำลังสนุกสนานและอิ่มเอมไปกับการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปิน “K-POP” ที่พวกเขาหลงรัก เป็นหนึ่งในไอเท็มที่ขาดไม่ได้ในการไปดูคอนเสิร์ต ซึ่งนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงการเป็นแฟนด้อมและการแสดงความรักที่มีต่อศิลปินแล้ว ยังช่วยให้การรับชมคอนเสิร์ตของแฟนคลับสนุกสนานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้แก่ค่ายเพลงได้เป็นกอบเป็นกำ
- จุดกำเนิดของแท่งไฟ
การแข่งขันอุตสาหกรรม K-POP ดำเนินมาอย่างยาวนานและดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ปีมีศิลปินหน้าใหม่เดบิวต์หลายสิบวง ดังนั้นค่ายเพลงจึงต้องหาทางสร้าง “อัตลักษณ์” ให้แก่ศิลปินของตนเอง เพื่อให้ผู้ชมจำได้ และไม่ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแนวเพลง คอนเซ็ปต์ของวง ตราสัญลักษณ์ของวง ตำแหน่งของสมาชิกประจำวง สีประจำวง รวมไปถึงชื่อเรียกกลุ่มแฟนคลับ (แม้ว่าศิลปินในยุคหลัง ๆ ไม่ค่อยมีการกำหนดสีประจำวงและตำแหน่งของสมาชิกที่ชัดเจนแล้วก็ตาม)
หากจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวของแต่ละวง ย่อมการันตีได้ว่าส่วนมากคนที่ไปดูคอนเสิร์ตจะเป็นแฟนคลับของศิลปินวงนั้น แต่ถ้าเป็นคอนเสิร์ตรวมศิลปิน แฟนคลับจะทำอย่างไรถึงจะให้ศิลปินของพวกเขาได้เห็นว่า มีแฟนคลับมาให้กำลังใจอยู่?
ในระยะแรกนั้น เหล่าแฟนคลับได้หยิบเอาอัตลักษณ์ของศิลปินมาใช้เป็นสัญลักษณ์ให้ศิลปินได้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนที่คอยสนับสนุนอยู่และให้กำลังอยู่เสมอ ผ่าน “ลูกโป่ง” ที่มีสีประจำวงเป็นตัวแทน เมื่อศิลปินมองลงมาจากเวทีจะได้เห็นเหล่าแฟนคลับที่อยู่บนอัฒจันทร์อย่างชัดเจน แม้ว่าพวกเขาจะนั่งอยู่บนจุดสูงสุด หรือที่เรียกว่า “ยอดดอย” ก็ตาม แต่วิธีนี้ก็ใช้ได้ดีกับงานกลางแจ้งเท่านั้น เพราะเมื่อเวลากลางคืนหรือในฮอลล์ที่ต้องปิดไฟระหว่างการแสดง ศิลปินไม่สามารถมองเห็นกลุ่มแฟนคลับได้ เพราะลูกโป่งไม่มีแสงสว่างในตัวเอง
ต่อมาจึงได้มีการคิดค้น “แท่งไฟ” (Light Stick) หรือที่เรียกกันจนติดปากในหมู่แฟนคลับว่า “บง” (봉) เปรียบเสมือนกับอุปกรณ์เชียร์ระหว่างดูคอนเสิร์ต ไม่แตกต่างจากสมัยก่อนที่ผู้ชมจุดไฟแช็ก หรือเปิดแฟลชจากสมาร์ทโฟนแล้วยกขึ้นโบกไปมาเพื่อมีส่วนร่วมกับศิลปินและให้พวกเขาได้เห็นว่ามีกลุ่มแฟนคลับที่คอยให้กำลังใจอยู่ตรงนี้
- แท่งไฟ สินค้าทำรายได้ให้ค่าย
เพื่อให้บงมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ค่ายเพลงจึงใช้โอกาสนี้ในการออกแท่งไฟอย่างเป็นทางการขึ้นมาจากการนำอัตลักษณ์ต่าง ๆ ของศิลปินมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นตราสัญลักษณ์ของวง สีประจำวง ตลอดจนมีรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ โดยแท่งไฟนี้ใช้ความสว่างจากหลอดไฟ LED ใช้พลังงานจากถ่ายแอลคาไลน์ขนาด AAA จำนวน 3 ก้อน และมีขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีส่วนก้านให้จับได้ถนัดมือ โดยในปัจจุบันมีราคาเริ่มต้นประมาณ 1,200 บาท
เนื่องด้วยราคาที่แสนมหัศจรรย์แบบนี้ แต่โอกาสใช้แทบจะไม่มี (โดยเฉพาะในต่างประเทศ) ทำให้แฟนคลับหลายคนคิดหนักว่าจะซื้อแท่งไฟนี้ดีหรือไม่ ค่ายเพลงจึงต้องแก้เกมด้วยการหา “ของแถม” มาล่อตาล่อใจแฟนคลับ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น “การ์ดไอดอล” แบบพิเศษที่จะได้ก็ต่อเมื่อซื้อแท่งไฟนี้เท่านั้น โดยมักจะมาในรูปของศิลปินถือแท่งไฟ ให้แฟนคลับได้นำไปสะสมกัน
เมื่อแท่งไฟอยู่รวมกันมากก็จะทำให้ทั้งฮอลล์จัดแสดงคอนเสิร์ตเต็มไปด้วยสีของวง ทำให้เกิดคำศัพท์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Ocean” เปรียบเสมือนกับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่มีสีสันต่าง ๆ กัน ส่วนเหตุการณ์ที่แฟนคลับพร้อมใจกันปิดไฟ เพื่อเป็นการแสดงออกว่าต่อต้านศิลปินคนนั้นจะเรียกว่า “Black Ocean” ซึ่งครั้งหนึ่งเกิดขึ้นกับวงเกิร์ลกรุ๊ปแห่งชาติอย่าง “Girls’ Generation” มาแล้ว
ในปัจจุบัน แท่งไฟไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่โบกให้กำลังใจศิลปินเท่านั้น เพราะแท่งไฟได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโชว์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเปิดแท่งไฟขึ้นมา และทำการเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชันของแท่งไฟ เพียงเท่านี้แท่งไฟก็จะเปลี่ยนสีไปตามการแสดงต่าง ๆ ในคอนเสิร์ตตามที่ได้ถูกเซ็ตติ้งไว้ ด้วยระบบส่งสัญญาณแบบบลูทูธ หรือ NFC ขึ้นอยู่กับบงแต่ละรุ่น
- ลูกเล่นที่เป็นได้มากกว่า “แท่งไฟ”
นอกจากนี้ในบงรุ่นหลัง ๆ ยังสามารถเปลี่ยนสีได้อย่างหลากหลายตามต้องการ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สีของวงและสีขาวเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนโหมดให้เป็นแบบกะพริบตามจังหวะได้อีกด้วย บางครั้งบงก็ทำหน้าที่มากกว่าบง เพราะสามารถใช้เป็นพาวเวอร์แบงก์ได้ด้วย รวมถึงสามารถปรับความสว่างได้ เพื่อใช้เป็นไฟฉายนำทางเวลาเดินกลับบ้านดึก ๆ หลังจากคอนเสิร์ตเลิก
เนื่องด้วยในปัจจุบันมีศิลปินเกิดขึ้นมากมาย ทำให้บางวงมีสีวงที่ซ้ำกัน ดังนั้นหลายวงจึงออกแบบแท่งไฟของตนเองให้มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ไม่ใช่แท่งไฟที่ให้ถือเฉย ๆ ไม่ว่าจะเป็น “อึงวอนบง” แท่งไฟของวง BigBang บอยแบนด์ตัวพ่อ ที่มาด้วยรูปทรงมงกุฎ (แต่หลายคนแซวว่าเป็นดอกบัว) และถือว่าเป็นแท่งไฟยุคแรก ๆ ของวงการ K-POP
ส่วน “อาร์มีบอมบ์” แท่งไฟประจำวง BTS บอยแบนด์อันดับ 1 ของโลก มาในรูปทรงระเบิด ขณะที่ แท่งไฟของสี่สาว BLACKPINK เกิร์ลกรุ๊ปแถวหน้าของวงการ เรียกว่า “บึลพิงก์บง” มีลักษณะสุดเก๋เป็นค้อนที่มีตัวด้ามสีดำ และหัวค้อนสีชมพูตามชื่อวง ด้าน “กะรัตบง” แท่งไฟของ SEVENTEEN มีลักษณะเป็นโดมและมีรูปเพชรอยู่ด้านใน โดยสามารถถอดโดมที่ครอบออกมา เพื่อทำการตกแต่งบงของตนเองได้อีกด้วย
(บนซ้าย) อึงวอนบง, (บนขวา) อาร์มีบอมบ์, (ล่างซ้าย) บึลพิงก์บง, (ล่างขวา) กะรัตบง
ขณะที่ “ไลท์ริง” ของ ITZY นั้นมาแปลกกว่าใคร เพราะมาเป็นลักษณะวงแหวน แถมยังใช้เป็นโคมไฟได้ด้วย จนทำเอาแฟนคลับงงตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น ส่วน “รูนบง” ของ Golden Child มีลักษณะเป็นพินโบว์ลิงกลับหัวที่มีสีไฟหลากหลายสี ด้าน The Boyz มีแท่งไฟเป็นรูปโทรโข่งที่ใช้ชื่อว่า “ฮาร์ต บยอง บง”
(บนซ้าย) ไลท์ริง ของ ITZY, (บนขวา) รูนบง, (ล่างซ้าย) ฮาร์ต บยอง บง, (ล่างขวา) เอ็นจีนบง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ศิลปินทุกวงที่จะมีแท่งไฟเป็นของตนเอง ดังนั้นการที่ศิลปินมีแท่งไฟจึงการันตีได้ว่าพวกเขานั้นมีชื่อเสียงพอสมควร และมีแฟนคลับอยู่จำนวนหนึ่งที่เพียงพอจะทำแท่งไฟออกมาขายโดยไม่ขาดทุน และยิ่งมีแท่งไฟออกมาหลายรุ่นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงว่าศิลปินเหล่านั้นมีชื่อเสียงมากขึ้นด้วย
เห็นได้จากวงเกิร์ลกรุ๊ป fromis_9 ที่เดบิวต์มาเกือบ 5 ปีแล้วแต่เพิ่งจะประกาศมีบงเป็นของตนเอง เช่นเดียวกับวงบอยแบนด์ DKZ ที่กลายเป็นที่รู้จักอย่างมากเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งจะมี Light Ring เป็นของตนเอง ทั้งที่เดบิวต์มาตั้งแต่ปี 2561 ต่างจากวงเกิร์ลกรุ๊ปตัวท็อปจากเจน 4 ที่ปีแล้วทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมทั้ง “IVE” ผู้กวาดรางวัลเพลงแห่งปีจากเกือบทุกเวทีประกาศรางวัล และ “NewJeans” แก๊งนมผงที่สร้างปรากฏการณ์มากมาย ก็ได้ประกาศแท่งไฟอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
(ซ้าย) บงของ IVE, (ขวา) บงของ NewJeans
ในประเทศไทยที่วงการ T-POP กำลังกลับมาคึกคัก ศิลปินไทยบางส่วนก็เริ่มมีแท่งไฟเป็นของตนเองแล้ว เริ่มจาก “เป๊ก ผลิตโชค” ที่โด่งดังแบบสุดขีดจากการเป็น “หน้ากากจิงโจ้” ที่มีแท่งไฟออกมาแล้วถึง 2 เวอร์ชัน ตามมาด้วยวง “BNK48” วงเกิร์ลกรุ๊ปที่เปิดประตูวงการไอดอลไทย ก็มีแท่งไฟด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นทั้งเกิร์ลกรุ๊ปรุ่นน้องอย่าง “4EVE” และ ศิลปิน-นักแสดงคู่จิ้นต่างมีแท่งไฟประจำด้อม ไม่ว่าจะเป็น “ไบร์ท วชิรวิชญ์-วิน เมธวิน” “พีพี กฤษฎ์” “บิวกิ้น พุฒิพงศ์” รวมถึงซีรีส์วายแห่งปี 2565 อย่าง “คินน์พอร์ช” ก็มีแท่งไฟเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน
(บนซ้าย) แท่งไฟของพีพี, (บนขวา) แท่งไฟของบิวกิ้น, (ล่างซ้าย) แท่งไฟคินน์พอร์ช, (ล่างขวา) แท่งไฟไบร์ทวิน
สำหรับ ประเทศไทยที่นิยมฟังเพลงจากบริการสตรีมมิงเป็นหลัก ไม่ได้เน้นซื้ออัลบั้มเหมือนกับตลาดเพลงประเทศอื่น ๆ การทำสินค้าที่ระลึก รวมไปถึงแท่งไฟ ออกมาขาย จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาเงินเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่สำหรับวงการ K-POP แล้ว แท่งไฟเปรียบเสมือนสิ่งที่แสดงความรักของแฟนคลับที่มีต่อศิลปิน ดังนั้นจึงเป็นไอเท็มที่ทุกคนต้องมี แต่ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าคุณจะไปดูคอนเสิร์ตแล้วไม่มีบง ขึ้นอยู่กับการประเมินความคุ้มค่าและกำลังทรัพย์ที่มี
ที่มา: Akerufeed, Be Common, Hikoco, Korea Herald, Mashabl, The Soul of Seoul