วธ. ชู Soft Power ส่งออกวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น

วธ. ชู Soft Power ส่งออกวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น

วธ. ชู Soft Power ส่งออกวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น ทั้งเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 16-27 พ.ค. สาธารณรัฐฝรั่งเศส และงานเทศกาลไทย 20-21 พ.ค.นี้ ประเทศญี่ปุ่น นำขบวนภาพยนตร์ไทย การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมสู่สายตานานาชาติ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศสู่ระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่

  1. อาหาร (Food)
  2. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film)
  3. ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion)
  4. มวยไทย (Fighting)
  5. เทศกาลประเพณี (Festival)

สู่ระดับโลก โดยคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะร่วมเดินทางไปเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมในต่างประเทศ อาทิ การส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ณ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2566 สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 16-27 พฤษภาคม 2566

 

ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ วธ. ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งในและต่างประเทศภายใต้ Content Thailand ของภาครัฐ ภาคเอกชน 10 บริษัท อาทิ Benetone Films, BrandThink, Film Frame Productions, GDH 559, Halo Productions, Kantana Motion Pictures, M Pictures, Right Beyond, Sahamongkolfilm International และ Yggdrazil Group ผสานความร่วมมือในหลากหลายกิจกรรมภายในงาน อาทิ กิจกรรมตลาดซื้อขายภาพยนตร์ และนิทรรศการคูหาประเทศไทย (Thailand Pavilion)

โดยไฮไลท์ของคูหาประเทศไทย คือการจัดกิจกรรม Thai Film Pitching Project 2023 นำเสนอโครงการการสร้างภาพยนตร์เพื่อการร่วมลงทุน 2 เรื่อง ได้แก่ ทองหล่อคิดส์ โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ และ เจ้าหงิญ โดย เอมอัยย์ พลพิทักษ์ และจะมีอาหารไทยให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักท่องเที่ยว ได้ลิ้มลอง ได้แก่ ส้มตำ ข้าวผัดกุ้ง ข้าวเหนียวมะม่วง และอื่นๆ อีกมากมาย

นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า ส่วนเทศกาลไทย 20- 21 พฤษภาคม 2566 (Thai Festival Tokyo 2023) ณ สวนสาธารณะโยโยงิ  กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นการนำวัฒนธรรมไทย “Soft Power” ความเป็นไทยไปเผยแพร่ให้กับชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ โดย วธ. ได้สนับสนุนอย่างเต็มที่  โดยกรมศิลปากร สนับสนุนการแสดงดนตรีไทยประยุกต์จาก “Thai contemporary music by the Fine Arts Department” ที่เคยได้รับโอกาสแสดงในงานเลี้ยงผู้นำการประชุมเอเปค 2022 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว

ทั้งนี้ การเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมในต่างประเทศในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายต่างประเทศภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมไทยในเวทีโลก ช่วยสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ก่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้าน Soft Power ของภูมิภาค สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย