"The Mask Singer" หน้ากากนักร้อง จากสูงสุดสู่สามัญ ก่อนเปิดซีซั่นใหม่ก้าวข้ามความจำเจ ?

"The Mask Singer" หน้ากากนักร้อง จากสูงสุดสู่สามัญ ก่อนเปิดซีซั่นใหม่ก้าวข้ามความจำเจ ?

เปิดตำนานรายการระดับปรากฏการณ์ “The Mask Singer หน้ากากนักร้อง” ของไทยที่จุดกระแส “The Masked Singer” ดังไปทั่วโลก จนหลายประเทศแห่ซื้อลิขสิทธิ์ไปทำตาม รับการกลับมาของ “Mask Singer 12” หน้ากากนักร้องซีซันใหม่

ช่วงปลายปี 2559 คงไม่มีใครในประเทศไม่รู้จัก “หน้ากากทุเรียน” และ “หน้ากากจิงโจ้” 2 ผู้เข้าแข่งขันรายการ “The Mask Singer” หรือ “หน้ากากนักร้อง” ที่ออกอากาศทางช่อง Workpoint สร้างปรากฏการณ์ด้วยการทำเรตติ้งสูงสุดถึง 13.4 และมียอดผู้ชมไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กและยูทูบของสถานีกว่าแสนคน ขึ้นแท่นรายการวาไรตี้ที่มีเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลในยุคดิจิทัล 

ส่งผลให้หลังจากที่ผู้เข้าแข่งขันถอดหน้ากากแล้วกลายเป็นนักร้องแถวหน้าของวงการ ทั้งแชมป์รายการคนแรกอย่าง “ทอม - อิศรา” และ “เป๊ก - ผลิตโชค” ที่กลับมาคืนชีพอีกครั้ง มีแฟนคลับทั่วทั้งประเทศ รวมไปถึงเหล่าคณะกรรมการชุด “ดรีมทีม” กลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมและมีงานแน่นเอี๊ยดไม่แพ้เหล่าผู้เข้าแข่งขัน 

แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 เป็นวันที่หน้ากากนักร้องออกอากาศตอนสุดท้าย หลังจากออกอากาศมาต่อเนื่องร่วม 4 ปี ท่ามกลางความเสียดายของแฟนรายการ

หลังจากห่างหายไปจากหน้าจอร่วม 3 ปี หน้ากากนักร้อง กลับมาออกอากาศอีกครั้งในชื่อว่า “Mask Singer 12” เริ่มออกอากาศครั้งแรกวันพุธที่ 15 มี.ค. 2566 นี้ ที่มาพร้อมกับ 12 หน้ากากใหม่ และกติกาใหม่ที่ระบุว่า ถ้ากรรมการทายไม่ถูก เหล่าผู้เข้าแข่งขันจะไม่ถูกกระชากหน้ากาก

กรุงเทพธุรกิจ” พาย้อนเวลาไปทำความรู้จัก “The Mask Singer หน้ากากนักร้อง” รายการหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการบันเทิงไทย ถึงแม้จะเป็นรายการที่ซื้อมาจากเกาหลีใต้ แต่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้หลายประเทศทั่วโลกแห่ซื้อลิขสิทธิ์ตามไปทำเวอร์ชันของตนเอง จนถึงวันที่รายการต้องหลุดผังไป

  • ความแปลกใหม่ของรายการประกวดร้องเพลง

ในยุคที่ทุกช่องโทรทัศน์รายการประกวดร้องเพลงที่มีแพตเทิร์นเดียวกันหมด เพื่อใช้เรียกเรตติ้ง ก็มีรายการหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา ด้วยการนำบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งวงการบันเทิง และวิชาชีพต่าง ๆ มาแข่งขันร้องเพลงโดยใส่หน้ากากเพื่อไม่ให้รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา นั่นก็คือ “The Mask Singer หน้ากากนักร้อง” ซึ่งออกอากาศไปได้ไม่กี่ตอนรายการก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เนื่องจากผู้ชมมีส่วนร่วมในการทายว่าใครเป็นคนที่อยู่ภายใต้หน้ากาก อีกทั้ง “เสน่ห์” ของแต่ละหน้ากากที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมถึงมุกตลกของเหล่ากรรมการยิ่งทำให้รายการสนุก จนเกิดเป็นคณะกรรมการชุดดรีมทีม ได้แก่ “ป๋าเต็ด - ยุทธนา” “ตั๊ก - ศิริพร” “นุ้ย - ธนวัฒน์” “ครูอ้วน - มณีนุช” “ไอซ์ - อภิษฎา” “ซาร่า - นลิน” “เสนาหอย” และ “หนึ่ง - จักรวาล” 

