อยากเป็น ‘บรรณาธิการ’ ต้องทำอย่างไร บก.สำนักพิมพ์ Biblio มีคำตอบ
ล้วงลึกตีแผ่แนะนำคนที่อยากจะทำอาชีพ ‘บรรณาธิการ’ สำนักพิมพ์ โดย บก.สำนักพิมพ์ Biblio จะมาบอกเล่าถึงการทำงานในปัจจุบันและอนาคต
ในโลกของการอ่านที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ‘บรรณาธิการ’ สำนักพิมพ์ เป็นอาชีพที่มีความสำคัญ ด้วยเป็นผู้เสิร์ฟอาหารสมองให้กับนักอ่าน ไม่ว่าหนังสือนั้นจะอยู่ในแพลตฟอร์มแบบใด
ภาควิชาภาษาไทย อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนา ‘โอกาสและความท้าทายในสายอาชีพบรรณาธิการในโลกปัจจุบัน’ โดย 'บรรณาธิการ' สำนักพิมพ์ Biblio ไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566
ในงานเทศกาลออกร้านหนังสือ Arts Chula Book Fest ครั้งที่ 12 ณ โถงอาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อาชีพบรรณาธิการต้องทำอะไรบ้าง
‘ณัฐชา กฤตนิรัติศัย’ บรรณาธิการอาวุโส, ผู้ช่วยผู้จัดการบรรณาธิการฝ่ายลิขสิทธิ์สำนักพิมพ์ Biblio กล่าวว่า บรรณาธิการ คือ คนทำหนังสือที่รับผิดชอบหนังสือเล่มนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ
Cr. Kanok Shokjaratkul
"บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ทำงานให้กับสำนักพิมพ์ รับผิดชอบตั้งแต่เป็นไฟล์ในหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษหรือภาษาต่าง ๆ จนกระทั่งมาเป็นภาษาไทย
ดูแลตั้งแต่สรรหานักแปล ติดต่อนักเขียน ตรวจสอบบทแปลจากนักแปลว่าถูกต้องไหม ครบถ้วนหรือเปล่า อ่านราบรื่นดีไหม มีจุดไหนที่ตกไป
หรือแปลถูกต้องแต่ไม่ได้เป็นสำนวนที่อ่านราบรื่นในภาษาไทย แล้วก็ประสานงานกับฝ่ายพิสูจน์อักษร, ฝ่ายอาร์ต, ฝ่ายกราฟฟิค, นักวาดภาพปก
Cr. Bibli
ติดต่อโรงพิมพ์ จัดพิมพ์รูปเล่ม และฝ่ายการตลาดที่จะนำหนังสือไปขาย เรียกได้ว่าเป็นตัวกลางที่รับผิดชอบหนังสือเล่มทั้งหมด
ส่วนบรรณาธิการนิตยสาร เช่น อะเดย์, ศิลปวัฒนธรรม, National Geographic มีหน้าที่ออกไปค้นหาข้อมูล, สัมภาษณ์ นำมารวบรวมและเรียบเรียงให้เป็นบทความ เป็นเนื้อหา ในนิตยสารเล่มนั้น ๆ เน้นการเขียนมากกว่าประสานงาน
แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยอยากจะพูดคุยพบปะประสานงานเยอะ ชอบอ่านหนังสืออย่างเดียวเลย ไม่อยากวุ่นวายกับคนอื่นแต่ชอบงานด้านการเขียนการอ่าน ก็สามารถเป็นบก.ฟรีแลนซ์ได้เหมือนกัน ในการตรวจแก้ต้นฉบับ"
Cr. Bibli
- การขอลิขสิทธิ์หนังสือต้องทำอย่างไร
ณัฐชา กล่าวว่า ถ้าเป็นงานของนักเขียนไทย บก.จะติดต่อกับนักเขียนโดยตรง
"บอกว่าต้องการจะตีพิมพ์เล่มนี้ มีเงื่อนไขลิขสิทธิ์อย่างไร ผลงานที่ตีพิมพ์มาจะมีส่วนไหนเป็นของสำนักพิมพ์ ส่วนไหนเป็นของนักเขียน
ส่วนแบ่งจะเป็นอย่างไร อยู่ที่ขั้นตอนการเจรจาทั้งหมด เป็นหนึ่งในหน้าที่ของบก. ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละสำนักพิมพ์
บางสำนักพิมพ์มีฝ่ายที่ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์โดยเฉพาะ แต่คนที่ติดต่อประสานงานดึงนักเขียนเข้ามาก็ยังเป็นบก.อยู่
Cr. Bibli
ส่วนลิขสิทธิ์ต่างประเทศ บก.จะเป็นคนค้นหาว่า หนังสือเล่มไหนดี อยากจะเอามาแปลเป็นภาษาไทย ก็ต้องติดต่อไปทางเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรง คือสำนักพิมพ์ที่ต่างประเทศ
หรือติดต่อผ่านเอเจนซี่ ตัวแทนของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ที่รับผิดชอบการติดต่อกับสำนักพิมพ์หลายเจ้า ให้เป็นผู้ติดต่อประสานงานแทนเรา
ในส่วนของการทำงาน แต่ละที่มีความแตกต่างที่ขอบเขตของงานมากกว่า ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ ก็จะมีหลาย ๆ ฝ่ายคอยดูแล โดย บก.เป็นคนคอยเชื่อม
ขณะที่สำนักพิมพ์เล็กลงมาก็จะทำหลายอย่างหน่อย ต้องคุยกับทุกฝ่ายเอง แต่เนื้อหาหลัก ๆ อย่างการตรวจแก้งาน ไม่ค่อยแตกต่างกัน
Cr. Bibli
- สำนักพิมพ์ Biblio มีจุดเด่นแตกต่างจากสำนักพิมพ์อื่นอย่างไร
ณัฐชา กล่าวว่า Biblio เป็นเหมือนร่มใหญ่แล้วในนั้นมี 4 สำนักพิมพ์ย่อย ได้แก่
"1) Bibli เป็นแนวนิยายแปลเอเชีย เช่น บ้านวิกลคนประหลาด, ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ
2) Being เป็นแนวสารคดี Non-Fiction เช่น Emotion First Aid, คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง
3) Beat เป็นแนวนิยายแปลยุโรป เช่น The Shining โรงแรมนรก, มหาศึกแห่ง ดูน DUNE, The Midnight Library
4) Bili เป็นแนวนิยายวาย เช่น ภารกิจรักแกล้งรักคุณหมอ, สืบรักสกัดใจ สปายจอมแสบ
คอนเซปต์ของสำนักพิมพ์ Biblio คือ It’s Not Just About Book ไม่ใช่แค่เรื่องของหนังสือ หรือหนังสือที่อ่านสนุก แต่คือการเรียนรู้ คือประสบการณ์ชีวิต ผ่านทางผลงาน ผ่านทางฝีมือของนักเขียนคนอื่น ๆ ที่ออกมา"
Cr. Bibli
- ถ้าอยากทำอาชีพบรรณาธิการต้องทำอย่างไร
บก.สำนักพิมพ์ กล่าวว่า หลายคนมักชอบมาถามว่า บก.คือคนแปลหนังสือหรือ? บก.คือคนพิสูจน์อักษรหรือ? ซึ่งต้องคอยตอบว่าไม่ใช่
"แต่เราเป็นผู้ประสานงานกับทั้งสองส่วน และเป็นกึ่ง ๆ ของสองส่วนนี้ เพราะเราต้องตรวจแก้บทแปลจากนักแปลว่าครบถ้วนถูกต้องไหม แล้วก็ต้องดูว่าสะกดคำถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งบก.คือคนรับผิดชอบทั้งกระบวนการ
ถ้าอยากทำอาชีพบรรรณาธิการ ต้องเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ย่อท้อต่อการอ่านมันซ้ำ ๆ ในการทำหนังสือหนึ่งเล่มคุณต้องอ่านต้นฉบับตั้งแต่ต้นจนจบโดยละเอียดขั้นต่ำ 3 รอบ เพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาดก่อนจะไปถึงมือของนักอ่าน
แล้วต้องเป็นคนที่มีสายตาจับผิด เช่น ต้นเรื่องเรียกว่าเขา ตอนปลายเรื่องเรียกว่านาย มันไม่ตรงกัน ไม่ได้ เราต้องจับรายละเอียดได้ดี รักษาความสม่ำเสมอไว้ให้ได้"
Cr. Bibli
- จำเป็นไหมว่าต้องเรียนมาด้านที่เกี่ยวกับหนังสือ
ณัฐชา กล่าวว่า ถ้ามีความรู้ด้านนั้นมาก็จะดีมาก
"ต้องเป็นคนขยันค้นคว้า แม้จะเป็นบรรณาธิการหนังสือนิยาย แต่ถ้ามันอ้างอิงกับประวัติศาสตร์ ก็ต้องเช็คดูว่ามันถูกต้องไหม หรือหาที่ปรึกษา ขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญว่ามันถูกต้องไหม"
- บรรณาธิการในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตอย่างไร