สำหรับ หน้ากากนักร้อง เป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากรายการ “King of Mask Singer” ของเกาหลีใต้ โดยนำมาปรับให้เข้ากับบริบทของไทยมากขึ้น สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างรายการของไทยและต้นฉบับ นอกจากเรื่องเสื้อผ้าและหน้ากากแล้ว ยังมีกติกาการแข่งขัน ซึ่งของเกาหลีใต้นั้น ผู้ชนะจะได้ถอดหน้ากากก็ต่อเมื่อมีคนมาล้มแชมป์ได้ ดังนั้นจึงเป็นการแข่งขันต่อไปเรื่อย ๆ 

ขณะที่ของไทยนั้นเป็นการแข่งขันแบบซีซัน โดยใช้ระบบแบ่งสาย และตัดสินหาผู้ชนะในแต่ละรอบด้วยคะแนนโหวตของกรรมการและผู้ชมในห้องส่ง ส่วนรอบชิงชนะเลิศจะเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านโหวตหาผู้ชนะผ่านการส่ง SMS ซึ่งในตอนสุดท้ายของรายการ เรียกว่า รอบฉลองแชมป์ ผู้ชนะจะถอดหน้ากาก เพื่อเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง

ด้วยเครื่องแต่งกายและโปรดักชันสุดอลังการ ของ The Mask Singer ประเทศไทย ทำให้ต่างชาติเริ่มสนใจในรูปแบบรายการและซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นเวอร์ชันของตนเอง โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม และข้ามไปไกลถึงสหรัฐ ในชื่อว่า “The Masked Singer” ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการทีวีของสหรัฐไม่แพ้กับช่วงพีคของไทย ด้วยเรตติ้ง 3.0 มีผู้ชมสดกว่า 9.36 ล้านคน ซึ่งเป็นเรตติ้งอันดับ 1 สูงที่สุดในช่วงเวลานั้น และเป็นเรตติ้งเปิดตัวที่สูงที่สุดของช่อง FOX ในรอบ 7 ปีอีกด้วย พร้อมพา #TheMaskedSinger ทะยานติดอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์โลก

เมื่อตีเหล็กต้องตีตอนร้อน ความสำเร็จแบบไม่มีอะไรมาต้านทานได้ ทำให้ Workpoint ตัดสินใจทำ The Mask Singer ซีซัน 2 ออกอากาศต่อทันที แบบไม่มีหยุดพัก ตามสูตรสำเร็จของรายการ “ไมค์ทองคำ” ที่ยึดครองเรตติ้งช่วงเย็นเสาร์-อาทิตย์มาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงเกิดรายการ “พักโฆษณานินทาหน้ากาก” ซึ่งเป็นรายการพูดคุยเกี่ยวกับรายการ ออกอากาศผ่านไลฟ์ในช่วงที่รายการตัดเข้าสู่โฆษณา ส่งผลให้ Workpoint ขายโฆษณาเพิ่มได้อีกด้วย

 

  • รายการเข้าสู่ช่วงขาลง

แม้ว่าซีซัน 2 จะไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าซีซันแรก แต่สามารถทำเรตติ้งเฉลี่ยทั้งซีซันสูงที่สุดถึง 7.3 ยังเป็นรายการที่มีเรตติ้งสูงที่สุดของช่อง และสูงกว่าละครโทรทัศน์ที่ออกอากาศพร้อมกันในช่วงนั้น เมื่อเห็นทางต่อไปได้ ทางผู้จัดจึงเข็นซีซัน 3, 4 และ Project A (ธีมการต่อสู้ของแต่ละกองทัพ แบ่งออกเป็น Jungle War, Sky War และ Marine War) ต่อมา ซึ่งคนดูที่เป็น “ขาจร” เริ่มเทรายการ หันไปดูคอนเทนต์อื่น ๆ ที่น่าสนใจแทน เนื่องจากรูปแบบรายการไม่ได้มีความสดใหม่เหมือนเมื่อซีซันแรก แม้ในซีซันหลัง ๆ จะได้นักร้องระดับคุณภาพมาร่วมรายการมากขึ้นก็ตาม

อีกทั้งผู้ชมบางส่วนมองว่า แทบทุกรายการของ Workpoint มีความคล้ายกันไปหมด ทั้งคณะกรรมการ และพิธีกรหน้าซ้ำ และยังมีรายการประกวดร้องเพลงเต็มช่องไปหมด ดูเผิน ๆ จึงอาจคิดว่าเป็นรายการเดียวกันได้ ทำให้หน้ากากนักร้องเหลือเพียงแต่ผู้ชมที่เป็นขาประจำเท่านั้น จนเรตติ้งหล่นไปเรื่อย ๆ

เมื่อจบ The Mask Project A ทำให้ ทีมงานต้องใช้กลยุทธ์ใหม่เพื่อดึงผู้ชมกลับมา ด้วยการใช้ความเป็นไทยเข้ามาผสมผสานทั้งชื่อหน้ากาก เสื้อผ้า ไปตลอดจนแนวเพลงที่มีเครื่องดนตรีเป็นองค์ประกอบ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ค่อนข้างดี ทำให้เรตติ้งกลับมาแตะ 3 ได้อีกครั้ง และหลังจากนี้ผู้จัดหันมาใช้ความเป็นไทยมาเป็นธีมหลักในซีซันต่อมาทั้ง วรรณคดีไทย, งานวัด และลูกไทย มีเพียง The Mask จักรราศี และ The Mask Mirror เท่านั้นที่แตกต่างออกไป (จักรราศี เพิ่มการดูดวงเข้ามา และใช้ชื่อหน้ากากเป็นแต่ละราศี ขณะที่ Mirror เป็นการตามหาตัวจริงของเหล่าหน้ากากที่เคยมาแข่งในรายการ)

The Mask ลูกไทย” เป็นซีซันสุดท้ายของหน้ากากนักร้อง ทำเรตติ้งเฉลี่ยทั้งซีซันไปได้ 1.4 ซึ่งน้อยที่สุดในทุกซีซัน นอกจากปัญหาเรื่องความไม่สดใหม่แล้ว ซีซันนี้ยังมีปัญหาเรื่องเพลงด้วย เนื่องจากพอใช้ธีมความเป็นไทยมาครอบ จึงมีแต่เพลงไทย และใส่เครื่องดนตรีไทยเข้าไปทุกเพลง ขาดความหลากหลาย คนดูเอียนและเบื่อ เพราะใช้ความเป็นไทยต่อเนื่องมา 4 ซีซันแล้ว อีกทั้งยังเริ่มแยกหน้ากากไม่ออก จำหน้ากากใหม่ ๆ ไม่ได้ สุดท้ายก็ถึงเวลาปิดฉากหน้ากากนักร้อง รายการที่ขึ้นสู่สูงสุดและคืนสู่สามัญภายในเวลา 4 ปี

  • The Masked Singer ลุกลามทั่วโลก

แม้ว่าความนิยมของหน้ากากนักร้องของไทยจะเสื่อมถอยลง แต่ในต่างประเทศยังคงได้รับความนิยมอยู่ โดยเฉพาะ The Masked Singer ของสหรัฐ และกลายเป็นมาตรฐานให้ประเทศต่าง ๆ ทำตามในรูปแบบรายการที่ออกอากาศปีละ 1-2 ซีซัน ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่ซื้อ The Masked Singer ไปทำเป็นเวอร์ชันของตนเองแล้วเกือบ 60 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ในสหรัฐยังมีการแตกออกไปเป็นรายการ “The Masked Dancer” ซึ่งที่ให้คนดังมาใส่หน้ากากแล้วแข่งขันการเต้น

ส่วนเวอร์ชันต้นฉบับอย่าง “King of Mask Singer” ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องไม่เสื่อมคลาย ในปัจจุบันยังคงมีนักร้องปริศนาเป็นศิลปินจากวงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปเข้าร่วมแข่งขันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งสามารถสร้างกระแสให้กับรายการได้เป็นอย่าง

สำหรับ “Mask Singer 12” นั้นนอกจากจะมีกรรมการชุดดรีมทีมที่ทุกคนชื่นชอบแล้ว ยังมีเหล่าบรรดาหน้ากากหน้าเก่าที่ผู้ชมคิดถึงร่วมเป็นกรรมการอีกด้วย โดยมีผู้เข้าแข่งขันหลัก 12 หน้ากาก และมีหน้ากากที่ถูกซ่อนไว้เพิ่มเติม ต้องมาดูกันว่าการกลับมาในครั้งนี้จะสร้างปรากฏการณ์อะไรได้อีก และแต่ละคนที่มาเป็นหน้ากากจะคาดไม่ถึงเพียงใด 

แต่ที่แน่ ๆ รายการหน้ากากนักร้องสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ผู้ชมชาวไทยนั้นชอบความสดใหม่ ไม่ซ้ำซาก เมื่อใดก็ตามที่นำเสนอรูปแบบเดิม ๆ มากจนเกินไป ก็ทำให้ผู้ชมเบื่อและหันไปเสพสื่อที่น่าสนใจมากกว่า นี่จึงเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ของผู้ผลิตว่าจะทำอย่างให้คอนเทนต์สดใหม่อยู่เสมอ คนดูจะได้ไม่เบื่อและติดตามรายการไปนาน ๆ 

 

* The Mask Singer คือ ชื่อรายการหน้ากากนักร้องเวอร์ชันไทย ส่วน The Masked Singer เป็นชื่อรายการหน้ากากนักร้องเวอร์ชันสากล