บก.สำนักพิมพ์กล่าวว่า ในเรื่องกระบวนการทำงานของบรรณาธิการ ไม่ได้แตกต่าง
"แต่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของธุรกิจสำนักพิมพ์ค่อนข้างเยอะ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ออกมาซื้อหนังสือนอกบ้านไม่ได้
สำนักพิมพ์ทุกเจ้าต้องปรับตัวมาขายออนไลน์ ต้องทำการตลาด คิดแคมเปญการโปรโมทขึ้นมาเอง เพื่อกระตุ้นการขาย
จากเมื่อก่อน ทำหนังสือเสร็จปุ๊บก็พิมพ์ออกมาวางขายตามหน้าร้าน แต่เดี๋ยวนี้ บางที่มีแต่รูปแบบ E Book เท่านั้น ไม่ได้พิมพ์ออกมา หรือมีขายเป็นรายตอนในเว็บไซต์ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายเว็บไซต์
Cr. Bibli
ตั้งแต่เรียนจบมามีแต่คนพูดว่า ธุรกิจหนังสือ เดี๋ยวมันก็ตายแล้ว เดี๋ยวคนก็จะไปอ่านอย่างอื่นกันหมดแล้ว เช่น อ่านใน E Book
แต่ตอนนี้ผ่านมาสิบปีที่แล้ว ธุรกิจหนังสือก็ยังอยู่ ยังเติบโต มีหลายเจ้ามากที่เพิ่งเปิดตัว แล้วก็ประสบความสำเร็จอย่างดี เราคิดว่าหนังสือไม่ได้ตายจากไปง่าย ๆ ยังคงเป็นอาชีพที่มีความท้าทายและน่าสนใจอยู่
แต่มันอาจเปลี่ยนแค่ปลายทาง เช่น ไม่ได้เป็นหนังสือเล่ม แต่เป็น E Book หรือขายเป็นรายตอน แต่คนก็ไม่เลิกอ่านหนังสือกันแน่นอน ยังคงเติบโตต่อไปได้
E Book มีข้อจำกัดเรื่องการอ่านยาว ๆ อ่านมาก ๆ แล้วจะปวดตาแสบตาเพราะแสงมันจ้า และต้องมีอุปกรณ์ เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นมา ต่างจากหนังสือ ที่ซื้อแล้วอ่านได้เลย แล้วก็ไม่ปวดตา"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- สิ่งสำคัญที่สุดของคนที่จะมาทำอาชีพบรรณาธิการ
ณัฐชา กล่าวว่า คุณสมบัติที่สำคัญมากของบก.คือ คุณต้องเก่งภาษาไทยมากที่สุด
"หลายคนอาจจะเข้าใจคำนี้ในภาษาอังกฤษ แต่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยไม่ได้ บก.ต้องเก่งภาษาปลายทางที่สุด ต้องมีความสามารถถ่ายทอดภาษาต้นฉบับออกมาเป็นภาษาไทย ที่อ่านรู้เรื่อง ถูกต้อง สละสลวยให้ได้
แล้วต้องเป็นคนขยัน ค้นข้อมูล ไม่เบื่อที่จะอ่านหนังสือ มีความพยายาม มีสายตาที่จับรายละเอียดได้ eye for detail เป็นคนละเอียดรอบคอบ
Cr. Bibli
สามารถเริ่มต้นได้จากการฝึกงาน เพราะจะได้รับการฝึกฝนจากบก.ที่ทำงานจริง ๆ ลองดูว่ามีสำนักพิมพ์ไหนเปิดรับเด็กฝึกงานบ้าง หรือทำเป็นบก.ฟรีแลนซ์
ส่วนคนที่ไม่ได้จบด้านอักษรศาสตร์มาเลยก็สามารถทำได้ เคยมีเพื่อนร่วมงานจบด้านวิทยาศาสตร์มาก็แต่เก่งภาษาไทยด้วยก็สามารถทำได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเก่งภาษาไทย
หลัก ๆ คือ อ่านให้เยอะ เดี๋ยวนี้มีสื่อมากมาย ถ้าเราต้องการหลักภาษาที่ผ่านการคัดกรองมาแล้วแนวตีพิมพ์ ก็ต้องอ่านแนวนี้ให้เยอะ เพื่อให้รู้ว่านี่คือแบบฟอร์ม นี่คือสิ่งที่ถูกต้องในการทำหนังสือแบบตีพิมพ์ อ่านให้เยอะแล้วเราก็จะซึมซับสิ่งเหล่านี้มาเอง
เรากำลังมองหาบก.รุ่นใหม่ ๆ ที่มีแนวคิดต่าง ๆ เพราะสังคมมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทั้งธุรกิจและรูปแบบการทำหนังสือ มันเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ ปี อย่ารีรอที่จะเริ่ม ที่จะมา"